เมื่อเราโตขึ้น โลกอนาคตไซไฟค่อยๆ ดูสวยหรูน้อยลงทุกวัน
เอไอ รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ หุ่นยนตร์ทำงานแทนแรงงาน ในนัยหนึ่งดูเหมือนว่าเราอยู่ในโลกอนาคตที่หลายๆ สื่อไซไฟสันนิษฐานถึงกันแล้ว แต่เราพูดได้เต็มปากหรือเปล่าว่าอนาคตที่เราใช้ชีวิตอยู่นำมาซึ่งชีวิตเพอร์เฟ็กต์สำหรับเราแล้ว? ปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลกสูงกว่าปีไหนๆ ที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างชนชั้นยังไม่ลดลง และแม้ว่าจะมีหลายๆ อย่างอำนวยความสะดวกในการทำงาน สิทธิของแรงงานหลากหลายอาชีพและองค์กรยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าที่ควร
อนาคตอาจมาถึงแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคนและทุกแง่มุม และนี่คือเรื่องที่ Hardspace : Shipbreaker เล่า
Hardspace : Shipbreaker โดย Blackbird Interactive เป็นเกมเกี่ยวกับการทำงานในอุตสาหกรรมชำแหละเศษเหล็กและอะไหล่ยานพาหนะ…ในอวกาศ โดยตัวละครเอกคือ Shipbreaker มือใหม่ที่เพิ่งเซ็นสัญญากับบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อ LYNX เพื่อไปทำงานแยกชิ้นส่วนยานหลากหลายประเภทที่มีความอันตรายแตกต่างออกไปและสูงขึ้นเรื่อยๆ บนสถานีอวกาศ Morrigan เหนือพื้นผิวโลก ด้วยจุดประสงค์ที่เปิดพื้นที่ว่างให้ผู้เล่นตีความ อาจจะตามฝัน เอาชีวิตรอด หรือเก็บเงินไปใช้ชีวิตของตัวเอง
แต่ซีนแรกของเกมวางอุปสรรคแรกเริ่มที่ขวางกั้นการไปสู่จุดประสงค์นั้นๆ นั่นคือหนี้จำนวน 1.2 พันล้านที่ตัวเอกต้องปลดให้กับบริษัทก่อนจะได้เงินเดือน ที่มาจากค่าใช้จ่ายในการสมัครงานและบริการที่ตามมาเพื่อเดินทางออกไปยังสถานที่ทำงาน และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าร่วมโครงการ Everwork หนทางเดียวที่เราจะสามารถใช้หนี้จำนวนเท่านั้นหมดได้ใน ‘หนึ่งชีวิต’
Everwork คือโครงการโดย LYNX ที่เก็บเกี่ยวดีเอ็นเอและข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้เข้าร่วมโครงการไว้ เพื่อให้บริษัทสามารถสร้าง ‘ตัวสำรอง (Spares)’ ของคนคนนั้น ในกรณีที่การทำงานแสนอันตรายของพวกเขานำไปสู่ความตาย และในสัญญาจ้างยาวเหยียดนี้ที่น้อยคนจะอ่านจบ ระบุไว้ว่าดีเอ็นเอของผู้เซ็นจะกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทอีกด้วย เช่นนั้นแล้วแปลว่าตัวเอกเป็น ‘อมตะ’ ที่จะตายเท่าไหร่ก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องทำงานไปจนกว่าหนี้จะหมด แถมความตายของเขาก็มีค่าใช้จ่ายบวกเข้าไปในหนี้เหล่านั้นอีกด้วย
โลกอนาคตของ Hardspace : Shipbreaker สะท้อนวัฒนธรรมการทำงาน ‘แรงงานฝีมือต่ำ (low-skill labor)’ ในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ตีค่าว่าการทำงานของพวกเขามีค่าน้อยกว่างานรูปแบบอื่น ซึ่งในสัญญาเดียวกันที่บอกว่าข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้เล่นกลายเป็นทรัพย์สินของ LYNX มีส่วนที่พูดเกี่ยวกับนโยบายการเข้าห้องน้ำจำนวน 28 หน้ากระดาษที่เป็นการจิกกัดระบบการเข้าห้องน้ำที่ให้เวลาอันน้อยนิดของพนักงานบริษัท Amazon ในชีวิตจริง
นี่คืออนาคตที่มหาเศรษฐีเดินทางไปอวกาศได้และใช้ความสามารถเหล่านั้นในการครองพื้นที่บนดาวและดวงจันทร์ภายในระบบสุริยะเพื่อขยายกิจการและธุรกิจของตัวเอง หลังจากโลกกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตหลังภาวะโลกร้อนเข้าสู่ระดับวิกฤต ซึ่งเมื่อรวมกันกับวิธีการที่ผู้พัฒนาเกมเลือกพูดถึงเทคโนโลยีการโคลนนิ่ง ตีความได้ว่าเป็นความไม่เชื่อใจในความก้าวหน้าจากมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และคาดว่าจะเป็นไปได้ในภายภาคหน้า
อนาคตมาถึงแล้ว และชีวิตของแรงงานไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าบริษัทจะพยายามบิดเบือนความจริงนั้นขนาดไหน
นอกจากเรื่องราวและโลกที่เกมสร้าง เกมยังเล่าเรื่องผ่านเกมเพลย์อีกด้วย อะไรกันจะเล่าถึงชีวิตการทำงานได้เท่ากับความจำเจ? ตลอดเกมเราทำงานอยู่ที่สถานี Morrigan ที่เราเห็นจนชินตา และการชำแหละยานอวกาศออกเป็นชิ้นๆ นั้นจะเรียกว่าน่าเบื่อก็ไม่ใช่ แต่ความรู้สึกที่มันให้คือความ ‘เรื่อยๆ’ ของงาน ไม่มีขึ้นและลงบ่อยนัก ซึ่งความเรียบเฉยไม่ตื่นเต้นนี้นี่แหละคือหนทางที่เร็วที่สุดในการปลดหนี้มหาศาล
เพราะเช่นเดียวกันกับการทำงานกับเครื่องจักรและยานพาหนะในชีวิตจริง สิ่งสุดท้ายที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือการระเบิด ซึ่งบนอวกาศที่ทิศทางและการควบคุมความเร็วอันยากลำบาก กับยานที่มีทั้งแกนพลังงานที่ต้องกู้โดยเร็ว ถังและท่อเชื้อเพลิง แรงกดอากาศที่ต่างกันในส่วนต่างๆ ของยาน ฯลฯ ความเรื่อยๆ ของเกมอาจนำไปสู่ความตายของตัวเอกได้อย่างง่ายดายหากทำงานเพลินไปนิด ยังไม่นับกับความอ่อนแอของชุดนักบินอวกาศและค่าออกซิเจนที่ต้องคอยจ่ายเองขณะทำงานอีกด้วยไม่อย่างนั้นจะขาดอากาศหายใจได้
ความเติมเต็มไม่กี่อย่างของการทำงานนี้จึงมาจากความชำนาญในการใช้เครื่องมือ การหามุมตัดที่จะไม่ทำให้เสียวัสดุไปฟรีๆ วิธีการเปิดปิดแอร์ล็อกไม่ให้เกิดการระเบิด การคำนวณว่าต้องโยงชิ้นไหนเข้ากับชิ้นไหนบ้างเพื่อให้การลำเลียงเศษเหล็กเหล่านั้นใช้เวลาน้อยที่สุด และจะทำทั้งหมดนั้นยังไงโดยไม่ให้โดนหักเงินจากความตาย ความเสี่ยงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบริษัทเล็งเห็นความสามารถของเราและแสดงความยินดีกับเราโดยการเลื่อนลำดับขั้นสูงขึ้นไปในตำแหน่งการทำงาน
แต่อีกหนึ่งความบันเทิงที่เกมนี้ให้คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อร่วมงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างานวีเวอร์ (Weaver) ผู้ฝันถึงตอนเขาเป็นวัยรุ่นตอนยังเคยเป็นหนึ่งใน Shipbreaker แต่เกิดปัญหาบางอย่างกับระบบ Everwork ของเขา หรือจะเป็นลู (Lou) สาวห้าวผู้มีความฝันในการเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเองที่มีสัญญาจะดูแลแรงงานเป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังมีความลับมุมหนึ่งของเธอที่ไม่ได้บอกเพื่อนๆ นั่นคือเธอเป็นส่วนหนึ่งของพนักงานที่พยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานที่ LYNX กำลังตามหาและพยายามสลายให้ได้
นี่เป็นเพียงไม่กี่มุมมองที่เกมนี้ให้ แต่ละตัวละครในเกมมีมุมมองต่อการทำงานบริษัทแตกต่างกันออกไป บางคนมองว่าระบบของ LYNX นำไปสู่ความมั่นคง บางคนมองว่ามันทำลายความเป็นมนุษย์ หรือบางคนกำลังพยายามหาที่ยืนของคนที่ไม่ดีเลิศในงานภายในระบบนี้ สร้างความเป็นมนุษย์และความอบอุ่นแปลกๆ ให้กับโลกและเกมที่เย็นชาเช่นนี้อย่างมาก
ความดึงดูดของเกมเกี่ยวกับการทำงานมักมาจากการได้เอาตัวเองเข้าไปสวมรองเท้าของสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ ไม่ได้เป็น แต่เราเห็นว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ในโลกนี้จริงๆ และเราอยากลองอยู่ในจุดที่พวกเขายืน
ในกรณีของ Hardspace : Shipbreaker นั้นกลับกัน แม้ว่าในโลกจริงยังไม่มีเซียงกงอวกาศให้เราได้เห็น แต่ประสบการณ์และความรู้สึกร่วมของการทำงานในองค์กรที่เย็นชา กับผู้จัดการที่คิดว่าการสื่อสารคือการอู้งาน และการมุ่งหน้าไปสู่อิสระทางการเงินด้วยหวังอันน้อยนิดนั้นมีอยู่จริงในชีวิตของหลายๆ คนอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก