หากติดตามข่าวตลอด 100 วันที่ผ่านมา จะพบว่ามีความพิลึกพิลั่นภายใต้ความพยายามตั้งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 15 พรรครวมกันเต็มไปหมด
เพราะแม้จะเป็นนายกฯ ด้วยเสียงสนับสนุน 500 เสียง แต่ในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่สามารถคุมใครในสภาผู้แทนราษฎรได้เลย ซ้ำยังมีทั้งเสียง ‘โต้’ กันไปมาตั้งแต่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรครัฐบาล หรือแม้กระทั่งภายในพรรครัฐบาลด้วยกันเอง
เอาเข้าจริง นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เรื่องการตั้งรัฐบาล ซึ่งควรจะจบลงตั้งแต่ภายใน 7 วันแรก ได้นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเข้าสู่ ‘ช่วงฮันนีมูน’ 100 วันแรกของการเข้ากระทรวง—ทำงานในสภา แต่กลับจบลงด้วยความเละเทะไม่เป็นท่า
หากมองย้อนกลับไป ประเทศไทย ‘ป่วน’ กันตั้งแต่วันเลือกตั้ง ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละพรรคมีจำนวน ส.ส. จริงเท่าไหร่ ด้วยสูตรคำนวณอันพิสดาร หรือจำนวน ส.ส. ที่คิดว่าน่าจะนิ่ง น่าจะลงตัวแล้ว ก็ยังเปลี่ยนกันนาทีสุดท้าย จนกระทั่งมีการ ‘พลิกขั้ว’ เสียงข้างมากเกิดขึ้น เฉียดฉิวไป 4-5 เสียง เรียกได้ว่าตัวเลข ส.ส. ขึ้นๆ ลงๆ พอกับราคาหุ้นบนกระดาน
หรือในวันลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เล่นเอาลุ้นกันใจหายใจคว่ำ เพราะเกมพลิกชนิดนาทีต่อนาที แล้วหลังจากเลือกประธานสภาฯ เราก็ได้เห็นเกมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ต่อรอง’ กระทรวงกันผ่านเฟซบุ๊กของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรครัฐบาล การออกมาแสดงความน้อยอกน้อยใจ ขู่ถอนตัวของบรรดา ‘พรรคปัดเศษ’ หรือช่วง 2-3 วันนี้ ที่คนไทยได้เห็นการออกมาขู่ของ ส.ส. ในพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อลงชื่อ ‘ไล่’ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐกันตั้งแต่ยังไม่มีการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำ
ลงเอยด้วยการที่นายกฯ 500 ต้องเขียนจดหมายขอโทษประชาชน พร้อมกับการข่มขู่ว่าจะ ‘รัฐประหารซ้อน’ ทั้งที่เพิ่งได้รับตำแหน่งรอบ 2 ได้ไม่ถึงเดือน แล้วอะไรทำให้เละได้ขนาดนั้น?
คำตอบสั้นๆ ก็คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และความพยายามอย่าง ‘ล้นเกิน’ ในการรักษาสถานภาพของระบอบ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสร้างระบบเลือกตั้ง กับการนับคะแนนเลือกตั้งอันสุดแสนประหลาด การกำหนดวิธีเลือก—สรรหาวุฒิสมาชิกที่พิสดาร หรือการพยายามยัดไส้เรื่อง ‘ปฏิรูป’ และการให้อำนาจอันล้นหลามกับบรรดาองค์กรอิสระ—ส.ว. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีบทบาทสำคัญหลังตั้งรัฐบาลได้ แต่ที่ คสช. อาจลืมไปก็คือทั้งหมดนี้ ต้องได้รับความ ‘ชอบธรรม’ จากเสียงของประชาชนในจำนวนที่จับต้องได้ด้วย
แต่สุดท้าย ทั้งหมดกลายเป็นหอกที่ทิ่มแทงตัวเอง ระบบเลือกตั้งแทนที่จะลดทอนความ ‘แข็งแกร่ง’ ของพรรคฝั่งตรงข้าม ในที่สุดก็กลายเป็นสิ่งที่ลดทอนความแข็งแกร่งของพรรคพลังประชารัฐด้วย เมื่อไม่มีใครได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นว่าต้องไปดูดพรรคเล็กพรรคน้อย ประเคนกระทรวงใหญ่ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปหมด ซึ่งก็โชคไม่ดี พรรคร่วมรัฐบาลดันมี ‘มือต่อรอง’ ที่เก๋ากว่าเสียด้วย ในที่สุดก็จบลงด้วยการทะเลาะกันเองภายในพรรค จนไม่สามารถเดินไปต่อได้
ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ‘บารมี’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทุกคนคาดหวังว่าจะให้เรื่องจบโดยง่ายนั้น จนถึงตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้มีบุญคุณอะไรหลงเหลือกับพรรคการเมือง และในสิ่งที่เห็นว่า ‘แข็งแกร่ง’ นั้น เมื่อมองย้อนกลับไปก็คือความแข็งแกร่งด้วยอำนาจ ด้วยคำสั่งของหัวหน้า คสช. พร้อมกับมีกองทัพเป็น ‘แบ็ก’ หนุนหลัง ตรงกันข้าม เมื่อเข้าสู่ระบอบรัฐสภาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เหลือบารมี ไม่ได้มีบุญคุณอะไรต่อนักการเมืองอีกต่อไป
ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีส่วนสำคัญแค่ไหนในการทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลาแบ่งผลประโยชน์ซึ่งมีพรรคร่วม มีคนประเภท ‘คุณขอมา’ มากหน้าหลายตารวมถึงไม่ได้มีอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. แล้ว ก็ไม่มีใครสนหน้าอินทร์หน้าพรหมอีกต่อไป เพราะบรรดานักการเมืองไม่ว่าจะกี่มิตรก็ตามต่างรู้เหมือนกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ขาดพวกเขาไม่ได้
ที่ผ่านมา มีทฤษฎีหนึ่งที่พยายามอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังหมุนเข็มนาฬิกา ย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เพื่อจะให้อยู่ในสถานะเดียวกับเมื่อครั้ง ป๋าเปรม—พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือมีความ ‘แข็งแกร่ง’ ลอยตัวอยู่เหนือการเมืองได้ด้วยบารมีที่ล้นหลาม หากมีแรงปะทะอะไร ก็ให้บรรดาพวก ‘นักการเมือง’ ทั้งหลาย รับผิดชอบเอาเอง ‘ป๋า’ ไม่เกี่ยว หรือหากใครจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ป๋าก็ยุบสภาทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องทนกับแรงปะทะ
แต่นั่นคือการเมืองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ต้องไม่ลืมว่าเราเพิ่งผ่านยุค ‘คอมมิวนิสต์’ มาหมาดๆ คนไทยยังโหยหาผู้นำที่ ‘มั่นคง’ สามารถดำเนินนโยบายได้ต่อเนื่อง และมีบารมีพอที่จะทำให้พรรคการเมืองเกรงกลัว ขณะเดียวกันในยุคป๋า ผู้นำก็ไม่ได้มี ‘ตัวชี้วัด’ อะไรที่มากมาย ป๋าพูดภาษาอังกฤษได้ ป๋าพูดน้อย ป๋ามีบรรดาข้าราชการหัวก้าวหน้ามือฉมังช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ป๋ามีบารมีเหนือกองทัพ ป๋าเป็นคนดี ป๋าจงรักภักดี คนไทยก็เอาด้วยแล้ว
อันที่จริง ในยุคนั้น บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีใครพอจะมีความสามารถ หรือบารมีใกล้เคียงป๋าได้เลย และถึงแม้จะมีใครที่พอมีความสามารถก็ไม่มีใครกล้าชน เพราะอำนาจทางการทหาร ยังทรงอิทธิพลอย่างสูง
แต่ในยุคนี้ เรามีนักการเมืองหรือแคนดิเดตนายกฯ จำนวนมาก ที่มีคุณสมบัติพอจะท้าชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้สบายๆ ซ้ำบารมีทางการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป เพราะไม่ได้มี ‘ศัตรู’ ที่ชัดเหมือนกับยุคสมัยปราบปรามคอมมิวนิสต์ มีเพียงแต่ศัตรูที่พยายามสร้างขึ้นมาทีหลัง และกำลังทำให้น่ากลัวเท่ากับในอดีต แต่ปัญหาก็คือศัตรูของ คสช. ในขณะนี้ ไม่ได้มีเครื่องหมายเท่ากับศัตรูของชาติอีกต่อไป
จนถึงตอนนี้ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่มีใครกลัว พล.อ.ประยุทธ์เหมือนก่อน เพราะแม้แต่ในพรรคเดียวกัน ก็ตีรวน ไม่ยอมรับอำนาจ ไม่สนใจการตัดสินใจ ทั้งที่รู้ดีว่าตอนนี้ ‘ท่านผู้นำ’ ยังคงมี ม.44 อยู่ในมือ ซึ่งยังสามารถชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของประเทศได้ ซ้ำถ้าสภาผู้แทนราษฎรวุ่นวายมาก ก็ยังสามารถใช้อำนาจ ‘ยุบสภา’
นี่คือวิบากกรรมของประชาธิปไตยแบบ ‘ลูกผีลูกคน’ หรือที่มีคนพยายามอธิบายว่าเป็น ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ สิ่งที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คือ ระบอบลูกผีลูกคนนี้ สร้างปัญหาตั้งแต่การเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาล และหากคาดการณ์ไม่ผิด การบริหารประเทศก็จะยุ่งเหยิงตั้งแต่วันแรก เพราะกลไกทุกอย่างในพลังประชารัฐจะอยู่ได้ด้วยการ ‘ต่อรอง’ ล้วนๆ ว่าใครมีเสียงมากกว่า ใครคุมเสียงมากกว่า ไม่มีใครต้องเกรงใจใครอีกต่อไป
ขณะเดียวกัน พรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ก็จะทำทุกวิถีทาง เพื่อ ‘ทำทุน’ ไว้รอการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งไม่ว่าใครก็ประคองให้เกิน 1 ปียากลำบาก ด้วยสถานการณ์แบบนี้เว้นแต่จะใช้ ‘ฮุนเซนโมเดล’ แบบเดียวกับกัมพูชา คือยุบพรรคฝ่ายค้านทิ้งให้หมด แล้วยึดอำนาจในพรรคแกนนำ เอาทหารมานั่งคุมพลังประชารัฐเบ็ดเสร็จ หรือจะเล่นเกมเดิม คือ ถ้า ‘ตกลงกันไม่ได้’ ผม ‘รัฐประหาร’ ก็ได้—ถ้าใจกล้าพอ
ดูเหมือนว่าคนไทย ยังจะต้องเผชิญวิบากกรรมกับการเมืองอันไม่ลงตัว ภายใต้ประชาธิปไตยที่ ‘ไม่แน่นอน’ ไปอีกสักระยะ ตลกร้ายก็คือ ที่บอกกันว่า “เลือกสงบ จบที่ลุงตู่” ในที่สุด อาจจะไม่มีจริงเมื่ออยู่ใต้บริบททางการเมืองแบบนี้
ความจริง หากจะดันทุรังต่อก็ย่อมทำได้ ด้วยเสียง ส.ว. ที่มีตุนไว้ 250 เสียง และด้วยเสียงขึงขังจาก ‘กองทัพ’ ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมา ที่ไม่แน่ว่าจะออกมาขู่ฟอดๆ ในเร็ววันนี้รึเปล่า แต่หากเราใช้มาตรวัดการเมืองด้วย ‘ความชอบธรรม’ และ ‘เสียงของประชาชน’ รัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องยึดหลักการไว้ให้แม่น และพยายามแก้ปัญหาด้วยวิถีทางรัฐสภา ด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะพิกลพิการเพียงใด
แต่ปฏิเสธไม่ได้ นี่คือการพาประเทศสุ่มเสี่ยงเข้าสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่การเมืองมีความง่อนแง่น วุ่นวาย มีนักการเมืองทะเลาะกัน และไม่สามารถแก้ด้วย ‘ระบบ’ เมื่อใด สุดท้ายก็จะมีคนกลุ่มหนึ่ง แสวงหาอำนาจจากความไม่แน่นอนเหล่านี้เสมอ
การเมืองไทยก็วนอยู่แค่นี้หรือเปล่า และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่รู้จบหรือไม่?