หมู่นี้คุณไปไหนต่อไหน ก็ได้ยินคำว่า ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ (The 6th extinction) บ่อยครั้งขึ้นใช่หรือเปล่า? จากคำที่เคยกระจุกตัวในวงแคบของกลุ่มนักนิยมธรรมชาติและความหลากหลายทางสายพันธุ์ แต่ในระยะหลังมันเริ่มกลายเป็นคำที่สังคมกระแสหลักเองก็ชักคุ้นหู ฟังดูราวหนังล้างโลกช่วงซัมเมอร์ แต่ในความเป็นจริงหายนะของสรรพชีวิตบนโลกออกสตาร์ทมาสักพักแล้ว
โลกเป็นบ้านให้กับสรรพชีวิตมานานกว่า 3.5 พันล้านปี แต่โลกเองก็เป็นบ้านที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หาความมั่นคงไม่ค่อยได้ หายนะจากฝีมือธรรมชาติเองทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งมหึมาถึง 5 ครั้งใหญ่ๆ ในตลอด 500 ล้านปี และแต่ละครั้งก็กวาดสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตราว 50-90 เปอร์เซ็นต์ไปจากโลก (ถือว่าปราณีแล้ว) ดั่งสัจธรรมของธรรมชาติที่จุดจบของอีกชีวิต ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายชีวิต ที่แตกหน่อแผ่กิ่งก้านสาขาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผลัดมือผู้ครอบครองไปไม่รู้จบ
แย่ตรงที่ ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6′ มาเร็วเกินไปหน่อย พวกเราทุกคนในฐานะมนุษย์ล้วนสร้างปัจจัยเร่งให้เกิดหายนะก่อนกำหนด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย ครั้งที่ 6 มีความพิเศษที่เราสามารถทุเลา ผ่อนหนักเป็นเบาได้
อะไรทำให้การสูญพันธุ์ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ และคุณเองนับรวมอยู่ใน ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6′ ด้วยหรือเปล่า?
การสูญพันธุ์ครั้งก่อนๆ เป็นไง ไม่เคยเห็น
การสูญพันธุ์ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 5) เกิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์เป็นผู้เห็นเหตุการณ์เมื่อโลกถูกโจมตีด้วยอุกกาบาตจนสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ของสภาพแวดล้อมที่ปิดประตูอาณาจักรไดโนเสาร์อย่างถาวร แต่กลับเปิดประตูบานใหม่ให้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนวิวัฒนาการมาเป็นคุณในปัจจุบัน
การสูญพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ โลกได้สูญเสียสายพันธุ์ไปแล้วกว่า 99 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดที่เคยมีชีวิต
- ครั้งที่ 1 สิ้นยุคออร์โดวิเชียน (End-Ordovician) 443 ล้านปีก่อน
ความหนาวสะท้านอันทารุณทำให้ระดับน้ำทะเลต่ำลง 100 เมตร มหาสมุทรเป็นน้ำแข็งเย็นยะเยือกขนาดมหึมา แต่เมื่อมันละลายกลับมีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งในขณะนั้น สิ่งมีชีวิตล้วนอาศัยอยู่ในน้ำเป็นหลักจึงเผชิญกับการสูญพันธุ์ถึง 60 – 70% ของชนิดพันธุ์ทั้งหมด
- ครั้งที่ 2 ปลายยุคดีโวเนียน (Late Devonian) 360 ล้านปีก่อน
สภาพภูมิอากาศยุ่งเหยิงแปรปรวนครั้งนี้มีผลกระทบมากกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในลุ่มน้ำตื้น สังหาร 70% ของชนิดพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นปะการังโบราณ
- ครั้งที่ 3 ระหว่างยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic) 250 ล้านปีก่อน
ครั้งนี้มโหฬาร กวาดสิ่งมีชีวิตไปเกือบ 90% รวมไปถึงแมลงขนาดใหญ่และไทรโลไบต์ นักวิชาการเชื่อว่า เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงและเป็นเวลานานในบริเวณไซบีเรีย สร้างหมอกดำปกคลุมไปทั่วจนเกิดภาวะโลกร้อน
- ครั้งที่ 4 ระหว่างยุคไทรแอสซิก-จูราสสิค (Triassic-Jurassic) 200 ล้านปีก่อน
สิ่งมีชีวิต 3 ใน 4 สูญพันธุ์ เหตุจากภูเขาไฟจำนวนมากปะทุอีกครั้ง แต่คราวนี้ก็เหมือนการลบกระดานครั้งใหญ่ เพื่อให้ไดโนเสาร์มาเฉิดฉายในยุคต่อไป
- ครั้งที่ 5 ระหว่างยุคครีเทเชียส-เทอร์เทียรี (Cretaceous-Tertiary) 65 ล้านปีก่อน
อุกกาบาตขนาดยักษ์กระแทกโลกดังตูม ณ ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน พร้อมๆ กับการปะทุของภูเขาไฟแถบประเทศอินเดีย กลายเป็นบทสุดท้ายของอาณาจักรไดโนเสาร์และเหล่าแอมโมไนต์ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใช้โอกาสนี้สร้างอาณาจักรที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่จวบจนทุกวันนี้
และแล้วมันก็มาครั้งที่ 6
วงจรแห่งหายนะของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เริ่มสมบูรณ์แบบแล้ว โดยงานวิจัยล่าสุดในปี 2017 เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า Biological Annihilation หรือ การทำลายล้างทางชีวภาพ โดยมีอัตราประชากรของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยในมหาสมุทรอย่างวาฬ กลุ่มเต่าทะเล กลุ่มฉลาม และกลุ่มหอยขนาดใหญ่จะเป็นสัตว์เบอร์แรกๆ ในลิสต์ที่จะสูญพันธุ์ไปก่อน
จากแนวโน้มแต่ละครั้งที่ผ่านมา สัตว์ขนาดใหญ่มักสูญพันธุ์ก่อนสัตว์เล็ก และสามารถสร้างผลกระทบเหมือนกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้สัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศสูญพันธุ์ตามไปด้วย
แม้ครั้งที่ผ่านๆ มาจะเป็นผลงานของธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ อย่าง อุกกาบาตพุ่งชนโลก หรือภูเขาไฟระเบิดที่กินเวลาหลายพันปี แต่ครั้งนี้ เป็นผลงานที่ ‘มนุษย์’ มีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบล้วนๆ พวกเราเร่งอัตราความหายนะทางสายพันธุ์ให้เร็วกว่าเดิมถึง 114 เท่า หากเทียบกับการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ
การสูญพันธุ์เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะ ทุกๆ วันก็จะมีสัตว์หรือพืชสายพันธุ์เกิดใหม่ และมีสายพันธุ์ที่ค่อยๆหายไปในเวลาเดียวกัน ที่เรียกว่า Background Extinction มีหน่วยวัดเป็น E/MSY คือในรอบ 100 ปี จะมีสายพันธุ์หายไม่เกิน 1 ใน 10,000 สายพันธุ์
แต่ครั้งนี้มันชักน่าหวั่นใจที่เกิด ‘เร็วเกินไป’ สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ในอัตราสูงผิดปกติทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน่ ระบบนิเวศพังลงมาทั้งระบบ โดยมีอัตราอยู่ที่ 2E/MSY คือเรากำลังสูญเสียสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 สายพันธุ์ต่อ 10,000 สายพันธุ์ในรอบ 100 ปี ซึ่งเป็นอัตราเร่งที่เร็วมาก และมีหลักฐานว่ากลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมดจะเสี่ยงสูญพันธุ์ถึง 114 เท่า มากกว่าในศตวรรษที่ผ่านมา
อะไรทำให้การสูญพันธุ์เกิดขึ้นเร็ว
เหตุผลอันดับแรกๆ คือ ‘ป่า’ บ้านพักที่สำคัญของเหล่าสรรพสัตว์กำลังถูกทำลาย เรามีพื้นที่ป่าบนโลกน้อยลงและอาณาเขตป่าที่มีก็เป็นกระจุกไม่เชื่อมถึงกัน การสูญเสียป่าเป็นภัยต่อสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN Red List โดยสัตว์ได้รับผลกระทบราว 85% สายพันธุ์จากทั้งหมด พื้นที่ป่าส่วนใหญ่สูญเสียจากการแผ้วถางให้เป็นพื้นที่การเกษตรและการรุกคืบของถิ่นที่อยู่อาศัยมนุษย์
แม้มนุษย์จะไม่ได้เข้าไปมีอิทธิพลโดยตรงต่อระบบนิเวศบางพื้น แต่กิจวัตรของเราก็ดันเชื้อเชิญ ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น’ (Invasive Species) ที่รุกรานชนิดพันธุ์ประจำถิ่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ สัตว์ต่างถิ่นพวกนี้มีแรงขับดันเพื่อการอยู่รอดเป็นเลิศ แต่ความพยายามดิ้นรนของมันกลับทำลายวงจรชีวิตชนิดพันธุ์ประจำถิ่นอื่นๆ คือ ทำให้ห่วงโซ่อาหารที่มีอยู่ขาดตอน
อย่างในประเทศไทยมีพืชต่างถิ่น 36 ชนิด อาทิ ‘จอกหูหนูยักษ์’ เมื่อโตเต็มที่จะมีใบเบียดเสียดกันมากและซ้อนทับกันเป็นชั้นหนาเต็มผืนน้ำไปหมด ทำให้แสงแดดส่องลงมาไม่ถึงและน้ำขาดออกซิเจน
มีสัตว์ต่างถิ่นอีก 56 ชนิด อาทิ ‘หอยเชอรี่’ Pomacea canaliculata ที่มีทักษะแย่งอาหารเป็นเลิศ คอยแย่งอาหารหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง Pila spp และมักผสมพันธุ์กับหอยโข่งจนมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยจากมลภาวะที่เราปล่อยจากกิจวัตรประจำวัน อย่าง ‘สารปรอท’ ที่มักปะปนในน้ำได้ดี ทำให้เกิดการสะสมสารพิษในสัตว์น้ำอย่าง ปลา ปู กุ้ง และหอย ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในมหาสมุทรและประชากรมนุษย์ 1 พันล้านคน ก็ยังต้องพึ่งโปรตีนจากสัตว์ทะเลอยู่ดี
‘มนุษย์’ นับด้วยไหม
มนุษย์ยังห่างไกลจากคำว่าสูญพันธุ์นัก โลกมีประชากรมนุษย์ 7.2 พันล้านคน ซึ่งมีแต่จะขยายเพิ่ม แต่ความโชคดีอาจกลับตาลปัตรอย่างรวดเร็ว เพราะอารยธรรมที่จะยั่งยืนได้ต้องพึ่งพาอาหารจากห่วงโซ่ของธรรมชาติ แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ ร่วมด้วย การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะทำให้ทุกอย่างยากไปหมด ยิ่งเมื่อเผชิญเทรนด์ภาวะโลกร้อนติดต่อกันไปเรื่อยๆ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีเพื่อให้ธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูเหมือนเดิม
เอลิซาเบธ โคลเบิร์ต ผู้เขียนหนังสือ The Sixth Extinction เคยตอบคำถามว่า มนุษย์เองจะรอดไหมจากเหตุการณ์ครั้งนี้?
“ก็อาจจะรอดนะ…แต่ฉันก็ไม่แน่ใจมากนักหรอก ขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ กำลังสูญพันธุ์ แต่หลายครั้งมนุษย์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยม หากเรารอดได้จริงๆ แต่อารยธรรมแบบไหนกันที่เรามี มันจะยั่งยืนหรือดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ โลกจะยังเป็นที่ที่เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อหรือเปล่า และคนรุ่นต่อๆ ไปจะอยู่กันแบบไหน”
นักวิชาการหลายกลุ่มยอมรับว่า การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เป็นเรื่องยากที่จะหยุดยั้ง เหมือนเราดูภาพช้าของหายนะที่ดำเนินไปทีละนิด หากมนุษย์ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเหลียวหลังหันมาดูแลชีวิตอื่น ๆ
มันน่าเสียดายที่เรากลับเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เห็นสายพันธุ์อื่นๆ ค่อยๆ หายไปจากชีวิตต่อหน้าต่อตา
อ้างอิงข้อมูลจาก
skepticalscience.com
Will Humans Survive the Sixth Great Extinction?