“ม.44 อีกแล้ว อะไรๆ ก็ใช้ ม.44”
“ท่านเคยมานั่งแท็กซี่เองไหม รู้ไหมว่าแท็กซี่ไทยมันห่วยอย่างไร”
“ทำไมไม่ไปปรับปรุงคุณภาพ Taxi ก่อน”
นี่เป็นคอมเมนต์ส่วนหนึ่งจากผู้อ่าน The MATTER หลังจากที่วานนี้มีข่าว “รองอธิบดีกรมขนส่งฯ พูดถึงความเป็นไปได้ในการใช้ม. 44 เพื่อปิด Uber และบริการลักษณะเดียวกัน” โดยนายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พูดถึงการใช้ม. 44 ในการจัดการกับแอพ Uber และแอพเรียกรถประเภทนี้ โดยบอกว่าคนไทยต้องเข้าใจว่าการใช้ Uber นั้นผิดกฎหมาย และถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายน้อยกว่า
เขายังพูดถึงการพยายามปรับปรุงบริการของแท็กซี่เพื่อให้ดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น และช่วงหนึ่งก็ยังกล่าวอ้างถึงการใช้อำนาจตามม. 44 ว่า เราอาจต้องใช้ยาแรง เราอาจต้องเสนอให้ใช้ม. 44 ในการปิดแอพ Uber เพราะมันทำลายระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่
ในปี 2557 ก็มีความพยายามในการแจ้งจากกรมขนส่งว่า Uber นั้นผิดกฎหมายมาแล้ว นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวในที่ประชุม ที่มีทั้งมณฑลทหารบทกที่ 11 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าร่วมว่า จะเปรียบเทียบปรับผู้ขับ Uber สูงสุดทุกราย และขอให้ประชาชนเลือกใช้รถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมาย เพราะอาจไม่ได้รับความปลอดภัย “รวมถึงต้องใช้บัตรเครดิตซึ่งอาจมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่เพียงพอ”
ดูเหมือนว่ากระแสจะแตกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายที่ไม่เอา Uber เพราะ “ผิดกฎหมาย” และฝ่ายที่เอา Uber เพราะ “คุณภาพดีกว่าขนส่งมวลชนที่รัฐจัดให้” แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทั้งสองฝ่ายก็ดูจะมีจุดร่วมเดียวกัน คืออยากให้คนไทยมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย (รวมถึงไม่ถูกโกง) มากขึ้น
แน่นอนว่าแต่ละประเทศก็ย่อมมีลักษณะเฉพาะต่างๆ กันไป แต่หากเราได้ศึกษาถึงสถานการณ์ ปัญหา และแนวทางของ Uber และ Ride-hailing App อื่นๆ ก็อาจทำให้เราเข้าใจ และมองได้รอบด้านขึ้น
ในต่างประเทศเอง โดยรวม Uber ก็พบกับแรงเสียดทานจากตลาดและตัวบทกฎหมายเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกฎหมายในเชิง ‘คุ้มครองคนขับ Uber’ นั่นคือ พยายามให้มีการจ่ายค่าแรงและสวัสดิการให้คนขับอย่างเป็นธรรม แต่เรื่องของการที่ ‘เจ้าตลาดเดิม’ อย่างแท็กซี่และขนส่งมวลชนอื่นๆ ต่อต้าน Uber เพราะกลัวว่าจะมากินส่วนแบ่งการตลาดของตน (ทั้งที่ Uber พบกับข้อจำกัดทางกฎหมายน้อยกว่า หรือบางครั้งก็ ‘เลี่ยงกฎหมาย’ ไปเลย ทำให้ได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่า) เช่นเดียวกับสถานการณ์ในไทย ก็เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศเช่นกัน
สถานการณ์ Uber ในต่างประเทศ
ในสหรัฐอเมริกา
ในสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงขาลงของ Uber (ไม่นับรวมถึงแอพอื่นๆ) เนื่องจากมีข่าวร้ายติดต่อกันหลายครั้ง ตั้งแต่ที่นายทราวิส คาลานิก ผู้ก่อตั้ง Uber ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์ (แต่ทนเสียงต่อต้านไม่ไหวจนต้องลาออกมา), การที่แอพ Uber เสนอโปรโมชั่นที่หลายคนมองว่า ‘ฉวยโอกาส’ ในช่วงที่เขาหยุดงานประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์กัน และล่าสุดจากกรณีที่นายทราวิสถูกอัดคลิปจากผู้ขับ Uber คนหนึ่ง ในคลิปตอนหนึ่งนายทราวิสบอกว่าคนขับ Uber ที่มีปัญหากับเรื่องค่าแรงและนโยบายที่เปลี่ยนไปมาของ Uber นั้น “เป็นพวกที่ไม่รู้จักดูแลตัวเอง” ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดกระแสต้านกับ Uber อย่างหนักหน่วง และมีการตั้งแฮชแท็ก #deleteUber เพื่อประท้วงด้วย
และในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐก็ตัดสินให้ Uber ปฏิบัติกับคนขับเหมือนกับเป็นพนักงาน แทนที่จะเป็นคู่สัญญา (Contractor)
ต่อมาใน 34 รัฐทั่วอเมริกา ก็ผ่านกฎหมายเพื่อควบคุมแอพเรียกรถ และจะมีการพัฒนากฎหมายเพื่อให้แอพเหล่านี้มีมาตรฐานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น (ซึ่งก็ยังน่าสงสัยว่าจะทำได้ไหม) เช่น การเก็บข้อมูลคนขับ (ที่น่าจะทำอยู่แล้ว) การกำหนดจุดรับผู้โดยสารและค่าโดยสาร ซึ่ง Uber เองก็พยายามต่อสู้กับการจำกัดเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยอ้างสิทธิของคนขับเป็นพื้นฐาน เช่น ในเท็กซัส Uber บอกว่า “ขั้นตอนที่มากขึ้น เช่น คนขับจะต้องไปลงทะเบียนกับรัฐก่อนจะขับ Uber ได้นั้น กินเวลานานเกินไป” แต่ในนิวยอร์ก Uber และ Lyft (บริษัท Ridehailing อีกแห่ง) ก็ยอมรับนโยบาย Driver Fingerprinting (การระบุตัวผู้ขับกับรัฐ) เพราะตลาดมีขนาดใหญ่เกินที่จะมองข้าม
ในสหราชอาณาจักร
มีการตัดสินให้ Uber จ่ายเงินพนักงาน (ซึ่งก็คือคนขับทั่วไป) เป็น ‘ลูกจ้าง’ ซึ่งจะมาพร้อมกับสิทธิต่างๆ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และการหยุดงานโดยได้ค่าแรง (holiday pay) แต่ Uber ก็บอกว่าจะขออุทธรณ์คำตัดสินนี้เช่นกัน
นี่ไม่ได้เป็นปัญหาของ Uber เท่านั้น แต่คำตัดสินดังกล่าวจะส่งผลเป็นคดีตั้งต้นสำหรับแอพอื่นๆ ที่อยู่ใน gig economy หรือ ‘เศรษฐกิจงานจ๊อบ’ เช่น Deliveroo ด้วย (ลองนึกถึงแอพพวก Line Man ในประเทศไทย)
ในฝรั่งเศส
ศาลฝรั่งเศสสั่งปรับ Uber เป็นจำนวนเงิน $900,000 หรือประมาณ 31.5 ล้านบาท ในฐานะที่ดำเนินกิจการแท็กซี่อย่างไม่ถูกกฎหมาย มีการใช้คนขับรถที่ไม่ถูกฝึกมาตามระบบระเบียบ ในเยอรมนีก็มีนโยบายเช่นเดียวกัน คือ ‘แบน’ UberPOP
UberPOP เป็นบริการย่อยของ Uber ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่ามันเป็น ‘บริการย่อย’ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง และความพยายามในการเลี่ยงกฎหมาย โดยมันเสนอบริการ Rideshare คือ ‘ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน’ โดยผู้ขับจะแชร์ค่าน้ำมันกับผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงแล้วในทางปฏิบัติ ผู้โดยสารก็จ่ายเงินให้กับผู้ขับคล้ายกับบริการ Uber ทั่วๆ ไปอยู่ดี แต่มีราคาถูกกว่า – ในขณะที่ UberX นิยามตัวเองว่าเป็น ‘professional limousine service’ ซึ่งจะมีราคาแพงกว่า
ในไต้หวัน
Uber ระงับการให้บริการ หลังจากที่ต่อสู้ทางกฎหมายกับรัฐบาลมาหลายปี ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลบอกว่า Uber จดทะเบียนบริษัทผิดประเภทและขอความร่วมมือไปยัง Apple และ Google และยังปรับคนขับด้วย
ในสิงคโปร์
ลี เซียน ซุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พูดในงาน National Day Rally ว่าบริการเรียกรถอย่าง Uber และ Grab ไม่เป็นธรรมกับผู้ขับรถแท็กซี่เดิม เพราะมีข้อบังคับ หรือข้อจำกัดน้อยกว่า แต่รัฐบาลก็จะปรับกฎให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นโดยมุ่งปกป้องผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น จะเพิ่มกฎหมายตรวจสอบประกันของรถที่ใช้ขับบริการ และตรวจประวัติคนขับ
ลี เซียน ซุง ยังกล่าวด้วยว่าสิงคโปร์ต้องสนับสนุนให้มีการ disrupt (การทำลายกรอบจำกัดเดิม, เปลี่ยนมิติ) อุตสาหกรรมเดิมๆ ให้ปรับตัวตามตลาดได้ โดยยอมรับว่าแอพเรียกรถให้บริการดีกว่า ตอบสนองได้รวดเร็วกว่า
ในมาเลเซีย
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซะก์ บอกว่า “คนรายได้ต่ำที่มีรถควรไปขับ Uber ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” และระบุว่าคนขับ Uber อาจมีรายได้เพิ่มมากถึงเดือนละ 11,850 บาท (1,500 ริงกิต) โดยเมืองปูตราจายาจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้ส่วนลดในการซื้อรถยนต์ไปขับด้วย
ในเวียดนาม
กระทรวงคมนาคมเรียกร้องให้ Uber เลิกดำเนินการในประเทศหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น โดยบอกว่าบริษัทอื่นๆ อย่างเช่น Grab, V.Car, Vic Car นั้นร่วมมือกับรัฐเรียบร้อยแล้ว
ในญี่ปุ่น
Uber เพิ่งเข้าตลาดญี่ปุ่นไม่นาน แต่ในเขตคิวชูที่เข้าไปทดลองให้บริการ ก็ต้องปิดตัวไป เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย เพราะคนขับไม่มีใบอนุญาต
ส่วนคนขับรถแท็กซี่ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแท็กซี่ที่สุภาพที่สุดในโลก กลัวว่าการมาถึงของ Uber ในโตเกียวจะทำให้วัฒนธรรมการบริการของแท็กซี่ตกต่ำลง
แล้วเราจะไปทางไหน?
จุดสำคัญของการศึกษากรณีในต่างประเทศคือ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า Uber นั้นเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันกับทุกประเทศ นั่นคือเป็นบริษัทที่ไม่ใคร่จะทำตามตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ของแต่ละประเทศนัก ทั้งในเรื่องสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และสวัสดิการของคนขับ แต่หลายประเทศก็มีแนวทางที่จะ ‘อยู่ร่วมกับ’ แอพเรียกรถประเภทนี้ เช่น มีการพัฒนากฎหมายที่รองรับมากขึ้น และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่สั่งให้จะ ‘ปิด’ บริการไปเลย
ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่รัฐไทยจะพยายามทำความเข้าใจกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดแรงเสียดทาน ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แล้วทำงานร่วมกับบริษัทใหม่ๆ เพื่อกำหนดกฎ กติกา ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้บริโภค รวมไปถึงลูกจ้างของบริษัทเหล่านั้นด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.nationmultimedia.com/news/breakingnews/30308170?act=2eeb21e81f73aabe6acd260efdacb7ad
http://fortune.com/2016/10/28/uber-legal-lawsuits/
https://www.blognone.com/node/89779
https://www.blognone.com/node/90729
https://news.ycombinator.com/item?id=8752019
https://www.techinasia.com/singapore-government-secretly-loves-uber
http://www.themalaymailonline.com/malaysia/article/pm-tells-poor-malaysians-to-be-uber-drivers
http://dongtam.com.vn/en/post/market-news/uber-faces-new-legal-hurdles-in-vietnam.html