ในช่วงเวลาที่มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความทุกข์ ความสิ้นหวัง ไม่รู้จะหันไปหาความสุขจากไหน แต่ในห้องเรียนขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ของ มะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร กลับกำลังจุดประกายแสงสว่างในใจของเด็กๆ ที่อนาคตกำลังมืดมน
โดยเธอได้สร้างพื้นที่เพื่อสอน ‘วิชาความสุข’ ขึ้นมา
หลายคนคงขมวดคิ้ว ความสุขมันจะไปสอนกันได้ยังไง แต่มะขวัญบอกกับเราว่าเขาไม่ได้กดดันหรือตีกรอบว่าความสุขต้องมีแบบเดียว แต่เขาเชื่อว่าแต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในชีวิตของตัวเอง ดังนั้นวิชาความสุขที่เธอออกแบบมานนั้น จึงเป็นการพาทุกคนไปสำรวจตัวเองผ่านกระบวนการต่างๆ โดยมีเธอเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยรับฟังว่าแต่ละคนคิดอะไรได้ รู้สึกอะไรขึ้นมา อยากทำอะไรต่อไป
จากวันที่มีคนมาชวนสอนวิชาความสุข ซึ่งเป็นวิชา General Education ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวันนี้ มะขวัญสามารถยืนยันกับเราได้เลยว่าเธอมีความสุขที่สุด
แต่การสอนวิชาความสุขของเธอ เธอก็ยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทุกข์ได้ เจ็บปวดเป็น แต่สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการสอนวิชานี้คือมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และนิยามความสุขที่เธอได้มานั้นคือการที่เราสามารถก้าวผ่านความทุกข์ด้วยความเข้าใจในเวลารวดเร็วมากขึ้น
เราชวนไปสนทนากับเธอถึงวิชาว่าด้วยความสุข และประสบการณ์การสอนที่เธอทั้งได้เป็นผู้สอน และผู้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
เริ่มต้นด้วยคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยคือความสุขมันสอนกันได้เหรอ?
สิ่งที่จะถูกตั้งคําถามทันทีเวลาคนได้ยินว่าสอนวิชาความสุขคือเรื่องนี้มันสอนกันได้ด้วยหรอ และโดยเฉพาะในยุคนี้ เวลาเด็กมาเรียน พอพูดถึงความสุข บางทีเขาก็โกรธแล้วอะ เพราะสถานการณ์และความจริงตอนเนี้ย มันไม่ใช่ความสุขด้วยซ้ำ แล้ววิชานี้มันสอนได้จริงหรือเปล่า มันจะพาเราไปมองโลกสวยรึเปล่า หรือเรามานั่งสมาธิกันเถอะ สิบสองชั่วโมงอะไรอย่างนี้
แต่เราพบว่าหลักคิดของเราล่างสุดที่เป็นรากของวิชานี้คือ เรามีความเชื่อว่าทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในชีวิตของตัวเอง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่วิชานี้จะทําเลยข้อที่หนึ่งคือ ชวนทุกคนมาถอดกระบวนการเรียนรู้ตัวเองก่อนว่า ที่ผ่านมาเราดูแลตัวเองยังไง เยียวยาตัวเองยังไง ความสุขของเราคืออะไร เราว่าเรื่องนี้มันคุยกันได้ และเป็นสิ่งที่จําเป็นต้องคุยนะ
เพราะถ้าเรายังไม่รู้ว่าความสุขเราคืออะไร นิยามคืออะไรเป็นแบบไหนอะ เราอาจจะใช้ชีวิตเหมือนตกน้ําแล้วก็ลอยไปเรื่อยๆ ก็ได้ เพราะจริงๆ ทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตเพื่อจะมีความสุขไม่ใช่เหรอ
แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งเราก็ไม่ได้รู้สึกว่า เราเป็นครูที่แบบมีอํานาจเหนือเธอ ฉันจะมาโปรดเธอนะในห้องนี้ พื้นฐานเราเป็นคนชอบเล่น ชอบชวนทุกคนมาสนุกกัน ดังนั้นเราก็จะพยายามพูดถึงความสุขในหลากหลายมุม เอาสิ่งเหล่าที่เราเรียนรู้มาโยนให้ในห้อง แล้วพอท้ายคาบเด็กอยากหยิบอะไรกลับไปกับชีวิตเขา ก็เป็นสิทธิ์ของเขาเลย มันเป็นช้อยส์หมดเลยว่าเขาจะเลือกหรือไม่เลือก ทําหรือไม่ทํา
แล้วนิยามของความสุขของครูมะขวัญคืออะไร?
ความสุขของเรามันคือความสบายกายสบายใจ คือเราอยู่ในสภาวะสบายอะ แล้วก็สามารถเยียวยาก้าวข้ามความทุกข์หรือปัญหาได้ในเวลาที่สมควร เราว่านิยามข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะว่าคนมักจะคิดว่าความสุขคือต้องไม่ทุกข์เลย ต้องเป็นอารมณ์ด้านบวกเท่านั้น แต่ความจริงมันคือคนเราจะเจอทุกอย่างตามปกติชีวิตอะ
อีกนิยามหนึ่งคือการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีเป้าหมายคือ คือรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วรู้ว่าเราอยู่ไปในแต่ละวัน เพราะเราอยากทําสิ่งไหนเพื่ออะไร
ถ้างั้นครูมะขวัญออกแบบคลาสสอนเรื่องความสุขยังไงบ้าง?
เราก็จะดีไซน์ออกมาเป็น 15 คลาส แบ่งเป็นหัวข้อแรกคือ Who am I เพื่อให้เด็กได้กลับมารู้จักร่างกาย จิตใจ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เป้าหมายคือ คุณต้องจริงแท้กับตัวเองให้ได้ในแต่ละขณะ และรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองอยู่
หัวข้อที่สองคือเรื่องเป้าหมายของการมีชีวิต เค้าก็จะได้เจอว่า เป้าหมายชีวิตหรือความหมายในเวลานี้เค้าคืออะไร หัวข้อที่สามคือการกลับมา รู้วิธีชาร์จพลังที่ถูกต้องทั้งหมดของตัวเองทั้งร่างกายจิตใจ
หัวข้อที่สี่คือ รักตัวเอง คือค่อยๆ ยอบรับด้านที่ตัวเองไม่ชอบ วิธีการอยู่กับด้านที่เราไม่ชอบในตัวเอง
หัวข้อต่อมาคือ ความสัมพันธ์ มีงานวิจัยความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุด บอกว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสุขคือเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งเราจะสอนไปจนถึงคลาสที่เก้าเลย เช่น การดูแลความสัมพันธ์เกี่ยวกับคนอื่นทํายังไง
และสี่หัวข้อสุดท้ายคือการ กลับมาดูแลหัวใจให้เรา มั่นคง แข็งแรง มีการตะหนักรู้ มีอุเบกขา
สมมติเข้ามาเจออกันวันแรก เด็กที่เข้ามาเรียนในคลาสจะเจออะไรบ้าง?
ก็จะเปิดมาด้วยการทําสิ่งที่เรียกว่า ‘เช็กอิน’ ทุกคาบแทนที่เราจะวิ่งไปพูดเรื่องความสุข เราอยากชวนเด็กกลับมาพูดก่อนตั้งแต่ต้นคาบว่า หนูเป็นยังไงอยู่ในวันนี้ หนูคิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ แต่ละวันเราก็จะไม่ได้ถามจี้ไปว่า เป็นยังไง!! รู้สึกยังไง!!
เราจะมีกิจกรรมหลากหลายมากในการทําสิ่งที่เรียกว่าเช็กอินกับเขา บางวันก็ให้หยิบกระดาษขึ้นมาทํางานศิลปะแทนอารมณ์วันนี้ บางวันก็ให้ไปถ่ายท้องฟ้า ว่าวันนี้อารมณ์เราเหมือนท้องฟ้าแบบไหน บางวันก็แบบ วันนี้แทนเพลงอะไร ชวนเขากลับมาที่ร่างกายก่อน
จากหัวข้อที่สอนช่วงแรกๆ เป็นการรู้จักตัวเอง ทำไมเรื่องนี้มันสำคัญ?
การรู้จักตัวเองมันคือพื้นฐานก่อนจะวิ่งไปหาว่าฉันจะมีความสุขได้ยังไง เราก็ต้องกลับมาดูก่อนว่าฉันเป็นอะไรอยู่ ฉันคิดอะไรอยู่ ถ้าเรารู้ในแต่ละขณะว่ากําลังเกิดอะไรขึ้นกับฉัน หรือรู้ไปถึงว่าฉันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ความคิดที่ฉันคิดอยู่ซ้ำๆ มันเกิดจากอะไร มันจะพาไปถึงต้นตอของสาเหตุ แล้วจะทำให้เราเข้าใจด้วยหัวใจเราจริงๆ หลังจากนั้นมันจะค่อยๆ คลี่คลายและเยียวยาสิ่งที่มันเคยรุนแรงกับเรามาก ก็จะค่อยๆ เบาลง เบาลง แล้วเราก็จะอยู่ด้วยความเข้าใจตัวเราเอง
ที่บอกว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ของการมีความสุข ความสัมพันธ์แบบไหนทำให้เรามีความสุข?
ความสัมพันธ์ที่ดี หนึ่งคือต้องอยู่บนพื้นฐานของความแฟร์ ความแฟร์ที่แบบเธอกับฉันเท่ากัน มันจะไม่มีใครรู้สึกว่าฉันอยู่ข้างล่าง เธออยู่ข้างบน สองต้องเป็นความรู้สึกที่เธอได้เป็นตัวเธอ ฉันได้เป็นตัวฉัน
สามนี่เป็นหัวใจมากเลย คือการสื่อสาร การสื่อสารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารของกันและกัน บางคนรักนะ แต่วิธีการแสดงความรักเป็นอีกอย่าง คือเราต้องเข้าใจภาษาความรักของกันและกัน และเราต้องสื่อสารสิ่งที่อยู่ข้างใน เพราะว่า จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์มันแย่เพราะว่าเราไม่สื่อสารออกมา
สี่ก็คือจอย ความสัมพันธ์ที่ดียังไงก็ต้องมีความรู้สึกเอ็นจอยหรือสบายอยู่ในนั้น ห้าคือคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ความซื่อสัตย์กัน เราต้องมีความเชื่อใจได้ว่าพอปิดประตูไปแล้วคนคนนี้อยู่ในห้องกับเพื่อน แล้วเค้าจะไม่นินทาเรา ไม่ด่าเรา ไม่ทําให้เรา เจ็บช้ำทั้งกาย วาจา ใจ นี่คือพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี
แล้วในคลาสที่ดูจะมีความหลากหลายมากๆ เราสอนยังไง?
สิ่งที่เราต้องทําให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนตั้งแต่คาบแรกๆ คือทําให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มันแปลว่าคนสอนนั่นแหละ ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ก่อน มันจะต้องเป็นพื้นที่ที่เด็กเป็นอะไรก็ได้อะ เราจะได้พบว่า เพราะพอเป็นเรื่องความทุกข์หรือความเศร้าอะ มันจะมีกรอบนิยามบางอย่าง เช่น ผู้ชายห้ามร้องไห้ ฉันห้ามอ่อนแอต่อหน้าคนอื่น จนอาจทำให้อายเพื่อนโน่นนี่ ดังนั้นสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นได้ในห้องเราคือ ทำให้ทุกคนรู้สึกอะไรก็ได้ เป็นอะไรก็ได้
แต่จริงๆ เด็กเขาจิตใจดีกว่าที่เราคิดนะคะ เขาเปิดรับมากๆ มีน้อยมากที่เราจะได้เจอเด็กตัดสินคนอื่นว่าแกไม่ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราว่าเขามี ทัศนคติของความเป็น global mindset ประมาณหนึ่งอะ เขาจะเปิดใจให้เพื่อนพูดได้เลย แล้วทุกคนก็ตั้งใจฟังอะ นี่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้เลย
แล้วก็เขามีความแคร์เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เคารพพื้นที่ส่วนตัว ทำให้เราเองก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเขาด้วยที่จะพูดหรือไม่พูดเรื่องต่างๆ เราก็ต้องนั่งปรับกิจกรรมที่มันจะไม่กระทบสิทธิทุกคน
แล้วพอยิ่งคาบท้ายๆ เราจะพบว่า ในห้องจะกล้าแชร์เรื่องที่ลึกขึ้น เช่นความฝันหรือความเจ็บปวด
อะไรคือความเจ็บปวด ความทุกข์ของเด็กสมัยนี้?
ปัญหาเด็กรุ่นปีสองปีนี้ปัจจุบันเลย ถ้าให้เราพูดคําใหญ่ใหญ่คือความคาดหวังในตัวเองกับสิ่งที่กําลังเป็นอยู่มันไม่สัมพันธ์กัน โลกที่กําลังเป็นอยู่ตอนนี้ เศรษฐกิจที่มันแย่ COVID-19 ที่กําลังเกิด อะไรก็ตามของประเทศนี้ที่มันไม่เสถียรไม่แน่นอน อย่าว่าแต่ทําตามความฝันที่เขาอยากจะฝันให้ได้เลย มีชีวิตอย่างที่เขาอยากจะมีสักนิด มีงานมีเงินแล้วดูแลพ่อแม่ เขายังไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ไหมด้วยซ้ำ แล้วเด็กทุกคน เรารู้สึกจริงๆ นะว่าเค้าเป็นเด็กดีอะ เด็กแทบทุกคนที่เค้าเจ็บปวดเพราะว่าอยากจะดูแลพ่อแม่ให้ได้อ่ะ เค้าอยากจะมีงานมีเงิน ดูแลคนที่เค้ารักให้ได้ แต่อนาคตข้างหน้ามันดูไม่ใช่อย่างงั้นน่ะ เค้าเห็นเลขตกงาน เห็นเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เค้าเห็นสิ่งนี้จริง ๆ แล้วเค้าวิ่งหนีไปไหนไม่ได้
มีไหม ที่จบคลาสไปแล้วเด็กก็บอกว่าไม่เห็นมีความสุขขึ้นเลย?
จริงๆ เราไม่เคยกดดันกระทั่งเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่พร้อมจะพัฒนาชีวิต อยากตายอะไรแบบนั้นเลย เราจะไม่ชี้นิ้วแล้วถามว่า ทําไม! ทําไม! ทำไม! เราจะถามว่า เป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้น แล้วก็สร้างกรุ๊ปซัพพอร์ตเพื่อฟังกันและกัน หรือก็บอกไปเลยว่าอยากขอความช่วยมั้ย เราจะบอกเสมอว่า ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไปช้าๆ นะ จะไม่ได้อีกซักเดือนนึงก็ไม่เป็นไร จนกว่าจะรู้สึกพร้อม
เราว่าเรื่องจิตใจมนุษย์มันซับซ้อน มันกว้าง มันเป็นวงกลม มันไม่สิ้นสุด เราเองก็ยังอยู่กับตัวเองได้ยากเลย แล้วเรามีสิทธิ์อะไรไปกดดันเค้า ใช่ไหม ดังนั้นเราก็จะอยู่บนฐานคิดนั้นมากกว่า
สิ่งที่อยากเห็นจากการสอนวิชานี้?
สิ่งใหญ่ใหญ่ที่เราอยากให้เด็กได้คือ เขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง เพราะวิธีการของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ทุกคนต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับตัวเองให้ได้ ดูว่าอะไรเวิร์กและไม่เวิร์ก
แล้วก็สิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้ทุกเทอมคือ เขาจะพบว่าความสุขมันง่ายมาก มันใกล้มาก แต่ชีวิตเค้าไม่สามารถหยุดที่จะดื่มด่ำมันได้เลย เพราะว่าในหัวเค้าเดี๋ยวก็ต้องทําโปรเจกต์ ทํานู่นทํานี่ เหมือนเค้าต้องวิ่งไปทําอะไรซักอย่างให้เสร็จตลอดเวลา
แต่เราอยากทำให้เขาเห็นว่ามันง่ายนะ แค่เดินออกไปหน้าบ้านก็เห็นแล้ว เดินไปในครัวก็เจอแล้ว คือเราอยากให้ทุกคนได้ลองจัดเวลาอย่างน้อยวันละ 15 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้เวลากับตัวเอง แต่เราจะไม่กดดันว่าเธอต้องรู้สึกมีความสุขนะ เธอต้องไปวิ่งไล่ตามอารมณ์นี้ เพราะมันจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้สอนให้เด็กมองเห็นชีวิตจริงๆ เลย แล้วมันก็จะกลายเป็นความทุกข์ทีหลัง
เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดไปแล้วมันก็เกิดไปแล้ว แต่เราอาจจะลองหันมามีบ้านในใจเป็นฐานที่มั่นให้เกิดความนิ่งสงบ ซึ่งสิ่งนี้สร้างได้จากการดูแลความรู้สึกของตัวเองทุกวัน แล้วปัญหาพวกนั้นหรืออารมณ์ลบพวกนั้นมันจะกลายเป็นก้อนเมฆที่ลอยผ่านเราไปตามธรรมชาติ
สิ่งที่เกินความคาดคิดของเราหลังได้มาสอนวิชานี้คืออะไร?
งานนี้เหมือนเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์เหมือนกันนะคะ เราทําหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยให้คุณหมออะ เพราะว่าเราไม่ใช่จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาใช่ไหม เราก็จะแบบว่า อืม คนนี้เข้าข่ายนะ เราก็จะมีลิสต์นักจิตวิทยา หรือศูนย์ดูแลต่างๆ แล้วบอกเด็กๆ ว่า ลูก ไปที่นี่ไหม ไปนี่ดีกว่า เพราะครูไม่สามารถดูแลหนูได้ตลอด ตอนนี้ครูว่าหนูเกินกําลังจะดูแลตัวเองแล้ว พบหมอดีกว่ามั้ยอะไรอย่างนี้
ประสบการณ์ตั้งแต่สอนมามีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่จําไม่ลืม
โอ้ เยอะเหลือเกิน ที่สุดเลยคือการเจอเด็กฆ่าตัวตายมาเจ็ดคนแล้วค่ะ แต่โชคดีว่าทั้งเจ็ดคนเราช่วยได้ทั้งหมด เจ็ดคนเนี่ยคือเขาส่งข้อความมาบอก ส่งอีเมล์มาบอก โทรมาโดยตรงอะไรอย่างนี้
ตราตรึงที่สุดก็คือเคยยืนสอนอยู่แล้วเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาหา แบบเดินเข้ามาเฉยๆ ในขณะที่เพื่อนในห้องก็นั่งอยู่ แล้วเด็กคนนั้นก็ถกแขนเสื้อให้ดูว่าเค้ากรีดข้อมือมาแล้วอะไรอย่างนี้ นาทีนั้นเรารู้สึกว่าเราต้องนิ่งสงบที่สุด เพราะถ้าเกิดเราตกใจ เด็กในห้องจะจับจ้องเด็กคนนี้ทันที เด็กคนนี้จะกลายเป็นเป้าสายตายิ่งกว่าเดิม เค้าจะยิ่งรู้สึกแย่ จําได้ว่ามันเป็นเคสที่ยาวนานของมากกับเด็กคนนี้ เป็นหลักปีเลย
ทุกวันนี้เด็กคนนี้ เรียนจบกับเราไปแล้ว แต่เราก็ยังได้คุยเช็กอัพเรื่อยๆ เพราะว่าเราต้องโทรหาแม่เขา ด้วยความที่พ่อแม่เขาโตมาอีกยุคหนึ่ง ซึ่งสำหรับเขา โรคซึมเศร้ามันยังไม่มีด้วยซ้ำ ก็จะมองว่าลูกเรียกร้องความสนใจรึเปล่า อ่อนแอรึเปล่า จนเราต้องโทรคุยกับแม่เขาเยอะมาก สุดท้ายเราพูดกับคุณแม่ ซึ่งเป็นการพูดแรงที่สุดในชีวิตตั้งแต่เราเกิดมาแล้วว่า “คุณแม่คะ ถ้าอาทิตย์หน้าอยากจะลองจัดงานศพให้ลูก คุณแม่ก็คิดอย่างนี้ต่อไปเลย” เราว่าเราพูดแรงมาก แต่เราก็ขอโทษนะ เราก็บอกว่านี่มันวิกฤตกว่าที่คุณแม่คิด เพราะหนูคือคนที่คุยกับลูกคุณแม่มาตลอด ช่วยพาไปพบจิตแพทย์ที ขอร้อง ทํายังไงก็ได้ พูดจนเราก็จะร้องไห้อยู่แล้ว สุดท้ายเขาก็พาไป
พอเจอบ่อยๆ รู้สึกดิ่งเหมือนกันไหม?
หลังจากเคสนั้นน่ะ ทําให้เรียนรู้ว่าเราจะต้องกลับมาดูแลตัวเราเองให้ดีที่สุด เพราะว่างานนี้มันคืองานที่ตอนเรามาสอนเราไม่คาดว่าจะเจอสิ่งนี้เลย ตอนแรกเข้าใจว่า เอ้ย เจอเด็กๆ สนุกจัง มาเล่นกันเถอะ เพราะเราชอบเล่น เราไม่คิดว่าเราจะต้องเจอทั้งหมดนี้หลายครั้ง กลายเป็นว่าทุกปีเราต้องมีช่วงเข้าป่าบ้าง ไปภาวนาบ้าง ดูแลจิตใจตัวเองบ้าง
แต่เราก็ยังชอบสอนวิชานี้ใช่ไหม?
เรียกว่ามีความสุขที่สุดเลยค่ะ จริงๆ คือรู้สึกโชคดีที่ได้ทํางานที่สนุกแล้วก็รัก เราพูดกับทุกคนได้เต็มปากว่านี่คืองานของชีวิต ให้ทําอีกเท่าไรก็ได้ แบบชอบมาก เรามีความสุขมาก มันเป็นงานที่ทําให้เราได้เรียนรู้ตัวเองเยอะที่สุดเลย
สุดท้ายเรานั่นแหละได้เรียนรู้เยอะที่สุดและขอบคุณนักเรียนทุกคนที่เข้ามาเป็นครูเราอะ แบบเราเรียนรู้จากเขาว่าเราไม่ได้ทำทุกอย่างดีเลิศและเป็นวิชาที่เด็กชอบตั้งแต่แรก เราทําผิดพลาด เราทําอันนี้ผิด ก็ต้องวิ่งไปขอโทษเด็กอะไรแบบนี้ เวลาคอร์สปรับใหม่ก็เหมือนกลับมาเรียนรู้ตัวเองข้างใน เจอข้อจํากัดตัวเอง คอยจัดการตัวเอง จนมาถึงวันนี้ได้จนพบว่า มันเป็นงานที่ดีที่สุด ว่าเราได้เติบโตข้างใน ได้เรียนรู้ ได้เป็นคนที่สบายใจขึ้น โล่งขึ้นและมีฐานที่มั่นในใจตัวเอง
เคยโดนถามไหมว่าสอนวิชาความสุข แปลว่าจะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป
จริงๆ สิ่งที่โดนเยอะที่สุดตั้งแต่สอนวิชานี้มาสี่ปีคือการโดนถามเรื่องนี้นี่แหละว่า คนสอนวิชาความสุขทําไมยังเป็นทุกข์อยู่ คนสอนวิชาความสุข มีความสุขจริงหรือเปล่า แบบ แกเป็นไลฟ์โค้ชหลอกเด็กหรือเปล่า คือคุณคะ ดิฉันเป็นมนุษย์ค่ะ ข้อที่หนึ่ง
ข้อที่สองคือ ทุกสิ่งในชีวิตมนุษย์มันจะเกิดตามธรรมชาติอ่ะ เราจะสูญเสีย เราจะตาย บางข้อจํากัดที่ยังทําไม่ได้เราก็จะเป็นทุกข์อยู่ แต่ในปีที่เราอายุ 25 เราอาจจะเป็นทุกข์อยู่หนึ่งปี แต่ในปีที่อายุ 31 เราอาจเป็นทุกข์อยู่หนึ่งชั่วโมงก็เข้าใจแล้ว
คือเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากทําให้คนเห็นที่สุดคือความจริงแท้กับตัวเอง เราจริงแท้กับตัวเองทุกขณะเลยว่าตอนนี้เราโอเคหรือไม่โอเค แล้วเราว่ามนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิ์จริงแท้กับตัวเองในแต่ละขณะว่าฉัน โอเค ไม่โอเค และคนรอบตัวน่าจะได้ช่วยซัพพอร์ตกัน รับฟังกัน เรารู้สึกว่า การเป็นทุกข์หรือเป็นสุขของเรานี้ เราแค่อยากแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์
สุดท้ายแล้วก็น่าจะกลับไปที่การรักตัวเอง ถ้างั้นเราจะเริ่มรักตัวเองได้ยังไง?
คําว่ารักตัวเองเนี่ย มันคือการที่เราต้องเริ่มจากการสื่อสารกับตัวเองให้ดีก่อน แบบ ไม่ใช่ว่าใช้เสียงในหัวเราที่เราพูดกับตัวเองประมาณว่า มะขวัญ!! ทําไมแกทําอย่างงี้ แย่มาก แต่ควรจะเป็นแบบ มะขวัญญญ ทําไมตลกจังวันนี้ เออ ไม่เป็นไร อันนี้เอาใหม่นะ อะไรอย่างนี้
คือเสียงที่เราสื่อสารในหัวต้องเป็นเสียงที่ดีก่อนแล้วเราจะค่อยๆ รักตัวเอง หลังจากนั้นค่อยๆ ขยับไปที่ดูว่าเราทำกับร่างกายเรายังไง เราหายใจไม่ค่อยดีหรือเปล่า ลองมากำหนดลมหายใจ หรือเรามีส่วนที่ไม่ชอบในร่างกายตัวเองหรือเปล่า ลองค่อยๆ โอบกอดแล้วพูดดีๆ กับส่วนต่างๆ ที่เราไม่ชอบ
สุดท้ายลองดูว่ามีนิสัยไหนที่เราไม่ชอบหรือเปล่า ลองมาทําความรู้จักสิ่งนี้กัน เช่น ความขี้เกียจนี่จริงๆ แล้ว สิ่งที่อยู่ใต้ความขี้เกียจมันคืออะไร มันพยายามจะบอกอะไรเรา มันพยายามจะปกป้องเรารึเปล่า มันคือการลองเป็นเพื่อนกับทุกด้านในตัวเอง เป็นเพื่อนกับด้านที่ไม่น่ารักของตัวเอง ยิ่งเราพยายามกําจัดด้านมืดหรือพูดไม่ดีหรือผลักไสอะ ด้านนั้นมันจะยิ่งเติบโต มันจะเหมือนเราเพิ่มปัญหา แต่จริงๆ แล้ว พอเรารู้ว่าเราขี้เกียจ เราพยายามเข้าใจ แล้วก็โอบรับแล้วก็เป็นเพื่อนกับมัน มันก็จะเริ่มแก้ปัญหาได้
อะไรคือสิ่งได้ค้นพบในการสอนวิชาความสุข?
เราพบว่ามนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์มากเลยค่ะ เราว่าทุกคนประเมินความสามารถตัวเองต่ำไปเหมือนกันนะบางที เราเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ต่างๆ ในตัวเองเยอะกว่าที่เรารู้ และเรามีความกล้า มีพลัง มีความเชื่อมั่น มากกว่านั้น
เราแค่ ต้องกลับมาหา มาจูนภายในให้เจอ ถ้าจูนติด เราก็จะเจอคลื่นนั้นในตัวเอง