ฟุตบาทพัง ถนนเป็นหลุมบ่อ ท่อระบายน้ำเปิด น้ำขัง ไฟดับ ขยะไม่มีคนเก็บ รถติด ไฟจราจรเสีย ป้ายระเกะระกะ ฯลฯ
ปัญหาเส้นเลือดฝอย เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ให้ความสนใจและพูดถึงตลอด ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง
และหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้ กทม .เข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้ ก็คือแพล็ตฟอร์มออนไลน์ชื่อว่า Traffy Fondue ที่ให้ประชาชนคอยแจ้งปัญหาถึงผู้รับผิดชอบโดยตรง พร้อมกับแสดงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นผ่านเว็บไซต์ https://www.traffy.in.th/
Traffy Fondue ไม่ใช่แอพฯ ใหม่ ไม่ต้องโหลดหรือลงทะเบียนอะไร เพียงแค่คุณยกมือถือขึ้นมาเปิด LINE และแอดเฟรนด์ ก็จะได้ช่องทางการแจ้งปัญหาต่างๆ ที่พบเจอผ่าน chatbot เพียงแค่พิมพ์บ่นสิ่งที่เจอ ถ่ายรูป ส่งโลเกชั่น และเลือกประเภทปัญหา พร้อมหน่วยงานที่จะแก้ไข – ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งไปถึงคนที่รับผิดชอบในทันที
ท่ามกลางสารพัดแอพฯ หรือช่องทางออนไลน์ ที่ภาครัฐเข็นออกมาเรียกร้องให้ประชาชนใช้
แล้วเหตุใด ชัชชาติถึงเลือกโปรโมต Traffy Fondue ให้มาเป็นตัวช่วยในการจัดการปัญหาใน กทม. ถึงขนาดเป็นโพสต์ปักหมุดบนเพจเฟซบุ๊กทางการ แนะนำให้คนเข้าไปใช้งาน ‘แจ้งปัญหา’ กันมากๆ ผ่านช่องทางนี้
จนผ่านไปไม่ถึงเดือน มีคนแจ้งปัญหามาแล้วกว่า 40,000 เรื่อง
The MATTER ขอสรุปเป็น 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแพล็ตฟอร์มที่ชื่อพ้องเสียงกับคำว่า “ท่านพี่ฟ้องดู” จากการพูดคุยกับ ‘วสันต์ ภัทรอธิคม’ หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา
ที่ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ตัวแอพฯ หรือระบบ จะทำให้มีมันง่าย แต่มีแล้วคนใช้ นำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ นี่แหละจะเป็นตัวพิสูจน์”
1.
ความเป็นมา
เกิดจากการที่เราไปทำ smart city ที่ จ.ภูเก็ต ตอนปี 2561 โดยได้รับมอบหมายเรื่องการจัดการขยะ เนื่องจาก จ.ภูเก็ตมันเป็นพื้นที่พิเศษ นักท่องเที่ยวจะมาเป็นฤดูกาล เดี๋ยวมาเยอะ เดี๋ยวมาน้อย การจัดการก็จะยากมาก ชาวบ้านก็จะบ่นว่า รถขยะไม่มาเก็บ ก็ส่งกลิ่น นักท่องเที่ยวก็ไม่พอใจ
เราก็เลยเอาเทคโนโลยีไปช่วย ใช้เซ็นเซอร์และติด GPS รถเก็บขยะทั้งหมด ทำให้เห็นรูปแบบ (pattern) การเก็บขยะ ไปเส้นทางไหน บ่อยแค่ไหน จุดไหนเก็บ-ไม่เก็บ เป็นแพล็ตฟอร์มชื่อ Traffy Waste
แต่มันยังมีปัญหา คือขยะที่ถูกทิ้งนอกถัง ทิ้งเกลื่อนกราด ซึ่งเราไม่รู้ ก็เลยอันนี้ต้องใช้คนเป็นเซ็นเซอร์แล้วล่ะ ช่วยบอกหน่อยว่าที่มีปัญหาอยู่ตรงไหน ก็เลยทำแอพฯ มาแก้ปัญหานั้น ก็พบว่าทั้งคนไทยและคนต่างชาติใช้ ก็เลยคิดว่า ถ้าใช้แจ้งขยะเกลื่อนกราดได้ ก็น่าจะใช้แจ้งเรื่องอื่นๆ ได้
เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Traffy Fondue ในเวลาต่อมา
2.
ที่มาของชื่อ
สัก 20 ปีก่อน NECTEC พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาแก้ปัญหาเรื่องจราจร ..Traffy ก็มาจาก traffic
แต่ตอนหลังกลายเป็นชื่อแบรนด์ไป แล้วข้างหลังเป็นชื่อ product เช่น Traffy Waste ใช้เกี่ยวกับการจัดการขยะ Traffic Transit ทำเรื่องจราจร Traffy Share ส่งต่อเรื่องดีๆ
ส่วน Traffy Fondue ชื่อนี้มาจากทีม ที่ตอนแรกมาช่วยกันคิดว่าชื่ออะไรดี จะเป็น Traffy Report ก็ยากไปสำหรับคนไทย ดูไม่ชัดเจน ก็เลยบอกว่า เอาคำว่า “ฟ้องดู” ไหม
ตอนแรกจะเอา “ฟ้องตู่” แต่ก็ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นการเมืองเกินไป
ส่วนคำว่าฟ้อง ก็มีความหมายเชิงลบ คนที่เป็นลูกค้าของเราก็คือหน่วยงานของรัฐ ถ้าเราไปเสนอสินค้าใช้ชื่อว่าฟ้อง ก็คงดูไม่ดีเท่าไร ก็เลยไปหาคำอื่นๆ มาใช้แทนจนได้ fondue ละกัน เป็นชื่อกลางๆ ที่ถ้าคนไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีนัยยะซ่อนอยู่
ตอนนี้ก็มีคนไปคิดชื่อให้ใหม่เยอะเลยนะ ‘ฟ้อง’ ก็คือ report และ do ก็คือ ‘ทำ’ ฟ้องแล้วก็จะทำให้ ก็ได้เหมือนกัน
3.
ช่วยแก้ปัญหาได้ยังไง
มันคือแพล็ตฟอร์มใช้จับคู่ ระหว่างปัญหา กับคนที่จะต้องแก้ปัญหา เป็นเหมือน Grab, AirBnb หรือ Shopee แต่แทนที่จะเป็นอาหาร โรงแรม หรือสินค้า ก็เป็น ‘ปัญหา’ แค่นั้นเลย
คุณชัชชาติจะเรียกมันว่า platform โดยเปรียบกับ ‘ตลาด’ คือเอาคนขายกับคนอยากซื้อมาเจอกัน
แพล็ตฟอร์มนี้ก็เหมือนตลาด ให้คนแจ้งปัญหาเข้ามา – ถ่ายรูป – แชร์โลเกชั่น – เลือกประเภท คนที่จะแก้ปัญหาก็รับเรื่อง แก้ปัญหา แล้วอัพเดทสถานะต่างๆ ให้ (ปัจจุบันมี 4 สถานะ คือ รอรับเรื่อง, ดำเนินการอยู่, ส่งต่อแล้ว หรือแก้เสร็จแล้ว) เจ้านายมาเห็นก็พอใจ
โดยวิธีจะใช้งาน Traffy Fondue ก็ง่ายๆ ไม่ต้องไปโหลดแอพฯ ใหม่เพียงแต่เปิด LINE ขึ้นมา แล้วแอด ‘Traffy Fondue ฟองดูว์’ เป็นเพื่อน หากเจอปัญหาใดๆ ก็แค่พิมพ์บ่น แล้ว chatbot จะคอยตอบคำถาม พร้อมขอให้ใส่ข้อมูลที่จำเป็นต่อการแจ้งปัญหานั้นๆ ซึ่งได้แก่ รูป ตำแหน่ง และประเภทของปัญหา แค่นั้นเลย
ปัจจุบัน เราได้พัฒนาให้สามารถติด tag ของปัญหาได้มากกว่า 1 ประเภท และพยายามจะใช้ AI เข้ามาช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานน้อยลงในขั้นตอนต่างๆ
4.
เหตุผลที่ให้แจ้งผ่าน LINE
ที่ให้แจ้งปัญหาต่างๆ ผ่าน LINE เพราะเราเคยลองมาหลายอย่าง เคยมีการเสนอว่าทำเป็น ‘แอพพลิเคชั่น’ ไหม เวลาประชุมก็เสนอให้ทำสำหรับไอโฟนก่อน เพราะคนในห้องนั้น 90% ใช้ไอโฟน แต่พอไปลองตลาด ปรากฎว่าคน 75-85% ใช้แอนดรอยด์ หลังจากนั้นเราก็ลองทำแอพฯ สำหรับแอนดรอยด์ไป ก็พบว่า คนจำนวนมากเลยลงแอพฯ ไม่เป็น แล้วพอไปหาข้อมูล ปรากฎว่า เรามีแอพฯ จำนวนมาก จะชวนให้คนมาลงแอพฯ ใหม่นี่ยากมาก หรือต่อให้ลง ถ้าไม่อยู่ใน 1-2 หน้าแรกของมือถือ คนก็ไม่ใช้ หรือถ้าต้องไปคลิกนู่นนี่นั่น คนก็ไม่เอา สุดท้ายก็ถูกลืม
กระทั่งวันหนึ่งไปอบรม แล้วคุณยายถามว่า ทำใน LINE ไม่ได้เหรอ ..แค่นี้เลย
แล้วพอไปลองหาข้อมูลดู เวลาจะแจ้งปัญหาสิ่งที่เราต้องการ 1.รายละเอียด 2.ภาพ 3.ตำแหน่ง นี่คือพื้นฐานที่สุด ปรากฎว่าใน LINE มันทำได้ ง่ายด้วย
แล้วการที่เราทำเป็น chatbot ก็ยิ่งง่าย เพราะต่อไปถ้า LINE ไม่นิยม คนย้ายไปใช้แอพฯ ไหน เราก็ย้ายตามไปได้ ไม่ว่าจะ WhatsApp, Telegram ฯลฯ
แล้วการที่เราไปผูกกับแอพฯ แชต ก็ยิ่งทำให้ออกแบบขั้นตอนต่างๆ ได้ง่าย เพราะจะมีขั้นตอนที่ชัดเจน คนรู้ว่าต้องทำอะไร 1 2 3 4 แตกต่างจากแอพฯ ประเภทอื่นที่อาจจะมีปุ่มต่างๆ เยอะแยะเต็มหน้าจอไปหมด
นอกจากนี้ ยังทำให้ AI สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ส่งมาได้ง่าย เช่น บอกว่าถนนมีปัญหา แต่รูปที่ส่งมาอาจจะไม่ชัด ก็อาจจะแจ้งขอให้ส่งรูปเข้ามาใหม่ เป็นต้น
5.
มาเจอกับชัชชาติได้อย่างไร
ตั้งแต่ตอนคุณชัชชาติประกาศตัวลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ๆ ปลายปี 2563 และยังทำกลุ่ม Better Bangkok ก็คงคุยกับคนเรื่อยๆ ว่าใครมีอะไรจะมาช่วยแก้ปัญหาของ กทม. ได้บ้าง แล้วบังเอิญ คงจะมองเราว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยได้ จึงได้ไปนำเสนอ แล้วเกิดความร่วมมือกัน
“จริงๆ Traffy Fondue ผมก็นำเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ที่สนใจทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ทั้งรัฐและเอกชน แต่ก็มีทั้งคนที่ใช้และไม่ใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครเห็นภาพยังไง”
คุณชัชชาติน่าจะเป็นคนที่เห็นภาพมากกว่าเรา ว่าแพล็ตฟอร์มนี้ไม่ใช่แค่ใช้แก้ปัญหาเมือง แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการเรื่องนี้ จากเดิมที่เราจะต้องมี ‘คอนเน็กชั่น’ กับคนแก้ ถึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ไว กลายมาเป็นการ ‘ต่อทอดตรง’ ให้คนที่เกี่ยวข้องมารับเรื่อง
แล้วก็เริ่มใช้ตั้งแต่ยังเป็นผู้สมัคร กับ LINE กลุ่ม ‘เพื่อนชัชชาติ’
หลังชนะเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ยิ่งคุณชัชชาติพูดว่า แพล็ตฟอร์มนี้จะใช้เพื่อ “แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย’ ใน กทม. และจะ ‘ใช้ประเมิน ผอ.เขตด้วย’ แค่ 2 keyword นี้มารวมกัน คนเลยเข้ามาใช้เยอะขึ้น
เพราะรู้ว่า ถ้าแจ้งปัญหาเข้ามาแล้ว จะเกิดการแก้ไข
6.
ปัจจัยที่หน่วยงานรัฐใช้-ไม่ใช้
หลังจากนำเสนอกับหน่วยงานต่างๆ ค่อนข้างมาก เหตุผลที่ Traffy Fondue มีทั้งถูกนำไปใช้และไม่ถูกนำไปใช้มีอะไรบ้าง?
วสันต์ตอบว่า 1.อาจจะเป็นที่ผม อธิบายให้เขาฟังไม่เข้าใจ 2.คนที่อธิบายเป็นใคร ถ้าไปคุยกับผู้บริหาร ก็อาจจะใช้ แต่ถ้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาก็อาจจะคิดว่า ถ้าให้แจ้งปัญหาเข้ามา ก็อาจจะมีงานเยอะขึ้น เพราะแพล็ตฟอร์มมันจะโชว์ว่ามีการแจ้งเข้ามาเท่าไร
“เดิมอาจมีคนแจ้งปัญหาเข้ามา 3 เรื่อง แก้ได้ 2 เรื่องก็เกินครึ่งแล้ว แต่ถ้ามีคนแจ้งเข้ามา 100 เรื่อง แก้ได้สัก 10 เรื่อง ก็ยังไม่ถึงครึ่ง”
แต่ในมุมของเรา ในฐานะผู้พัฒนา ก็ต้องอธิบายให้ทั้งผู้บริหารกับเจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเขาจะได้อะไร เช่น ถ้ามีท่อระบายน้ำเปิดอยู่ คนเดินผ่านไปมาไม่รู้จะแจ้งใคร วันหนึ่งมีเด็กตกท่อน้ำเป็นข่าวใหญ่ ปัญหาจะรุนแรงกว่าไหม หากเทียบกับการแก้ไขตั้งแต่แรก นี่เป็นตัวอย่าง
‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ จะดีกว่าไปตามแก้ปัญหาหลังเกิดเหตุแล้วหรือไม่
7.
ความเปลี่ยนแปลง
นับแต่เปิดตัว Traffy Fondue มาในปี 2561 ถึงปัจจุบัน แพล็ตฟอร์มนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก อยากให้นึกถึงไอโฟน 1 กับไอโฟนรุ่นปัจจุบัน ประมาณนั้นเลย
ข้อสำคัญคืออย่าไปคิดเยอะ และอย่านึกว่าตัวเองรู้ final product ว่ามันมีหน้าตายังไง เพราะเราไม่มีทางรู้จริงๆ เหมือนทำขนมให้คนไปลองชิมว่าชอบรสชาติแบบไหน ถึงวันหนึ่งมันอาจจะได้รสชาติกลางที่ทุกคนชอบ ซึ่งอาจจะเป็นสูตรที่เราไม่รู้มาก่อน อย่าไปคิดว่ารู้ เพราะเราไม่รู้ ซึ่งมันยากสำหรับคนทำ เพราะเวลาจะพัฒนาอะไรมันเหมือนกับลูกเรา สมองเราก็มักจะคิดไปก่อนว่าแบบนี้มันใช่ แต่บางทีมันอาจจะไม่ใช่
ไม่รวมถึงว่า พฤติกรรมของผู้คนก็มักจะเปลี่ยนไปตามเวลาด้วย
8.
คนจะมาใช้งานเมื่อ..
เราพัฒนาแพล็ตฟอร์มนี้มาด้วยความเชื่อว่า คนที่เดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ ก็อยากให้ปัญหานั้นได้รับการแก้ไข
เพียงแต่เขาไม่เชื่อว่าแจ้งไปแล้วหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาแก้ไข
เหมือนผมเอง สมัยก่อนก็ไม่ซื้อของทางอินเทอร์เน็ต เพราะกลัวถูกหลอก แต่เดี่ยวนี้เหรอ สั่งไปก็ไม่เห็นว่าจะโดนหลอกเลย ทัศนคติของผมก็เปลี่ยนไปเลยนะ
แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้เข้าใจไม่ได้เลย ถ้ายังไม่ ‘เคยใช้’ และได้รับ ‘ประสบการณ์ที่ดี’ ในการใช้
“ความเข้าใจนี้มันอธิบายไม่ได้ ต้องเกิดจากประสบการณ์จริงในการใช้ ซึ่งมันก็ต้องถูกสถานการณ์บังคับนิดนึง เป็นจังหวะที่เหมาะสม”
ตอนนี้ผมก็ต้องพัฒนาทุกวัน ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ แทบทุกวัน เพราะสมัยก่อนคนยังใช้ไม่มาก พอเอามาใช้กับ กทม. มีคนใช้มากขึ้น สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนก็มากขึ้น
“เราต้องสนใจและพยายามทำความเข้าใจ เพราะมันเข้าใจแต่แรกไม่ได้หมด เวลาคนคุยกับเราบนโต๊ะประชุมอาจจะพูดอย่างหนึ่ง แต่นอกโต๊ะประชุมอีกอย่างหนึ่ง นับแต่เริ่มใช้กับ กทม. มีคนโทรมาคุยกับผมเป็นพันสาย ก็ทำความเข้าใจ mindset เขาเป็นแบบนี้ หรือบางอย่างอาจจะไม่ถูกใจเขา ก็ต้องพยายามอธิบาย”
เข้าใจทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ และประชาชน
ตอนนี้มีฟีเจอร์หนึ่งจะเริ่มใช้ คือสมัยก่อนเขตมักตอบ ‘ในนามเขต’ เวลาส่งเรื่องไปให้หน่วยงานอื่น แม้จะอยู่ภายใน กทม.เหมือนกัน ก็มักจะบอกว่าเคสนี้จบแล้ว แต่ต่อไปจะให้ตอบในนาม กทม. แค่ส่งเรื่องต่อภายใน ยังไม่ถือว่าเคสนี้จบแล้ว เพราะจะปิดได้คือ ‘ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข’
ถ้าจะให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องเปลี่ยนอย่างเข้าใจเขาด้วย คือผมเป็นฝ่ายเทคนิค ก็ต้องพยายามบอกว่า เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง – เพราะยังไงก็เป็นหน้าที่เขาอยู่แล้ว จะทำยังไงให้เขาใช้อย่างเต็มใจและถูกใจ
นอกจากนี้ ทีมกำลังจะทำปุ่ม ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการแก้ไขปัญหานั้นๆ เพื่อเปิดเคสขึ้นมาใหม่ เพราะตอนนี้ประชาชนมีอำนาจในการแจ้งปัญหา แต่อำนาจในการปิดเคสอยู่ที่เจ้าหน้าที่ เวลาที่ประชาชนเห็นว่าเคสถูกปิดแล้วแต่ไม่พอใจกับการแก้ปัญหานั้นๆ เขาก็จะไปแจ้งปัญหากลายเป็นเคสใหม่ ยิ่งทำให้ระบบมันมึนเข้าไปใหญ่
หรือถ้ามีเคสอยู่แล้ว จะให้ประชาชนไปกดบวกปัญหาที่มีคนแจ้งไว้แล้วได้ จะได้ไม่ต้องเริ่มใหม่
9.
ปัญหาของการใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาในไทย
แพล็ตฟอร์มในการแก้ไขปัญหาเมืองอย่าง Traffy Fondue จริงๆ ก็มีคนลองทำมาเยอะ แต่เหตุที่มันไม่ค่อยเกิด อาจเพราะไปคิดว่า เราเข้าใจมัน กระทั่งทำเป็น final product เลย แต่ที่จริงเราอาจไม่ได้เข้าใจมันขนาดนั้น เอาแค่ทำมาให้พอใช้งานได้ แล้วค่อยๆ พัฒนาไปน่าจะดีกว่า
หรือทำเป็นแอพฯ ขึ้นมาแล้ว ไม่มีค่าบำรุงรักษา (maintenance) นี่คือปัญหาหลักของภาครัฐเลย เสร็จแล้วคือจบ
ไม่รวมถึงปัญหาของการเชื่อมต่อข้อมูล
อย่าง NECTEC เองก็ทำโปรเจ็กต์ภายใต้แบรนด์ Traffy มาหลายอัน เช่น Traffy Traffic ที่เราอยากเอาภาพการจราจรทั้งประเทศมาแสดง แต่คนที่มีข้อมูล เขาไม่ให้ มันก็จบ หรือ Traffy Transit ที่เราอยากเอาข้อมูลรถยนต์สาธารณะทุกอย่างที่ติด GPS เอามาใช้บอกสภาพการจราจร แต่หน่วยงานที่มีข้อมูลนี้ เขาก็ไม่ให้
แล้ว Traffy Fondue มันคือการกระจายอำนาจ ตึกไหน หน่วยงานไหน ใครอยากจะเอาไปใช้ก็ได้ เหมือนเปิด LINE กลุ่ม มันก็เลยยังอยู่ได้ แล้วเราก็ใช้วิธีป่าล้อมเมือง จนมาถึงวันที่ฝันที่เป็นจริง ไปร่วมมือกับคุณชัชชาติ มันก็เลยเป็นอย่างที่เห็น
หลังจากนี้ก็มีหน่วยงานต่างๆ เข้าใจว่าแพล็ตฟอร์มนี้คืออะไร และเข้าไปใช้งาน ทั้งเทศบาล โรงเรียน ตำรวจ ไฟฟ้า ฯลฯ
10.
อนาคตของ Traffy Fondue
แพล็ตฟอร์มให้แจ้งปัญหาอย่าง Traffy Fondue ในต่างประเทศก็มีเยอะแยะ แล้วแต่พฤติกรรมของคนในแต่ละที่ สิงคโปร์เคยมีแอพฯ ปัจจุบันมาใช้แชตใน Telegram ที่เข้าใจว่าคนใข้เยอะ ญี่ปุ่นก็มีใช้แจ้งผ่าน LINE ในแต่ละเมือง เกาหลีใต้ก็มีเป็นแอพฯ แยะออกมาเฉพาะ
จะทำให้มีมันง่าย แต่มีแล้วคนใช้ นำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ นี่แหละจะเป็นตัวพิสูจน์
อย่างหลายๆ ปัญหาที่แจ้งมาผ่าน Traffy Fondue หลายเรื่องก็พบว่า แก้ไขได้เร็วมาก เร็วกว่าเรานัดช่างมาแก้ปัญหาภายในบ้านเราเองเสียอีก คือเจ้าหน้าที่ กทม. เขาก็พร้อมจะแก้ปัญหาอยู่แล้ว
“หลายปัญหาใน กทม. ที่ไม่ค่อยถูกแก้ก่อนหน้านี้ มันอาจจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ส่วนตัวมองเรื่อง mindset เช่น แจ้งไปก็เท่านั้น หรือนี่ไม่ใช่หน้าที่ชั้น แต่ตอนนี้ mindset เปลี่ยนมาเป็น เราจะรับแก้ทุกเรื่อง ขณะที่คุณชัชชาติเองก็บอกว่า จะเอาเรื่องนี้ไปประเมิน ทั้งเขตและตัวผู้ว่าฯ กทม. มันทำให้การสื่อสารครบลูป คนเข้ามาแจ้งปัญหามากขึ้น และปัญหาก็ถูกแก้ได้เร็วขึ้น”