เพิ่งเริ่มต้นปีซะดิบดี ผู้อ่านชักสงสัยทำไมเจ้า The MATTER ถึงสนใจพูดเรื่องขี้ๆ โดยเฉพาะ ‘ขี้หู’ (Earwax) ปัดโธ่ไม่มีเรื่องอื่นมาพรรณนาให้อ่านแล้วหรือไร แต่ถึงยังไงก็อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีอย่างไร้เยื่อใยนัก ไหนๆ เริ่มปีใหม่ทั้งที เหตุใดเราไม่หวนกลับมาทำความเข้าใจร่างกายของพวกเราดูสักหน่อยล่ะ
หากการเริ่มต้นปีของคุณจะสว่างโชติช่วงแล้วไซร้ มันก็ควรเริ่มด้วยสุขภาพร่างกายที่มักแอบซ่อนความลับรอการค้นพบ ที่ครั้งนี้ออกจะอยู่ลึกลงไปในช่องหูของเราสักหน่อย
ขี้หูกระซิบบอกปริศนาของชีวิตอันน่าตื่นเต้น ผ่านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ลงลึกระดับพันธุกรรม ที่ทำให้เราเห็นโครงสร้างทางวิวัฒนาการที่อลังการงานสร้างยิ่งกว่าละครเวทีที่รัชดาลัยเธียร์เตอร์
ขี้หูเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรกไร้ราคา ไม่เป็นที่ปรารถนา จะแคะทิ้งแคะขว้างก็แล้วแต่ งานวิจัยระยะหลังๆ พบหลักฐานว่า ขี้หูเป็นอะไรที่มากกว่าสารคัดหลั่งของร่างกาย แต่มันอุดมไปด้วยแหล่งข้อมูลอันน่าสนใจ ถ้าหากคุณสามารถเก็บขี้หูได้ปริมาณหนึ่งแล้ว มันสามารถบอกได้อย่างเจาะจงว่า ‘คุณเป็นใคร’ ชีวิตนี้เจออะไรมาบ้าง เผยได้ตั้งแต่อาหารที่คุณกินในแต่ละมื้อว่ามีส่วนประกอบสารอาหารอะไร คุณสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรูปแบบไหน ขี้หูจึงเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยโรคได้หลายอาการผ่านลายเซ็นของสารเคมีเฉพาะตัวที่คุณคนเดียวเท่านั้นที่มี
ขี้หูมีประโยชน์ในการสืบค้นเรื่องราวของคุณลงไปให้ลึกอีก ซึ่งไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น เรายังสามารถเข้าใจชีวิตสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ โดยที่มันไม่ต้องปริปากพูดออกมาสักคำเดียวผ่านขี้หูนี่แหละ
ขอขี้หู เพื่อรู้จักเธอ
เราเรียกว่า ‘ขี้หู’ แต่มันเองก็มีชื่อทางการในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่า Cerumen โดยเป็นสารคัดหลั่งที่มาจากต่อม Ceruminous ที่ทำหน้าที่เป็นต่อมเหงื่อและต่อม Sebaceous ในหูชั้นใน โดยขี้หู Cerumen มีประโยชน์ในการทำความสะอาดช่องหู และป้องกันไม่ให้หูชั้นในแห้งเกินไป มีฤทธิ์กำจัดแบคทีเรียบางชนิด และทำหน้าที่เป็น ‘กับดัก’ ในการดักจับละอองเชื้อรา และฝุ่นผงขนาดเล็กๆ ไม่ให้ล่วงล้ำเข้าสู่อวัยวะภายในช่องหูที่บอบบางและมีความไวสูง
เพื่อป้องกันผู้ลุกล้ำ ขี้หูจึงต้องเป็นแว็กซ์ที่ร่างกายขับออกพร้อมๆกับจุลชีพขนาดเล็กและสารเคมีหลายประเภทในร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เองที่ร่างกายของคุณเผชิญมาทั้งวัน หรืออาจกล่าวได้ว่า มันเป็นข้อมูลชุดหนึ่งในตัวคุณที่ร่างกายขับออกมา
นักวิจัย Engy Shokry จากมหาวิทยาลัย Federal University of Goiás ในประเทศบราซิล ทำวิจัยที่รุดหน้าที่สุด พวกเขาสนใจข้อมูลของมนุษย์ผ่านขี้หูและพยายามพิสูจน์ว่า ขี้หูสามารถมีศักยภาพในการเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในเชิงนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ พร้อมๆ กับการพยายามสกัด DNA ในการตรวจหาการใช้สารเสพติด การสูบบุรี่ หรือแม้กระทั่งใช้ร่วมในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน เพราะการใช้ขี้หูแทนตัวอย่างเลือดหรือปัสสาวะ เป็นวิธีที่ละมุนละม่อมที่สุดสำหรับการขอตัวอย่างจากคนอื่นๆ เพียงคุณยื่นไม้ปั่นหูให้เขาแคะ สักครู่ คุณก็ได้หลักฐานชิ้นสำคัญโดยไม่ต้องเจาะหรือขอฉี่ให้เขินอาย (แต่การยื่นขี้หูให้คนที่คุณไม่รู้จักจะจัดว่าน่าอายหรือเปล่านะ)
อย่างไรก็ตามหัวหน้าชุดวิจัย Engy Shokry พยายามให้อาสาสมัครทั้งหลายเก็บขี้หูไว้นานสักหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องเอาออก ซึ่งในคนทั่วไปแล้วจะได้ปริมาณราว 20 มิลลิกรัม ที่เพียงพอต่อการทดลอง ซึ่งธรรมชาติของร่างกายเราจะสร้างขี้หูอยู่เรื่อยๆ หากไม่พอ ก็เพียงรอแล้วเก็บมาใหม่ ทำให้มันได้เปรียบมากกว่าการใช้เลือดหรือปัสสาวะ เพราะเลือดและปัสสาวะเป็นเพียงภาพ Snapshot ของร่างกายในเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ขี้หูค่อยๆ สะสมอย่างช้าๆ ไม่รีบเร่ง และมีความต่อเนื่องสูง
ทีมวิจัยพบว่า พวกเขาสามารถตรวจหาสารเสพติดในร่างกายมนุษย์ที่เคยใช้มาแล้วนานถึง 3 เดือนโดยใช้เพียงขี้หูเท่านั้น นับเป็นการค้นพบที่จำเป็นต่อการสืบคดีในอนาคต ซึ่งนอกจากตัวขี้หูเองจะอุดมไปด้วยข้อมูลแล้ว ‘กลิ่น’ ของมันเอง (ที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่) มีลักษณะเป็นกรดฉุนจัด สามารถวิเคราะห์ชาติพันธุ์ของเจ้าของได้ด้วย ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ยีนชื่อ ABCC11 เพียงตัวเดียว สามารถเปลี่ยนให้ขี้หูแห้งเป็นเกล็ด พบได้ในชาวเอเชียตะวันออกทั้งหมด เป็นยีนชนิดเดียวกันกับยีนที่บ่งบอกลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับที่อยู่บริเวณใต้วงแขน ทำให้คนเอเชียมีขี้หูแห้ง และมีกลิ่นตัวน้อยกว่าชนชาติอื่นๆ ถือเป็นอานิสงส์ของเจ้ายีนนี้
ยิ่งไปกว่านั้นขี้หูเปิดประตูวิทยาศาสตร์ให้เราทำความเข้าใจโปรตีนของ ABCC11 ในร่างกาย ที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อร้าย (tumors) ที่อ่อนไหวต่อการให้เคมีบำบัด (chemotherapy) หรือขี้หูยังช่วยในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับมะเร็งได้อย่างน่าอัศจรรย์อีกด้วย
ขี้หู ที่เป็นได้มากกว่าขี้หู
แม้การค้นพบที่สาธยายมาจะน่าสนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาพบเพียง ‘ยอดน้ำแข็ง’ เท่านั้น ซึ่งการค้นพบความตื่นเต้นของขี้หูไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มาจาก ‘วาฬ’ (whales) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดมหึมาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร พวกมันเองมีขี้หูเช่นกัน ขี้หูของวาฬมีประโยชน์ในการถ่ายทอดคลื่นเสียงใต้น้ำ ขี้หูของมันจะปิดช่องหูภายใน เป็นก้อนความยาว 50 เซนติเมตร มีน้ำหนักถึง 2 ปอนด์ (ระบุว่ามีกลิ่นฉุนบรมเลย) นักชีววิทยาทางทะเลจะใช้ขี้หูของวาฬในการพยากรณ์อายุ เหมือนวงปีของต้นไม้ ที่อุดมไปด้วย DNA และฮอร์โมนสำคัญ
หนึ่งในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Baylor University ที่ยังไม่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ระบุว่าพวกเขาศึกษาขี้หูวาฬกว่า 20 ชิ้น ที่แบ่งเป็นชั้นๆ หนาถึง 1,100 ชั้น มีร่องรอยของฮอร์โมน Cortisol หรือรู้จักกันในชื่อ ฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้รู้ได้ว่า สภาพแวดล้อมที่วาฬอยู่อาศัยทำให้พวกมันเครียดอย่างไร การถูกล่ามีผลต่อพฤติกรรมของมันในเชิงลบ รวมถึงทิ้งร่องรอยอะไรไว้ในร่างกายพวกมันบ้าง
นอกจากนั้นขี้หูของวัวยังเคยเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกอดีต เมื่อนำส่วนขี้หูวัวในสหรัฐอเมริกามาตรวจสอบ พบสารพิษ ฟลูออโรแอซิเตต (fluoroacetate) ที่ชาวไร่ใช้เป็นยาเบื่อในการล้างบางสุนัขโคโยตี้ ที่ไม่สามารถพบได้จากสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกาย แม้กระทั่งการตั้งท้องของวัวเลี้ยง และภาวะให้น้ำนมก็สามารถตรวจได้จากขี้หูได้เช่นกัน เพราะจัดเตรียมไม่ยุ่งยากและไม่เป็นการสร้างความเครียดให้วัว
อย่างไรก็ตามแม้ขี้หูจะพิสูจน์ตัวเองมามากมายว่ามันพร้อมจะเป็นหลักฐานในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญ แต่อาจจะใช้เวลาอีกสักพักกว่าในระดับสากลจะยอมรับ เพราะเรายังคุ้นเคยกับการเก็บตัวอย่างผ่านเลือด เสมหะ และปัสสาวะมานานเป็นศตวรรษๆ แต่การศึกษาขี้หูเพิ่งริเริ่มมาได้เพียง 15 ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้อายุน้อย และยังมีหลายส่วนที่รอคอยการค้นพบ
ในอนาคต เราอาจปลดล็อคพันธนาการของพันธุกรรมเพียงขี้หูชิ้นประติ๋วก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Earwax as an alternative specimen for forensic analysis Forensic Toxicol. 2017; 35(2): 348–358. Published online 2017 Mar 24.