หากเราบอกใครสักคนว่าเราชอบความเพอร์เฟ็กต์ ชอบความเป๊ะ ส่วนมากก็มักจะมองอุปนิสัยนี้ในแง่บวก โดยเฉพาะในการทำงาน แต่ความเป๊ะปังมีเบื้องหลังที่เจ็บปวด เมื่อคนที่รักในความเพอร์เฟ็กต์นั้นเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต รวมไปถึงความเป๊ะของเราที่พาลเอาไปทาบทับกับคนอื่นด้วย ทีนี้จะเป๊ะยังไงไม่ให้ป่วยที่ใจและไม่ทำร้ายคนอื่น
“เป็นคนชอบความเพอร์เฟ็กต์ เรียกว่า perfectionist ก็ได้”
หากประโยคนี้เอ่ยขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์งาน ผู้พูดอาจได้คะแนนพิเศษเพิ่มไป จากนิสัยรักในความเป๊ะ ค่อนข้างเป็นนิสัยในเชิงบวก แน่นอนว่าคนฟังย่อมคาดหวังว่าความเป๊ะนั้นจะถูกนำไปใช้กับการทำงาน แต่พอเริ่มทำงานจริงๆ นิสัยนี้ อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์แง่บวกเหมือนกับชื่อของมันเสมอไป
ผลการวิจัยของ ‘โทมัส เคอร์แรน (Thomas Curran)’ จาก Department for Health, University of Bath และ ‘แอนดริว ฮิลล์ (Andrew P. Hill)’ จาก York St. John University ได้อธิบายเกี่ยวกับผลเสียของการเป็น perfectionist ที่ไม่ได้มีแค่ความเครียดเพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างชัดเจน ตั้งแต่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ ภัยร้ายเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชาว perfectionist
ทำความเข้าใจชาว perfectionist เบื้องหลังความเป๊ะนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ ชาว perfectionist เอง จะแบกรับปัญหาเหล่านี้และจัดการมันอย่างไร ไม่ให้ส่งผลร้ายกับทั้งตัวเองและผู้อื่น
เบื้องหน้าคือความเป๊ะปัง เบื้องหลังคือความกดดัน
ผลการวิจัยจาก ‘กอร์ดอน เฟล็ตต์ (Gordon Flett)’ ศาสตราจารย์จาก Faculty of Health at York University และ ‘พอล เฮวิตต์ (Paul Hewitt)’ ศาสตราจารย์จาก University of British Columbia ที่ศึกษาเรื่องของ perfectionism มาอย่างเข้มข้น
ทั้งคู่ได้แบ่งประเภทของ perfectionism ได้อย่างน่าสนใจ และเหมาะที่จะนำมาใช้สำรวจตัวเองและผู้อื่นในออฟฟิศด้วย เพราะแต่ละประเภทนั้นเป็นลักษณะของการทำงานที่เราพบเห็นได้บ่อย มาดูกันว่าเราเป็นประเภทไหนกัน
ตามงานวิจัยที่กล่าวไป perfectionism ถูกแบ่งประเภทออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
- ‘self-oriented perfectionism’ ผู้ที่ตั้งความคาดหวังไว้กับตัวเอง
- ‘other-oriented perfectionism’ ผู้ที่ตั้งความคาดหวังไว้กับผู้อื่น
- ‘socially prescribed perfectionism’ ผู้ที่แบกรับความคาดหวังจากสังคม
แต่ละประเภท มุมมองต่อความเพอร์เฟ็กต์ที่อยู่ในตัวเองแตกต่างกันออกไป อย่าง self-oriented perfectionism ผู้ที่ตั้งความคาดหวังไว้กับตัวเอง ความเพอร์เฟ็กต์นั้น จะถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานอันสู่งลิ่วให้กับตัวเองเท่านั้น สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผลลัพธ์อยู่ที่ตัวเองเพียงคนเดียวเช่นกัน
ส่วน other-oriented perfectionism ผู้ที่ตั้งความคาดหวังไว้กับผู้อื่น มักนำเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปเป็นไม้บรรทัดให้กับผู้อื่นด้วย แบบนี้สิดี แบบนี้สิถึงจะแตะมาตรฐาน หากเป็นในการทำงาน นิสัยประเภทนี้อาจทำให้ทำงานกับผู้อื่นยาก
สุดท้าย socially prescribed perfectionism ผู้ที่แบกรับความคาดหวังจากสังคม พูดง่ายๆ คือ คนที่คิดว่าคนรอบข้างจะคาดหวังกับตัวเองเอาไว้ เหมือนต้องคอยบอกกับตัวเองเสมอว่า ต้องทำให้ดีนะ มีคนจับตาดูอยู่เยอะ ซึ่งลักษณะนิสัยแบบนี้ค่อนข้างเป็นดาบสองคมในการทำงานเช่นกัน
ความกดดันที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป มีทั้งกดดันตัวเอง แจกจ่ายความกดดันไปที่ผู้อื่น และรับความกดดันเข้ามาอีกที จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ที่คนรักความเป๊ะจะมีปัญหาเรื่องความเครียด แต่ปัญหาคือมันไม่ได้หยุดอยู่แค่ความเครียดน่ะสิ
งานวิจัย Is Perfect Good? A Meta-Analysis of Perfectionism in the Workplace ที่ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Applied Psychology พบว่าชาว perfectionist มีมาตรฐานในการทำงานสูง กระตือรือร้น มีความโปรดักทีฟมากกว่าพนักงานคนอื่น และสิ่งเหล่านั้นก็นำพาความเครียดที่สูงมาด้วยเช่นกัน รวมทั้งมีความเสี่ยง workaholism อีกด้วย และในงานวิจัยนี้ยังบ่งชี้ด้วยว่า perfectionist ค่อนข้างโดดเดี่ยว ไม่ว่าความเพอร์เฟ็กต์ที่เขามีนั้นจะเอาไว้บั่นทอนหรือช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานก็ตาม
เป๊ะแค่ไหนถึงจะพอดี?
การเป็นคนมีมาตรฐานสูงในการทำงานหรือการใช้ชีวิต ค่อนข้างเป็นดาบสองคม ไม่ว่าจะนำไปใช้กับตัวเองเพียงผู้เดียว หรือเอาไปใช้กับผู้อื่นด้วยก็ตาม เมื่อเพดานของมาตรฐานมันเคยสูงเท่านี้ และเราแตะเพดานนั้นไปแล้ว มันจะไม่ใช่เพดานที่สูงอีกต่อไป เท่ากับว่า perfectionist จะคอยดันเพดานตัวเองให้สูงขึ้นเสมอ คาดหวังให้ทุกอย่างออกมาตรงใจทุกกระเบียดนิ้ว
รับมือกับมาตรฐานของตัวเองก็ว่าเหนื่อยแล้ว ถ้าเราเอามาตรฐานเหล่านั้นไปทาบทับกับคนอื่นด้วย มันจะเหนื่อยแค่ไหนกัน? คำตอบคือ เหนื่อยมากแน่นอน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับไม้บรรทัดของคนอื่นมาแปะไว้ที่ตัวเองเอาดื้อๆ ฉันทำได้ เธอก็ต้องทำได้สิ เอาแบบที่ฉันทำได้เลยนะ อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการทำงานเท่าไหร่ ชาวรักความเป๊ะจึงค่อนข้างโดดเดี่ยว (อย่างที่งานวิจัยบอกไปข้างต้น) ในการทำงาน
กลับมาที่คำถามที่ว่า เป๊ะแค่ไหนถึงจะพอดี? ชาว perfectionist รู้อยู่แก่ใจดีว่า ไม่มีวันที่เพดานของเขาจะหยุดนิ่ง มันต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่า เราเคยทำสิ่งนี้ได้ดีแล้ว แม้จะมีเพดานใหม่ที่สูงขึ้นมา มันไม่ได้ลดทอนสิ่งที่เคยทำไว้
เป๊ะเท่าที่ตัวเองจะไม่ต้องนั่งกุมหัวกับความคาดหวังของตัวเองจนเกินไป และไม่เอาความคาดหวังของตัวเองไปโบยตีผู้อื่น พูดง่ายๆ ก็คือ เป๊ะแบบที่ไม่ต้องให้ใครต้องเดือดร้อน แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่ถ้าจัดการความรู้สึกในส่วนนี้ไม่ไหว การพบแพทเฉพาะทางย์ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต โดยไม่ต้องรอให้มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น ปัญหาการจัดการอารมณ์ความรู้สึกก็สามารถพบแพทย์เฉพาะทางได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก