มันไม่แฟร์เท่าไหร่ที่จะโทษทุกอย่างด้วยคำว่า ‘วัยรุ่น’
ช่วงวัยอันแปลกพิสดารที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตคุณ ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งอารมณ์ ความรัก ความเกลียดชัง ความคลั่งไคล้เอาเป็นเอาตาย หรือหงอยเหงาราวกับจักรวาลนี้ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ เลยนอกจากตัวคุณเองลอยเคว้งคว้างในความว่างเปล่าไร้สรรพเสียง
กล่าวได้ว่าประสบการณ์ความผิดพลาดส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ มันไม่ใช่ภาพอันเลือนรางแบบวัยเด็กทารก เพียงครู่เดียวหากคุณลองนึกย้อนไป กลับรู้สึกเหมือนเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง
เราโกรธรุนแรงราวกับรังสีคอสมิกที่หลอมละลายแม้กระทั่งดวงอาทิตย์ เราเหงาหนาวเหน็บแช่แข็งหัวใจ ณ อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง คนรอบข้างมองคุณด้วยสายตาที่ไม่ค่อยเชื่อมั่น อารมณ์แปรปรวน หยาบคาย ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ พวกเขาเชื่อว่า คุณควรอยู่ในวัยที่ต้อง ‘ถูกควบคุมอย่างรัดกุม’ คุณถึงจะเติบโต
เป็นวัยรุ่นมันยาก อาจจะยากตั้งแต่กลไกของสมองที่ทำงานแตกต่างจากคนในช่วงวัยอื่นๆ ด้วยซ้ำ หากเราไม่ได้มองวัยรุ่นเป็นปัญหาแต่มองเป็นโอกาสแทน เป็นไปได้ไหมที่เราสามารถประคับประคองสมองของวัยรุ่น โดยที่ไม่ปิดกั้นพื้นที่การเรียนรู้และไม่กดดันความผันแปรของธรรมชาติที่กำลังงอกเงย
ความงดงามของประสาทวิทยา (Neuroscience) นี่เอง ที่ทำให้คุณเปิดใจกับวัยรุ่นอย่างเป็นรูปธรรม
ทำความรู้จัก PR ยอดแย่ของคุณสิ
หากเปรียบตัวคุณเป็น ‘องค์กร’ ช่วงวัยรุ่นของคุณมักมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ (PR) ที่ทำงานในระดับยอดแย่ เดี๋ยวขึ้นๆ ลงๆ จนภาพลักษณ์ของคุณดูไม่เป็นสัปปะรดในสายตาของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 13 ถึง 19 ปี ผู้เขียนเองยังจำได้กับประสบการณ์เฉียดตายและน่าอับอายที่เกิดจากการตัดสินใจเพียงชั่ววูบ เอาเป็นว่าวัยรุ่นมีโอกาสตายสูงถึง 200% จากเหตุที่สามารถป้องกันได้เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ “วัยรุ่นต้องซ่า ต้องกล้า” ก็โฆษณาน้ำอัดลมชอบว่างี้
ในช่วงหลายสิบปีมานี้ การทำความเข้าใจวัยรุ่นไม่จำเป็นต้องผ่าสมองตอนคุณตายแล้วเท่านั้น แต่เทคโนโลยีสามารถสร้างภาพสมอง (Neuroimaging) ด้วยเทคนิคต่างๆ ที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้เราเห็นภาพเชิงประจักษ์ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกบางส่วนของวัยรุ่น มีอิทธิพลมาจากการทำงานของระบบประสาทและสมองอันเป็นเอกลักษณ์ หรือความผิดเพี้ยนของพวกเราก็เป็นพลวัตรจากเซลล์ประสาทนิวรอน (neurons) ทั้งการกระโจนเต็มตัวไปทำเรื่องเสี่ยงๆโดยไม่ทันคิดหน้าคิดหลัง แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นผู้เรียนรู้ที่ตอบสนองฉับไว และตื่นตัวที่จะสร้างพันธะทางสังคมใหม่ๆ รอบกาย
วัยรุ่นมีสมองส่วนพิเศษที่มักถูกนิยามว่า ‘สมองวัยรุ่น’ คือ สมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) เป็นกลุ่มของสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัสกับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ ทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรม ความทรงจำการตอบสนองต่อการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ
สมองส่วนลิมบิกพัฒนาเร็วมากระดับพรวดๆ ในช่วงอายุ 10 ถึง 12 ปี ระหว่างนี้ แอกซอน (Axon) เส้นใยของเซลล์ประสาทที่มีลักษณะเรียวยาว จะมีเยื่อไขมันที่เรียกว่า เยื่อไมอีลิน (myelin sheath) ห่อหุ้มอยู่ค่อนข้างหนา ทำให้เซลล์ประสาทสามารถส่งสัญญาณได้รวดเร็วขึ้น จนส่งผลให้สมองส่วนลิมบิกพัฒนาได้เร็วเช่นกัน
ในช่วงวัยรุ่นของคุณเป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สมองส่วนสุดท้ายจะพัฒนาหลังสุด แต่สำคัญอย่างยิ่งยวด คือ สมองคอร์เท็กซ์กลีบหน้า (Prefrontal cortex) ที่จะยังไม่สมบูรณ์จนกระทั่งเข้าสู่อายุ 20 ปี ส่วนนี้เองที่ช่วยประมวลความคิดของคุณอย่างเป็นระบบ รู้จักการยับยั้งชั่งใจ และพัฒนาการทางภาษา
เมื่อวัยรุ่นเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากๆ แย่ๆ อย่างเพื่อนหักหลัง รักเขาข้างเดียว สมองส่วนคอร์เท็กซ์กลีบหน้าจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันทำงานไม่ดีนะ เพียงแค่ยังไม่ดี ‘เท่าที่มันควรจะเป็น’ ซึ่งสมองคอร์เท็กซ์กลีบหน้า (ดูแลเหตุผล) พัฒนาได้ช้ากว่าสมองส่วนลิมบิก (ดูแลอารมณ์) มันจึงเกิดสงครามเล็กๆ ว้าวุ่นจิตใจเข้าตะลุมบอนกันเสมอ
มีสิ่งเร้ามากมายที่วัยรุ่นต้องเผชิญ ทั้งความต้องการทางเพศ การเสพติดอะไรสักอย่างที่ถอนตัวไม่ขึ้น การพยายามให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง วัยรุ่นจึงเป็นเครื่องยนต์ออกเทนสูงที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เป็นพลังงานหลัก จนบ่อยครั้งมันเกือบเผาไหม้ทั้งรถและคนขับไปพร้อมๆ กัน
เสี่ยงแค่ไหน ใจก็ไปถึง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยาพัฒนาการ Adriana Galván จากมหาวิทยาลัย California ตั้งคำถามว่า ทำไมวัยรุ่นถึงกล้าได้กล้าเสียนัก เธอเชื้อเชิญอาสาสมัครวัยรุ่นมาเล่นเกมการทดสอบที่มีการพนันขันต่อสักหน่อย นักพนันทั้งหลายต้องเสี่ยงดวงว่าจะเทหมดหน้าตักหรือขอบายไปรอบหน้า โดยระหว่างนั้นอาสาสมัครจะถูกสแกนด้วยเครื่อง MRI Scan (เอ็มอาร์ไอ) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการถ่ายภาพสมอง เพื่อศึกษาว่าสมองส่วนไหนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเหล่านี้
พวกเขาพบสมองส่วน Ventral striatum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองระบบลิมบิก ที่มีหน้าที่ให้รางวัลต่อสิ่งเร้าที่เผชิญอยู่ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนยั่วยวนใจ สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นให้เราลงพนันเรื่อยๆ เหมือนภาวะเสพติด วัยรุ่นจึงถูกดึงดูดด้วยความตื่นเต้นจากความเสี่ยงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งก็มักตระหนักอยู่เสมอว่า “อันโลกเรานั้นคือความไม่แน่นอน”
สมองส่วนลิมบิกให้รางวัลแก่ความพยายามและความเสี่ยง มันกระตุ้นให้วัยรุ่นลองต่ออีกนิด ทำต่ออีกหน่อย แต่ความกล้าได้กล้าเสียนี้หากดึงความงดงามออกมาจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ
เพราะวัยรุ่นพร้อมจะลงสนามในการตัดสินใจที่ผู้ใหญ่คิดแล้วคิดอีก อย่างการเล่นกีฬาแข่งขัน เข้ากลุ่มสังคมใหม่ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมสูง ปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต่อการดำรงชีพและการเอาตัวรอดของมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้พฤติการณ์ของโลก และมีความเป็นไปได้ที่เราจะมีชีวิตรอดต่อไปในภายภาคหน้า
นักจิตวิทยา BJ Casey ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาวัยรุ่นท่านหนึ่งกล่าวว่า “การห้ามปรามวัยรุ่นอย่างเด็ดขาด ค่อนข้างฝืนความเป็นธรรมชาติของช่วงวัย ผู้ใหญ่มักตรึงวัยรุ่นไว้กับความปลอดภัยภายในบ้าน สิ่งสำคัญที่เราควรเสริมคือการช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้ว่า อารมณ์ ความปรารถนา และการกระทำของพวกเขานำไปสู่อะไรในท้ายสุด (คุณก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่าการตัดสินใจของคุณเองก็ไม่ถูกเสมอ) การช่วยเหลือเหล่านี้ ไม่เป็นการลดคุณค่าการตัดสินใจของพวกเขาเสียทีเดียว สมองของพวกเรากำลังรอการเติบโต จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะด่วนสรุปความเป็นวัยรุ่นเพียงการแสดงออกไม่กี่อย่าง”
พวกเขาตอบสนองอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งมันก็นำมาซึ่งหายนะ การพยายามสร้างความยอมรับ เรียกคะแนนนิยมจากหมู่เพื่อนฝูง มักอยู่บนเส้นขนานเดียวกับความเสี่ยงผ่านเครื่องมือที่เข้าถึงง่ายอย่างโซเชียลมีเดีย พวกเขาทำอะไรห่ามๆ ปั่นยอดไลก์ที่ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเสียว ก็ยิ่งกระตุ้นให้สมองได้รับการให้รางวัลอย่างต่อเนื่อง และทำพฤติกรรมที่ท้าทายนั้นต่อไปอีกเรื่อยๆ คุณจึงเห็นว่า มักมีข่าววัยรุ่นตกจากตึกสูงเพื่อพยายามปีนไปถ่ายภาพบนยอดตึก เด็กสาวถูกล่อล่วงจากการยอมเผยเนื้อหนังส่วนสงวนสู่สาธารณะ และอะไรต่อมิอะไรที่คุณเห็นได้ทุกวันบนนิวส์ฟีด
เป็นวัยรุ่นมันยาก แต่ ‘เรียนรู้’ ระหว่างวัยรุ่นมันง่าย
แม้คุณจะทำอะไรให้พ่อแม่หน่ายใจเป็นนิตย์ แต่ความเป็นวัยรุ่นมีความได้เปรียบ สมองของเราอยู่ในช่วงที่มี Learning Curve สูงเป็นพลวัตร วัยรุ่นอยู่กับความซับซ้อนของระบบได้ดี ไปได้สวยในการแก้ปัญหา อย่าง การแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์โดยเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ซึ่งมาจากอิทธิพลของสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) อันเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ที่ตอบสนองยอดเยี่ยม ระบบให้รางวัล (Brain reward system) มีความเชื่อมโยงต่อฮิปโปแคมปัส
เมื่อกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ หากพวกเขาหาจังหวะ ‘คลิก’ ในสิ่งที่สนใจโดยธรรมชาติได้แล้ว วันคืนจะไม่มีความหมาย พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้โดยผ่านสัญชาตญาณ
แม้ผู้ใหญ่มักตำหนิเด็กๆ ที่มักไม่เอาไหนด้านการเรียน แต่ความเป็นจริงแล้วสมองกำลังจัดระเบียบสิ่งที่เรียนรู้อย่างงอกเงยที่สุดในวัยนี้ เพียงแต่การบ้านที่ซ้ำซาก กิจวัตรอันน่าเบื่อของสถาบันศึกษาอาจไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นแก่พวกเขาได้มากพอ
มีคำกล่าวว่า “สมองของเราล้วนมีเรื่องราวของตัวมันเอง” ทุกกลีบทุกขดพัฒนาจากการเรียนรู้ การตัดสินใจ สภาพแวดล้อมที่เราอาศัย สถานะทางการเงิน อาหารที่กิน สุขภาวะของการนอน ล้วนหล่อหลอมให้สมองมีการพัฒนาที่ยืดหยุ่น (neuroplasticity) ไม่ได้ออกจากแม่พิมพ์เดียวกัน
ไม่เพียงในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ในผู้ใหญ่วัยทำงานหรือล่วงเลยผ่านเข้าสู่วัยชรา สมองยังมีศักยภาพเรียนรู้และมีเรื่องราวการเดินทางต่อเนื่อง แต่บางครั้งอิทธิพลทางสังคมที่เราอยู่ กลับทำให้เราสับสนว่าจะทำอะไรต่อไปดี สังคมที่นิยมโอวาท อำนาจและข้อบังคับกฎเกณฑ์ มักไม่เชื่อความงอกเงยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
แม้เราจะถือวัยวุฒิเป็นจุดยืนของสังคม และตัวเลขอายุเป็นการคาดคะเนโดยคร่าว ว่าคุณเรียนรู้พฤติการณ์ของโลกนี้มาแค่ไหน แต่อายุสมอง (Brain age) ต่างหากที่มีอิทธิพลต่อประสบการณ์ การตัดสินใจ และการเติบโต
วัยรุ่นไม่ใช่คำสาปใดๆ ที่ใครต้องกลัว ก็อย่างที่ว่า มันไม่แฟร์เท่าไหร่ที่จะโทษทุกอย่างด้วยคำว่า ‘วัยรุ่น’
อ้างอิงข้อมูลจาก
Risk-taking and the adolescent brain: who is at risk?