ตื่นจากการหลับใหลเถอะพวกเรา โลกใบนี้ถูกควบคุมเรียบร้อยแล้ว!
เพราะ…
- จริงๆเราไม่ได้ขาดน้ำมันเลย แต่มีกลุ่มคนที่ควบคุมและกักตุนมันไว้
- โลกร้อนเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ บริษัทยักษ์ใหญ่หลอกเราด้วยโฆษณาเพื่อหวังหากำไร
- โรคเอดส์และอีโบล่า เป็นผลงานวิจัยลับของรัฐบาล
- อย่าให้ลูกคุณไปฉีดวัคซีน พวกเขาจะป่วยหนักกว่าเดิม
- 9/11 เป็นฝีมือของสหรัฐ เพื่อให้มีความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอื่นๆ
- มนุษย์ไม่เคยเหยียบดวงจันทร์ อเมริกาจัดฉากเพื่อเอาชนะโซเวียต
- โลกทั้งใบถูกควบคุมด้วยรัฐบาลแห่งเดียวของโลก ‘New World Order’
- Pokémon Go เป็นแผนสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐ
- เหตุความไม่สงบในไทยเป็นผลงานของกลุ่มอำนาจเก่า
สิ่งเหล่านี้ล้วนหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต และพวกเราก็ดึงดูดไปกับข้อมูลจับแพะชนแกะ (ยอมรับว่าส่วนใหญ่อ่านสนุกจริงๆ) แต่ก็น่าคิดไม่น้อยว่า ทุกการตัดสินใจของเรา อาจถูกครอบงำด้วยองค์กรมืดที่ทรงอำนาจจนสามารถบิดเบือนอะไรก็ได้ หรือบางที ข่าวลับบางชิ้นอาจถูกส่งมาจากกรุ๊ปไลน์ของบรรดาญาติๆ คุณที่กระต่ายตื่นตูมจนเกินเหตุ
ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) หรือศาสตร์แห่งการจับแพะชนแกะ แม้จะมีมานานพอๆ กับประวัติศาสตร์การข่าว แต่มันเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับยุคสารสนเทศเฟื่องฟู และอินเทอร์เน็ตเองก็กลายเป็นบ้านที่ดีให้เหล่านักทฤษฎีหยิบเรื่องโน้นมาชนกับเรื่องนี้อย่างออกอรรถรส
เหตุระเบิดครั้งที่ผ่านมา นักทฤษฎีสมัครเล่นก็สร้างชุดความคิดที่เชื่อมโยงอย่างเป็นตุเป็นตะ กลายเป็นกลุ่มลับลวงพรางในไลน์ แม้เรื่องเหล่านี้ถูกสวมทับด้วยคำว่า ทฤษฎีสมคบคิด แต่ก็ดูดีเกินไปหน่อย เพราะส่วนใหญ่ไม่ผ่านกระบวนการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์เลย
แต่ทำไมคนจำนวนมากยังเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอย่างสุดใจขาดดิ้นอยู่ดีล่ะ?
ใช่แล้ว! คนเชื่อเรื่องแบบนี้ เพราะมันทำให้พวกเขาสบายใจยังไงล่ะ
งานศึกษาปรากฏการณ์ความเชื่อทางสังคมอยู่ในความสนใจของเหล่านักวิชาการมาโดยตลอด อย่างกลุ่มนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Miami นำโดย Joseph E. Uscinski และ Joseph M. Parent (พวกเขาเคยเขียนหนังสือ American Conspiracy Theories ในปี 2014) เคยสำรวจไว้ว่า คนอเมริกันถึง 3 ใน 4 เคยเชื่อว่า ‘โอบามา’ ไม่ได้เป็นคนอเมริกันด้วยซ้ำ พอๆ กับเหตุการณ์ 9/11 ที่ยังมีคนโทษรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่าอยู่เบื้องหลังแผนวินาศกรรมระดับโลก
แม้พวกเรามักคิดว่าคนที่เชื่อเรื่องแบบนี้เป็นตุเป็นตะ คงต้องเป็นพวกเนิร์ดๆ ชอบท่องเว็บบอร์ดลับๆ เป็นแน่แท้ แต่งานศึกษาเชิงสถิติกลับพบว่า คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด มีทุกอายุ ทุกเชื้อชาติ ทุกระดับรายได้ ไม่ว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา พวกเราก็นิยมจับแพะชนแกะเพื่อให้ความสบายใจเช่นกัน
ชาวลิเบอรัลมักมีแนวคิดว่า สื่อและพรรคการเมืองเป็นตัวหมากของพวกทุนนิยมและองค์กรยักษ์ใหญ่ ส่วนพวกสายอนุรักษ์นิยมเชื่อว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มลิเบอรัลเป็นพวกที่อยู่เบื้องหลังการสมคบคิดที่บ่อนทำลายความมั่นคงของสังคมด้วยงานวิชาการ
หรือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมพืช ฝั่งซ้ายก็โยงความผิดไปยังบริษัทมอนซานโต (Monsanto) และชี้ว่าเป็นบริษัทที่สร้างอาหารผีดิบทำลายเกษตรกรรายย่อย
การจับแพะชนแกะมักมีแพทเทิร์นซ้ำๆ 4 ชุด
- ต้องมีกลุ่มบุคคลจำนวนมากๆ หนุนหลัง
- ทำงานอย่างเป็นความลับ
- พยายามเปลี่ยนแปลงสถาบัน แย่งชิงอำนาจ บิดเบือนความจริงและใช้ประโยชน์จากมัน
- ทำลายเจตจำนงของสังคม
พอเข้า Concept เหล่านี้ปุ๊บ เรื่องลือเรื่องเล่าก็พร้อมจะเป็นการสมคบคิดโดยสมบูรณ์แบบ
งานศึกษาทางจิตวิทยาชิ้นใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจกระบวนความเชื่อได้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในวารสาร Applied Cognitive Psychology พบว่า คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดล้วนมีองค์ประกอบคล้ายๆ กัน คือ พวกเขาไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ รู้สึกว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนเป็นภัย ขาดความมั่นคงในการทำภารกิจให้ลุล่วงในแต่ละวัน
จึงไม่แปลกที่ทฤษฎีสมคบคิด ล้วนก่อตัวขึ้นจากช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกลัวและความไม่แน่นอนในสังคม เช่น หลังจากเหตุก่อการร้าย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแพร่ระบาดของโรคหรือภัยธรรมชาติที่มียอดคนตายมากๆ มนุษย์รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุม และต้องการคำตอบจากปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่เมื่อไม่มีใครให้เหตุผลได้ดีพอ ทฤษฎีเหล่านี้จึงดูฟังขึ้นมากกว่า
นักจิตวิทยา Jan-Willem van Prooijen กล่าวว่า “การใช้ความรู้สึกในการเชื่อมโยงแต่ละจุดเข้าด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องอิงกับความเป็นจริง และนั้นล่ะทำให้ผู้คนนิยม”
ความวิตกกังวลทำให้มนุษย์เห็นแพทเทิร์นที่ไม่มีอยู่จริง และพยายามหาคำอธิบายโดยใช้หลักฐานที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย มีมุมมองที่น่าสนใจว่า การสนับสนุนโดยให้คนมีวิจารณญาณ เริ่มจากการทำให้ระบบการศึกษาเป็นที่พึ่งของคนในสังคมได้จริง
งานศึกษาพบว่า คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยม มีแนวโน้มเชื่อทฤษฎีสมคบคิดกว่า 42% เมื่อเทียบกับระดับสูงกว่าปริญญาตรีที่ 23% แต่อย่างไรก็ตามในหมู่คนที่มีการศึกษาสูง มีคนอย่างน้อย 1 ใน 5 ยังเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอยู่ แต่ที่น่ากลัวคือ พวกเขามีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ไปให้กับคนรุ่นใหม่ๆ หรืออยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับใช้อำนาจกับสังคม
ความเชื่อล้วนเป็นสิ่งเปราะบาง มันจึงจำเป็นที่เราต้องตั้งคำถามกับข้อมูลที่รับมา และมองมันโดยไม่ใช้อคติเป็นตัวกำหนด แต่การพัฒนาสังคมให้มีวิจารณญาณก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะจับแพะชนแกะอะไรไม่ได้เลย
ของแบบนี้ต่างหากที่ทำให้สังคมน่าสนใจ ทฤษฎีสมคบคิดทำให้เราตั้งคำถามและปัดฝุ่นชุดตรรกะออกเสียบ้าง หาคนที่ถกเถียงด้วยแล้วถูกคอ เบียร์เย็นๆ กับเรื่องเล่าทฤษฎีสมคบคิดก็เป็นของคู่กันที่ฟังสนุกไม่หยอก แต่อย่าหัวร้อนในสิ่งที่คุณคิดจนไปเที่ยวบอกคนอื่น
ตราบใดที่คนยังรู้สึกไม่มั่นคงในสังคมที่เขาอยู่ พรุ่งนี้คุณก็อาจจะได้ยินเรื่องสมคบคิดอะไรแปลกๆ ได้เป็นร้อยๆ เรื่องแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Influence of Control on Belief in Conspiracy Theories: Conceptual and Applied Extensions
American Conspiracy Theories: Oxford University Press