ปัจจุบันด้วยการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้หลายอย่างถูกและเร็วขึ้น เราจึงเห็นคนหนุ่มสาวมากมายลุกขึ้นมาทำธุรกิจแนว Startup ด้วยหวังจะสร้างอะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง—ผลสำรวจของ International Marketing at ABE บอกว่า มีคนหนุ่มสาวอายุแค่ 16-21 ปีมากถึง 82% ฝันอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง และมี 4% ที่พร้อมแล้วที่จะปล่อยสิ่งที่ตัวเองสร้างออกมาสู่โลก คำถามสำคัญในกรณีนี้คือ เราจะหาไอเดียที่ถูกต้องในการเริ่มต้นทำธุรกิจได้อย่างไร?
หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคอย่าง Think Big, Act Small หรือ ‘คิดการใหญ่ จากก้าวเล็กๆ’ แนวคิดการทำธุรกิจที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา และคงจินตนาการได้คร่าวๆ ถึงก้าวเล็กๆ ของธุรกิจอันยิ่งใหญ่อย่าง Apple ที่เริ่มขึ้นในโรงรถโกโรโกโส หรือ Facebook ที่ตั้งต้นสร้างกันในหอพักของ Harvard University ซึ่งมีส่วนพ้องกับแนวคิดดังกล่าว แต่เคยสงสัยไหมว่า พวกเขา ‘คิดการใหญ่’ จาก ‘ก้าวเล็กๆ’ ได้อย่างไร ความลับของแนวคิดนี้คืออะไร ทำไมมันจึงกลายเป็น role model ให้ใครต่อใครนำเอาไปใช้ ถึงขนาดที่ Global Social Venture Competition (GSVC) หรือเวทีการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก และ MIT Enterprise Forum Competition ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในงาน IDE Thailand 2017 โดยศูนย์ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ IDE Center (Innovation-Driven Entrepreneurship Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2017 ก็ยังต้องให้ความสำคัญ ลองไปสำรวจกันดีกว่า
THINK BIG-คิดการใหญ่
1. ปัญหาใหญ่แก้ไขด้วยนวัตกรรม
“การแข่งขันในปัจจุบันเป็นลักษณะของเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Economy) ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การบริหารจัดการข้อมูล และการสร้างนวัตกรรม” ดร. Edward Rubesch แห่ง IDE Center กล่าวไว้แบบนั้น ส่วนนักฟิสิกส์ชื่อก้องอย่าง Albert Einstein ก็เคยกล่าวว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดียวกับวิธีที่เราสร้างปัญหาขึ้นมา” ดังนั้นการสร้าง ‘สิ่งใหม่’ หรือ ‘นวัตกรรม’ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องเล่าที่เรายกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้…
วันหนึ่งในปี 1998 Nick Swinmurn ชายผู้เคยทำงานเป็นเด็กขายตั๋ว เกิดหงุดหงิดเมื่อเขาออกเดินหารองเท้าที่ตัวเองต้องการในห้างแถวบ้าน แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ จนเขาแปลงความหงุดหงิดนั้นให้กลายมาไอเดียร้านขายรองเท้าออนไลน์แห่งแรกๆ ของโลกในชื่อ Zappos ซึ่งถูก Amazon ซื้อหุ้นไปในปี 2009 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์—นี่คือการแก้ปัญหาด้วยการสร้างนวัตกรรม
2. สร้างโซลูชั่นใหม่ให้สังคม
ความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและจน, ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท, ความต้องการด้านการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ หรือสวัสดิการ นี่คือปัญหาที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ แล้วจะดีแค่ไหนที่เราสามารถสร้างคำตอบใหม่ให้แก่ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดฝันจะจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ที่ทุกคนกำลังเผชิญ นั่นย่อมหมายความว่า คุณจะมีลูกค้าเป็นของตัวเองทันที ยิ่งกับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ การสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้าง Impact หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกกำลังได้รับความสนใจ คาดการณ์กันว่ามีนักลงทุนที่ถือเงินรวมๆ กันมากถึง 700 แสนล้านเลยทีเดียว ที่กำลังมองหาโอกาสการลุงทุนจากการสร้างโซลูชั่นเหล่านี้
3. ใหญ่ไปอีกขั้นเมื่อโกอินเตอร์
เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราอาศัยอยู่นั้นมีผู้คนมากถึง 600 ล้านคน (เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และอินเดีย) ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จงอย่ารีรอที่จะฝันให้ใหญ่ เล็งให้ไกล มองโอกาส และความเป็นไปได้ในการพานวัตกรรม และโซลูชั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกของเราไปพบกับผู้คนให้มากขึ้น โดยสิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ‘ความเป็นสากล’ เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย ตัวอย่างก็เช่นครั้งที่ Starbucks บุกจีน พวกเขาสอดแทรกเข้าไปในวัฒนธรรมการดื่มชาอันแข็งแรงของชาวจีน ลดช่องว่างของวัฒนธรรมการดื่มชาและกาแฟ ด้วยการแนะนำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชาท้องถิ่นให้แก่ลูกค้า หรืออย่าง ข้าวยำไก่แซบ ข้าวยำไก่ซี๊ด ที่อยู่ในเมนูหลักของ KFC ในบ้านเรามายาวนานนั่นก็ใช่
ACT SMALL-เริ่มจากก้าวเล็กๆ
1. สำรวจทุกสิ่งตลอดเวลา
อะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เรา? สิ่งไหนที่ทำให้เราทดท้อใจ? อะไรบ้างที่เราต้องการทำ อะไรไม่? อะไรที่เราทำมันได้ดี อะไรไม่? ปัจจัยไหนที่จะทำให้เราดีขึ้นกว่านี้? ปัญหาและความต้องการของคนอื่นคืออะไร? กลุ่มคนกลุ่มไหนที่เราช่วยเหลือพวกเขาได้?—การสำรวจเริ่มต้นจากการเป็นคนขี้สงสัย และการจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างนั้นเราควรเป็นคนขี้สงสัยอยู่ตลอดเวลา จากคำถามเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากตัวเอง ไปสู่ผู้อื่น สุดท้ายมันจะกลายเป็นคำถามที่ขยายวงกว้างยิ่งกว่า เช่น สินค้าและเทคโนโลยีไหน หรือวิธีการทางการตลาดใดที่เหมาะกับเรา? และในปัจจุบัน ดูเหมือนอินเตอร์เน็ตจะเป็นเครื่องมือชั้นดีเหลือเกินในการเริ่มต้นออกสำรวจสิ่งเหล่านี้ โดยในสไลด์การสอนของ ดร. Edward Rubesch ได้แนะนำวิธีง่ายๆ เช่น การพิมพ์ประโยคว่า INTERESTING IDEAS ABOUT + (สิ่งที่เราต้องการ) ลงไปในช่องค้นหาของเสิร์ชเอนจิน
2. ทดลองด้วยหนทางที่ถูกและเร็ว
นักปราชญ์ชาวจีนนาม เล่าจื๊อ กล่าวว่า “เดินทางพันลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก” ผู้คนที่อยากริเริ่มสร้างอะไรเป็นของตัวเองจึงหวังจะก้าวไปแบบ step-by-step ทว่าความกลัวการผิดพลาดก็มักทำให้เราผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เสมอ บางทีอาจจนกว่าเราจะโชคดีสร้าง ‘ก้าวแรก’ อันยิ่งใหญ่ขึ้นมา แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ แนะนำว่า “ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรก หรืออีกพันลี้ เราก็ควรเห็นภาพของมันทั้งหมดตั้งแต่ต้น” ดังนั้น การทดลองด้วยวิธีการที่ถูกและเร็ว จะทำให้เราสามารถพัฒนาโอกาสของตนอย่างราบรื่น ซึ่งวิธีการก็มีอยู่มากมาย เช่น พูดคุยกับคนอื่นแบบไม่เป็นทางการ ทำสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง สังเกตหรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ทดลองสร้างต้นแบบ สร้างวิดีโอและอัพมันขึ้น Youtube สร้างเพจใน Facebook ทดลองปล่อยสินค้าและบริการ เพื่อดูผลตอบรับ
3. หาใครสักคนที่ต้องการเราจริงๆ
จั่วหัวไว้เหมือนจะโรแมนติกราวกับจะพูดถึงเรื่องความรัก แต่การควานหาลูกค้าที่ต้องการเราจริงๆ นั้นนับเป็นการก้าวสำคัญ—ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 ครั้งที่ Mark Zuckerberg เพิ่งสร้าง facebookขึ้นมา เขาได้จำกัดวงการใช้งานให้ใช้ได้แค่นักศึกษาใน Harvard University เท่านั้น ก่อนจะค่อยๆ ขยายไปที่ Stanford University และ Yale University และขยายขึ้นอีกขั้น แต่ก็ยังจำกัดวงให้ใช้ได้แค่อเมริกา แคนาดา อังกฤษ กว่าทั้งโลกจะได้ใช้งาน facebook จริงๆ และเสพติดมันอย่างรวดเร็วก็ปาไปปี 2009 เข้าไปแล้ว
การเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ไปหาใหญ่นั้นคือเคล็ดลับ—Zuckerberg พยายามพิสูจน์สมมุติฐานที่ว่าผู้คนล้วนอยากเชื่อมต่อเข้าหากัน ด้วยการจำกัดวงจากกลุ่มเล็กๆ ไปหาใหญ่—เมื่อเรามีลูกค้าที่จะสร้างกำไรให้เราสักคน และเริ่มมั่นใจว่า เราจะมีลูกค้าที่เหมือนๆ กันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน Think Big Act Small Symposium ได้ฟรี ที่นี่
แนวคิด Think Big Act Small หรือ ‘คิดให้ใหญ่ ทำให้เล็ก’ นี้จะถูกพูดถึงอีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ณ งาน IDE Thailand 2017 ในส่วนของ Think Big, Act Small Symposiumโดย speaker น่าสนใจหลายคน เช่น Christopher Janney ศิลปินแนว Installation art ชื่อดังจาก Massachusetts Institute of Technology: MIT ผู้มีผลโดดเด่นอย่าง SoundStair หรือ Randy Komisar แห่ง Kleiner Perkins บริษัท venture ระดับท็อปของสหรัฐฯ ผู้เคยเป็น CEO ของ LucasArts—บอกได้เลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!