ความโกรธเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง หากถูกใช้ในสัดส่วนพอเหมาะ อาจกล่าวได้ว่า สังคมที่ผู้คนแสดงออกความโกรธและร่วมมือเพื่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน เป็นเครื่องมือชี้วัดว่า สังคมนั้นมีสุขภาพประชาธิปไตยที่ดี (healthy democracy)
หากจะว่าด้วยอารมณ์ ทุกคนมีสิทธิโกรธได้เสมอ (อาจจะง่ายเสียด้วย) แต่การโกรธให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจุดประสงค์ และถูกระดับความโกรธ อาจทำให้คุณเปลี่ยนความหัวร้อนราวฟืนไฟเป็นการจุดประกายความสร้างสรรค์ผ่านอารมณ์อันเข้มข้นที่สุดชิ้นหนึ่งของวิวัฒนาการมนุษย์ ความโกรธ (anger) จึงเป็นทั้งอริและมิตรสหาย หากคุณเรียกใช้ให้ถูกวาระ
แต่สังคมปัจจุบันมักวาดภาพความโกรธ เป็นอารมณ์แห่งการทำลายล้าง (destructive emotion) มันเป็นชนวนเหตุทำลายความสัมพันธ์มนุษย์ หน้าที่การงาน เชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้ง หรือลงไม้ลงมือใช้กำลังบดขยี้อีกฝ่าย แน่นอนว่าความโกรธเองมีแง่มุมที่ไม่ชวนดึงดูดนัก จนสถาบันปรับปรุงบุคลิกภาพหลายสำนักมีคอร์สเฉพาะในการจัดการความโกรธที่เรียกว่า Anger management โดยใช้หลายร้อยทฤษฎีเพื่อให้คุณเรียนรู้ที่จะควบคุมและปลดปล่อยความโกรธออกมาอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา
หากอารมณ์โกรธอยู่คู่สรรพชีวิตมาช้านาน มีหรือที่มันจะไร้ค่า เพราะเราสามารถเปลี่ยนมันเป็นพลังรูปแบบอื่นที่นำไปสู่การต่อรอง พัฒนา และเปลี่ยนแปลง อารมณ์โกรธ ‘จำเป็น’ ไม่น้อยในการรักษาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล การต่อรองทางธุรกิจ การรักษาผลประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น หรือแม้กระทั่งทำให้คุณอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น แม้จะใช้ความโกรธเป็นกาวใจ (ร้อนๆ) ก็ตาม
กาวใจชนิดร้อน
น่าชื่นใจที่แม้แต่นักปราชญ์กรีกโบราณตัวเอ้ ‘อริสโตเติล’ (Aristotle) ยังมองความโกรธเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต ในงานเขียนชิ้นหนึ่งที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ชื่อ The Art of Rhetoric เขากล่าวว่า “มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะโกรธ อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน” แม้เวลาผ่านไปนานนับพันปีแต่นักจิตวิทยายุคโมเดิร์นหลายคนยังพยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วยว่า อริสโตเติลเขียนไว้ไม่เลวทีเดียว เพราะแม้การแง้มเข้าไปสำรวจความโกรธในตัวเราอาจมอบประสบการณ์ที่ไม่รื่นรมย์นัก แต่สามารถนำเราไปสู่จุดหมายที่วางไว้
หากคุณโกรธเป็น อาจมีความสุขกับชีวิตในระยะยาวมากขึ้นกว่าการทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่แยแสต่อความอยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น อริสโตเติลชี้ให้เห็นว่า ความโกรธเป็นพลังที่สามารถบ่มให้สุกงอมผ่านการใช้ยุทธศาสตร์แห่งความโกรธ (ไม่มี 4.0 อะไรทั้งนั้น) แทนที่จะยอมให้มันมาควบคุมตัวเรา
ความโกรธเกิดขึ้นง่ายราวลมพัดดอกหญ้ามาต้องหน้า (ถ้าอยู่ในเมืองดอกหญ้าอาจจะหายากหน่อย) คนข้างบ้านกวาดใบไม้มาไว้หน้าบ้านคุณ โดนเจ้านายตำหนิในที่ประชุม มีใครสักคนทิ้งแก้วกาแฟไว้ในอ่างแทนที่จะล้างให้มันจบๆ หรือคุณอาจจะโกรธความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของสงครามในซีเรีย โกรธที่เห็นเด็กๆ ต้องทนทุกข์ทรมาน โกรธผู้นำประเทศห่วยๆ ที่ไม่มีวุฒิภาวะของการเป็นผู้นำแม้สักกระผีก
เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ที่ปลุกเร้าเช่นนี้ ร่างกายคุณมีการตอบสนองอย่างทันทีทันใด ในระดับพื้นฐาน หัวใจคุณจะเต้นแรงขึ้น ระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีนเพิ่มสูง ส่วนจะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ความโกรธนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายเชิงประจักษ์อย่างไร ยังอยู่ในระหว่างข้อถกเถียงของนักวิชาการ แต่ผลกระทบในเชิงความสัมพันธ์ล้วนแจ่มแจ้งชัดเจน คนที่โกรธบ่อยๆ มักมองไม่ออกว่าความโกรธของตัวเองพุ่งสูงขึ้นไประดับไหน อารมณ์ฉุนเฉียวมักขับไล่ผู้คนให้ออกไปจากรัศมีชีวิต ลูกๆ ภรรยา ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน พวกเขามักตกเป็นเหยื่อความโกรธ คนที่ยังมีพื้นที่ให้ถอยห่างได้ก็โชคดีไป ไม่ต้องอยู่ใกล้ แต่คนส่วนมากมักถูกตรึงไว้กับความจำเป็นบางอย่างที่ต้องใกล้ชิดคนโกรธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนตั้งกระท่อมไม้ที่มุงด้วยใบจากใกล้ปากปล่องภูเขาไฟที่รอวันให้ปะทุขึ้นมาเท่านั้น
คนที่ใช้อารมณ์โกรธเพื่อระบายความอัดอั้นมักไร้ญาติขาดมิตร เขาไม่สามารถสานความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกับใครได้ ความร้อนเพียงวูบเดียวก็ทำให้เส้นดายนั้นขาดสะบั้น เมื่อถึงจุดตกต่ำที่สุดเขาจะมุ่งเข้าหาสิ่งอื่นเพื่อการติดพัน ทั้งการพนัน เหล้า และพฤติกรรมบ่อนทำลายอื่นๆ จนเป็นกลุ่มอาการ addiction ในท้ายที่สุด
ความโกรธที่ไม่งดงามทำให้ชีวิตมาถึงทางตันเร็วกว่าปกติ แต่หากไฟในมือของคุณเปลี่ยนเป็นไฟที่นำทางได้ ความโกรธที่ว่านั้นจะเป็นความโกรธแบบไหน?
ความโกรธที่นำทาง
จากความโกรธที่ถูกรถซิ่งปาดหน้า สู่ความโกรธของการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องสิทธิเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความโกรธจึงสามารถเป็นพลังที่งดงามเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน คุณจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์มนุษย์มีการส่งผ่านความเปลี่ยนแปลงเสมอผ่านความโกรธ หากทุกคนนิ่งดูดาย ผู้หญิงอาจไม่มีสิทธิได้เรียนหนังสือเช่นในอดีต เราอาจจะยังเห็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเรื่องรับได้ และคุณก็อาจยอมให้ใครก็ไม่รู้มาคอยจูงจมูกให้คิดตาม
หนึ่งในงานศึกษาที่มีการอ้างอิงบ่อยครั้ง คืองานของ Jennifer Lerner ปัจจุบันเธอประจำอยู่ Harvard University ขณะนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 มาไม่กี่วัน (น่าจะ 9 วัน) ทีมวิจัยลงมือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันราว 1,000 คน จากนั้นจะมีการติดตามผลเป็นระยะๆ อีกหลายปี
ทีมวิจัยพบว่า ผู้คนที่แสดงออกถึงความโกรธแค้นต่อเหตุความรุนแรง มีแนวโน้มที่จะมองโลกเต็มไปด้วยความหวัง (optimistic) หาใช่คนที่จะแสวงความรุนแรงตอบโต้เอาคืน พวกเขารู้สึกมีแรงจูงใจที่จะมีชีวิตต่อ มากกว่ากลุ่มคนที่แสดงออกอย่างหวาดกลัวต่อการก่อการร้าย ที่มีแนวโน้มจะถอยหนี หรือหาทางออกและไปสู่ที่สงบอื่นๆ แทน
ความน่าสนใจอีกอย่างของการสำรวจคนที่แสดงออกความโกรธอย่างถูกจังหวะและวาระ ไม่ได้ตอกย้ำว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เจ้าอารมณ์ ตรงกันข้าม พวกเขากลับมีคะแนนด้านความฉลาดทางอารมณ์สูง (emotional intelligence) ขัดกับความเชื่อที่ว่า อารมณ์โกรธคือความโง่เขลา เบาปัญญา ไร้แก่นสาร
ทีมวิจัยเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น มักใช้ความโกรธเป็นประภาคารเพื่อรวบรวมผู้คนให้ต่อสู้กับภัยที่เผชิญร่วมกัน (แม้กระทั่งต่อรัฐ) เหมือนพลังแม่เหล็ก ความโกรธเชื่อมโยงได้ดีกว่าความเศร้า (sadness) ก่อให้เกิดการลงมือทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน (take action) นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้คนต้องการแต่อาจไม่ได้มาหากเอาแต่พร่ำบ่นเหงาหงอย
ความโกรธจึงเป็นพลังงานขับเคลื่อนที่ทรงพลังหากถูกเติมในสัดส่วนพอเหมาะ สังคมที่ผู้คนแสดงออกความโกรธและร่วมมือเพื่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน เป็นเครื่องมือชี้วัดว่า สังคมนั้นมีสุขภาพประชาธิปไตยที่ดี (healthy democracy) ความโกรธจึงสามารถรับใช้สิ่งที่ใหญ่กว่าตัวมันเองได้ในฐานะของอารมณ์ เพื่อให้คนอื่นต่อสู้กับสิ่งที่คนเพียงไม่กี่หยิบมือไม่สามารถยืนหยัดสู้ได้
ในโลกของธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธความโกรธได้เลย นักเจรจาต่อรองที่มากประสบการณ์มักใช้ความตึงจากอารมณ์โกรธในการรักษาผลประโยชน์ พวกเขารู้จักงัดข้อดีของมันออกมาใช้ มหาวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำระดับโลกอย่าง INSEAD ที่มีแคมปัสในฝรั่งเศส ยังมีการอบรมการใช้ความโกรธในฐานะเครื่องมือในการเจรจาต่อรองอันเด็ดขาด
มีงานวิจัยที่ศึกษาวัฒนธรรมความโกรธในทุกแง่มุมธุรกิจของประเทศต่างๆ อย่างในสังคมอเมริกันและอังกฤษ นักธุรกิจส่วนใหญ่รู้สึกโอเคกว่าที่ต้องเจรจาต่อรองกับคนที่แสดงออกโดยมีน้ำโหบ้างเล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าคนที่ตายซากไม่แสดงออกทางอารมณ์เลย เพราะทำให้เขารู้จักการต่อรองกับรูปแบบของผลประโยชน์ที่มีคุณค่าจริงๆ (ยิ่งดูหวงก็ยิ่งน่าสู้) ต่างกับวัฒนธรรมของนักธุรกิจฝั่งเอเชียที่ไม่นิยมแสดงออกทางอารมณ์ให้คู่ต่อรองเห็น
เป็นเรื่องปกติที่คุณโกรธกับคนใกล้ชิด แม้ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะรักกันแค่ไหนมากก็ตาม ก็ย่อมหาเรื่องโกรธกันได้เป็นธรรมดา แต่ความโกรธที่ทะนุถนอมหัวใจอีกฝ่ายก็เป็นสัญญาณว่า ชีพจรความสัมพันธ์ของคุณปกติยังสุขดี แต่หัวใจสำคัญที่จะไม่เปลี่ยนความโกรธเป็นความชิงชังที่บ่อนทำลายหัวใจ คือการ ‘เคารพ’ ความรู้สึกอีกฝ่าย
อย่างที่อริสโตเติลกล่าวไว้เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว “โกรธให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจุดประสงค์ และถูกระดับความโกรธ” ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายนัก ล้วนต้องเกิดจากประสบการณ์ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน เห็นด้านทำลายล้างของความโกรธ พอๆ กับด้านที่ทำให้เกิดพลังงานที่งอกงามได้ ทุกคนล้วนมีประสบการณ์จากความโกรธมาแล้วทั้งสิ้น แต่เมื่อคุณต้องรับมือความสัมพันธ์ระดับชาติ เอาความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ เป็นเดิมพัน ผู้นำจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะโกรธอย่างถูกต้อง หาใช่ชี้นิ้วจัดการโดยลุแก่อำนาจ เมื่อวันที่ทุกคนอดรนทนไม่ไหว ประชาชนจะปฏิบัติต่อเขาด้วยความโกรธเช่นกัน
ทุกความโกรธจึงไม่ควรถูกมองข้าม ความโกรธในวันนี้ของคุณอาจสร้างบาดแผลที่ตัวเราเองยังเกลียดชัง แต่ความโกรธเพื่อผู้อื่น และปกป้องพวกเขาจากความอยุติธรรมยังเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างยิ่งยวด
ทำไมบางคนถึงเปลี่ยนความโกรธให้เป็นพลังขับเคลื่อนได้สำเร็จ อาจเพราะพวกเขาไม่สามารถเมินเฉยต่อความไม่เป็นธรรมของโลกใบนี้ได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Fear, Anger, and Risk. Jennifer S. Lemer. Carnegie Mellon University. Dacher Keltner. University of California, Berkeley
EFFECTS OF FEAR AND ANGER ON PERCEIVED RISKS OF TERRORISM A National Field Experiment
The Business School for the World | INSEAD