ผู้สมัคร ส.ส. นับหมื่นคนลงแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงเก้าอี้เพียง 500 ตัว มีใครชื่ออะไรบ้าง อยู่พรรคไหนกัน ใครสนับสนุนใคร ใครแพ้ชนะ รู้จุดยืนกันหมด แต่สำหรับว่าที่ ส.ว.ที่ คสช.เตรียมแต่งตั้งให้ครบ 250 คน จนถึงบัดนี้ยังไม่รู้เลยว่ามีใครบ้าง เพราะทุกอย่างถูกปิดเป็นความลับ ไม่สมกับเป็นยุคที่ท่านผู้นำประกาศย้ำๆๆ ว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” ซะเลย
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส.ว.ชุดแรก จะมาจาก 3 ที่มาด้วยกัน ประกอบด้วย
- ผบ.ทหารสูงสุด / ผบ.ทหารบก / ผบ.ทหารอากาศ / ผบ.ทหารเรือ / ผบ.ตร. / ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นโดยตำแหน่ง รวม 6 คน
- ผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพต่างๆ คัดเลือกกันเองเหลือ 200 คน และ คสช.จะเข้ามาตัดสินในรอบสุดท้ายให้เหลือ 50 คน
- คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสม 400 คน และ คสช.จะเข้ามาตัดสินในรอบสุดท้ายให้เหลือ 194 คน
รวมเป็น 250 คน มีวาระห้าปี และอย่างที่หลายๆ คนรู้กันว่า ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.กลุ่มนี้จะมีอำนาจพิเศษในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี / กำกับและติดตามให้ปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.เขียนเอาไว้แล้ว ใครไม่ทำตามมีโทษทั้งให้ออกจากตำแหน่งและจำคุก 1-10 ปี
นอกไปจากนั้น ส.ว.ชุดที่ คสช.แต่งตั้งนี้ยังมีอำนาจของ ส.ว.ปกติด้วย เช่น พิจารณาร่างกฎหมายสำคัญๆ ไปจนถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้เสียงจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 ถึงจะสามารถแก้ไขได้
ด้วยบทบาทและหน้าที่อันสำคัญเช่นนี้ ใครๆ ก็คงอยากรู้ว่า ว่าที่ ส.ว.ชุดประวัติศาสตร์นี้เป็นใครมาจากไหนบ้าง แต่ คสช.กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผย โดยมือกฎหมายคนสำคัญ ออกมาบอกว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องโปร่งใส?
แต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมเชื่อคำชี้แจงดังกล่าว ตลอดทั้งวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เดินทางไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งว่าที่ ส.ว.ชุดดังกล่าว ทั้งจาก กกต. และจาก คสช.
โดยรายการข้อมูลที่ iLaw ยื่นขอมีดังนี้
- รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง รวมถึงรายละเอียดความรู้และประสบการณ์ของกรรมการแต่ละคน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269(1)
- รายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือก จำนวน 200 คน เพื่อนำรายชื่อเสนอต่อ คสช.แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1)(ก)
- วิธีการที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. กำหนดในการเลือก ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1)(ข)
- รายชื่อบุคคลซึ่งสมควรเป็น ส.ว. ที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 400 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1)(ข)
เจ้าหน้าที่จาก iLaw ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่มายื่นขอข้อมูลดังกล่าว “การสรรหา ส.ว. เป็นเรื่องที่ควรเปิดเผย เพราะ ส.ว. จะมีบทบาทสำคัญหลังการเลือกตั้ง โดย ส.ว. สามารถร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และบทบาทอื่นหลังจากนั้น เช่น การควบคุมให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือ การยินยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อประชาชน การเปิดเผยที่มาและกระบวนการสรรหา ส.ว.ทั้งหมดให้มีความโปร่งใสจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเห็นหน้าคร่าตา และสามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้”
หลังจากนี้ ก็ต้องไปวัดใจกับผู้เกี่ยวข้องและ คสช.ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นคือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตลอดอายุเกือบ 5 ปีของรัฐบาล คสช. ที่ชูสโลแกนในการทำงานว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” มีสื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคมไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ หลายรายการ แล้วปรากฎว่าจนบัดนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด
เช่น
โครงการอุทยานราชภักดิ์ ที่มีการฟ้องต่อศาลปกครอง หลังกระทรวงกลาโหมปฏิเสธจะเปิดเผยผลการตรวจสอบซึ่งชี้ว่า โครงการนี้โปร่งใส ไม่มีการทุจริต หักค่าหัวคิดใดๆ ทั้งสิ้น
สถิติการลาประชุมของ สนช. และผลการตรวจสอบกรณีสมาชิก สนช.จำนวนหนึ่งขาดประชุมบ่อย ที่ท้ายสุด สนช.ก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
ผลการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรู ที่ ป.ป.ช.ยกคำร้องไม่ไต่สวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณต่อ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบว่า จะให้ข้อมูลหรือไม่
ฯลฯ