ตั้งแต่บทความสัปดาห์ที่แล้ว ผมคิดว่าตัวผมเองแสดงตัวอย่างชัดเจนมากว่าเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้น (และขอให้ได้เกิดจริงๆ) ของคุณธนาธร-ปิยบุตร แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ได้แปลว่าผมจะเห็นว่า ‘พรรคใหม่’ นี้ดีพร้อมไปเสียหมด ตรงกันข้าม ผมกลับรู้สึกว่ายังมีหลายจุดอีกมากที่ควรจะเพิ่มเติม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอทางเลือกที่เข้าถึงผู้ซึ่งถูกกดทับจริงๆ ซึ่งนั่นยากจะหนีพ้นตาสีตาสาชาวบ้านชาวช่องที่ทั้งถูกลิดรอนเสรีภาพและถูกบั่นทอนทางเศรษฐกิจนี่แหละครับ แต่จากการให้สัมภาษณ์หลายครั้งมานี้ ดูพรรคใหม่จะเน้นสื่อสารแต่กับชนชั้นกลาง ‘นิวเจน’ ในเมืองเสียเหลือเกิน
การสื่อสารโดยพูดถึงผลลัพธ์ที่จะได้มาจากประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งหลายๆ ครั้ง เป็นการพูดถึงประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์ การทำงานในเชิงระบอบ คำอธิบายในเชิงโครงสร้างต่างๆ พูดโดยสั้นๆ ก็คือ เน้นไปที่ ‘การทำงานในทางความคิด’ ว่าด้วยประชาธิปไตย ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองก็คิดว่าเป็นบทบาทที่สำคัญมาก (ตัวผมเองก็พูดถึงประชาธิปไตยในแง่มุมแบบนี้อยู่เรื่อยๆ) ลักษณะดังกล่าวนี้เองผมรู้สึกว่าหลังๆ มาก็เกิดขึ้นเยอะในหมู่นักกิจกรรมไทย ที่ต้องเชื่อมโยง สื่อสารกับประชาชนโดยมากด้วย แต่คำถามที่ผมคิดว่าต้องชักชวนกันกลับไปคิดก็คือ ชาวบ้าน และคนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะที่ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องการเมืองหนักๆ เป็นพิเศษ เขาจะมาสนจริงๆ หรือ?
ผมไม่มั่นใจว่าคนที่หาเช้ากินค่ำให้รอดพ้นในแต่ละวันไปได้ จะสนใจเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ, คำใหญ่ๆ อย่างปัญหาตุลาการภิวัฒน์, การบอกว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวของประชาชนให้มีจินตนาการทางการเมืองที่มากขึ้น ซึ่งจะสร้างเงื่อนไขในการป้องกันการรัฐประหารในอนาคต (ซึ่งอาจจะจริง แต่จะไม่มีทางจริงได้เต็มที่ หากไม่หาวิธีการจัดการกับสถาบันทหารไปด้วยพร้อมๆ กัน) หรือการสร้างพันธบัตรท้องถิ่นเพื่อเป็นทุนในการพัฒนา มากไปกว่าปัจจัยตรงหน้าที่จะส่งผลโดยตรงกับชีวิต การงาน และอาชีพของพวกเขาได้นัก ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไรด้วยครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ในช่วงเวลาที่กระแสการตั้งพรรคทางเลือกใหม่ ดูจะนำพาความหวังริบหรี่กลับมาให้กับฝั่งประชาธิปไตยแล้ว
ผมคิดว่าการพูดถึงบทบาทของประชาธิปไตยที่มันจับต้องได้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่อุดมการณ์นั้นดูจะจำเป็น และควรเริ่มต้นยิ่งกว่าช่วงเวลาใด วันนี้ผมเลยมาชวนคุยเรื่องนี้แหละครับ
ผมไม่ได้จะบอกว่าการทำงานทางความคิดไม่สำคัญเท่ากับประชาธิปไตยที่จับต้องได้อะไรใดๆ นะครับ โดยส่วนตัวผมถนัดกับการพูดถึงประชาธิปไตยในมุมโครงสร้าง และสิทธิ เสรีภาพมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ในช่วงเวลาที่กระแสความสนใจของสังคมกำลังหันมาหาประชาธิปไตยอีกครั้งอย่างพอจะมีความหวัง หากไม่คว้าเอาไว้ และหาทางทำให้มันต่อติดกับฐานมวลชนโดยรวมแล้ว ผมก็คิดว่าออกจะ ‘เสียของ’ ไปสักหน่อย
ประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชั่น
ผมขอเริ่มต้นด้วยประเด็นที่ถูกใช้โจมตีระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมาตลอดสิบกว่าปีนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คำว่าการเลือกตั้งกับการโกง การคอร์รัปชั่นนั้นก็แลดูจะผูกติดกันเสียหมด และกลายเป็นว่า ‘อะไรก็ตาม’ ที่เข้ามาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชั่นกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้นั้น จะถูกยกสถานะเป็นผู้กอบกู้ เป็นตัวแทนของคนดี เป็นผู้ไม่โกงไปเสียโดยง่ายดาย
แม้ผมเองจะไม่ปฏิเสธว่าการคอร์รัปชั่นมีอยู่ในระบอบประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศไทยนั้นคงยิ่งจะปฏิเสธได้ยาก แต่การคิดเองเออเองว่าอะไรก็ตามที่อ้างว่าจะเข้ามาทำลายสภาวะการโกงกินในระบบนี้นั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงามปราศจากการโกงกินทั้งหมดย่อมเป็นความคิดที่วิปริตมาก
ผมคิดว่าประเด็นนี้หากเจาะจงลงไป เราคงพูดต่อได้อีกมาก ตั้งแต่นาฬิกา เสือดำ ทริปฮาวาย นโยบายประชารัฐ การซื้อรถถัง เรือดำน้ำ มาทำงานทั้งปีแค่ 6 วัน และอื่นๆ อีกสารพัด คำถามคือ ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างตอนนี้ที่ท่านเห็นความไม่ชอบมาพากลอย่างเต็มที่ เราทำอะไรกับมันได้บ้าง? และหากเราอยู่ในระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย หากคนที่ทำเรื่องเหล่านี้คือ ‘ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรืออภิสิทธิ์’ พวกคุณจะทนกันได้หรือ?
สื่อที่กล้าเล่นกับเรื่องนี้ชนิดขุดรากถอนโคนมีสักกี่เจ้า? ฝ่ายค้านที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ตั้งคำถาม และเปิดโปงอย่างเป็นทางการให้สาธารณะรับรู้มีที่ไหน? หรือต่อให้มีหลักฐานมัดตัวมากมายจนข้ออ้างที่แถๆ ออกมาดูปานวิกลจริต มีองค์กรอะไรที่จะไปมีอำนาจในการจัดการตัดสินลงโทษอย่างจริงจังได้?
นี่คือสิ่งที่เราเห็นๆ กันอยู่ และต่อให้คุณเกลียดทักษิณ หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากเพียงใด ก็ยอมรับเถอะครับ ว่ามันมีกลไกในการจัดการมากกว่าเยอะ อย่างน้อยก็มีฝ่ายค้าน อย่างน้อยก็มีองค์กรตรวจสอบ อย่างน้อยก็มีสื่อที่ขุดชนิดถอนรากถอนโคนเต็มไปหมด รวมไปถึงมีองค์กรที่จะตัดสินลงโทษได้จริงๆ หลายคนอาจจะคิดว่าต่อให้เป็นอย่างนั้น ทักษิณก็หนีคดีไปอยู่เมืองนอกอยู่ดี แต่ที่ต้องหนีคดีเพราะอะไร? ก็เพราะการตัดสินลงโทษ การตัดสินความผิดมันได้เกิดขึ้นแล้ว (ไม่ว่าเราจะมีข้อกังขากับตัวความชอบธรรมของการตัดสินหรือไม่ก็ตาม) ในขณะที่ในระบอบที่เผด็จการนั้น มันไม่แม้แต่จะเกิดขึ้นเลย ทุกคนเป็นคนดีหมดเลย ประยุทธ์ก็ชมประวิตรว่าคนดี ประวิตรก็ชมศรีวราห์ต่ออีกทีว่าคนดี …ดีทุกคน ดีทั้งนั้น
และเหนือกว่าอื่นใด การลงโทษที่เราทำได้ด้วยตัวเองแน่ๆ ในระบอบประชาธิปไตยก็คือ “ไม่เลือกแม่งอีก” สำหรับคนหรือพรรคที่เราเห็นว่ามิชอบ ทำตัวไม่ดี หรือแม้แต่นโยบายห่วย แต่รัฐบาลเผด็จการนั้น อย่าว่าแต่ ‘ไม่เลือก เขาเลย อัญเชิญตัวเองมาเองเสียด้วยซ้ำ และจะให้เลือกเมื่อไหร่ก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้
พูดอีกอย่างก็คือ การจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น มันไม่ได้แก้ด้วยการ ‘พัง’ ระบอบประชาธิปไตยลงครับ แต่มันคือการปรับปรุงกลไกในระบอบประชาธิปไตยให้ดียิ่งขึ้น ให้ตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้นครับ
มันต้องใช้เวลา มันต้องใช้ความอดทน ประชาธิปไตยมันไม่ได้เสกให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ในเร็ววัน แต่บทพิสูจน์ของกลไกประชาธิปไตยในการจัดการการคอร์รัปชั่นนั้นมีมาเยอะแล้ว
ในงานศึกษาที่ชื่อ Effect of Democracy on Corruption (2015)[1] ได้ทำการวิจัยความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น โดยศึกษาย้อนไปตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1992 – 2012 ผ่านโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ งานวิจัยชิ้นนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าในประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวมากกว่า 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีขึ้นไป (ประเทศไทยรายได้ประชากรต่อหัวประมาณ 5,907.91 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี[2]) กลไกในระบอบประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาคอร์รัปชั่นลงได้ (ผ่านทั้งกระบวนการตรวจสอบ, สร้างและกระจายรายได้, ฯลฯ) แต่ต้องไม่ลืมนะครับ ว่านี่เรากำลังพูดถึงพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่อง 20 ปี ว่าง่ายๆ ก็คือ มันไม่ใช่อะไรที่จะได้มาในพริบตาเดียว
ทำนองเดียวกันกับงานชิ้นแรก งานของ Sambit Bhattacharyya และ Roland Holder ทีชื่อ Media Freedom and Democracy in the Fight against Corruption (2015)[3] ก็ได้ใช้โมเดลของทฤษฎีเกมมาวิจัยความสัมพันธ์ของเสรีภาพสื่อกับประชาธิปไตยในการสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นใน 129 ประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 – 2007 หรือราวๆ 27 ปี พบว่าสื่อที่เสรีและกลไกการตรวจสอบ คานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีผลจริงในการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างได้ผลจริง แต่นั่นแหละครับ เราพูดกันในเงื่อนเวลา 27 ปีนะครับ เพราะปัญหาแบบนี้มันใช้เวลานานในการแก้ไข กว่าจะเห็นผล และมันไม่มีทางจะทำให้หมดไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก
ผลการวิจัยต่างๆ เหล่านี้ (จริงๆ มีอีกเยอะมาก แต่ยกมาได้ไม่หมด) สอดคล้องกับระดับของ ‘ความปลอดคอร์รัปชั่น’ ตามที่ทาง Transparency International ได้ทำสถิติเอาไว้ด้วย ประเทศที่อยู่ในกลุ่มท็อปของความโปร่งใส ห่างไกลคอร์รัปชั่นนั้น เป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น (ตามตารางข้างล่าง)
Transparency International[4]
ฉะนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะลดการตีตราประชาธิปไตยและการเลือกตั้งให้ผูกติดอยู่กับการคอร์รัปชั่นดูบ้างนะครับ แล้วมาช่วยกันพัฒนากลไกในระบอบประชาธิปไตยให้มันแข็งแรงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้สักที
ประชาธิปไตยกับรายได้
ระบอบประชาธิปไตยช่วยให้รายได้ท่านมากขึ้นได้ครับ…ใช่ ผมหมายถึงเงินในกระเป๋าของท่านนั้นแหละ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบอบเผด็จการ
แม้ไม่ผิดที่จะพูดว่าประชาธิปไตยเสรีเป็นทาสหรือเป็นกลไกหนึ่งของระบอบทุนนิยม แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยความที่มันวางฐานอยู่บนการเลือกตั้ง และอำนาจในทางการเมืองวางฐานอยู่บนคะแนนเสียงของประชาชน มันจึงเป็นทาสของทุนนิยมที่อยู่ในเงื่อนไขว่า จะต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีพอจะนิยมชมชอบตนได้ และเลือกพรรคของตนเป็นรัฐบาลต่อไปด้วย ผิดกับระบอบเผด็จการที่ทั้งสามารถเป็นทาสทุนนิยมได้ (ดูซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น) แต่ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำให้ ‘ทุน’ ตกไปถึงกระเป๋าประชาชนด้วย ผู้มีอำนาจ อย่างราชวงศ์ซาอุฯ จึงรวยล้นฟ้ามากๆ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไป ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเป็นพิเศษ แม้จะมีน้ำมันดิบสำรองมากอันดับต้นๆ ของโลกก็ตามที
กลไกของระบอบประชาธิปไตยที่วางฐานอยู่ที่ประชาชนนี้เอง การบริหารนโยบายทางการเมืองจึงจำเป็นต้อง ‘สนองนี้ดของประชาชน’ มันนำมาซึ่งความเป็นไปได้หลัก 3 อย่างครับ ในการทำให้รายได้ของชาวบ้านอย่างเราๆ เพิ่มมากขึ้น (1) การกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบอบเผด็จการ) ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้มาในรูปของการเพิ่มจำนวนเงินโดยตรง แต่ไปอยู่ในรูปของการลดค่าใช้จ่ายพื้นฐานให้กับเรา อย่างการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น, (2) อำนาจต่อรองในการเพิ่มรายได้มากขึ้น อย่างการตั้งสหภาพแรงงาน การมีข้อต่อรองขอเพิ่มค่าจ้าง หรือขอลดเวลาการทำงานก็เป็นสิทธิที่ทำได้ และเรียกร้องจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยได้, และ (3) อันนี้เป็นผลในเชิงอ้อมกว่าสักหน่อยครับ คือ เมื่อคุณต้องสนองนี้ดประชาชน ก็ต้องนำมาซึ่งโครงการต่างๆ ที่เท่ากับเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐกลับสู่สังคมโดยตรง หรือแม้แต่การหาทางอำนวยความสะดวกให้ชีวิตประชากรง่ายขึ้น เช่น ผ่าน ตม. ได้เร็วขึ้น, ทำบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตได้โดยเร็ว และกระจายตัวมากขึ้น เหล่านี้ เท่ากับเราเสียเวลาในชีวิตกับการ ‘รอ’ น้อยลง และมีเวลาไปหาเงินได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง
นี่คือกลไกของระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้รายได้ท่านมากขึ้นครับ พูดอีกแบบก็คือ ในระบอบเผด็จการที่ไม่มีกลไกแบบนี้ ท่านมีแนวโน้มจะจนลงโดยอัตโนมัติ ที่ผมว่ามานี้ผมไม่ได้พูดเองมโนเองอย่างไร้ข้อพิสูจน์นะครับ มีงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ Income and Democracy (2008)[5] ที่ใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์คำนวณย้อนรายได้ต่อหัวของประชากร ภายใต้ความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย ย้อนไปถึง 500 ปีก่อนเลยทีเดียว (งานศึกษาช่วงปี ค.ศ. 1500 – 2000) ซึ่งก็คือการเมืองยุคหลังกฎบัตรแม็คนาคาร์ตา (Post-Magna Carta) โน่นเลย งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นชัดครับว่า ประชาธิปไตยทำให้รายได้ต่อหัวประชาชาติ หรือเงินในกระเป๋าท่านเพิ่มมากขึ้น
เพราะฉะนั้น การได้มาซึ่งประชาธิปไตย จึงหมายถึงเรื่องของปากท้องของท่านด้วยนั่นเอง
ประชาธิปไตยกับโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้นั่นแหละครับว่า ประชาธิปไตยมันมีกลไกที่ทำให้อำนาจทางการเมืองต้อง ‘สนองนี้ดประชาชน’ เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของพรรคในระบบการเลือกตั้งเอง เพราะฉะนั้นพัฒนาการในระดับการเลือกตั้งแบ่งเขต หรือระดับท้องถิ่น ที่เดิมมักจะติดอยู่กับตัวบุคคล ชื่อเสียง หรือบารมีในท้องถิ่น ก็จะมีแนวโน้มเปลี่ยนมาเป็นการเมืองที่อยู่บนฐานของนโยบาย (Policy-based Politics) มากขึ้น และแข่งขันกันว่านโยบายไหนจะ “สนองนี้ดประชาชนได้มากกว่า และพรรคไหนน่าเชื่อถือมากกว่าในการจะทำนโยบายที่โฆษณาไว้ให้เป็นจริงได้”
การเมืองไทยเอง หลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ก็เห็นแนวโน้มในทิศทางดังกล่าวมากขึ้นมากครับ[6] การเลือกตั้งในพื้นที่แบ่งเขตดูจะสนใจตัวบุคคลน้อยลง แต่สนใจที่นโยบายของพรรคและเครดิตของแต่ละพรรคว่าจะทำตามสัญญาได้หรือไม่มากขึ้นเรื่อยๆ
นโยบายที่สนองนี้ดประชาชนที่ว่านี้ หลักๆ แล้วก็คือ การสร้างเงื่อนไขหรือสภาวะแวดล้อมที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น เข้าถึงปัจจัยที่อำนวยความสะดวกชีวิตได้มากขึ้น หรือมีความเท่าเทียมเชิงโอกาสและเวลาที่มากขึ้นนั่นเอง การมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น และต่างคนต่างมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้นนั้น มีความสำคัญมากครับ
การที่เรามีความสะดวกสบายมากขึ้นทั้งทางกายและทางใจนั้น มันทำให้ชีวิตเราไม่กลับจากการทำงานมาก็อยู่ในสภาพตายซากไม่อยากขยับทำอะไรอีกแล้วหลังเลิกงาน การมีส่วนเกินของพลังงานของร่างกายเหลืออยู่นี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่เราจะใช้ขยายขอบฟ้าของความรู้ หรือทำในเรื่องที่เราสนใจนอกเหนือไปจากความจำเป็นในการทำมาหากินในแต่ละวันได้ และแน่นอนเวลาที่มีเหลือมากขึ้นก็เช่นกัน จุดสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านตาสีตาสาที่วันๆ หาเช้ากินค่ำให้รอดได้ก็บุญหัวแล้วมีโอกาสจะเปลี่ยนเงื่อนไขในชีวิตของพวกเขาน้อยมากนั้นส่วนหนึ่งก็มาจาก การขาดเวลาและโอกาสที่จะสามารถทำอะไรอื่นได้นอกจากการหาเช้ากินค่ำไปวันๆ นั่นเอง
ฉะนั้นการมีพลังงานส่วนเกินที่เหลือ และเวลาที่เพิ่มมากขึ้นมันจึงสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรา เอาง่ายๆ ต่อให้ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย อย่างน้อยที่สุดก็มีเวลาพักมากขึ้น ลดความตึงเครียดในชีวิตลงบ้าง ฉะนั้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จึงสำคัญยิ่ง และเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ถูกพูดถึงเวลาเราบอกว่า ‘สนองนี้ดประชาชน’ โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุข
แม้บ่อยๆ ครั้งนโยบายที่ผลักดันให้เกิดโครงการใหญ่ยักษ์ต่างๆ ที่เรามักเรียกกันว่า ‘เมกะโปรเจกต์’ จะถูกมองว่าเป็นนโยบายแบบประชานิยม ซึ่งก็อาจจะจริงได้ (ผมคิดว่าคงต้องพิจารณาเป็นกรณีไป) แต่ต่อให้มันเป็นเช่นนั้น อย่างน้อยที่สุด มันก็จะมีคุณูปการในการสนองนี้ดให้กับประชาชนมวลรวมเสมอ คุณจะมีถนนหน้าบ้านที่ดีขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ช่วงใกล้ๆ การเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองต้องสนใจความเป็นอยู่ของคุณ แต่ในช่วงเวลาของอำนาจนิยมก็อาจจะต้องรอคอยเทวดากันต่อไปว่าเมื่อไหร่จะฟลุคใจดีมาสน เวลาน้ำท่วมรัฐบาลจะลงไปดูพื้นที่ที่คุณประสบภัย และหาทางแก้ปัญหาให้โดยดูจากพื้นที่จริงที่เกิดเหตุ (สำเร็จหรือไม่อีกเรื่องนึง) และเผลอๆ ป่านนี้คุณอาจจะได้ลองนั่งรถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็วสูงสมชื่อจริง ในราคาที่ถูกกว่าของรัฐบาลเผด็จการนี้ และยังคาราคาซังอยู่ก็เป็นได้
งานหลายชิ้นได้อธิบายอย่างชัดเจนครับถึงความสัมพันธ์ของระบอบประชาธิปไตยกับการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมครับ ว่าเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะถูกบีบด้วยเงื่อนไขของกลไกในระบบให้ต้องพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชากรให้สูงขึ้น ดีขึ้น ไม่งั้นประชาชนก็อาจจะโวยวาย หรือถึงขั้นไม่เลือกคุณได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเผด็จการจะต้องมาแคร์ เพราะไม่ได้มาจากเสียงของเผด็จการอยู่แล้ว
งานของ Bruce Bueno de Mesquita และ George W. Downs ที่ชื่อ Development and Democracy (2005)[7] ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน และพร้อมๆ กันไปยังได้ตั้งคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นในใจบางท่านด้วยว่า “อ้าว แล้วจีนล่ะ นั่นก็ไม่ประชาธิปไตย แต่ยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจประเทศเค้าอย่างเร็วเลย” ซึ่งจริงครับ แต่คำถามที่ต้องถามต่อไปด้วยคือ มันแลกมาด้วยต้นทุนอะไร? (At what cost?) และอยู่ในเงื่อนไขแบบไหน? (In what condition?)
เศรษฐกิจจีนบูมจริง โครงสร้างพื้นฐานพัฒนามากจริง แต่สิ่งที่มันแลกมาด้วยนั้นก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีช่วงว่างระหว่างประชากรที่ยากจนและร่ำรวยหนีห่างกันแบบมหาศาล มันแลกมาด้วยความไร้อิสระทางข้อจำกัดให้เหลือเพียงสิ่งที่รัฐบาลเลือกมาแล้วว่าให้ดูได้ มันแลกมาด้วยการเล่นเฟซบุ๊กดูยูทูบแสนจะลำบาก และมันวางตัวอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าประเทศเขามีทั้งทรัพยากรขนาดใหญ่มากๆ ฐานการผลิตที่ใหญ่มากๆ ตลาดที่ใหญ่มากพอที่จะบริโภคทุกอย่างที่หย่อนลงไปให้ รวมไปถึงทุนที่หนามากพอที่จะเสกได้ดังใจอยาก …การเอาเงื่อนไขที่ประเทศไทยมี ไปบอกว่าจะเอาตัวเองเทียบกับจีนนั้น ออกจะดูเป็นฝันที่วิปริตไปมาก และต่อให้ทำได้จริง ด้วยราคาที่ต้องจ่ายขนาดนั้น ก็ไม่ใช่อะไรที่พึงเลือกเลยในความเห็นของผม
โดยสรุปแล้ว หากอยากอยู่ในประเทศที่จะประกันการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นให้กับชีวิตประจำวันเรา ก็จงอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และพัฒนากลไก รวมถึงผลักดันทิศทางของมันให้แข็งแกร่งขึ้นเถอะครับ
ประชาธิปไตย กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
อันนี้จะเป็นหัวข้อสุดท้ายแล้วที่ผมอยากจะเขียนถึงวันนี้ และวัฒนธรรมที่อยากจะพูดถึงนี้ ไม่ใช่อะไรไกลตัวที่บางคนแทบไม่เคยสัมผัส อย่างโขน อย่างละครไทย อย่างภาษาไทยโบราณ ฯลฯ เลยครับ วัฒนธรรมใกล้ตัวที่เราสัมผัสกับมันทุกวัน อย่างอาหาร หรือละครนี่แหละ
เริ่มแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยก่อนเลยว่า ประชาธิปไตยทำให้ท่านมีอาหารการกิน มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ท่านมีโอกาสในการชมละคร ดูหนัง และเสพวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางกว่าเดิมครับ หรืออย่างน้อยก็รักษาความหลากหลายดั้งเดิมให้ลดน้อยถอยลงไปยากขึ้น
ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่าประชาธิปไตยสนับสนุนเสรีภาพ และเปิดโอกาสให้กับทางเลือกที่แตกต่างเท่านั้น แต่เพราะประชาธิปไตยให้อำนาจกับประชาชนมากที่สุดเมื่อเทียบกับระบอบการปกครองอื่นใด นั่นแปลอีกทางหนึ่งว่าอำนาจทางการเมืองนั้น ‘กระจายตัวอยู่กับประชาชนทุกคน’ ด้วยลักษณะแบบนี้เอง ทำให้ประชาธิปไตยเมื่อพัฒนามากขึ้น มันก็จะค่อยๆ มีลักษณะที่กระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางมากขึ้นด้วย การบริหารจัดการ อำนาจการตัดสินใจจะตกอยู่กับส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และเมื่อสเกลในการบริหารจัดการลดขนาดลงเท่าไหร่ เสียงของท่านในฐานะสมาชิกของชุมชนนั้นๆ พื้นที่นั้นๆ ก็จะยิ่งดังมากขึ้น
เสียงที่ดังมากขึ้น อำนาจของประชาชนแต่ละคนที่สามารถนำมาใช้งานให้เห็นผลได้มากขึ้นนี้เอง หมายถึงอำนาจต่อรองที่เพิ่มมากขึ้นด้วย อำนาจที่มากับการกระจายตัวตามกลไกประชาธิปไตยทำให้เราสามารถรักษา และต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราอยากรักษาให้คงอยู่ต่อไปได้ง่ายมากขึ้นด้วย เพราะนักการเมืองสุดท้ายแล้วก็กลัวจะไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน จะมากจะน้อยก็ต้องรับฟัง ยิ่งอยู่ในเวทีที่เล็กลงเป็นเวทีท้องถิ่น นักการเมืองยิ่งต้องฟังมากขึ้น ฉะนั้นมันจะเอื้อให้เราสามารถต่อสู้เรียกร้องกับอำนาจรัฐได้มากขึ้นนั่นเองครับ
อย่างในเมืองเกียวโต ที่ผมเรียนอยู่ตอนนี้ ก็แทบจะไม่เห็นซูเปอร์มาเก็ตไซส์ใหญ่ๆ ในเขตตัวเมืองเลย เพราะประชาชนรวมตัวกันต่อต้าน เพื่อจะอนุรักษ์ร้านค้าแบบท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้ และเมืองก็ต้องรับฟัง นี่แหละคืออำนาจของประชาชนที่ประชาธิปไตยมันมีให้ที่ผมพูดถึง มันรักษาความหลากหลายไว้ไม่ให้โดนกลืนกินได้ (คือ ซูเปอร์มาเก็ตมีได้ แต่ขนาดอย่าใหญ่เกิน เป็นต้น) ซึ่งอำนาจในการต่อรองลักษณะนี้เองก็สอดคล้องกับงานวิจัยของ Dennis Austin และ Michael O’Nell ที่ชื่อ Introduction: Democracy and Cultural Diversity (2000)[8] ที่ทำการสำรวจความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศที่มีระดับของประชาธิปไตยพัฒนาไปสูงแล้วก็ชี้ให้เห็นพลังในลักษณะที่อธิบายมาจากประชาธิปไตยครับ
อย่างไรก็ตาม ในระบอบการเมืองที่ไม่ต้องสนใจความต้องการของประชาชน และยังปราศจากการตรวจสอบใดๆ อีก การผนึกกำลังกันของผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางธุรกิจก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย อย่างกรณีของไทยที่โรงการประชารัฐดูจะเป็นตัวอย่างที่ดี หรือแม้แต่การที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับสัมปทานเกี่ยวกับด้านอาหารโดยหลักๆ แทบจะทั่วไปหมด แม้แต่การตั้งเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันไหว อย่างที่เกิดขึ้นในโรงอาหารในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลายในไทยก็เช่นเดียวกัน ที่ต่อไปก็ดูท่าจะคาดการณ์ได้ว่า คงจะหนีไม่พ้นอาหารของแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างซีพี หรืออื่นๆ เท่านั้น
เพราะรัฐบาลเผด็จการ ไม่ต้องสนใจคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ต้องไยดีผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้ พวกเขาไม่ต้องสนว่าการรับรู้รสชาติจะถูกลดทอนความหลากหลายไป พวกเขาไม่สนใจว่าต่อไปประชากรในประเทศจะไม่รู้จักรสชาติอื่นอีกนอกจากรสชาติแบบข้าวกล่องของซีพี หรือไม่ต้องแคร์กระทั่งว่าในความเป็นจริงแล้วคนที่จะมาแย่งงานชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ ไม่ใช่ต่างด้าวที่ไหนหรอก แต่เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามจะกลืนกินเอาทุกภาคส่วนเท่าที่จะเป็นไปได้นี่ต่างหาก
แม้ประชาธิปไตยมันจะไม่ได้ดีเด่ และมันก็เป็นกลไกรับใช้ทุนนิยมเช่นกัน มันเปิดโอกาสให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่เช่นกัน แต่อย่างน้อย มันก็มีกลไกที่ให้อำนาจเราในการต่อรอง ในการได้ต่อสู้กับทุนเหล่านี้ มากกว่าในระบอบเผด็จการเป็นไหนๆ นี่แหละครับคือเรื่องความมีกินและปากท้องที่ประชาธิปไตยมันจะให้ท่านได้ และเผด็จการลิดรอนจากพวกเรามาโดยตลอด
แม้แต่กับละครพีเรียด อย่างที่ตอนนี้ฮิตๆ กันอย่างบุพเพสันนิวาสนี่ก็ยังเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลยครับ
ผมไม่คิดจะวิจารณ์ละครที่ผมไม่ได้ดูอยู่แล้ว แต่คำถามของผมที่อยากให้ท่านลองคิดกันดูมีแค่เรื่องเดียวเลยว่า “ทำไมละครพีเรียดไทยถึงมีแต่พล็อตแนวเดิมๆ อย่างมากก็ขัดเกลาให้รสชาติกลมกล่อมขึ้นได้บ้าง?” ในขณะที่ละครแบบอื่นๆ ของไทยดูจะมีการพยายามปรับพล็อตให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นละครรักกุ๊กกิ๊กแบบเดิมๆ ไปจนถึงมีความสมจริงมากขึ้นแบบฮอร์โมน หรืออื่นๆ แต่ละครพีเรียดกลับพล็อตนิ่งคงที่
ทำไม่เราไม่มีละครพีเรียดที่ทำพล็อตออกมาเหมือนอย่าง Tudor หรือ Game of Thrones ที่มีฉากโจ๋งครึ่มหรือโหดร้ายมากมาย หรือแบบมังงะญี่ปุ่นมากมายที่ปรับพล็อตทางประวัติศาสตร์ที่เล่นกับเจ้านายขุนนางรวมไปถึงราชวงศ์แหลกลาญไปหมดทั้งเป็นคนชั่วโฉด บ้ากาม หรือกระทั่งปรับแต่งเพศให้ใหม่กันเลยทีเดียว
นั่นเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยของเรามันไม่อนุญาตให้มีความหลากหลายแบบนี้ได้ไงครับ ขนาดฉากพระเล่นกีตาร์ยังเคยมีปัญหามาแล้ว และไม่ต้องอ้างถึงประเพณีสืบเนื่องมาแต่โบราณอะไรกันด้วยนะครับ เพราะทั้งอังกฤษ และญี่ปุ่น ที่ละครหรือมังงะพวกนี้ใช้เป็นฉากนั้น ก็มีประวัติศาสตร์ของชาติเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ของพวกเขามาเป็นพันๆ ปีโน่น นานกว่าเราเยอะ ฉะนั้นปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่มันดูเหมือนล่องลอย อย่างปัญหาของอำนาจที่ล้นเกินระบอบประชาธิปไตยของสถาบันทางการเมืองต่างๆ นั้น มันก็ย้อนกลับมาเกี่ยวข้องกับเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ อย่างการไร้ซึ่งทางเลือกในการมีพล็อตละครแบบใหม่ๆ ให้ดูนี่แหละครับ
ด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่มีเสรีภาพของบ้านเรา มันก็ทำให้เราไร้ทางเลือกในการเสพไปด้วย ไม่ใช่แค่ละครพีเรียด ย้อนยุคนะครับ กับสิ่งรอบตัวเราแทบทุกอย่าง ลองมองหาดูได้ ผมว่าไม่ยากนักที่จะพบเจอ และอาจจะต้องมาคิดกันว่า ที่มันไม่เปลี่ยนแปลงสักทีนั้น เป็นเพราะผู้สร้างไม่อยากจะเปลี่ยน หรือเราอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยพอที่จะมีทางเลือกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้?
ผมเขียนยาวเกินไปอีกแล้ว แต่คิดว่าสี่หัวข้อนี้ จะพอชี้ให้เห็นได้ว่าประชาธิปไตย มันไม่ใช่แต่เรื่องของหลักการสูงส่ง เรื่องเชิงโครงสร้างที่ดูจะห่างไกลเราเหลือเกินเท่านั้นครับ แต่เพราะมันเป็นอุดมการณ์ มันเป็นวิธีคิดนี่แหละ มันจึงสามารถสอดแทรกและแฝงตัวอยู่กับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราได้หมด และนั่นทำให้มันมีผลอันจับต้องได้ ทำให้มันใกล้ตัวเรา ทำให้มันเกี่ยวกับปากท้องและความเป็นอยู่ แม้มันจะไม่ได้ดีเด่โดยสมบูรณ์ แม้มันจะพัฒนาไปได้หลายทาง บางทางอาจจะเลวร้าย และมันอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาหนักอกเราได้ในทันที แต่ยังไงเสียมันก็ยังดีกว่าระบอบที่ผู้มีอำนาจไม่อนุญาตให้เราทำอะไรได้เลย เว้นแต่จะถูกใจผู้มีอำนาจนะครับ และสุดท้ายแล้ว จะมากจะน้อย จะเร็วจะช้า มันจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้จริง
ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นด้วยกลไกของระบอบมันเองน่ะครับ มันไม่ใช่ระบอบที่ประกันในคุณงามความดี ว่าเดี๋ยวคงจะมีคนดีมาจุติ มาปกครอง นำทางพวกเรา แล้วเราก็ต้องภาวนาหวังพึ่งดวงหรือกรรมแต่ชาติปางก่อน ให้ฟ้าส่งคนดีมาบริบาลเราให้หลุดพ้นจากวิกฤติสภาพที่ต้องเผชิญอยู่ ปานเป็นบ่วงบุพเพสันนิวาสก็มิปาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู Michael Jetter, Alejandra Montoya Agudelo, and Andres Ramirez Hassan (2015) “The Effect of Democracy on Corruption: Income is Key” in World Development. Vol. 74, pp. 286 – 304.
[2] ข้อมูลจากธนาคารโลก
[3] โปรดดู Sambit Bhattacharyya and Roland Holder (2015) “Media Freedom and Democracy in the Fight against Corruption” in European Journal of Political Economy. Vol. 39, pp. 13 – 24.
[4] โปรดดู www.transparency.org
[5] โปรดดู Daron Acemoglu, et al. (2008). “Income and Democracy” in American Economic Review. Vol. 98:3, pp. 808 – 842.
[6] โปรดดู เวียงรัฐ เนติโพธิ์ (2558). หีบบัตรกับบุญคุณ: การเมืองการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายอุปถัมภ์.
[7] โปรดดู Bruce Bueno de Mesquita and George W Downs (2005). “Development and Democracy” in Foreign Affairs. Vol. 84:05, pp. 77 – 86.
[8] โปรดดู Dennis Austin and Michael O’Nell (2000) “Introduction: Democracy and Cultural Diversity” in Parliamentary Affairs. Vol. 53: 01, pp. 1 – 11.