มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ เราคัดสรรเหล่าสรรพสัตว์ให้มีความเชื่อง ทั้งสุนัขป่า วัวป่า ม้าป่า จนเกิดลักษณะทางกายภาพพิเศษที่เปลี่ยนไปเรียกว่า Domestication syndrome
แต่แท้จริงแล้ว มนุษย์เองต่างหากที่คัดสรรความเชื่องให้สายพันธุ์ตัวเองมาก่อนใครตลอดเวลานับแสนๆ ปี จนมีลักษณะทางกายภาพที่ ‘ถูกทำให้เชื่อง’ ไม่ต่างจากสุนัขและแมว
เมื่อเราทำให้คนอื่นเชื่อง แล้วเราเองถูกทำให้เชื่องโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า?
เชื่อฟังแต่โดยดี
คุณชอบเลี้ยงอะไรบ้าง? หรือในบ้านคุณมีสมาชิกพิเศษที่เป็นทั้งเจ้าตัวปัญหาและที่ปรึกษาที่น่ารักอยู่ด้วยไหม? ประเด็นสำคัญคือ คุณออกคำสั่งควบคุมพวกมันได้ดีแค่ไหน
มนุษย์ติดนิสัยเลี้ยงโน่นนี่อยู่เสมอตั้งแต่บรรพกาล สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์แรกๆ ที่เราเลี้ยงเป็นเรื่องเป็นราวคือ สุนัขป่า ตามมาด้วยแกะ แพะ จากนั้นประตูที่ขวางกั้นเรากับสัตว์ก็พังครืน มนุษย์เริ่มเลี้ยงหมู วัว แมว ม้า และนก อีกหลายร้อยสายพันธุ์ เป็นเวลากว่า 30,000 ปีที่มนุษย์เลี้ยงสัตว์หลากหลายวัตถุประสงค์ ตั้งแต่เลี้ยงไว้เพื่อกิน (พื้นฐานที่สุด) เลี้ยงไว้ช่วยล่า เลี้ยงไว้เพื่อเป็นพาหนะขนส่ง เลี้ยงไว้เพื่อเอาขนหรืออวัยวะ เลี้ยงไว้เพื่อให้พวกมันล่าสัตว์น่ารำคาญอื่นๆ ที่คุณไม่ปรารถนา และสุดท้ายเลี้ยงมันเพื่อเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ (pet) น่าอุ้มน่ากอด
แต่ก่อนที่คุณจะเลี้ยงสัตว์เยอะแยะตามที่สาธยายมา แล้วใครกันล่ะที่เลี้ยงตัวเราให้เชื่อง ถ้าไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง เรามองข้ามช็อตปริศนานี้ไปนาน ที่ผ่านมาแนวคิดของ อริสโตเติล และ ดาร์วิน เคยกล่าวผ่านๆ ว่าด้วยการทำให้มนุษย์เชื่อง (Human Domestication) ซึ่งยังเป็นเพียงแค่ไอเดียในเชิงปรัชญาเท่านั้น
ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เผยคำตอบว่า การทำให้มนุษย์เชื่องนั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน เราสามารถนำลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอทัล และมนุษย์ในยุคปัจจุบัน มาเปรียบเทียบซึ่งออกมาคล้ายๆ การเทียบหมาป่า (นีแอนเดอทัล) และหมาน้อย (โฮโมเซเปียน) รวมไปถึงหลักฐานว่า สมองมนุษย์ค่อยๆ มีขนาดเล็กลง (ไม่ได้หมายความว่าโง่นะ) แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนับตั้งแต่บรรพบุรุษยุคหินเก่าเป็นต้นมา แถมยังมีแนวโน้มว่าวิวัฒนาการที่ถูกควบคุมผ่าน ‘การทำให้เชื่อง’ ยังคงดำเนินต่อไปในมนุษย์รุ่นต่อๆ ไปอีก
ผู้เขียนเคยยกประเด็นการทดลองที่ออกจะฮือฮาอยู่บ้าง ไขภารกิจวิจัย 6 ทศวรรษเพื่อเปลี่ยน ‘จิ้งจอกป่า’ ให้เชื่องเป็น ‘หมาบ้าน’ ที่นักวิทยาศาสตร์อยากลองย้อนเวลาไปสัก 30,000 ปีในช่วงที่มนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขป่าครั้งแรกๆ พวกเขาทำสำเร็จได้อย่างไร จนเราได้สุนัขที่เชื่องมนุษย์นำมาเลี้ยงในบ้านอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยของรัสเซียนำโดย Dmitry Belyaev นำสุนัขจิ้งจอกป่า (wild foxes) ที่ชาวพื้นเมืองล่าเพื่อนำขนมาทำเครื่องนุ่งห่ม แต่เปลี่ยนมาลองเลี้ยงให้เป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อจำลองกระบวนการทำให้เชื่อง (domestication) เหมือนที่บรรพบุรุษทำกับสุนัขในครั้งอดีต งานวิจัยชิ้นนี้ทำต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 60 ปี (ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่) มีทีมวิจัยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกลายเป็นชุมชนย่อมๆ นักวิจัยจะคัดเลือกสุนัขจิ้งจอกที่มีลักษณะเชื่องเพื่อขยายพันธุ์ต่อ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตัวที่ดุร้ายจะไม่ถูกเลือก เอาเฉพาะตัวที่มีแนวโน้มร่วมมือและรับฟังคำสั่งเท่านั้น
ใช้เวลาไม่นาน สุนัขจิ้งจอกรุ่นที่ 10 มีรูปร่างหน้าตาและนิสัยแตกต่างไปจากสุนัขจิ้งจอกที่ดุร้ายและขี้ระแวงในรุ่นแรกๆ อย่างสิ้นเชิง พวกมันเข้ากับคนได้ดี ขี้เล่น ชอบซุกตัวอยู่ใกล้ๆ มนุษย์ ตาโต ดูเป็นลูกจิ้งจอกอ่อนเยาว์แม้จะใกล้ช่วงโตเต็มวัยแล้ว หางม้วนเป็นพู่ หูตก มีขนสีขาวแซมสีขนดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น กะโหลกของจิ้งจอกเพศผู้หดเล็กลงจนแยกไม่ออกว่าเพศผู้หรือเพศเมีย ซึ่งแน่นอน ลักษณะทางกายภาพและนิสัยที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ทีมวิจัยวางไว้แต่แรก และเป็นที่แน่ชัดว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกเลี้ยงให้เชื่องจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับผู้เลี้ยง
กระต่าย หมู ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน สมอง ฟัน หู จมูกของพวกมันค่อยๆ เล็กลง เพราะไม่ต้องใช้ในการเอาชีวิตรอดตามธรรมชาติ เมื่อมีลักษณะที่เปลี่ยนไปพวกมันจึงเลี้ยงง่ายขึ้น พึ่งพามนุษย์มากขึ้น จน Domestication syndrome แสดงออกมาอย่างเด่นชัด
เธอช่างเลี้ยงง่ายอะไรเช่นนี้
มนุษย์อย่างพวกเราล่ะ มีการเปลี่ยนแปลงตาม Domestication syndrome หรือไม่ พวกเรามีใบหน้าเล็กลง ฟันเล็ก ไม่มีสันขอบคิ้วหนา และมีขนาดสมองที่เล็กลงกว่าญาตินีแอนเดอทัล และอีกหนึ่งพฤติกรรมที่นักชีววิทยาสนใจกันมาก คือการเรียนรู้ในช่วงวัยเด็กของมนุษย์ ที่อาศัยการเรียนรู้จากสมาชิกในฝูงนานขึ้นกว่าสัตว์ป่า มนุษย์และสัตว์เลี้ยงจะติดแจกับตัวแม่และเล่นกับเพื่อนๆ ในฝูง ต้องการประคบประหงมดูแลใกล้ชิด ผิดกับสัตว์ป่าที่พร้อมเรียนรู้และต่อสู้โดยลำพัง ทำให้ใช้เวลาอยู่กับฝูงไม่นาน
ระยะเวลาในช่วงเยาว์วัยจึงถูกยืดยาวขึ้น พวกเราจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิต ดังนั้นเราจึงค่อยๆ พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดึงดูดผู้อื่นเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน ความเดียวดายมักทารุณหรือทำให้คุณเผชิญความยากลำบาก ชีวิตที่ถูกทำให้เชื่องแล้วไม่ปรารถนาที่จะอยู่อย่างเดียวดาย ความเป็นไปของคุณจึงขึ้นอยู่กับคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
คราวนี้เรามาดูในระดับเซลล์กันบ้าง นักชีววิทยา Adam Wilkins จากมหาวิทยาลัย Humboldt University of Berlin พบหลักฐานว่า กระบวนการทำให้เชื่องนั้น ฝังรากลึกในระดับเซลล์ ตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ที่กำลังจะพัฒนาเป็นตัวอ่อน โดยเฉพาะเซลล์ Neural Crest ที่จะพัฒนาเป็นอวัยวะ ต่อมหมวกไต (adrenal gland) รับผิดชอบฮอร์โมนสำคัญๆ หลายชนิด เช่น อะดรีนาลิน ที่เปิด-ปิดภาวะหวาดกลัวและเครียด ทีมวิจัยพบว่า สัตว์รุ่นต่อๆ มาที่ถูกเลี้ยงให้เชื่องจะมีต่อมหมวกไตที่ลดการปล่อยอะดรีนาลินให้น้อยลง พวกเขาพบคอนเซ็ปต์ในหมูป่าสู่หมูเลี้ยง ที่รุ่นต่อๆ มาเชื่องคนมากขึ้น และไม่หวาดกลัว ทำให้พวกมันถูกเลี้ยงในพื้นที่ปิดได้ง่าย และเชื่อฟังคำสั่ง (หรือต้อนเข้าโรงเชือดได้ง่ายๆ)
ทีมวิจัยยังพบการเปลี่ยนแปลงของยีนด้อยที่มีผลต่อ Neural Crest และต่อต่อมหมวกไต อันเป็นสัญญาณลึกๆ ของการทำให้เชื่อง ซึ่งไม่พบในยีนสัตว์ป่าตามธรรมชาติเลย
กลับมาที่มนุษย์และญาตินีแอนเดอทัลของเราดูซิ คอนเซ็ปต์นี้แผลงฤทธิ์ในมนุษย์เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องดิ้นรนในธรรมชาติอีกแล้ว แต่การมีชีวิตรอดขึ้นอยู่กับว่าคุณร่วมมือกับคนอื่นๆ ได้ดีแค่ไหน โดยไม่ได้มุ่งไปที่การทำร้ายอีกฝ่ายเก่ง ดังนั้นคุณจึงตอบสนองต่ออารมณ์โกรธน้อยลง มนุษย์รุ่นต่อๆ มาเลยดุร้ายน้อยลง และแสวงหาการทำงานร่วมกัน จึงเกิดการส่งต่อลักษณะพิเศษ (trait) สู่มนุษย์รุ่นถัดๆ มา
การเลือกคู่ขยายพันธุ์ก็มีส่วน เพศเมียแสดงออกชัดเจนมากขึ้นที่จะเลือกเพศผู้ที่ไม่ใช่เป็นพวกบ้าพลังและดุร้าย แต่สาวๆ จะเลือกเพศผู้ที่มีแนวโน้มสนับสนุนเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยการจัดสรรทรัพยากร เทคแคร์ดูแลเอาใส่ใจ มากกว่าตัวผู้ที่วันๆ เอาแต่ไปตีกับฝูงอื่น มีหลักฐานที่ว่า ลิงโบโนโบ (Bonobo) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลิงที่รักสงบที่สุด ก็ส่งต่อวิวัฒนาการความเชื่องสู่รุ่นต่อมา พวกมันดุร้ายน้อยกว่าชิมแปนซี รักที่จะทำงานด้วยกันและแสดงความเอาใจใส่มากกว่าการประกาศอาณาเขตด้วยความรุนแรง
การค้นพบวัตถุโบราณในยุคหินเก่าช่วยตอกย้ำทฤษฎีนี้อย่างดี ในช่วง 200,000 ปีก่อน สิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบโดยมนุษย์ที่ขุดพบส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ใช้ตีรันฟันแทง เช่น ค้อนหิน หอกหิน มีดหิน แต่เมื่อเข้าช่วง 100,000 ปี เราเริ่มพบเครื่องประดับ ลูกปัด เครื่องดนตรี และสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนถึงการมีวัฒนธรรมทางสังคมที่แน่นแฟ้น แทนอุปกรณ์ที่ใช้รบพุ่ง ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์เราเผชิญการกดดันทางวิวัฒนาการจึงทำให้เราต้องสร้างมิตรเพื่อการทำงานร่วมกัน
คุณคือมนุษย์ที่ผ่านการปรับปรุงจนอยู่ในเวอร์ชั่น ‘เชื่องแล้ว’ อาจเป็นข้อเด่นหรือข้อด้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองว่า มนุษย์ตอบสนองต่อสถานการณ์แบบไหน ความเชื่องเกินไปทำให้คุณยอมรับระบบต่างๆ ทางสังคมโดยที่ไม่โต้แย้งเลยหรือเปล่า หากสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนคุณโดยการใช้ Domestication syndrome ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนท้ายสุดคุณไม่ตั้งคำถามกับรั้วและกรงที่กักขัง เพราะเผลอคิดว่าโลกมันถูกสร้างมาเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว คล้ายกับกรณีของจิ้งจอก วัว หมู ที่เกิดมาพร้อมที่จะเดินเข้าคอกเลย ถึงเวลานั้นการทำให้เชื่องจึงอาจเป็นเรื่องผิดพลาด
ไม่ว่าคุณเชื่องแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่าหัวใจขบถไม่ได้จางหายไปจากพวกเรา รักษาความดุดันไว้บ้าง เมื่อผู้เลี้ยงหรือระบบที่เลี้ยงดูพวกเรางี่เง่าเกินไป มันก็โอเคที่จะ ‘แว้งกัด’ มิใช่หรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก
The ‘Domestication Syndrome’ in Mammals: A Unified Explanation Based on Neural Crest Cell Behavior and Genetics Adam S. Wilkins, Richard W. Wrangham and W. Tecumseh Fitch GENETICS July 1, 2014 vol. 197 no. 3
Comparative Genomic Evidence for Self-Domestication in Homo sapiens.
The self-domestication hypothesis: evolution of bonobo psychology is due to selection against aggression. Animal Behaviour. Vol. 83, 2012, p. 573.