อาจไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ไม่โกหก บางคนโกหกเล็กๆ น้อยๆ เอาตัวรอดได้พอเป็นพิธี แต่หลายคนก็โกหกเพื่อสร้าง ‘ชุดความจริง’ ขึ้นมาใหม่ อุดรอยต่อประสบการณ์ที่ไม่อยากจดจำ หรือบิดเบือนไปเป็นคนละเรื่องก็ยังได้ คุณอาจเคยเจอคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนรักครอบครัว แต่เขาพยายามกลบความรุนแรงที่เคยทำไว้กับคนในบ้าน คนที่บอกอย่างมั่นใจว่าเศรษฐกิจยังดี แต่มองข้ามรอยแยกทางสังคม แล้วกลบช่องโหว่ด้วยชุดความจริงที่สร้างขึ้นมาใหม่
การโกหก (lies) ดูเผินๆ อาจจะเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ เราโกหกกันทุกวันอยู่แล้ว ไม่เห็นจะแปลกอะไร แต่การโกหกจนสมองตัวเองยังปักใจเชื่อ อันนี้อาจน่าสนใจกว่า เพราะมันไปเปิดพื้นที่ของการจัดการข้อมูลความจริงในสมอง ซึ่งนักประสาทวิทยาพยายามทำความเข้าใจกระบวนการนี้อยู่หลายปี หรือแท้จริงแล้วมนุษย์นั้นมีการจัดการความจริงที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละคน เรื่องจริงของคุณอาจไม่ใช่เรื่องจริงของผมก็ได้
อุดช่องว่างในความทรงจำ
สมองของเราไม่ค่อยชอบอะไรที่อธิบายไม่ได้ เราไม่ชอบช่องว่างเปล่าที่ปราศจากเรื่องราวหรือคำอธิบาย แม้สิ่งที่พวกเราคิดจะแทบไม่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นจริงเลยก็ตาม การ ‘มโน’ จึงสบายใจกว่าเมื่อเทียบกับการไม่รู้อะไรเลย
ในจิตวิทยามีศัพท์ที่เรียกว่า ‘confabulation’ เป็นอาการที่สมองพยายามสร้างเรื่องราวเพื่ออุดรอยรั่วของความทรงจำจนบุคคลนั้นๆ ปักใจเชื่อถาวร แม้จะมีคนพยายามทัดทานบอกว่า “เฮ้ย มันไม่จริง” หยิบยื่นหลักฐานให้ก็แล้ว แต่เขาก็ไม่เชื่อ และมั่นอกมั่นใจเรื่องราวของตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจเสียด้วย จนคุณคิดว่าพวกเขากำลังโกหกคำโตอยู่ เป็นการโกหกที่ไม่มีความตะคิดตะขวงใจแม้แต่น้อย หรือแท้จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ได้โกหก แต่กลับเป็นชุดความจริงที่สร้างขึ้นในเวอร์ชั่นของเขาเองต่างหาก
ต้องย้อนเท้าความก่อนว่า confabulation ถูกนิยามโดยจิตแพทย์ชาวเยอรมัน Karl Bonhoeffer ในช่วงปี ค.ศ. 1910
เมื่อเขาได้รับผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่บาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่ 1 คนกลุ่มนี้มีอาการสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือนจนมีภาวะสูญเสียความทรงจำ โดยที่พวกเขาก็ยังไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังมีชีวิตผ่านเรื่องโกหกอยู่ คล้ายกับกรณีของโรค korsakoff’s syndrome ที่สมองสูญเสียความทรงจำจากเหตุสมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือด้วยอิทธิพลของแอลกอฮอล์ทำให้ประสาทรับรู้และความทรงจำอยู่กันไปคนละทิศทาง กระทั่งสร้างชุดความทรงจำใหม่ที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม confabulation ก็ยังเกิดได้กับคนปกติ พวกเราก็ยังสร้างชุดความจริงใหม่บางเรื่องเพื่อให้เกิดความสบายใจในการดำรงชีวิต หรือพยายามลบเหตุสะเทือนใจที่ไม่อยากจดจำ นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบของกลไกนี้อย่างยาวนาน ซึ่งก็มาฉายแสงเอาในยุคที่ประสาทวิทยาเฟื่องฟูด้วยวิทยาการใหม่ๆ ในการศึกษากิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมอง
หลายปีที่ผ่านมามีทฤษฏีมากมายว่าด้วยการโกหก แต่การให้ภาพใหญ่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะสมองมนุษย์เป็นเครือข่ายซับซ้อนโยงใย ไม่ได้มีส่วนสมองที่รับผิดชอบพฤติกรรมการโกหกของคุณโดยเฉพาะ ดังนั้นพฤติกรรมโกหกอาจจะต้องศึกษาที่กรอบการทำงานของความทรงจำก่อน ว่าทำไมเราถึงสร้างความทรงจำเท็จ (false memories) ขึ้นมา
น่าสนใจที่ความทรงจำในอดีตที่คุณประสบพบเจอมา เป็นตัวชี้วัดพฤติกรรมในอนาคต หรืออีกนัยหนึ่ง “อนาคตของคุณถูกสร้างจากความทรงจำในอดีต” ก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นการที่เราพยายามหวนนึกถึงความทรงจำ จึงเป็นการเก็บเกี่ยวเศษเสี้ยวผัสสะและประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายมาเรียบเรียงใหม่ ก่อเป็นรูปร่าง ก่อเป็นจิตสำนึก (conscious thought) ว่า เอาล่ะ เราเป็นคนแบบนี้ที่ผ่านมา ดังนั้นอนาคตเราจะมีทิศทางไปเช่นนี้
แต่จิตสำนึกกลับไม่ได้คงที่ หนักแน่นดุจดั่งศิลา มันอาจมีสถานะกึ่งของเหลวที่ถูกบิดเบือน ดัดแปลง ปั้นแต่งได้ มันจึงอนุญาตให้เราสร้างตัวตนจากอดีตด้วยฉากใหม่ (new scenarios) ชุดเรื่องเล่าใหม่ (new narrative) ที่อาจไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลยก็ได้ เมื่อชุดข้อมูลเหล่านี้ทับถมกันเรื่อยๆ ด้วยรายละเอียดมากมาย คุณจึงได้สร้าง ‘สคีมา’ (schema) ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวไกด์ไลน์ ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมในปัจจุบันและจะเกิดขึ้นในอนาคต
เรื่องโกหกและข้อมูลเท็จก็ถูกจัดเรียบเรียงอยู่ในสคีมาชุดนี้เช่นเดียวกัน เราใช้ข้อมูลเท็จบางอย่างมาเติมเต็มในส่วนที่ขาด ยิ่งนานวันเข้าข้อมูลเท็จเหล่านี้ก็จะมาอุดช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ พอกพูนจนเป็นตัวคุณขึ้นมาที่อาจไม่ได้แทนภาพความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าคุณจะถกเถียงพวกเขาด้วยข้อมูลที่แม่นยำหรือเป็นเหตุเป็นผลมากแค่ไหนก็ตาม เขาจะมักรู้สึกว่า ‘ตัวตน’ นั้นถูกโจมตี คุณไม่ได้ให้ความรู้ แต่ทำให้ความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายสั่นคลอนอีกต่างหาก
อย่างที่กล่าวว่า การโกหกหรือการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่สมองนั้นต้องมองเป็นองค์รวม แต่มีสมองส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลกลั่นกรองและแยกแยะได้บ้างว่าอะไรเป็นความจริงและอะไรคือจินตนาการ คือสมองส่วน ventromedial prefrontal cortex (VMPFC) ที่อยู่ใกล้กลับสมองส่วนลิมบิกมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความทรงจำ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถขีดเส้นจินตนาการและความเป็นจริงออกจากกันได้ เป็นเพียงเส้นเบลอๆ บางๆ ที่ข้ามไปมาหาสู่ได้ระหว่างเขตแดน ดังนั้นตัวตนของเราจึงเป็นลูกผสมของชุดข้อมูลอดีต ถูกแต่งแต้ม บิดรูป เพิ่มข้อมูลที่ขาดหาย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลว่าพวกเขานำความทรงจำเท็จมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนมากแค่ไหน
คนโกหกจะเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า?
หลายคนไม่ชอบถูกโกหกหลอกลวง จนเรื่องหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่มักเลือกคบคนคือต้องการคนที่ ‘ซื่อสัตย์’ (honesty) ต้องมาเป็นอันดับแรกๆ อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่หากบอกว่าคนโกหกจะเป็น ‘คนไม่ดี’ เลยก็ดูเป็นการเหมารวมยกเข่งไปหน่อย เพราะจากที่ยกตัวอย่างไปว่า ‘สคีมา’ (schema) มาจากการเก็บรวบรวมประสบการณ์ในอดีต ผัสสะประสาทสัมผัส และ ความทรงจำที่เรียบเรียงในสมอง ดังนั้นในโลกนี้ยังมีคนที่มีภาวะเกี่ยวกับความทรงจำบกพร่องอีกมากมาย ที่มีปัญหาในการรับรู้ตัวตน หรือบางคนโกหกแบบที่ไม่รู้ตัวเนื่องจากความผิดพลาดของสมองส่วนความทรงจำ หรือมีชุดความจริงที่บิดเบือนไปเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามเรายังเชื่อว่าการสร้างสังคมที่อยู่กับฐานแห่งความเป็นจริงยังมีความจำเป็นอยู่มาก มันอาจจะไม่ได้เห็นผลขึ้นโดยทันที แต่ทำให้คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตอยู่กับความจริงได้ (tolerance to reality) และหาทางปรับตัว แก้ไข และยอมรับถึงความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ซึ่งจะต่างจากสังคมที่สร้างชุดข้อมูลเท็จออกมาเรื่อยๆเพื่อให้ผู้คนเพียงเพื่อสบายใจ พออยู่รอดไปได้วันๆ พรุ่งนี้ก็ค่อยสร้างมโนทัศน์ชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ
หากสังคมเปรียบเหมือนตัวตนของมนุษย์ เราก็จะเป็นสังคมที่มาจากรากฐานของ false memories โดยสมบูรณ์แบบ เมื่อนั้นเราก็เห็นอนาคตได้ไม่ยาก เพราะอนาคตนั้นถูกสร้างจากความทรงจำในอดีต จะถดถอยหรือเฟื่องฟู่ก็อยู่ที่คนในสังคมสร้างความทรงจำอะไรไว้ด้วยกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก