ใครๆ ก็รักวิทยาศาสตร์ แต่ความเป็นเหตุเป็นผลของมันอาจแตกต่างออกไปในแต่ละคน จริงจังแค่ไหนถึงจะเรียกว่า ‘วิทย์’ เพี้ยนระดับไหนถึงเรียกว่า ‘ลวงโลก’ เส้นแบ่งอันคลุมเครือทำให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวอันน่าหลงใหลทางวิทยาศาสตร์ชักเป๋ไปทุกที และที่สำคัญมันหนักหัวใครไหม?
กลุ่มที่ไม่เชื่อ Climate Change ก็โวยผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็น Pseudoscience หรือ ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ พอๆ กับคนอีกจำนวนมากที่เชื่อฝังใจว่า ความฉลาดเฉลียวของมนุษย์เกิดจากการประทานพรของพระเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิ นักโหราศาสตร์ทำรายได้แซงนักวิทยาศาสตร์ไทยอย่างขาดลอย (ในขณะที่งบวิจัยก็แสนจำกัดจำเขี่ยและเส้นตายการนำเสนอผลงานก็ถูกบีบให้แคบลงอย่างน่าปวดใจ) หรือแม้แต่แพทย์ทางเลือกที่ใช้พลังจิตระงับอาการป่วยไข้ ทำให้คนเป็นหมันกลับมามีลูกได้ใหม่ เปลี่ยนคนพิการเป็นคนปกติ ก็ยังได้รับความนิยม
หลายคนเชื่ออย่างสุดใจใน Pseudoscience หรือ ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ แม้บางเรื่องจะเอาแค่สนุกๆ เม้าท์มอย ว่าคนแต่ละกรุ๊ปเลือดมีนิสัยอย่างไร แต่บางเรื่องก็เป็นปัญหาสุขภาวะระดับมหภาค หรือเป็นเครื่องมือของคนหรือองค์กรที่ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม
มันนำมาซึ่งปัญหาการแบ่งเขตแดนระหว่างวิทยาศาสตร์แท้และวิทยาศาสตร์เทียม จากประเด็นทับซ้อนทางด้านจริยธรรมและการเมือง เช่นเดียวกับประเด็นระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์
โลกเราจึงมีความเชื่อหรือการปฏิบัติใหม่ๆ ที่มักคอยมาเติมเต็มเสมอไม่ขาดหาย และล้วนแสดงตนเป็นวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน บ้างก็ว่ามาจากสถาบันค้นคว้าวิจัย แต่กลับไม่มีแบบแผนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้อง หาหลักฐานไม่เจอ พอจะขอตรวจสอบก็บ่ายเบี่ยง พวกเขามักไม่ยินยอมรับการตรวจสอบจากผู้ชำนาญการอื่นๆ และมักจะขาดกระบวนทรรศน์ในการสร้างทฤษฏีอย่างสมเหตุผล
ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ‘คาร์ล ป๊อปเปอร์’ (Karl Popper) นักปรัชญาวิทยาศาสตร์และอาจารย์ที่ได้รับการขนานนามบ่อยครั้งในช่วงศตวรรษที่ 20 จาก University of Vienna ได้นำเสนอ ‘หลักการพิสูจน์ความเป็นเท็จ’ แบ่งแยกวิทยาศาสตร์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ (Nonscience) ว่า ผลลัพธ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเท็จ ตัวอย่างเช่น ‘พระเจ้าสร้างจักรวาล’ อาจเป็นจริงหรือเท็จ แต่ไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นจริงหรือเท็จได้เลย มันจึงอยู่ ‘นอกขอบเขต’ ของวิทยาศาสตร์ ป๊อปเปอร์ใช้โหราศาสตร์กับจิตวิเคราะห์เป็นตัวอย่างของวิทยาศาสตร์เทียม และใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างของวิทยาศาสตร์
งานหลักของคาร์ล ป๊อปเปอร์ คือการพยายามตีเส้นระหว่างวิทย์ฯเทียมและวิทย์ฯแท้ แต่ความแตกต่างอย่างแท้จริงคือ ทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะวิทย์ฯเทียมพยายามหาหลักฐานเพื่อมายืนยันในสิ่งที่กล่าวอ้างว่าถูกต้อง แต่วิทยาศาสตร์แท้คือการพยายามท้าทายตัวเอง และหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าสมมติฐานนั้นผิด
หรือหมายความว่า วิทย์เทียมหาคำตอบเพื่อการยืนยัน (Confirmations) แต่วิทย์แท้คือการหาความจริงพิสูจน์เท็จ (Falsifications) เราได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ด้วยการใช้วิธีอุปนัย แต่มาจากการตั้งสมมติฐาน แล้วดูว่าตรงกับข้อมูลประสบการณ์หรือไม่ การตั้งสมมติฐานเป็นเรื่องของจินตนาการ แต่เมื่อตั้งมาแล้วก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่
นิวตันผิด ไอน์สไตน์มั่ว
มีเรื่องน่าสนใจที่เกิดขึ้นในงาน Electric Universe Conference ประจำปี 2015 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งจัดโดยกลุ่ม ‘The Electric Universe’ เป็นสมาพันธ์จากการรวมตัวกันของนักฟิสิกส์จากหลากหลายสาขา ซึ่งเชื่อว่าพวกเขามีมุมมองใหม่ๆในการพยายามนำเสนอจักรวาลผ่านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ โดยทำความเข้าใจบทบาทของกระแสไฟฟ้าและแรงโน้มถ่วงที่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์ในจักรวาล มันจึงรวมไปถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับดาวหาง ดวงจันทร์ ดวงดาว และ กลุ่มกาแล็กซี่
ประเด็น Pseudoscience หรือ วิทยาศาสตร์เทียม มักถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายทุกครั้ง จากความกังขาของจักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และแม้กระทั่งทฤษฎีสมคบคิดของรัฐบาล ที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นวิทย์จอมปลอมที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง
ดังนั้นภารกิจที่เกิดขึ้นในงาน จึงเป็นการพยายามเชื่อมโยงให้ผู้คนเห็นว่า ‘กลศาสตร์ของนิวตัน’ (Newtonian Mechanics) และทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity theory) ของไอน์สไตน์ เป็นรากฐานในการสร้างงานวิจัยใหม่ๆ ของ JPL (Jet Propulsion Laboratory) หน่วยงานหนึ่งในองค์การ NASA ที่ใช้ทฤษฏีทั้ง 2 แบบ ในการคำนวณเส้นโคจรของยาวอวกาศที่แม่นยำ
หาก นิวตันผิด ไอน์สไตน์มั่ว แล้วเราสามารถกำหนดทิศทางการบินโดยปราศจาก ‘ทฤษฏีแรงโน้มถ่วง’ (Gravitational theory) ได้หรือไม่ คำตอบภายงาน EU จึงพยายามอธิบายว่า มันเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะระบบดาวเทียม GPS ที่โคจรรอบโลกล้วนอยู่บนรากฐานของทฤษฎีสัมพันธภาพแทบทั้งสิ้น
แม้จะเป็นการสวนกันคนละหมัดของ วิทย์แท้ VS วิทย์เทียม ในงานสัมมนา แต่ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายและชื่นมื่น ไม่มีการพยายามแหกหน้ากันแบบเลือดอาบ หรือเถือหนังกันสดๆ กลางงาน รูปแบบเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยทำให้กลิ่นอายในการหาความจริงไม่ได้ซีเรียสเกินไปนัก
วิทย์ฯเทียมทำร้ายใครไหม?
สำหรับคนทั่วๆ (Nonscientist) ที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวเอ้ หรือต้องตีพิมพ์ผลงานวิชาการ การเชื่อวิทยาศาสตร์เทียมไปบ้างจะเดือดร้อนอะไรใครไหม ก็ฉันจะเชื่อแบบนี้ใครจะทำไม!
บางความเชื่ออาจไม่ได้เป็นการบ่อนทำลาย หากคุณจะเชื่อว่ามนุษย์พิชิตดวงจันทร์เป็นเพียงเรื่องสมมติ หรือจะเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวเป็นผู้สร้างโลก
แต่ความเชื่อว่าที่ฝังลึกอย่าง ‘วัคซีนกำลังทำลายมนุษยชาติ’ จนเกิดเป็นลิทธิต่อต้านวัคซีนให้แทบทุกประเทศ กำลังทำให้สังคมโดยรวมอยู่ในความเสี่ยงไม่ใช่เฉพาะกับตัวคุณเอง แต่อาจรวมถึงสังคมรอบข้าง เพราะคุณมีโอกาสแพร่เชื้อจากโรคระบาดที่มีวัคซีนแก้ได้แล้วแต่คุณปฏิเสธ จากแนวความคิดที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของวัคซีนที่อาจทำให้เด็กป่วยเป็นออทิสติกและทำลายระบบภูมิคุ้มกัน หรือลดความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญาซึ่งล้วนไร้มูลความจริง สร้างผลกระทบหนักในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา จนทำให้โรคระบาดในเด็กกลับมาอีกครั้งในระดับโรงเรียนอนุบาล และแน่นอนวิทย์ฯจอมปลอมเป็นเครื่องมือหากินขององค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไรจากช่องว่างของความรู้ สินค้าเพื่อสุขภาพมากมายถูกผลิตขึ้นโดยอ้างอิงการวิจัยที่ไร้หลักฐาน แต่สามารถทำเงินมหาศาลในแต่ละปี
ในอีกมิติของมุมมอง ‘ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟน์แมน’ (Richard Phillips Feynman) หนึ่งในนักฟิสิกส์ ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 20 กล่าวว่า “เพราะความสำเร็จของวิทยาศาสตร์ต่างหาก เราจึงมีสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์เทียม”
หลายครั้งที่โลกทั้ง 2 เคลื่อนผ่านกันไปมาเหมือนแผ่นทวีปที่ซ้อนกัน 25 มิลลิเมตรต่อปี (เชื่อหรือเปล่าล่ะ?)
วิทยาศาสตร์เทียมเหมือนลูกหมา บ้างครั้งมันก็สนุก ขนนุ่มฟู น่าเล่นน่าจับ และก็อยากส่งต่อไปให้เพื่อนๆของคุณ ส่วนใหญ่มันไม่มีพิษมีภัยมากนัก
แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เหมือนหมาดุๆ แยกเขี้ยวยิงฟัน และอาจจะต้องทำให้มันสงบลงบ้าง