เคยมีความสัมพันธ์ครั้งไหนของคุณที่มักจบลงด้วยคำว่า
“เธอมันสมบูรณ์แบบเกินไป” หรือ “เธอมันเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์”
นอกจากเขาจะเดินจากไป แต่ยังทิ้งคำถามที่ค้างคาใจว่า การพยายามทำทุกอย่างให้ดีเลิศอย่างที่สุด เป็นภัยต่อความสัมพันธ์ขนาดนั้นเลยหรือ? และการปรารถนาความยอดเยี่ยมกำลังเผาตัวเราเองให้เป็นจุณ จนทำให้คนรอบข้างถอยห่างออกไปหรือเปล่า?
กระทั่งวิตกกังวลถึงขั้นว่า คุณเองกำลังเข้าข่ายของอาการ ‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ Obsessive Compulsive Disorder (OCD) อยู่ลึกๆ แต่ความแคลงใจเหล่านี้จะหยุดคุณจากการไล่ตามความฝันไปอย่างนั้นเชียวหรือ มันก็น่าเสียดายไม่น้อยที่เราจะพลาดโอกาสดีๆ ของชีวิตไปเสียหมดจากคำวิจารณ์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ
พวกเราล้วนมีแรงผลักดันที่ต่างกัน และรับมือความท้าทายของชีวิตที่ต่างกันอีก
แล้วอะไรคือเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่าง คนถวิลหาความสมบูรณ์แบบ กับ อาการย้ำคิดย้ำทำ OCD
Perfectionism ไม่ดีตรงไหน?
ในทุกการทำงานล้วนต้องมีจุดหมายปลายทางให้ไปถึง บริษัท ห้างร้านหรือสำนักงาน ต้องการคนที่เป้าหมายมั่นคง ไม่อย่างนั้นอะไรๆ ก็สะเปะสะปะไม่เป็นสัปปะรด คนที่มีลักษณะ Perfectionism หรือสมบูรณ์แบบนิยม จึงมักถูกเลือกให้เป็นผู้นำคนแรกเสมอๆ ในหลายมิติของการถวิลหาหาความสมบูรณ์แบบก็ใช่ว่าจะบ่อนทำลายดั่งที่ผู้คนกล่าวอ้าง และใช้เป็นคำตัดสินเพื่อแยกคุณออกจากคนอื่นๆ
ความสมบูรณ์แบบในมิติที่ดีก่อประโยชน์ต่อคนอื่นและสังคม มันเป็นพลังเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง Perfectionism จึงเป็นอุปนิสัยส่วนบุคคล ที่ไม่ใช่มาจากการวินิจฉัยอาการทางจิต แต่ในชีวิตจริงมันกลับถูกใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนโดยปราศจากองค์ความรู้ด้านจิตวิทยา
Perfectionism ที่ดี (ขอนิยามว่า Adaptive/Healthy Perfectionism) คือคนที่วางมาตรฐานของตัวเองไว้สูง เช่นเดียวกับคาดหวังให้คนอื่นมีมาตรฐานสูงตามด้วย มีความมั่นคงในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้วยความรอบคอบ Perfectionism แบบสุขภาพดีนี้จึงมักเข้ากันได้ดีกับนโยบายขององค์กร มีทักษะในการจัดการงานรายละเอียดสูง และมีความรับผิดชอบไว้ใจได้
ผู้คนที่มีอุปนิสัยสมบูรณ์แบบนิยม ล้วนรักการทำงานชนิดเข้าเส้น ชอบอะไรที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า และมีกระบวนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน อยู่กับงานที่มีรายละเอียดสูงได้อย่างดี โดยที่คนอื่นๆ มองไม่เห็นจุดบกพร่อง พวกเขาสามารถใช้เวลามากในการพร่ำฝึกอะไรสักอย่างที่ไม่ถนัดซ้ำไปซ้ำมา บางคนอาจนั่งเขียนอีเมลเป็นชั่วโมงๆ เพื่อติดต่อกับหัวหน้างานโดยคัดสรรรูปแบบประโยคที่คาดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจที่สุด อาสาทำหน้าที่เก็บกวาดล้างจานให้ ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังนอนลูบพุงปลิ้นๆ
คนสมบูรณ์แบบนิยมชอบสิ่งที่อยู่ถูกที่ถูกทาง หากมีอะไร ‘นอกแผน’ พวกเขาจะรู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด และกระวนกระวายเล็กๆ ในระดับที่ยังควบคุมตัวเองไม่ให้ออกพิษใส่คนรอบข้างจนทำลายความสัมพันธ์ หรือทำให้ทั้งงานต้องสะดุด
แต่ Perfectionism ที่ทำลายสุขภาพก็ยังน่าเป็นห่วง (นิยามว่า Maladaptive/Unhealthy Perfectionism) โดยธรรมชาติพวกเขาถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว กลัวผู้อื่นจะไม่ยอมรับ กลัวการถูกปฏิเสธ หรือกลัวการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย มักยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต หลีกเลี่ยงการสร้างความผิดพลาดครั้งใหม่ สงสัยกระบวนการทำงานของคนอื่น บางครั้งก็คาดหวังให้คนอื่นต้องทำได้ดีเช่นตนเอง กลายเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว กดดัน และไม่รู้สึกพึงพอใจกับตัวเอง
เส้นแบ่ง Perfectionism กับ OCD
หลายคนที่มีอุปนิสัย Perfectionism ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายของ ‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ หรือ obsessive-compulsive disorder (OCD) เสียทั้งหมด หรือโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น แม้ในหลายๆพฤติกรรมจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง เช่น Perfectionism บางคนรักความสะอาดมาก เห็นขยะเป็นไม่ได้ หรือรู้สึกว่าร่างกายไม่สะอาด มือสกปรก ต้องการอยากล้างมือบ่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนั้นอยู่ที่กลุ่ม Healthy perfectionism จะมีสุขภาวะทางจิตและร่างกายเชิงบวก สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่ได้อย่างดี ทั้งในโรงเรียนหรือสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลงและความผิดหวังได้ระดับหนึ่ง
ต่างจากกลุ่ม Maladaptive perfectionism เมื่อเผชิญหน้าต่อข้อจำกัด หรือสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ มักรู้สึกเครียด วิตกกังวล รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ซึ่งล้วนส่งต่อเป็นอาการทางจิตในระยะยาวได้ เมื่อความผิดพลาดหลายๆ ครั้ง เป็นสิ่งที่พวกเขาหวาดกลัวที่สุด
‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ พบได้บ่อยร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป โดยเริ่มมีอาการเฉลี่ยที่อายุ 20 – 22 ปี โดยพบได้พอๆ กันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง จากการวินิจฉัยทางจิตวิทยายังพบว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ อยู่ร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น มีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 60-90 , โรคกลัวสังคม, โรควิตกกังวลทั่วไป, โรควิตกกังวลแบบแพนิค รวมทั้งการดื่มเหล้าติดสุราเรื้อรัง จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอีกเพียบ
แม้บางครั้งพวกเราก็เคยมีความคิดหรือพฤติกรรมที่วูบๆ เข้ามาบ้าง เช่น คิดว่าไม่ได้ปิดแก๊ส ก็จะตรวจเช็กเตาแก๊สวันละหลายๆ ครั้ง เดินวนไปวนมา ไม่ได้ปิดไฟ ลืมล็อคประตูบ้าน ใจคอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กลัวโจรจะมางัดบ้าน ไปล้างมือเมื่อคิดว่าหยิบจับอะไรสกปรก หรือท่องนะโม 3 จบในใจทุกครั้งที่คิดในทางไม่ดีต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์
แต่ในกรณีผู้ป่วย OCD อาการเหล่านี้ ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานมาก ผู้ป่วยจะพยายามฝืนสิ่งที่เกิดขึ้น (แต่ก็มักผืนไม่ได้) เสียเวลาไปกับความคิดหรือพฤติกรรมค่อนข้างมากในแต่ละวัน (มากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป) จนทำให้หน้าที่การงานเสีย ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ความคิดเตลิดไปกับเรื่องร้ายๆ จนไม่อยากริเริ่มอะไรเลย รวมถึงซึมเศร้า วิตกกังวล จนถึงขั้นรู้สึกว่าชีวิตด้อยค่ามากจนอยากฆ่าตัวตาย
Maladaptive perfectionism หรือสมบูรณ์แบบนิยมชนิดปรับตัวยาก มีลักษณะทางพฤติกรรมเกี่ยวเนื่องกับอาการ OCD อยู่เหมือนกัน และอาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิต เช่น หากรู้สึกว่าต้องการจัดการทุกอย่างให้อยู่ถูกที่ถูกทาง ก็จะทำ ‘เดี๋ยวนี้’ ทำทันทีโดยไม่รีรอ ผิดบริบท ละทิ้งสิ่งที่ทำอยู่เพื่อไปแก้ โดยแรงกระตุ้นหลักคือ ‘ความกลัวล้วนๆ’ แทนที่จะเป็นแรงกระตุ้นเชิงบวกอื่นๆ ที่อยากจะให้ชีวิตดีขึ้น
เช่น จู่ๆ เผลอคิดว่าตัวเองไม่ได้ปิดประตูบ้าน แต่เลยเถิดคิดไปถึงว่า บ้านจะไฟไหม้ด้วย ก็จะกลับไปเช็กซ้ำไปซ้ำมา กลายเป็นว่าการย้ำคิดย้ำทำนั้นเป็นการตอกย้ำตัวเองว่าอยู่ในภาวะ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ วิตกกังวล ด่าทอตัวเอง และลดความมั่นใจตัวเองลงเป็นการทำโทษความผิดพลาด เพราะ Maladaptive perfectionism จะเชื่อว่า ตัวเราเองเป็นผู้ควบคุมทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นจึงเห็นสิ่งเร้าที่เข้ามาเป็นสิ่งแปลกปลอมรุกล้ำอาณาเขตแห่งความมั่นใจของตัวเอง
การรับมือ OCD หรือพฤติกรรมจากบุคลิก Perfectionism ที่ดีที่สุด คือการที่คุณรู้ก่อนว่า คุณรับมือความท้าทายแบบไหน และแสดงออกอย่างไร การปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักบำบัดเป็นวิธีที่ทำให้คุณเข้าใจตัวเองได้ดีที่สุด เพื่อหาวิธีการลดผลกระทบเชิงลบที่สร้างความเสียหายต่อหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษามักค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นก็ไม่ควรใจร้อน หรือหวังผลทันทีที่พบแพทย์ อาการของผู้ป่วย OCD แบบแท้จริงมักจะค่อยๆ ดีขึ้น (อาจไม่เร็วอย่างที่คิด) โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะสังเกตว่าความกลัดกลุ้มและกังวลใจลดน้อยลง ต่อมาระยะเวลาที่ใช้ในการย้ำคิดหรือย้ำทำก็จะลดน้อยลง สามารถฝืนความอยากกระทำของตนเองได้มาก โดยแพทย์เองจะมีการจ่ายยาร่วมด้วย หากผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยา อาการก็มักดีขึ้น 50 – 70% ส่วนใหญ่การตอบสนองจะเห็นผลเต็มที่ในปลายเดือนที่ 3 ของการบำบัด
ระหว่างนั้นนักบำบัดจะใช้วิธีการบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม Cognitive-Behavioral Techniques หรือ CBT ร่วมด้วย ในการทำให้เราช่วยประเมินพฤติกรรมเมื่อต้องเจอกับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆในชีวิต กระตุ้น ฟื้นฟูความมั่นใจให้เพิ่มมากขึ้น ลดความวิตกกังวลจากความคิดเชิงลบ และที่สำคัญ ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยความคิดแย่ๆ
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบทั้งปวง เราถูกปั้น เสริมแต่ง จากประสบการณ์รอบตัวทั้งดีและเศร้า ทั้งงดงามและเจ็บปวด แท้จริงแล้ว เราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้มากกว่าความสำเร็จ เพราะมันเป็นเพียงรอยฟกช้ำที่ยังไม่ถึงขั้นรอยแผลเป็น
การเตรียมใจรับมือความล้มเหลว อาจเป็นทักษะที่ฝึกยากที่สุดในสังคมที่ทุกคนกลัวความผิดพลาด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Limburg, K., Watson, H., Hagger, M., and S. Egan. The Relationship Between Perfectionism an Psychopathology: A Meta-Analysis. Journal of Clinical Psychology. 2016 Dec 27.