เวลาได้ยินคำว่า ‘Perfectionist’ หลายคนน่าจะนึกออกทั้งในแง่ดีที่ทำให้งานออกมาเนี้ยบ เป๊ะ วางใจได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ฟังดูเครียดและไม่ยืดหยุ่นด้วยเหมือนกัน แล้วถ้าหัวหน้าเราเป็น perfectionist จะนับว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า?
ในเว็บไซต์ hbr.org เขียนถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้วหัวหน้าที่เป็น perfectionist ก็มีรูปแบบแยกย่อยลงไปได้เหมือนกัน โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ 3 ประเภท
- Self-oriented perfectionism (SOP) คือคนที่มีมาตรฐานสูงกับตัวเอง ซึ่งถ้าใครเจอหัวหน้า perfectionist แบบนี้อาจจะเบาใจได้ เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทีมสักเท่าไร โดยมีการศึกษาในประเทศเยอรมนีพบว่า คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยจุกจิกกับคนอื่นและให้อำนาจการตัดสินใจ ให้อิสระกับลูกน้องได้อย่างที่ควรจะเป็น แถมยังตระหนักถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเอง เปิดรับฟีดแบ็กจากคนอื่นๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะการรักความสมบูรณ์แบบในที่นี้คือการอยากจะเป็น ‘perfect boss’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้น แต่ยังอยากเป็นหัวหน้าที่ดีให้กับพนักงานอีกด้วย
- Socially prescribed perfectionism (SPP) คือคนที่เชื่อว่าคนรอบตัวคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตัวเอง จนรู้สึกกลัวความผิดพลาด กลัวจะไปไม่ถึงความคาดหวังของคนอื่น เลยทำให้เครียดและกดดันอยู่บ่อยๆ ซึ่งมีการศึกษา ที่พบว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะคอยตรวจสอบทุกอย่างตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราทำงานได้ตามมาตรฐาน ตรงต่อเวลาอยู่แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จะรู้สึกกดดันได้บ่อยๆ เหมือนกัน เพราะไม่มีพื้นที่สำหรับความผิดพลาดเลยแม้แต่นิดเดียว
- Other-oriented perfectionism (OOP) คือหัวหน้าที่มีมาตรฐานสูงกับคนอื่นๆ และพยายามที่จะติเตียน วิจารณ์ตลอดเวลา มักจะมองหาข้อเสียของทุกอย่าง และเข้าไปควบคุมการทำงานของคนอื่นๆ แม้แต่เรื่องเล็กน้อย (micromanaging) ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นก็มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และต่อว่าอย่างรุนแรง
จะเห็นว่าหัวหน้า perfectionist มีทั้งแบบที่ให้อิสระกับคนทำงานและแบบที่ชวนให้เรามือสั่นเหงื่อแตกตลอดเวลา เพราะกลัวจะทำอะไรผิดพลาด แถมยังมีการสำรวจ หนึ่งที่พบว่า พนักงานประมาณ 75% บอกว่าการรับมือกับหัวหน้าเป็นพาร์ทที่เครียดที่สุดของการทำงาน ซึ่งพอถามลึกลงไปว่าหัวหน้าแบบไหนที่พวกเขาปวดหัวถ้าต้องรับมือด้วย หนึ่งในคำตอบสุดฮิตก็คือหัวหน้าสุด perfectionist นั่นเอง
แล้วถ้าต้องเจอหัวหน้า perfectionist 2 ประเภทหลัง เราจะรับมือยังไงได้บ้าง?
สร้างเกราะป้องกัน micromanaging
ก่อนอื่นเราอาจจะลองสังเกตว่าหัวหน้าเป็นคนกังวลกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ เพื่อหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า เช่น เรื่องการสะกดคำ การลงท้ายอีเมลด้วยรูปแบบนี้เสมอ นอกจากการตรวจทานอย่างรอบคอบด้วยตัวเองแล้ว เราอาจจะเสนอทางเลือกใหม่ๆ อย่างแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์หรือเครื่องมือบางอย่างที่สามารถช่วยเรื่องนั้นได้ โดยที่หัวหน้าไม่ต้องเข้ามาดูแลด้วยตัวเอง หรืออาจจะจดบันทึกว่าหัวหน้าเคยถามอะไรบ้าง แล้วเข้าไปอัปเดตความคืบหน้าและถามฟีดแบ็กก่อนที่หัวหน้าจะเข้ามาถาม เพื่อสร้างความไว้วางใจ แถมยังเป็นเหมือนการสร้างเกราะป้องกันการถูก micromanage ให้กับตัวเองอีกด้วย
แต่ถ้างานไหนที่รู้สึกเครียดเกินกว่าจะรับไหว เราอาจจะลองบอกไปตรงๆ ได้เหมือนกัน แต่ต้องมาพร้อมการเสนอทางเลือกใหม่ที่ทำให้เขารู้สึกว่า ถ้ายืดหยุ่นกว่านี้แล้วจะได้งานที่สมบูรณ์มากกว่า
ลองปรึกษาเพื่อนร่วมงาน
บางครั้งเวลาเจอหัวหน้าที่ชอบวิจารณ์หรือจุกจิกกับเรามากๆ อาจจะทำให้รู้สึกสับสนจน self-esteem หล่นหาย บ้างก็โทษตัวเองบ่อยๆ บ้างก็คิดไปว่า ‘นี่เขาเกลียดเราหรือเปล่านะ ?’ แต่ถ้าลองคุยกับเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าจริงๆ แล้ว หัวหน้าอาจจะเป็นมนุษย์ perfectionist คนหนึ่งที่มาตรฐานสูงกับทุกๆ คนนี่แหละ ซึ่งถ้าเพื่อนร่วมงานเจอปัญหาเดียวกันนี้ เราอาจจะได้แลกเปลี่ยนวิธีรับมือกันได้ หรือไม่ก็รวมตัวกันไปพูดคุยกับหัวหน้าเพื่อปรับจูนเข้าหากัน ดีกว่าเก็บความเครียดไว้ในใจคนเดียว
แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน
ต่อให้รับมือเก่งแค่ไหน แต่เชื่อว่าการอยู่ท่ามกลางสายตาที่กดดันให้เราทำทุกอย่างเป๊ะตลอดเวลาคงทำให้เรารู้สึกเครียดอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับการทำงานออกมาให้ดี คือการแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน เพื่อพักผ่อนนอกเวลางานอย่างเต็มที่ อย่าลืมอนุญาตให้ตัวเองได้ยืดหยุ่น ผ่อนคลายกับชีวิต ได้นอนขี้เกียจ ดูซีรีส์ ทำอะไรที่ชอบบ้างโดยไม่ต้องคิดเรื่องงานเพื่อชาร์จพลังให้เราได้กลับไปทำงานต่อได้อย่างเต็มที่
อย่าลืมให้อภัยและชมตัวเองบ้าง
เมื่อทำงานกับหัวหน้า perfectionist นานๆ บางทีเราอาจจะหลงลืมไปว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถทำผิดพลาดได้บ้างในบางเวลา ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นในบางครั้ง นอกจากการรับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว เราต้องไม่ลืมที่จะให้อภัยตัวเองบ้าง และเมื่อทำอะไรสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ หรือเรื่องเล็กๆ อย่างการทำงานเสร็จหนึ่งชิ้น ก็ต้องไม่ลืมชื่นชมและขอบคุณตัวเอง เพื่อชุบชูหัวใจของเราบ้าง ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ตามมาอาจจะกลายเป็นการ Burnout ไปซะก่อน หรือบางทีอาจจะลองชื่นชมหัวหน้าบ้าง (ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นคำชมที่จริงใจนะ) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ต่างคนต่างเห็นคุณค่าของความตั้งใจเล็กๆ รวมทั้งลดความตึงเครียดระหว่างการทำงาน เพราะความ perfectionist อาจจะทำให้แม้แต่หัวหน้าเองก็หลงลืมการชื่นชมสิ่งที่ตัวเองทำไปด้วย
ดังนั้นหัวใจสำคัญของการทำงานกับหัวหน้า perfectionist เลยไม่ใช่แค่การพยายามทำงานให้ออกมาเป๊ะ แต่เป็นการใจดีกับตัวเองและคนรอบข้างควบคู่กันไปด้วย แม้ว่าปัญหานี้ฟังดูเป็นเรื่องแก้ยาก เพราะลักษณะนิสัยคือสิ่งที่ถูกหล่อหลอมมาเป็นเวลานาน ทั้งจากการเติบโต ประสบการณ์ สภาพแวดล้อม แต่ไม่แน่ว่าเมื่อเราค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากันทีละนิด สถานการณ์ทุกอย่างอาจจะค่อยๆ ดีขึ้นในวันข้างหน้าได้เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก