กว่าจะได้เลือกตั้งก็ลุ้นกันเอ็นขึ้นคอ พอจะได้เลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ ทำไมผู้คนส่วนหนึ่งกลับหันหลังให้คูหาเลือกตั้ง หรืออาจเป็นเพราะช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ผู้คนเริ่มรู้สึกเอียน เบื่อหน่าย และเฉยเมยต่อการใช้สิทธิใช้เสียง พฤติกรรมเช่นนี้เลยถูกนิยามในเชิงจิตวิทยาการเมืองว่า ‘Voter Apathy’ (ความเฉยเมยของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง) คนกลุ่มนี้ถือเป็นเสียงสำคัญที่พรรคการเมืองต้องทำความเข้าใจ เพื่อดึงพวกเขากลับมาใช้สิทธิใช้เสียง ซึ่งแต่ละพรรคอาจต้องลองสำรวจว่าการยิงโฆษณาอย่างไม่หยุดหย่อน จะทำให้คนเหล่านี้อยากไปโหวตจริงๆ หรือเปล่า มีพฤติกรรมลึกๆ อะไร ของมนุษย์ที่การเลือกตั้งมองข้ามไปไหม
เพราะจริงๆ อาจมีอะไรที่มากกว่าข้ออ้าง ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘เบื่อการเมือง’
ทำไมเธอไม่ไปโหวต
การที่คนจำนวนมากไม่ไปเลือกตั้งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในทุกสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะมีประชาธิปไตยที่สุกงอมแค่ไหนก็ตาม
นักจิตวิทยาเองสนใจพฤติกรรมนี้เช่นกัน เพราะมีปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งหากจะศึกษา Voter Apathy หรือความเฉยเมยต่อการลงคะแนนเสียงนั้น ต้องใช้ทฤษฎีจิตวิทยาสังคมว่าด้วย ‘Behavioral Apathy Theory’ (พฤติกรรมเฉยเมย) มาตอบ คือมนุษย์นั้น แม้ว่าจะมีความรู้สึกว่าต้องแสดงออกเกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อสังคม แต่เมื่ออยู่ภายใต้สังคมที่มีคนมากเกินไป ความรู้สึกที่อยากมีส่วนร่วมก็อาจจะลดลง เพราะเกิดความรู้สึกว่า “ถ้าฉันไม่ทำ เดี๋ยวคนอื่นก็ทำอยู่ดี” หรือมีความคิดว่า “ยังไงก็คงจะมีคนที่ตัดสินใจได้ดีกว่าเราแน่ๆ”
ดังนั้นจึงเป็นความกลัวที่เมื่อออกไปเลือกแล้ว หากถูกใครสักคนถามว่าเลือกลงคะแนนพรรคไหน และตอบออกไป อาจถูกมองค้อนถึงรสนิยมในการเลือกพรรคการเมือง กลายเป็นความวิตกกังวลลึกๆ ที่ไม่อยากไปลงคะแนน และอีกเหตุผลที่สำคัญคือมีหลายคนที่มี ‘ความรู้สึกไม่เชื่อใจในความโปร่งใสของกระบวนการเลือกตั้ง’ เพราะระบบที่เชื่อว่าได้รับการออกแบบมาเพื่อรับใช้หลักกการทางประชาธิปไตยนั้น กลับมีบางจุดที่น่าตั้งคำถามมากมาย จนผู้คนเริ่มเห็นความไม่น่าเชื่อถือของระบบที่ออกแบบมารองรับสิทธิและเสียงของพวกเขา
หลายงานวิจัยยืนยันว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจด้านเหตุผลของมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นแรงผลักดันเชิงอารมณ์ (emotion) ที่ค่อนข้างรุนแรง หลายครั้งที่อารมณ์เอาชนะเหตุผลได้ราบคาบเลยด้วยซ้ำ และมีแนวโน้มที่คนจะใช้แรงผลักดันชนิดฉับพลันทางอารมณ์นี้ในการต่อต้านกระบวนการที่มีเหตุมีผล
ความเครียดจากการได้รับข้อมูลจำนวนมาก การติดตามข่าวสารแบบจับจด และการอยู่ภายใต้สังคมที่ต้องไปลงคะแนนเสียงบ่อยๆ (เช่นในกลุ่มประเทศ EU ที่มักมีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง จนมีคนกว่า 60% ไม่ไปใช้สิทธิ) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเฉยเมยต่อการเลือกตั้งได้ทั้งนั้น
ความตั้งใจในการออกไปเลือกตั้งมีเหตุผลซ้อนทับอยู่หลายชั้น มีพลวัตสูง เหตุการณ์แบบทันทีทันใดที่เกิดขึ้นต่อความรับรู้ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงสามารถเปลี่ยนทัศนคติต่อการลงคะแนนเสียงได้ทันทีเช่นกัน
ถึงพรรคนั้นจะมีนโยบายดี แนวทางได้ แต่ถ้าผู้สมัครในเขตดันเป็นคนที่เราไม่ชอบโหงวเฮ้งเอาซะเลย หรือเป็นคนในพื้นที่ที่เราค่อนข้างรู้ไส้รู้พุงดีแต่ดันกระโดดไปลงเป็นผู้สมัครฯ ความรู้สึกที่เกิดฉับพลันทันด่วนก็สามารถเปลี่ยนความตั้งใจในการไปลงคะแนนได้ในทันที รวมไปถึงภาพลักษณ์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการเลือกตั้งที่ให้ข้อมูลของผู้สมัครผิดพลาดบ่อยครั้ง หรือแม้แต่กระบวนการที่ ‘ไม่ชอบมาพากล’ ของหน่วยเลือกตั้งในการจัดเก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า หน้าตาของสภาพหีบเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งผิดเขต และการอำนวยความสะดวกของสถานที่ ความรู้สึกฉับพลันทันด่วนต่อเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยิ่งทำให้เกิดจากความทับถมที่แคลงใจ เปลี่ยนความตั้งใจในการไปลงคะแนนอย่างสิ้นเชิง
งั้นเราสามารถบังคับให้คนไปโหวตได้ไหม?
ถ้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ก็อาจจะต้องอาศัยแรงผลักดันทางจิตวิทยาที่ ‘แข็งแกร่งกว่า’ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวหรืออาจเปลี่ยนได้อย่างถาวร นั่นคือ ‘การบังคับ’ (enforced behavior) ซึ่งการบังคับเองก็มีเคสที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย เช่น การบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัย ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หรือการไม่ให้ถุงพลาสติกเวลาซื้อของ ถ้าอยากได้ต้องจ่ายเพิ่ม ที่บังคับถี่ขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมถาวรของสังคมในที่สุด
แต่การเลือกตั้งกลับใช้การบังคับไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งสร้างผลลบมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเคยมีกฎหมายบังคับให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียงในช่วงปี ค.ศ. 1920–1933 บังคับถึงขั้นว่า ถ้าใครไม่ไปโหวตจะถูกบันทึกและเสียค่าปรับ เป็นมาตรการที่ดุดันพอควร แต่เมื่อถึงเวลาลงคะแนนเลือกตั้งกลับมีผู้ไม่ไปใช้สิทธิ Voter Apathy มากถึง 95% เหมือนยิ่งปรับ ก็ยิ่งไม่ไป เพราะมีคนหลายกลุ่มออกมาตอบโต้ว่า การไม่ไปลงคะแนนก็ถือเป็นสิทธิทางประชาธิปไตยเช่นกัน เป็นทางเลือกที่สามารถปฏิบัติได้ คุณไม่สามารถบังคับให้คนไปเลือกในสิ่งที่คนไม่ต้องการได้ กระแสการบังคับไปเลือกตั้งจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐ พรรคการเมือง และประชาชน ล้วนสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อการใช้สิทธิ แน่นอนว่ากระบวนการที่ควรทำเบื้องต้น คือเพิ่มช่องทางที่หลากหลายของการเลือกตั้ง ความพร้อมของหน่วยเลือกตั้งต้องไม่สะดุด เพื่อลดความรู้สึกไม่อยากโหวตให้ลดลงโดยใช้ความสะดวกเป็นตัวแปรให้เกิดความได้เปรียบต่อพฤติกรรม นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องของผู้มีสิทธิลงคะแนนต่อพรรคการเมืองในการหาเสียง คือ ลดการโปรโมตนโยบายหาเสียงแบบ Over Simplistic หรือ ‘นโยบายประโยคเดียวจบ’ ที่ทำให้ทุกอย่างดูง่ายเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่รับรู้ว่า การแก้ปัญหานั้นมีความซับซ้อน นโยบายควรให้รายละเอียดและมีวาระชัดเจนเพื่อช่วยในการตัดสินใจ
หน่วยงานในการจัดการเลือกตั้งเองก็ต้องมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสต่อกระบวนการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ การตอบคำถามหรือไขข้อข้องใจต่อสังคมที่รวดเร็วจะช่วยให้คนรู้สึกสบายใจที่จะออกไปโหวตกันมากขึ้น การเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องให้คุณค่าทางความรู้สึก (emotional value) ว่ามนุษย์ทุกคนที่เข้าไปในคูหามีความหลากหลาย มีเจตจำนงในตัวเอง เพราะการเลือกครั้งนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต บรรยากาศของการเลือกตั้งต้องสร้างความรู้สึกถึงอนาคตที่สดใส มากกว่าวังวนเดิมๆ อำนาจเดิมๆ ความไม่โปร่งใสเดิมๆ ที่ทำให้ผู้คนเบื่อหน่าย จนทำให้หลายคนมักจะถูกบอกว่า ‘อย่าไปยุ่งการเมือง มันไม่ใช่เรื่องของเรา เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้’ ซึ่งความคิดแบบนี้ควรถูกท้าทายได้แล้วในยุคสมัยนี้
และเสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงคุณภาพคณะกรรมการการเลือกตั้งจากประชาชน ก็เป็นสัญญาณที่สำคัญว่า ประชาชนไม่ได้เมินเฉยต่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Matland, R.E. & Murray, G.R. (2016). I only have eyes for you: Does implicit social pressure
Increase voter turnout? Political Psychology, 37(4), 533–550
The British Psychological Society