“ความเป็นประชาธิปไตยในไทย ผมขอเปรียบกับแมนฯยู เพราะถ้าดูการจัดลำดับของ The Economist Intelligence Unit ที่เรียงลำดับความเป็นประชาธิปไตยจาก 167 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 106 คือ กลางๆ ตาราง พอๆ กับตำแหน่งของแมนยูในปัจจุบัน แต่สิ่งที่มันมีความคล้ายคลึงกับแมนฯยูอีกอย่างนึงคือ เราเคยทำได้ดีกว่านี้”
คำพูดของ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หนึ่งในแกนนำคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา หลังลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งเปิดตัวที่ทำให้หลายคนรู้จักเขา แต่ไอติมก็ยังไม่หยุดเดินทางสายการเมืองเพื่อให้ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง
แต่นอกจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ไอติม ยังก้าวเข้ามาสู่สนามของวงการสิ่งพิมพ์ ด้วยการลงมือเขียนหนังสือ ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ ด้วยความหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งคู่มือทำความเข้าใจถึงประชาธิปไตยและการเมืองขั้นพื้นฐานฉบับเข้าใจง่ายให้กับประชาชน
ทำไมต้องเชื่อในประชาธิปไตย?
ประชาธิปไตยคืออะไร? คำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ คือ หนึ่งคน หนึ่งเสียง (One person, one vote)
เมื่อพูดแบบนี้แล้ว หลายคนคงโยงประชาธิปไตยเข้ากับเรื่องของการเลือกตั้งกันแน่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ไอติมกล่าวเสมอว่า ประเทศไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าเราไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่ถึงแม้เราจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว ประเทศก็อาจจะยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
เขายกตัวอย่างว่า มีครอบครัวนึงมีสมาชิกกันอยู่ 5 คน ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกอีก 3 คน ต้องการจะไปกินข้าวที่ร้านอาหาร หากใช้ระบบประชาธิปไตยในการตัดสินใจ ทุกคนก็จะโหวตกัน เพื่อหาร้านอาหารที่คนส่วนใหญ่ในครอบครัวอยากกิน แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากวันนึง แม่ประกาศจุดยืนว่าจะเป็นมังสวิรัติ แล้วพ่อกับลูกที่เหลืออยากไปกินสเต็กร้านนึง ที่ไม่มีเมนูผักเลย การตัดสินใจไปกินร้านอาหารตามเสียงส่วนใหญ่จะยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ไหม?
คำตอบของไอติมคือ ไม่ใช่ เพราะการเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่สนความต้องการของแม่ เป็นการทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง
หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง คงเหมือนกับการที่ประชากร 50 ล้านคนจากภูมิภาคหนึ่งของประเทศ โหวตว่าจะโอนงบประมาณมาให้คนในภูมิภาคนั้นอย่างเดียว (ภูมิภาคอื่นที่มีประชากรน้อยก็ไม่ได้งบ) ดังนั้น นอกจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว ยังต้องมีการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนด้วย
“เพราะที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยต้องไม่ใช่การเลือกร้านอาหารที่เสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่ต้องเป็นร้านอาหารที่ เสียงทุกเสียงเป็นใหญ่ โดยต้องหาทางออกที่คำนึงถึงความหลากหลายในครอบครัว สิทธิเสรีภาพในความเชื่อของทุกคน รวมถึงความต้องการของทุกฝ่าย”
นี่คือข้อความจากหนังสือ ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ ซึ่งไอติมก็ขยายความต่อว่า เขาแบ่งมิติของประชาธิปไตยออกเป็น 2 มิติ ส่วนแรกคือ ‘ระบบ’ ซึ่งหมายถึง กฎกติกาของประเทศที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สองคือ ‘วัฒนธรรม’ หมายถึง ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความเคารพในประชาธิปไตยของประชาชน
แม้ประเทศไทย จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ไอติมมองว่า ความเป็นประชาธิปไตยของไทยกลับถดถอยลงไป เพราะกฎ กติกาในการเลือกตั้งครั้งนั้น เต็มไปด้วยช่องโหว่ ทั้งยังไม่ใช่การเลือกตั้งที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงกันอย่างแท้จริง
แม้ระบบของประชาธิปไตยจะถอยหลัง แต่วัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตยในสังคมกลับเข้มข้นมากขึ้น หลายคนเริ่มหันมาสนใจ และติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ซึ่งไอติมมองว่า นี่เป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม
“มันเหมือนกับเกมชักกะเย่อ ที่ระบบพยายามดึงเราให้ไปข้างหลัง แต่สังคมวัฒนธรรมดึงเราให้ไปข้างหน้า แต่ก็กังวลว่า ถ้าถึงวันที่เชือกขาดแล้ว มันจะมีการสูญเสียได้”
ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21
ไอติมยกให้ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของเทคโนโลยี ดังนั้นแล้ว ประชาธิปไตยในยุคนี้ ก็ควรมีส่วนผสมของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน คำถามที่ตามมาคือ แล้วเทคโนโลยี มาเปิดประตูอะไรบ้าง ให้กับวิวัฒนาการของประชาธิปไตย?
ต้องย้อนกลับไปถึงยุคสมัยของประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ที่ให้ประชาชนเข้ามาโหวตในทุกๆ เรื่อง แต่ระบบนี้ นานวันเข้าก็มีปัญหา ไอติมชวนให้คิดภาพตามว่า ถ้าคนในประเทศทั้งหมด หยุดงานเพื่อไปเข้าประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ. 2563 ประเทศก็คงวุ่นวายแน่ๆ ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) จึงวิวัฒนาการขึ้นมา
แต่ถ้าตัวแทน เข้าไปในสภา แล้วไม่ได้โหวตตรงตามที่เราต้องการ หรือมีผู้สมัครเลือกตั้งสองคนที่เก่งกันคนละด้าน แล้วเราอยากให้เข้าสภากันทั้งคู่ แต่กลับโหวตได้แค่คนเดียวจะเป็นอย่างไร?
ไอติมกล่าวว่า ความค้างคาใจของผู้คน ทำให้กระแสประชาธิปไตยโดยตรงเริ่มกลับมา เหมือนอย่างกรณี การลงประชามติถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ บางปัญหามีมิติ และประเด็นปลีกย่อยจนไม่สามารถโหวตแค่ ใช่ หรือ ไม่ใช่
ทำให้ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) เกิดขึ้น โดยพยายามดึงข้อดีของประชาธิปไตยทั้งสองแบบมารวมกัน คือ เริ่มต้นจากประชาธิปไตยโดยตรง ให้ประชาชนมีหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่ากันหมด แต่ถ้ามีประเด็นไหนที่เราไม่มั่นใจ หรือไม่มีเวลาศึกษา เราสามารถโอนสิทธิของเราไปให้คนอื่นได้ ทั้งยังสามารถแยกได้ว่า จะให้ใครรับผิดชอบในเรื่องไหน และสามารถดึงสิทธิกลับมาได้ หากตัวแทนไม่สามารถตอบความต้องการของประชาชนได้
“แต่ก่อน เวลาพูดเรื่องแบบนี้ คนจะหัวเราะ เพราะมันใช้เวลานานและซับซ้อนมาก แต่ปัจจุบัน สิ่งที่เข้ามาช่วยให้ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลเป็นจริงขึ้นได้ คือ เทคโนโลยี”
ไอติมเล่าว่า หลายพรรคการเมืองในยุโรปเริ่มนำระบบนี้มาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเปลี่ยน หรือโอนสิทธิในประเด็นต่างๆ ได้ เช่น ประชาชนโอนสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับ ส.ส. คนหนึ่ง เมื่อมีนโยบายสิ่งแวดล้อมมา ส.ส. คนนี้ สามารถโหวตได้ว่าจะรับหรือไม่ แล้วประชาชน จะมีเวลาตัดสินใจอีก 1 วัน ว่าพึงพอใจกับการตัดสินใจของ ส.ส. คนนี้หรือไม่ หากไม่พอใจ ก็สามารถดึงสิทธิของตัวเองกลับมาได้ หรือหาก ส.ส. คนนี้ไม่สะดวกพิจารณาประเด็นดังกล่าว ก็สามารถโอนสิทธิในการตัดสินต่อให้ ส.ส. อีกคนหนึ่งแทนได้เช่นกัน
แต่ระบบประชาธิปไตยแบบนี้ จะนำมาใช้ในไทยได้เหรอ?
ไอติมมองว่า ต้องมีการทดลอง และสนามทดลองที่น่าสนใจคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องที่กว้าง มีประเด็นบางอย่างแตะเรื่องสิทธิเสรีภาพ แตะเรื่องของกลุ่มเพศหลากหลาย หรือสิทธิสิ่งแวดล้อม ถ้าคาดหวังให้คนๆ เดียว เขียนรัฐธรรมนูญออกมา คงมีประเด็นที่ตกหล่นไปบ้าง ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเหมาะกับการทดลองประชาธิปไตยแบบลื่นไหล
แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ไม่ใช่แค่คนในสังคมเมืองที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นเท่านั้น
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี ไอติมมองว่า ในแง่หนึ่งเทคโนโลยีช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น เด็กจากโรงเรียนห่างไกล แต่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากเทคโนโลยีนี้ได้ด้วย แต่หากนำทุกอย่างไปไว้บนเทคโนโลยี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หากมีคนที่เข้าไม่ถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน หรือผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ถนัดใช้เทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีเข้ามา ก็จะกลายเป็นการตอกย้ำช่องว่างจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในเทคโนโลยี (Digital Divine) ขึ้นมาแทน
“ดังนั้น เวลาพูดถึงการสร้างเทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มันต้องเริ่มจากการวางโครงสร้างพื้นฐานก่อน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้”
แต่การเข้าถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าประเทศยังมีการคอรัปชั่นสูงอยู่?
ตรงจุดนี้ ไอติมยืนยันว่า ปัญหาคอรัปชั่น แก้ไม่ได้ด้วยระบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะหากดูการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศเทียบกับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) จะพบว่า ประเทศที่มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูง จะมีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นต่ำ
คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรส่งผลให้เกิดอะไร ระหว่าง ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ทำให้มีการทุจริตน้อย หรือการทุจริตน้อย ส่งผลให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง?
ไอติมมองว่า สองสิ่งนี้ต้องทำควบคู่กันไป นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราพูดเรื่องทุจริตได้ หากไม่พูดเรื่องประชาธิปไตยไปด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการทำให้คนเข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
“เราต้องหยุดโทษกันไปมาก่อน บางทีเราจะเห็น นักการเมืองโทษประชาชนว่าไม่สนใจการเมือง ในขณะที่ประชาชนมองว่า เบื่อหน่ายนักการเมือง ไม่สนใจดีกว่า เพราะการเมืองเป็นเรื่องเลวร้าย”
ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การเจอกันคนละครึ่งทาง นักการเมืองต้องทำให้เห็นว่า หากประชาชนหันมาสนใจการเมืองแล้ว คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องใช้สิทธิของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงการเมือง เช่น การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
“ในวันที่ระบบรองรับแล้วว่า หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่ากัน ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมา มันสะท้อนความต้องการของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น”
ประชาธิปไตย คือ ออกซิเจน
“ท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยจะเป็นกลไกที่ทำให้เราสามารถจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ แต่เราต้องไม่หยุดแค่ประชาธิปไตย เราต้องหาคำตอบว่าจะแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อย่างไรด้วย เพราะถ้าวันนึง เราได้ประชาธิปไตยมาแล้ว แต่ไม่มีไอเดียเลยว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร ประชาธิปไตยที่เราได้มากก็อาจจะไม่ได้มีคุณภาพเต็มที่”
ดังนั้น ปัญหาที่ไอติมมองว่า ต้องเร่งหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะตอนนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ถ้าเราเอาคนที่รวยที่สุด 10% มาเทียบกับคนที่รวยน้อยที่สุด 10% แล้วมาเทียบมูลค่าทรัพย์สินที่สองกลุ่มนี้มีจะพบว่า คนรวยมีทรัพย์สินมากกว่าคนจนถึง 878 เท่า เป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก”
ไอติมมองว่า ทุกคนต้องมาช่วยกันหาคำตอบว่า จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน ถึงจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ
อีกปัญหาหนึ่งที่น่ากังวลคือ สังคมผู้สูงอายุ ตอนนี้สัดส่วนของคนวัยทำงานเทียบกับคนวัยเกษียณ เท่ากับ คนทำงาน 4 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 40 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นว่า คนทำงาน 1 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ดังนั้น ทางแก้ที่ดีคือ การเพิ่มสัดส่วนคนวัยทำงาน โดยการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อดึงดูดคนวัยทำงานให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น และจะช่วยเพิ่มภาษีที่จะนำมาใช้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การจะแก้ไขปัญหาในตอนนี้ ต้องกลับมาสู่กรอบความคิดที่กล่าวไว้ตอนแรก นั่นคือ ความเป็นประชาธิปไตย มี 2 ส่วน ได้แก่ ระบบ ในที่นี้คือ รัฐธรรมนูญ บางคนอาจจะมองว่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติแล้ว แต่ไอติมชี้ให้เห็นว่า การเปิดพื้นที่ให้หาเสียงของรัฐธรรมนูญฉบับเก่า จำกัดความคิดเห็นของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเอาไว้ ทำให้ความคิดเห็นทั้งสองฝ่ายไม่ได้
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไอติมเข้าร่วมกลุ่มคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อช่วยกันหาคำตอบ และหาทางให้ประเทศไทย เดินไปข้างหน้าต่อได้ ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไอติมมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขวุฒสภามากที่สุด เพราะมองว่าเป็นอุปสรรคต่อระบบประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นในหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง
“แต่อย่างที่บอกว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของระบบ ส่วนที่สองคือ วัฒนธรรม นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาพลเมืองศึกษา เพื่อจะเรียนรู้ไปพร้อมกับนักศึกษา รวมถึงเขียนหนังสือขึ้นมา เพื่อให้คนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร”
เมื่อสังคมเกิดความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยแล้ว การทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นศัตรูของประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้นได้ยาก ไอติมกล่าวว่า การะทำรัฐประหารที่ผ่านมา เกิดขึ้นได้เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งพึงพอใจที่จะให้เกิดรัฐประหารนั้นด้วย ดังนั้นแล้ว หากประชาชนทุกคนเข้าใจ และเชื่อมั่นในประชาธิปไตยแล้ว การทำรัฐประหารก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก
“ในศตวรรษที่ 21 ผมหวังว่าสังคมเราจะมีมากกว่าประชาธิปไตย ผมคิดว่าสังคมที่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยต้องเป็นเหมือนออกซิเจน เราอยู่โดยไม่มีมันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ตื่นเช้ามา แล้วคิดว่า เอ๊ะ วันนี้มีออกซิเจนหรือเปล่า มันควรจะซึมซับอยู่ในทุกๆ มิติของสังคม”