ว่ากันว่าสถานะของการเป็น ‘หนี้’ คือสถานะของการเงินที่สุดแล้วจริงๆ ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจะอยู่ในสถานะนี้ เพราะนั่นหมายถึงการ ‘ติด’ กับภาระอะไรสักอย่างที่เราหยิบยืมมาใช้ล่วงหน้า และเมื่อถึงเวลาก็ต้องใช้คืน ถ้าใช้คืนได้หมดในระยะเวลาที่กำหนดก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อใดที่ไม่สามารถใช้คืนได้หมดล่ะก็ วิกฤติดอกเบี้ยมหาโหดก็จะเดินทางมาถึงในไม่ช้าแน่นอน
อย่างว่าเรื่องของหนี้เป็นเรื่องสากล จะเชื้อชาติไหนหรืออาศัยอยู่ซีกโลกใดๆ ก็เป็นหนี้ได้ทั้งนั้น แต่ไหนเลยทำไมคนไทยถึงได้ติดอันดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในระดับโลกติดต่อกันหลายปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันเป็นตัวเลขเหนาะๆ จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยเมื่อปี 2559 อยู่ที่เฉลี่ย 298,005.81 บาทต่อครัวเรือน!
ลองตัดเหตุผลการเป็นหนี้ในแบบสากลทิ้ง แล้วลองมาวิเคราะห์สาเหตุของการเป็นหนี้แบบคนไทยกันดู แล้วจะรู้ว่า ‘ความไทย’ นี่เองที่พา ‘หนี้’ มาหาแบบไม่ทันรู้ตัว
คนไทยขี้เกรงใจ
สินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ คือธรรมเนียมการให้ของคนไทยที่ไม่ว่าจะงานบุญ งานไม่บุญ งานมงคล ไม่มงคล ทั้งหลาย จำต้องใส่ซองให้เพื่อตอบแทนน้ำใจที่อีกฝ่ายเป็นธุระปะปังให้ แม้อีกฝ่ายจะทำให้ด้วยใจเปี่ยมบุญแท้ๆ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ คนไทยผู้ขี้เกรงใจทั้งหลายก็ยังจับมือเขายัดซองใส่อยู่ดี ลำพังอีกฝ่ายไม่รับไว้ก็กลายจะเป็นหักหน้ากันอีก ซึ่งถ้าสินน้ำใจนั้นเป็นเงินที่ถูกกันไว้เพื่อการนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเงินที่ไม่ได้ถูกกันไว้ เป็นเพียงแค่ต้องการรักษาความหน้าใหญ่ จนสถานะการเงินต้องติดลบแล้วล่ะก็ หนี้มา ปัญหาเกิดแน่นอน
วิธีหนีหนี้ : ลด ละ เลิกการมอบสินน้ำใจด้วยเงินสด เพราะบางทีความเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้เล็กน้อยตามคำเรียก แต่กลับใหญ่ตามหน้าของเรา ลองหันกลับไปใช้วิธีไทยแท้ดั้งเดิมอย่างการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งคอนเซปต์ของเขาคือการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน เธอช่วยฉัน ฉันช่วยเธอ ด้วยการช่วยเหลือในแบบที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่เป็นทั้งหนี้บุญคุณ ไม่เป็นทั้งหนี้การเงิน สุขใจทั้งสองฝ่าย
คนไทยรักสนุกทุกเทศกาล
ความเฟสติวัลไม่เคยหายไปจากอารมณ์คนไทย ยิ่งใกล้วันหยุดยาวเมื่อไร ยอดเงินจับจ่ายหมุนเวียนในช่วงนั้นจะถีบตัวสูงขึ้นเป็นพิเศษ จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ประชาชนทั่วประเทศวางแผนใช้จ่ายปีใหม่รวมกันสูงถึง 129,293 ล้านบาทเข้าไปแล้ว จะเที่ยวในประเทศ นอกประเทศ หรือตั้งวงฉลองกันหน้าบ้าน พี่ไทยเราก็เต็มที่ เฮฮาต้อนรับเทศกาลกันแบบไม่เกรงใจเงินในกระเป๋ากันเลยทีเดียว หมดช่วงเทศกาลเมื่อไร โรงรับจำนำคนแน่นทุกที
วิธีหนีหนี้ : จะฉลองในเทศกาลไหนๆ ก็ควรเลือกแต่พอดีตามสถานะของเงินในกระเป๋า วิธีง่ายๆ ก็แค่กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับฉลอง หมดเมื่อไรก็พอแค่นั้น อย่าได้เผลอรูดเพิ่มหรือหยิบยืมใครเป็นอันขาด แล้วความทรงจำดีๆ จะอยู่กับทุกเทศกาลไปตลอด ไม่ต้องมานั่งเศร้าใช้หนี้ทีหลังนะเออ
คนไทยชอบโอนอ่อนผ่อนเงิน
‘ผ่อน 0% 10 เดือน’ นับเป็น copy แสนเลิฟของเหล่าชาวไทยนักช็อป จะบัตรเครดิตของธนาคารไหนๆ โปรโมชั่นนี้ก็เป็นไม้เด็ดที่ทำให้ใครๆ ก็ใจอ่อน จะถอยแกดเจ็ตเก๋ๆ ราคา 2 หมื่นต้นๆ เข้าโปรปุ๊บเหลือผ่อนจ่ายแค่เดือนละ 2 พัน ถูกขึ้นมาทันตาเห็น ของจะจำเป็นแค่ไหนไม่รู้ ผ่อนถูกก็สอยไว้ก่อน เผลอแป๊บเดียวยอดผ่อนต่อเดือนรวมๆ ก็ล่อไปเหยียบหมื่นแล้วจ้า ซึ่งโดยสถิติคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้โปรโมชั่นนี้ จะไม่สามารถผ่อนได้ตรงตามกำหนดชำระได้ทุกเดือน ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตมหาโหดที่สูงถึง 20% หรือสูงสุดถึง 28% กรณีเป็นบัตรกดเงินสด จาก 0% อาจกลายเป็น 28% แค่คิดก็เสียวแล้ว
วิธีหนีหนี้ : มีสติเตือนตัวเองไว้อยู่เสมอ สิ่งใดไม่จำเป็นก็อย่าได้ตกเป็นทาสของกิเลส คิดไว้ว่าจะจ่ายช้าจ่ายเร็ว จ่ายน้อยจ่ายมากตอนไหน ยังไงก็ต้องจ่ายเท่ากันกับมูลค่าสินค้า การเฉลี่ยแบ่งจ่ายจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีวินัยการเงินที่ดีเท่านั้นนะ อย่าหน้ามืดตามัวเห็นแค่เลข 0% ทีเดียวเชียว
‘หนี้’ คำนี้อาจฟังดูแล้วน่ากลัวสำหรับคนไทย แต่ถ้ารู้จักควบคุมให้ถูกวิธี คนไทยทุกคนก็จะมีชีวิตที่ดีต่อตัวเองและครอบครัวได้
สมาคมธนาคารไทยจับมือกับทุกธนาคาร สนับสนุนให้คนไทยเป็นหนี้ให้เป็น นำเสนอแนวคิดหลักการบริหารจัดการและควบคุมหนี้สำหรับคนไทยให้มีภาระผ่อนไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิตรวมกันต้องอยู่ใน 40% นี้ ฟังดูอาจเป็นเรื่องยากเพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย แต่ถ้าลองทำความเข้าใจดูจะรู้ว่าเรื่องหนี้ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด เราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้
ส่วนจะทำอย่างไรนั้น พี่บัวขาวกวักมือรอเทรนให้อยู่แล้ว ลองไปตรวจเช็คสภาพหนี้ของตนเองและเรียนรู้การบริหารจัดการหนี้ของตัวเองได้ที่ www.train-nee.com มา! มาเทรนหนี้กัน