พวกเราไปกันมาแล้วทุกที่ และพวกเราก็เปลี่ยนมันซะทุกที ให้มันได้อย่างนี้สิ!
คุณตื่นมาพร้อมกับแววตาของนักผจญภัยอันสดใสใคร่รู้ “เราจะออกเดินทางไปที่ที่มนุษย์ไม่เคยย่างกราย เราจะเป็นผู้บุกเบิก!” นั้นสิ! มีที่ไหนบนโลกนี้อีกไหมที่คุณคนเดียวเท่านั้นจะเป็นคนแรกและคนเดียวตลอดไป
ถ้าคุณถามเช่นนั้น เราขอตอบให้เลยว่า…
“ไม่มีจ้า”
แน่ซะยิ่งกว่าแน่ ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ตลอดหลายแสนปี ทิ้งร่องรอยขนาดมหึมาเหมือนการตีตราประทับร้อนๆ ไว้บนระบบนิเวศของธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นไปได้ว่า “ไม่มีแห่งหนใดบนโลกที่ไม่เคยเปื้อนมือมนุษย์” เมื่อมนุษย์เดินทางไปที่ใดการดำรงอยู่ของเรามักเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วมากกว่าเผ่าพันธุ์ใดๆ บนโลกนี้เสียอีก และด้วยงานวิจัยทางธรณีวิทยาที่วิเคราะห์ฐานข้อมูลร่วม 30 ปี ก็ช่วยยืนยันว่าการกล่าวอ้างนี้ไม่เกินเลยนัก
เราไปมันซะทุกที่
การทำให้มนุษย์เห็นภาพรวมของระบบนิเวศโลกได้ เราก็ต้องลงทุนวิจัยกันแบบอลังการเสียหน่อย ผู้ทำหน้าที่ไขปริศนาคือ Nicole Boivin นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ และสถาบัน Max Planck : Science of Human History ของเยอรมนี ร่วมกับทีมนักวิจัยรุ่นใหม่หลายชีวิต ใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากว่า 30 ปี โดยเก็บข้อมูลการค้นพบทางโบราณคดีที่ปรากฏทั่วโลก และตัวอย่างข้อมูล DNA จากจุลซากดึกดำบรรพ์ (Microfossil) จำนวนมาก ทำให้พวกเขาเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงโดยน้ำมือมนุษย์ได้อย่างไม่มีใครเคยทำมาก่อน
แนวคิดที่ว่า มนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 นั้นดูจะ ‘เก่า’ ไปซะแล้ว เมื่อทีมวิจัยสรุปว่า มนุษย์สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกย้อนไปตั้งแต่ยุค ‘ไพลสโตซีนตอนปลาย’ (Late Pleistocene) หรือเมื่อ 195,000 ปีก่อน ซึ่งมีผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดต้องสูญพันธุ์ เพราะสาเหตุการขยายอาณาบริเวณในการลงหลักปักฐานของพวกเรา
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การลดจำนวนลงอย่างดิ่งเหวของกลุ่ม ‘มหพรรณสัตว์’ (Megafauna) หรือสัตว์โบราณขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์จากฝีมือมนุษย์เช่นกัน ย้อนไปได้ 50,000 ถึง 10,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งการสูญเสียเหล่าพี่ใหญ่บิ๊กเบิ้มก็เหมือนเชื้อปะทุที่ทำให้ระบบนิเวศโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
แม้ความก้าวหน้าด้านการกสิกรรมจะเปลี่ยนสังคมมนุษย์ที่อยู่กันอย่างเร่ร่อนสู่การเป็นชุมชน มนุษย์ก็ยังไม่วายสร้าง ‘ความกดดันทางวิวัฒนาการ’ ให้กับพืชและสัตว์จำนวนมาก เกิดผลกระทบในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งมีชีวิตที่เราเกี่ยวพันด้วยจะม่องเท่งกันไปเสียหมด เพราะมนุษย์คัดสรร ‘สัตว์ที่เราชอบ’ และก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรง เช่น สุนัขบ้าน แกะ แพะ โค กระบือ และไก่ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่มนุษย์ใช้ทำปศุสัตว์โดยส่วนใหญ่ มันก็คงไม่สูญพันธุ์ในเร็ววัน เพราะมนุษย์เป็นผู้จัดการการขยายพันธุ์
ข้าเห็นแผ่นดินแห่งใหม่!
บรรพบุรุษของคุณยังขยายอาณานิคมไปตามเกาะแก่งต่างๆ และกิจกรรมมนุษย์ก็ไปเปลี่ยนแปลงชีวนิเวศ (Biomes) บนเกาะ โดยการนำสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามา เช่น แมลงสาบ หนู กิ้งก่า และสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ต่างถิ่นล้วนเป็นพวก ‘รุกฆาต’ ติดตามมากับการขนส่งทางเรือ พวกมันเป็นเลิศในการเบียดเบียนสัตว์ประจำถิ่นที่อ่อนแอกว่า หากไล่ความพีคของกิจกรรมของมนุษย์ก็ไล่มาตั้งแต่ยุคสำริด (Bronze Age) จวบจนแตะจุดยอดกราฟในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และป่านนี้ก็เลยทะลุหลังคาบ้านไปแล้ว!
I KEEP WHAT I LIKE!
มนุษย์ย้ายถิ่นฐานเพื่อความสุขสบาย เราเลี้ยงสัตว์ที่เราอยากกิน เราปลูกสิ่งที่เราอยากปลูก แต่ความต้องการของเราสร้างการสั่นสะเทือนไปทุกส่วนในระบบนิเวศ
เรามี Timeline ง่ายๆดังนี้
- 190,000 มนุษย์ยุคใหม่กลุ่มแรกเดินทางออกจากแอฟริกา
- 70,000 มนุษย์เริ่มกระจายตัวไปทั่วทวีปต่างๆ ผ่านเปลือกน้ำแข็ง
- 50,000 กลุ่มสัตว์ใหญ่ (Megafauna) เริ่มลดจำนวนลงและสูญพันธุ์จากการถูกล่า
- 10,000 มนุษย์นำสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปะปนสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น การนำสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupial) จากนิวกีนีไปอินโดนีเซียและอีกหลายประเทศในแถบแปซิฟิก
จนอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังเข้ายุคสมัยใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) เป็นชื่อที่ใช้เรียกยุคสมัยทางธรณีวิทยาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึงระยะช่วงเวลาไม่นานมานี้ ที่การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ชื่อนี้เคยถูกเสนอเข้าพิจารณาเป็นชื่อหน่วยทางธรณีกาลในที่ประชุมสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอนในปี 2008 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้การยอมรับจากนักธรณีวิทยาเป็นจำนวนมาก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์แม้จะเป็นเรื่องผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ความก้าวหน้าของพวกเราก็สร้างประโยชน์และวัฒนาการให้กับโลกนี้ไม่น้อย แม้เราจะแก้สิ่งที่เราทำไปแล้วไม่ได้ แต่เรายังเฝ้าจับตาสิ่งที่เรา ‘จะทำ’ ต่อไปได้
อ้างอิงข้อมูลจาก