“บอสคะ ขออนุญาตลา 3 วันค่ะ”
“ไปเที่ยว?”
“ไปติดต่อราชการค่ะ” บายยยย
ทำไมการติดต่อราชการไทยใช้เวลาราวกับคุณกำลังไปทริปบาหลี (ที่ไม่มีทะเลและบิกินี)
ความเชื่องช้าของระบบนานพอจะทำให้คุณรู้สึกถูกเนรเทศ กว่าจะยื่นเรื่อง กว่าจะพิจารณา พอกำลังจะประทับตรา ดันขอเอกสารเพิ่ม! ไม่แปลกเลยที่นอกเหนือจากแมงดาทะเลที่ไม่เคยวิวัฒนาการตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน (500 ล้านปี) ก็ระบบราชการไทยเรานี้ล่ะที่เป็นฟอสซิลมีชีวิตในยุคคลาวด์ คอมพิวติ้ง
แล้วไอ้ข้อมูลที่พวกเรากรอกทุกครั้งมันไปอยู่ไหน? สำเนาเอกสารที่ยื่นเป็นร้อยๆ แผ่น มันไปซุกตรงไหนในลิ้นชัก
“เลิกขอสำเนาทะเบียนบ้านได้แล้วพี่! ไหว้ล่ะ”
ราชการกับความทันสมัยดูเหมือนมาจากคนละมิติ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสื่อสารกับพวกเราโดยการออกแบบ Application ตามสมัยนิยมเพื่ออำนวยความสะดวก แต่กลายเป็นว่า App สากกะเบือยันเรือรบที่ขาดการรวมศูนย์ข้อมูล ไม่สามารถจับต้องได้หรือไม่ถูกต่อยอด ข้อมูลที่ไม่เชื่อมโยงกันของแต่ละหน่วยงาน เพียงแค่คุณอยากรู้คีย์เวิร์ดเดียว อาจต้องเผชิญกับเอกสาร PDF หนาพันหน้าที่ไม่รู้จะใส่มาทำไม ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและมองบน
เรื่องง่ายๆ ที่อยากรู้ว่า ‘พรุ่งนี้แถวบ้านฝนจะตกป่าว’ อาจต้องใช้ 3 App เพื่อให้ได้ผลที่น่าชื่นใจที่สุด
‘เราจะทำให้ระบบราชการไทยเลิกขอสำเนาเอกสาร และต่อไปคุณไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี’
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ (สรอ.) กล่าวในงาน EGA meets bloggers
ฟังดูแล้วเหมือนคนเล่าเรื่องบิ๊กฟุตรอบกองไฟ หากคุณขยาดกับงานเอกสารราชการไทยคงตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือ?
และหากมีใครตอบได้ว่า ‘ภาษีของชั้นไปไหน’ ความโปร่งใสจากฐานข้อมูลที่เป็นมิตรแก่ผู้ใช้ (User Friendly) ทำให้เรากล้าตั้งคำถามกระแสธารของภาษีซึ่งเคยเป็นเงินแท้ๆ ของคุณหรือเปล่า
หากไม่เคยได้ยินชื่อสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ Electronic Government Agency ก็ไม่แปลก เพราะมันต้องใช้เวลาสักพักเพื่อพิสูจน์เจตนารมณ์ขององค์กร
การสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e- Government) ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ รัฐบาลทั่วโลกเผชิญความท้าทาย ในการเปลี่ยนโลกสำเนาเอกสารสู่โลกดิจิทัลที่รวดเร็วและทันสมัย การที่ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือบริการของรัฐได้ราวฟ้าผ่า โดยที่ไม่ต้องหยุดงานเป็นวันๆ
หากราชการไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ สังคมจะลดภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาอันมีค่า (ซึ่งควรเอาไปเที่ยวบาหลีจริงๆ) และพวกเราในฐานะประชาชนอาจช่วยเป็นหูเป็นตาในการทำงานของภาครัฐได้มากขึ้น
Open data ทำอะไรให้เราบ้าง
มันคือข้อมูลเปิดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเผยแพร่ได้โดยใครก็ตาม ทุกคนในประเทศไทยสามารถนำข้อมูล Open Data ไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการวิจัยค้นคว้าเชิงข้อมูลก็สามารถทำได้ไม่ติดข้อจำกัดใดๆ
หรือแม้กระทั่งใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในการทำธุรกิจ
ขอยกตัวอย่างในแง่มุมวิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างสักนิด (ซึ่งเป็นอีกแวดวงที่ได้รับประโยชน์ของ Opendata เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของงานวิจัย) ย้อนไปสักปี 30 ปีที่แล้ว การแชร์ข้อมูลในกลุ่มนักวิจัยเป็นไปราวเต่าคลาน พวกเราเข้าถึงข้อมูลอย่างจำกัด หรือกว่าจะได้ชุดข้อมูลที่มีประโยชน์ก็ดันอยู่ในร่างของแผ่นดิสก์ขนาดยักษ์ที่ต้องหอบไปเปิดกับคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง
แต่ปัจจุบันเราไม่ทำแค่บันทึกข้อมูลไว้เชยชมผู้เดียว แต่เราแชร์มันออกไปในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เพื่อนศาสตร์อื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ ข้อมูลที่ครั้งหนึ่งได้ถูกจัดการเหมาะสม มันจะทำให้คนอื่นๆใช้ต่อได้ เพิ่มมูลค่าข้อมูล ตรวจสอบได้และไม่ดึกดำบรรพ์ ดังนั้นหาก Opendata ที่คุณไม่มีส่วนร่วมก็ไม่มีความหมาย
อนาคต Opendata ของประเทศไทยควรรวมศูนย์อย่างสร้างสรรค์ ข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในเว็บเดียวกัน
มันจึงเป็นไปได้หากคุณจะจัดระเบียบรถตู้กรุงเทพ ด้วย GPS นำร่องเพื่อติดตามว่าโชเฟอร์คนไหนสวมวิญญาณตีนผี
หรืออุบัติเหตุท้องถนนที่อัพเดททุกวัน ไม่ใช่เพียงช่วงเทศกาลสำคัญ
ยิ่งคุณเป็นผู้ประกอบการหัวใสคงคิดอะไรระเบิดเถิดเทิงกว่านี้เยอะ!
‘ภาษีไปไหน’ เส้นทางการเงินที่คุณติดตามได้
หลายคนเคยถามลอยๆ ว่าภาษีอิชั้นมันไปไหน? พัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง? บริษัทไหนชนะการเสนอราคาล่าสุด? ผมเคยเห็นสนามบาสฯขนาดมาตรฐาน ไปตั้งอยู่ในใจกลางป่ายางของจังหวัดระยอง โดยไม่มีเด็กคนไหนไปโชว์ลีลาสักคน (เพราะมันไม่มีเด็กเลยต่างหาก) คงเป็นวิชชวลที่เปรี้ยวมาก หากคุณได้สแลมดังก์กลางดงป่ายางที่เต็มไปด้วยยุงและงูบินได้
หน่วยงานภาครัฐสักแห่งกำลังผลาญเงินคุณโดยไม่เกิดประโยชน์ การคอร์รัปชั่นรากฝังลึกในสังคมไทยคือสุญญากาศแห่งการพัฒนา คำถามเหล่านี้จึงไม่ถูกตอบ
govspending.data.go.th จึงกลายเป็นผลงานนำร่องของ สรอ. สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ (Open data) จากภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม เราสามารถเห็นภาพรวมการใช้งบประมาณทั้งประเทศ จังหวัด และภูมิภาคได้ เป็นความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและร้องเรียนสิ่งผิดปกติได้
และที่สำคัญมันสวย!
คุณสามารถหา ‘โครงการสนามบาส’ ทั่วไทยว่าอยู่จุดไหนของ ตำบล แม้กระทั่งงบประมาณรวม (ซึ่งอยู่ที่ 130.94 ล้านบาท) และมีคีย์เวิร์ดอีกเป็นแสนๆ น่าค้นหา
หากเมื่อก่อนคุณพยายามสืบค้นอะไรแบบนี้ คงเผชิญกับฝันร้ายของข้อมูลที่ไร้ระเบียบ แต่ ‘ภาษีไปไหน’ พาเราไปพบชุดข้อมูลที่จัดการแล้ว แสดงผลออกมาด้วยการเรนเดอร์ที่รวดเร็ว ตำบล อำเภอ จังหวัด และคำนวณงบประมาณเสร็จสรรพ
การให้ความสำคัญของการทำ Data Visualization หรือข้อมูลที่มองเห็นได้ด้วยตา (โดยไม่ต้องคิ้วขมวด) พาเราไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติอื่นๆ ดังนั้น Opendata จึงไม่ใช่เป็นเพียงข้อมูลที่ ‘เปิด’ แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจว่าคุณกำลังมองอะไรอยู่
เราถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (และในอีกหลายมิติคงต้องปรับปรุงเพื่อรองรับชุดข้อมูลที่หลากหลายขึ้น) ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน จะทำให้ข้อมูลนั้นมีคุณค่ามากขึ้น และการรับฟังเสียงผู้คนรอบๆ
ส่วนหนึ่งที่กำหนดว่าเราจะพาสังคมไปทางไหน คือการให้พวกเรามีโอกาสตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่หมกเม็ด
รัฐต้องพิสูจน์ว่า คุณคือศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือ ท่ามกลางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นับแสนล้านไบท์ให้ได้
ประชาชนใช้ประโยชน์ได้จริง และสมาร์ทสมชื่อ
ไม่อย่างนั้นสำเนาทะเบียนบ้านจะเป็นสิ่งเดียวที่เรายอมให้
แต่ไม่ใช่ความเชื่อมั่น!