ผู้คนใฝ่ฝันถึงการเดินทางข้ามดวงดาว ไม่ใช่ทุกคนที่มีความพร้อมพอจะเป็นนักบินอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องอวกาศคงสูงลิ่วจนยากเอื้อมถึง แต่หากคุณติดตามข่าวสารความก้าวหน้าของแวดวงอุตสาหกรรมอวกาศสักระยะ การท่องอวกาศกลับมีแนวโน้มถูกลง ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ไปได้ไกลกว่า และมีความปลอดภัยสูง ทำให้การไปตั้งรกรากถาวรบนดาวอังคารก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินความจริง
ปีนี้บริษัทอุตสาหกรรมอวกาศเอกชน SpaceX ที่ก่อตั้งมาเพียง 15 ปี สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฝ่ามือ เมื่อพวกเขาทำภารกิจใหม่ๆ สำเร็จจากจรวดใช้ซ้ำได้อันภาคภูมิใจเป็นพิเศษ ‘Falcon 9 Rocket’ ที่เป็นดั่งกุญแจแห่งความสำเร็จของ SpaceX กรุยทางให้แก่แวดวงสำรวจอวกาศ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร Elon Musk คือจับจ้องไปยังดาวอังคารเพื่อเปลี่ยนมันให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ของพวกเรา
แน่นอน การท่องเที่ยวอวกาศ (Space tourism) กำลังจะเป็นธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่จะมาสั่นคลอนโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า เรามาวิเคราะห์เหตุผลกันว่า ทำไม SpaceX ถึงทำให้ความฝันของคุณทะเยอทะยานกว่าเดิม
(ป.ล. บทความนี้ไม่ได้รับค่าโฆษณาจาก SpaceX นะ)
1. เพราะมันใช้ซ้ำได้
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017 โครงการ SpaceX สร้างประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้น เมื่อพวกเขาส่งดาวเทียมสื่อสารไปโคจรรอบโลก แล้วจรวดสามารถกลับมาลงจอดบนพื้นโลกได้อีกครั้งแบบเนียนๆ ไม่ทิ้งเป็นขยะเหมือนจรวดรุ่นที่แล้วๆ มา ชิ้นส่วนหลักของจรวด Falcon 9 สามารถนำมาใช้ซ้ำ ถือเป็นความล้ำหน้าแบบก้าวกระโดดของวงการสำรวจอวกาศ เพราะในอุตสาหกรรมผลิตจรวดจะใช้งบประมาณมากที่สุดในส่วนจรวดนี้ การส่งจรวดในภารกิจสำรวจอวกาศแต่ละครั้งจะต้องระดมทุนระดับ 100 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ ในการสร้างจรวดใหม่ขึ้นมาสักลำ
แต่จรวดรุ่นใหม่ใช้ซ้ำได้หลายครั้งโดยบริษัท SpaceX มีข้อเสนอยั่วยวนใจแก่ลูกค้า คือจะลดค่าใช้จ่ายลง 30% หากพวกเขายอมบินหรือขนส่ง Payload ด้วยจรวด Falcon 9 ที่ใช้ซ้ำเป็นการลดทรัพยากร
2. เพราะไว้วางใจได้
จรวด Falcon 9 มีอัตราประสบความสำเร็จในแต่ละภารกิจที่ 95% หากนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา SpaceX ทำภารกิจส่งจรวดไปโคจรแล้วกว่า 41 ครั้ง โดยมีเหตุขัดข้องและล้มเหลว 2 ครั้ง คือ ภารกิจที่จรวดไม่สามารถโคจรได้ตามเป้าหมาย ส่วนอีกลำระเบิดตรงฐานปล่อยขณะอยู่ในการทดสอบก่อนบินจริง (pre-flight test)
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานอุตสาหกรรมจรวดมีความปลอดภัยและแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีค่าเฉลี่ยของความล้มเหลวอยู่ที่ 5%
ทาง NASA สามารถทำภารกิจสำเร็จถึง 98.5% (แม้จะมีประวัติศาสตร์ด่างพร้อยบ้างจากภารกิจ Challenger และ Columbia) ขณะที่จรวดของฝั่งรัสเซีย นำโดยจรวดโซยุส (Soyuz) ที่ขนส่งผู้คนจากพื้นโลกไปสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มากถึง 1,700 ภารกิจนั้น ประสบความสำเร็จมากถึง 97%
ดังนั้นหาก SpaceX จะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการท่องเที่ยวอวกาศ พวกเขาอาจต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับมาตรฐานความสำเร็จให้มากกว่าค่าเฉลี่ยอีกสักนิด
3. เพราะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ
ภารกิจสำรวจอวกาศในอดีตใช้งบประมาณมหาศาลจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และรัฐบาลนั้นก็เอาเงินภาษีของคุณมาใช้อีกที ทำให้ถูกตั้งข้อครหาว่า ภารกิจสำรวจอวกาศเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดแล้วหรือในขณะที่เรายังกำลังเผชิญปัญหาเร่งด่วนอีกโข
แต่ SpaceX ทำอะไรที่แตกต่างไป ด้วยการทำให้อวกาศเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าเต็มรูปแบบ (Commercialize) แต่ก็มีบริษัทอื่นๆ เข้ามาตัดชิ้นเค้กนี้บ้าง อย่างมหาเศรษฐี Jeff Bezos จากธุรกิจออนไลน์ Amazon และ Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ก็ตบเท้าเข้าร่วมธุรกิจเที่ยวอวกาศด้วยเช่นกัน
การแข่งขันในเชิงการค้าทำให้อุตสาหกรรมโตรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศจับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
4. เพราะมันทรงพลัง
เบื้องหลังความสำเร็จของจรวด Falcon 9 คือ เครื่องยนต์ที่ชื่อว่า Merlin เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบเองโดย SpaceX ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์สมรรถนะสูงถึง 9 ชุด ซึ่งพวกมันใช้พลังงานขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงส่วนผสมของเคโรซีนและออกซิเจนเหลว เครื่องยนต์ทั้ง 9 จะเผาไหม้เชื้อเพลิงขั้นที่หนึ่งเป็นเวลา 162 วินาที และขั้นที่สองอีก 397 วินาที และเป็นเครื่องยนต์จรวดที่มีพละกำลังมากที่สุด เท่าที่อุตสาหกรรมอวกาศเคยสร้างมา
นอกจากนั้น Falcon 9 ยังมีความปลอดภัยสูง โดยจรวดปกติเมื่อเกิดเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องจากการสูญเสียแรงขับเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจทำให้ระเบิดทั้งลำ
แต่ Falcon 9 ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้ หากการจุดระเบิดขั้นแรกล้มเหลว จะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งลำจรวด และมีโอกาสที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงขั้นที่สองจะดำเนินต่อไปได้
5. เพราะมันลงจอดกลางทะเลได้
แม้ฐานลงจอดของจรวด Falcon 9 จะอยู่บนบกถึง 3 แห่ง แต่ SpaceX ออกแบบให้มันสามารถลงจอด ณ ฐานใจกลางทะเลได้ หลังจากโครงการล้มเหลวถึง 5 ครั้ง แต่ในเดือนเมษายน 2016 จรวด Falcon 9 สามารถลงจอดบนฐานกลางทะเลได้สำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า เพราะหากจรวดของ SpaceX ลงจอดกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้ ก็เป็นไปได้ที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแทนการจอดบนบก การใช้พลังงานน้อยกว่า ก็ยิ่งโคจรรอบโลกได้นานขึ้น (และการลงจอดบนผิวน้ำปลอดภัยกว่าบนบกเล็กน้อย)
SpaceX มีอารมณ์ขันเล็กๆ คือการมอบชื่อฐานจอดกลางมหาสมุทรแต่ละแห่งว่า ‘Of Course I Still Love You’ (แน่นอน ฉันยังรักคุณอยู่) และ ‘Just Read The Instructions’ (อ่านคู่มือซะด้วย)
6. เพราะมันสร้างแรงบันดาลใจ
โครงการ Apollo ทำอะไรได้มากกว่าการส่งนักบินอวกาศ 12 คนไปยังดวงจันทร์ ผู้คนบนโลกเห็นความพยายามของมนุษย์ในการไปสำรวจ ‘โลกใหม่’ สำเร็จเป็นครั้งแรก เหตุการณ์ครั้งนั้นจุดประกายคนรุ่นต่อมาทั่วโลกให้หลงใหลในอวกาศ กลับมาสนใจคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และดาราศาสตร์กันอย่างคึกคัก
พลังที่ผลักดันให้มนุษย์ทำลายขีดจำกัด เป็นพลังที่มิอาจมองข้ามได้ หากบริษัทเอกชนสามารถส่งผู้คนไปยังดวงจันทร์หรือดาวอังคารผ่านสื่อสมัยใหม่อย่าง Social Media กล้องที่คมชัดสูง อินเทอร์เน็ตที่แรง มันจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดภารกิจใหม่ๆ รวดเร็วขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า สิ่งที่ภารกิจสำรวจอวกาศทำวันนี้ จะต่อยอดไปในทิศทางที่ไม่สามารถคาดเดาได้แค่ไหน การท่องเที่ยวอวกาศจึงคุ้มค่าที่จะลงทุน
7. เพราะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศทำเงินเป็นล่ำเป็นสัน
นักท่องเที่ยวอวกาศ 2 คน ยอมจ่ายเงินให้กับ SpaceX สำหรับการเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มบุกเบิกในประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อและค่าใช้จ่ายในการเดินทางใดๆ จุดมุ่งหมายหลักคือการกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2018 นี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่าภายใน 10 – 20 ปี การท่องเที่ยวอวกาศจะเป็นเรื่องปกติคล้ายการนั่งเครื่องบิน เทียบค่าโดยสารเครื่องบินที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic flights) ครั้งแรกนั้นมีราคาสูงหลายพันเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันถูกปรับลงมากอยู่ในระดับไม่กี่ร้อยเหรียญ ดังนั้นธุรกิจท่องอวกาศก็น่าจะคล้ายคลึงกัน
ความสำเร็จของภาคเอกชนและการแข่งขันผ่านกลไกราคาจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเรื่อยๆ เป็นพลวัตร อีกไม่นานคุณอาจรู้สึกว่าโลกเองยังไม่เพียงพอต่อการเก็บแต้มประสบการณ์ท่องเที่ยว อาจจะต้องเลยไปถึงจุดที่มืดมิดที่สุดของดวงจันทร์ หรือจุดหลุมอุกกาบาตชื่อดังบนดาวอังคาร
อ้างอิงข้อมูลจาก