พวกเราล้วนเกลียดการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เราเกลียดอาชญากรเข้าไส้ เรารู้สึกแย่ที่เห็นคนดีๆต้องตกเป็นเหยื่อให้กับความชั่วช้า
แต่ ‘อาชญากรรมทางเพศ’ (SEX CRIMES) กลับเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยนิยมหยิบยกมาพูดกันในที่สาธารณะ ยกเว้นถ้อยคำด่าทอสาปแช่ง ข่าวคดีข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เรียกความสนใจได้ดี เพราะมันกระทบกับความรู้สึกและสวัสดิภาพอันเปราะบางของพวกเราและคนที่เรารัก ในขณะเดียวกันมันก็สร้างความชิงชังได้อย่างร้ายกาจ
จนบางครั้งความชิงชัง กลับเป็นประตูที่ปิดตาย ไม่เปิดพื้นที่ใหม่ๆให้เราได้สำรวจ
สื่อสาธารณะมากมายภายใต้วัฒนธรรม Pop Culture พยายามทำให้พวกเราเชื่ออย่างสุดใจว่า “ผู้กระทำผิดทางเพศ มักก่อเหตุซ้ำอย่างแน่นอน และคนจำพวกนี้ไม่ควรถูกปล่อยออกมา”
ทำให้เรามีตัวเลือกไม่มากนักในการจัดการกับปัญหา นั้นคือ ‘การฆ่าให้ตาย’
และปิดประตูความเป็นไปได้อื่นๆ อย่างน่าเสียดาย
Sex Crime 101
โดยพื้นฐานแล้ว อาชญากรรมทางเพศ มี 2 หมวดใหญ่ๆ คือ ข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งเหตุอาชญากรรมส่วนใหญ่ เหยื่อมักเป็นผู้หญิง และผู้กระทำผิดมักเป็นผู้ชาย (ผู้ก่อคดีข่มขืนที่เป็นหญิงก็มี แต่มีสัดส่วนน้อยมาก แต่พอเกิดขึ้นทีก็ดันมองเป็นเรื่องตลก) โดยเฉลี่ยแล้ว คดีกระทำผิดทางเพศ 1 ใน 3 เกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (น้อยที่สุดคือ 5 ขวบ) และ 2 ใน 3 เกิดขึ้นในผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก
คราวนี้แวะดูงานวิจัยว่าบอกอะไรกับพวกเราบ้าง
ข่มขืนซ้ำซาก ในความเป็นจริง
ประเด็นที่ว่าอาชญากรก่อคดีข่มขืนนั้น มีแนวโน้มจะข่มขืนซ้ำอีก อยู่ในความสนใจของอาชญาวิทยามาโดยตลอด และในหลายประเทศก็มีการพยายามรวบรวมผลสำรวจเช่นกัน
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริด้า นำโดย Jill Levenson ได้ออกแบบการสำรวจว่า “สังคมคิดเห็นอย่างไรกับคดีข่มขืน” พวกเขาพบว่า คนทั่วไปถึง 75% เชื่อว่า ผู้ก่อคดีข่มขืนมีแนวโน้มจะข่มขืนซ้ำอีก ส่วนหนึ่งงานวิจัยนำเสนอว่า อิทธิพลจากสื่อภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และการพาดหัวข่าว ล้วนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความเชื่อเหล่านี้
กลับมาที่คำถามว่า…
ผู้ก่อคดีข่มขืนจะทำซ้ำอย่างที่เชื่อกันไหม?
ทั้ง ใช่ และ ไม่ใช่ (อ่ะ! ยังไง)
เพราะหลักฐานจากงานวิจัยทำให้เราเห็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม!
นักวิจัยด้านอาชญากรรมทางเพศ R. Karl Hanson และ Kelly E. Morton-Bourgon จากหน่วยงานความปลอดภัยสาธารณะของแคนาดา ได้ออกแบบงานวิจัยที่วิเคราะห์ชุดข้อมูล (เชิงปริมาณ) เพื่อคำนวณอัตราการกระทำผิดในกลุ่มผู้กระทำผิดทางเพศ
อัตราการก่อคดีซ้ำในผู้กระทำผิด
- 14% ก่อคดีซ้ำในช่วงเฉลี่ย 5 – 6 ปี
- 24 % ก่อคดีซ้ำในช่วงเวลา 15 ปี
แม้จะเห็นได้ว่าอัตราการกระทำผิดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้กระทำผิดทุกคนต้องข่มขืนซ้ำ และผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ ‘โปร’ คดีทางเพศอย่างเดียว พวกเขายังก่อคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทางเพศอีกด้วย เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ยาเสพติด และทะเลาะวิวาท ซึ่งทีมวิจัยพบว่า ผู้ก่อคดีอาชญากรรมมีแนวโน้มก่อคดีซ้ำอีก (ทั้งคดีทางเพศและคดีอาญาทั่วไป) ประมาณ 36%
เราเห็นตัวเลขแล้ว การกระทำผิดซ้ำเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มากเท่ากับที่สื่อตั้งความหวังไว้ อย่าลืมว่ามีอัตราอีก 64 % ที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน การเหมารวมแบบ ‘ยกเข่ง’ อาจทำให้เราพลาดอะไรไปบ้างหรือเปล่า?
ความสำคัญคือ เราไม่ควรทำให้ทุกอย่างมันง่ายไป งานวิจัยเรื่องการกระทำผิดซ้ำมีความยากและท้าทายในการตีความข้อมูล (แต่ก็สำคัญจนมองข้ามมันไม่ได้เช่นกัน) เพราะเห็นได้ชัดว่า ผู้กระทำผิดทางเพศมีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำจริง แต่ก็ไม่มากตามที่กล่าวอ้าง และอาจมีช่องโหว่ที่ไม่ได้เก็บข้อมูลจากเหตุอาชญากรรมโดยไม่มีการรายงาน หรือเหยื่ออาจยอมความได้
จัดการคนทำผิด ให้อุ่นใจ
เราเชื่อว่าตัวเลขทางสถิติอาจไม่คลาดเคลื่อนมากนักในแต่ละประเทศ แต่พวกเรากลับมีมาตรการรับมือผู้พ้นโทษต่างกัน
สำหรับสหรัฐอเมริกา การจับตาอาชญากรที่พ้นคดีไปแล้วต้องมีความรัดกุม เพราะการติดตามผลพฤติกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในอเมริกาให้ความสำคัญกับหน่วยงาน The Department of Justice ออกแบบ Website ที่ประชาชนสามารถเข้าไปเช็คประวัติบุคคลที่มีแนวโน้มก่อคดีซ้ำได้ และผู้พ้นโทษที่มีแนวโน้มสูงอาจก่ออาชญากรรมร้ายแรงมักต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขารู้สึกว่า ถูก ‘สายตา’ ของกฎหมายจับจ้องอยู่เสมอ
และรัฐต้องอนุญาตให้ประชาชนแจ้งเบาะแสบุคคลที่มีแนวโน้มก่อกระทำผิดทางเพศได้ อย่างในอเมริกาอนุญาตให้คนทั่วไปตรวจเช็ค ID และพิกัดบริเวณของผู้พ้นคดีอาศัยอยู่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
ตัวอย่างการทำงานของ Website โดย FBI
สิ่งที่น่าตั้งคำถามที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รัฐมีการจัดระบบผู้พ้นโทษอย่างดีพอแล้วหรือยัง?
ดีพอที่จะทำให้ประชาชนเห็นทางเลือกที่ดีกว่า นอกเหนือจาก “ข่มขืนต้องประหาร?” แล้วหรือเปล่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
What We Know and Do Not Know about Assessing and Treating Sex Offenders.
The Characteristics of Persistent Sexual Offenders: