ตั้งแต่รุ่งอรุณของ ‘พลาสติก’ ที่มนุษย์แนะนำให้โลกรู้จักในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พลาสติกได้สร้างประโยชน์ให้กับความก้าวหน้าของมนุษย์อย่างมหาศาล จนอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีพลาสติกแล้ว ก็อาจไม่มีคุณเป็นผู้เป็นคนถึงทุกวันนี้ แต่ขณะเดียวกันกลับมีตลกร้ายที่ขำไม่ออกว่า
“หากยังคงมีพลาสติกอยู่ต่อไป ก็อาจไม่มีคุณอีกเช่นกัน”
ลองนั่งนับนิ้วพลาสติกชิ้นแรกที่เราสร้าง จวบจนวันนี้มนุษย์สร้างพลาสติกให้กับโลกแล้วถึง 8.3 พันล้านตัน หรือน้ำหนักเท่ากับช้างพันล้านตัว! (เป็นช้างที่ไม่น่ารักเท่าไหร่) พลาสติกจำนวนมหาศาลอยู่ในทุกที่ทุกชีวิต คงทนถาวร ทำหน้าที่ตามเจตจำนงเดิมของมัน
ภาพข่าวทุกวันนี้เราได้เห็นภาพบาดใจจากท้องทะเล ทั้งก้อนพลาสติกมรณะที่อัดแน่นในท้องวาฬ ถุงพลาสติกคาในรูจมูกเต่าทะเล นกที่กลืนฝาขวดน้ำอัดลม กระเบนที่ถูกเชือกพลาสติกรัดจนร่างผิดรูปพิกลพิการ ส่วนใหญ่มนุษย์ไม่ได้รับผลกระทบเป็นมือแรกๆ จากพลาสติกเฉกเช่นสัตว์น้ำ
แต่เราได้รับผลกระทบแบบรวบยอดบวก vat แล้วจากกลุ่ม ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) พลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกโพลีเอทิลีน หรือปิโตรเคมีอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร ปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหารทุกขั้นตอน เมื่อมันอยู่ในท้องทะเล สัตว์น้ำทุกชนิดจึงมีปริมาณไมโครบีดส์สะสมในร่างกายตามกลไกห่วงโซ่ แล้วคุณก็กินเข้าไปทุกวัน สุดท้ายลงเอยที่ ‘มนุษย์กินพลาสติก’ ร่างกายคุณตอนนี้ก็เป็นที่อยู่อาศัยของพลาสติกโดยไม่รู้ตัว
เรามาสำรวจกันว่า ‘พลาสติก’ อยู่ตรงไหน? โลกจึงปวดใจมากที่สุด แน่นอน มันอยู่ในตัวคุณด้วยเช่นกัน
1. มีพลาสติกในมหาสมุทรถึง 8 ล้านตัน = ถุงพลาสติก 5 ล้านล้านชิ้น
น่าตกใจที่มหาสมุทรของเรามีปริมาณพลาสติกปริมาณมหาศาลถึง 8 ล้านตัน หรือเท่ากับมีถุงพลาสติกราว 5 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในทุกที่ของมหาสมุทร
ขยะพลาสติกลอยไปไกลกว่าที่คุณคิด แม้แต่หมู่เกาะทางใต้อันห่างไกลถึง 5,000 กิโลเมตร ก็กลายเป็น ‘สุสานพลาสติก’ ไปโดยปริยาย หากคุณคิดว่า เกาะเล็กๆ ที่ห่างไกลผู้คน และมีคนขึ้นไปบนเกาะแค่ครั้งเดียวในรอบ 10 ปี จะรอดพ้นภัยขยะ คุณอาจจะต้องชั่งน้ำหนักความคิดใหม่ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่เผยให้เห็นว่า ขยะที่พวกเราทิ้งลงมหาสมุทร สามารถลอยได้ไกล และเปลี่ยนชายหาดที่ไร้มนุษย์เป็นบ่อขยะอย่างน่าเสียดาย
เกาะเล็กๆ ชื่อ Henderson อยู่ห่างจากผู้คนราว 5,000 กิโลเมตร ณ แปซิฟิกตอนใต้ เต็มไปด้วยขยะนับล้านชิ้นลอยมาเกยตื้น โดยมีปริมาณขยะเยอะถึง 671 ชิ้นต่อตารางเมตร หรืออาจมีขยะพลาสติกจำนวน 37.7 ล้านชิ้น ทั้งๆ ที่บนเกาะไม่มีมนุษย์คนไหนอาศัยอยู่เลยด้วยซ้ำ
“ไม่มีที่ไหนบนโลกอีกแล้ว ที่ขยะพลาสติกไปไม่ถึง” Jennifer Lavers นักพิษวิทยานิเวศ (Eco toxicologist) จากมหาวิทยาลัย Tasmania ประเทศออสเตรเลีย กล่าว
2. ไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่เป็นตัวการทิ้งพลาสติกลงสู่มหาสมุทรในสัดส่วน 80%
เป็นชื่อเสียงที่ไม่ค่อยน่าชื่นใจเท่าไหร่ เมื่อพลาสติกในมหาสมุทรราว 80% มาจากประเทศในแถบเอเชีย 5 ประเทศที่เป็นตัวการปล่อยทิ้งมากที่สุดประกอบไปด้วย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย จากการรายงานของ Ocean Conservancy
โดยส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ไหลมาจากแม่น้ำ 8 สายในเอเชียลงสู่มหาสมุทร เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราความหนาแน่นของประชากรใกล้ริมชายฝั่งสูง แต่กลับไม่มีระบบจัดเก็บของเสียที่ดีพอ จึงฉุดให้คะแนนเราตกต่ำลงเรื่อยๆ รวมไปถึงการลักลอบทิ้งขยะหรือปล่อยของเสียลงทะเลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่ง 5 ประเทศนี้ (รวมถึงไทย) มีหลายกรณีที่เกิดขึ้น
3. สัตว์น้ำ 100 ล้านตัวตายจากพลาสติกทุกปี
เวลาคุณเดินไปตามชายหาดเกือบทุกแห่งมักจะพบ ขวด กระป๋อง ถุง ฝาปิด หลอดดูดที่ล้วนทำจากพลาสติก สิ่งเหล่านี้ยังพบได้ในซากสัตว์ที่เกยตื้นริมชายหาด พวกมันล้วนมีเศษวัสดุพลาสติกหลงเหลือในร่างกายอย่างเห็นได้ชัด เพราะพลาสติกเหล่านี้ได้ไปอุดตันขัดขวางการทำงานของอวัยวะภายใน และสุดท้ายก็จบชีวิตอย่างทรมาน
โดยมีการคำนวณว่า สิ่งมีชีวิตในทะเลกว่า 700 สายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากพลาสติก และจำนวน 100 ล้านตัว ต้องตายจากการกินขยะพลาสติกในท้องทะเล
4. สัตว์ 5 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะพลาสติก
- เต่าทะเล
เต่าทะเลมักคิดว่าพลาสติกเป็นแมงกะพรุนในธรรมชาติ มันจึงกินพลาสติกอย่างไม่ลังเล โดยพลาสติกสามารถไปอุดตันระบบย่อยอาหารของเต่า มีการคาดการณ์ว่าเต่าทะเล 50% ในมหาสมุทรมีปริมาณพลาสติกในร่างกายอยู่ในเกณฑ์อันตราย และลูกเต่าทะเลจำนวน 15% ก็พบพลาสติกในร่างกายแล้วตั้งแต่พวกมันยังเป็นเด็กๆ
- แมวน้ำ สิงโตทะเล
มักมีรายงานว่า แมวน้ำและสิงโตทะเลถูกลากติดไปกับอวนประมงบ่อยๆ พวกมันจำเป็นต้องหายใจเหนือผิวน้ำ แต่อวนที่เป็นกับดักได้ตรึงมันไว้จนขาดอากาศ อวนที่มีกำลังแรงดึงมากจะมีความคมสามารถบาดผิวหนัง จนเกิดแผลติดเชื้อ และตายในที่สุด การศึกษาในพื้นที่แถบ British Columbia 8 ปี พบว่าสิงโตทะเลว่ายไปเกี่ยวกับซากขยะพลาสติกถึง 388 กรณี (ยังไม่นับที่ทีมวิจัยตกสำรวจไปอีกมาก)
- นกทะเล
มีนกทะเลจำนวนล้านตัวที่ตายจากการกลืนพลาสติกในทุกๆ ปี ในกรณีนกอัลบาทรอส (Albatrosses) มักเผลอกินพลาสติกได้ง่าย เนื่องจากเทคนิคการล่าตามธรรมชาติของพวกมัน จะบินโดยใช้ปากโฉบปลาหรือหมึกใกล้ผิวน้ำ ซึ่งมักมีโอกาสตักเอาพลาสติกขึ้นมาด้วย
น่าตกใจที่นกอัลบาทรอสถึง 98% ในธรรมชาติมีพลาสติกอุดตันในร่างกาย รบกวนระบบการย่อยอาหาร และทำให้อวัยวะภายในเกิดบาดแผล ติดเชื้อ พวกมันจึงบินไม่ได้แล้วอดตายในที่สุด
- ปลา
ปลาล้วนเสี่ยงต่อการรับเศษพลาสติกขนาดเล็ก (Micro beads) เข้าไปในร่างกาย จากงานวิจัยของ University of Exeter พบว่า พลาสติก Micro Beads ในตัวปลาทะเลใช้เวลานานกว่าถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับกลไกร่างกายที่จะขับออก
เรื่องน่ากังวลสำหรับพวกเราคือ มนุษย์กินปลาเป็นอาหารจำเป็น ซึ่งเราจะได้รับพลาสติก Micro Beads เป็นของแถมจากการกินปลา ซึ่งชนิดปลาที่มนุษย์นิยมบริโภคล้วนมีรายงานของพลาสติกในตัวค่อนข้างสูง
- วาฬและโลมา
จากข่าวสะเทือนใจ เหตุการณ์ ‘วาฬนำร่องครีบสั้น’ ในจังหวัดสงขลาที่ตายไป พร้อมกับสภาพที่กระเพาะอาหารเต็มไปด้วยถุงพลาสติก 85 ชิ้น นับรวมเป็นน้ำหนักถึง 8 กิโลกรัม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ยืนยันถึงผลชันสูตรว่า แพทย์พบ ‘ความผิดปกติ’ ในร่างกายของวาฬหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด รวมถึงพบพยาธิในปอด ท่อน้ำดีและลำไส้ โดยขยะพลาสติกจำนวนมาก ได้เข้าไปอุดตันบริเวณกระเพาะส่วนต้น และพบพลาสติกบางส่วนที่ถูกย่อยในกระเพาะหลัก
เหมือนในกรณีของสัตว์น้ำอื่นๆ ที่พฤติกรรมธรรมชาติของวาฬและโลมามักเผลอกินพลาสติกในทะเล เพราะคิดว่าเป็นแหล่งอาหาร มีการคำนวณจาก Marine Pollution Bulletin พบว่า วาฬในมหาสมุทรถึง 31% กินพลาสติกไปในจำนวนใกล้เคียงกับวาฬที่ตายในจังหวัดสงขลา ซึ่งการตายจากพลาสติกของวาฬนับเป็น 28% ของการตายทั้งหมดที่วาฬต้องเผชิญ
5. 10 แม่น้ำสายหลักของโลกกลายเป็น ‘เส้นทางทิ้งขยะ’
แม่น้ำที่เราใช้สอยดุจดั่งเส้นเลือดกลับเป็นเส้นทาง ‘ส่งออก’ ขยะจากแหล่งชุมชนสู่มหาสมุทรได้อย่างน่าตกใจ โดยมีขยะพลาสติกในมหาสมุทรถึง 90% ไหลมาตามแม่น้ำชื่อดังของเอเชีย ได้แก่
แม่น้ำคงคา และสินธุ ในอินเดีย, แม่น้ำแยงซี ไห่เหอ จูเจียง และแม่น้ำเหลือง ในประเทศจีน, แม่น้ำอามูร์ที่กั้นระหว่างพรมแดนจีนกับรัสเซีย, แม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำไนล์ และไนเจอร์ ในอาฟริกา
นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลขยะพลาสติกในแม่น้ำแหล่านี้ และพบว่าการลดปริมาณขยะลง อาจสามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลกได้
6. พลาสติก 3 ใน 4 ไม่เคยถูกใช้เลย
พลาสติกมีชะตากรรมอาภัพราวดาวพระศุกร์ เพราะมันถูกผลิตมา แต่กลับไม่เคยถูกใช้ประโยชน์เลยคิดเป็น 3 ใน 4 ของพลาสติกทั้งหมดที่เราผลิต
พลาสติกเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิด เพราะความโดดเด่นทางคุณสมบัติในการยึดเกาะและการหล่อลื่นอย่างกว้างขวาง สามารถเป็นโครงสร้างตั้งแต่ของเด็กเล่นจนถึงยานอวกาศสุดไฮเทค ใช้เป็นยาทางชีวภาพในฐานะเป็นตัวขนส่งยาในร่างกายสิ่งมีชีวิต
พลาสติกมีความยืดหยุ่นสูงในการดัดแปลงคุณสมบัติต่างๆ โดยเติมแต่งสารประกอบทางเคมีได้ไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้มันมีความทนทาน ความหนาแน่นสูง ทนต่อทุกระดับอุณหภูมิ
แต่น่าเสียดายที่พลาสติกจำนวนมากไม่ได้ถูกใช้ตามที่เราตั้งเป้ากันไว้ และคุณสมบัติอันทนทานเมื่อไปอยู่ผิดที่ผิดทางทำให้พลาสติกกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อทุกชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Rivers carry plastic debris into the sea
ufz.de
oceanconservancy.org/ - Fighting for Trash Free Seas
oceanconservancy.org/trash-free-seas/plastics-in-the-ocean/
Illustration by Sairung Rungkitjaroenkan