เมื่อมีใครถามถึงเหตุการณ์ไหน ใช้เวลาคิดนิดหน่อย เราก็ตอบได้อย่างแม่นยำ ก็มั่นใจนี่นาว่าจำได้ไม่มีพลาด จำได้แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อย ทว่าเรื่องราวที่จำได้อย่างแม่นยำนั้น จะเป็นเรื่องจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์กัน หลายครั้งเราเองก็มารู้ในภายหลังว่า สิ่งที่เราจำได้อย่างขึ้นใจนั้น เป็นจริงเพียงบางส่วน หรือบางอย่างก็แทบไม่มีส่วนจริงอยู่เลย อ่าวนี่ความจำของเรามีปัญหารึเปล่านะ?
จากสารคดี ‘Explained’ ตอน Memory หญิงสาวคนหนึ่งจำได้อย่างแม่นยำ (อีกแล้ว) ว่าหลังจากเครื่องบินชนตึกระฟ้าในเหตุการณ์ 9/11 เธอเห็นกลุ่มควันดำทะมึนปกคลุมท้องฟ้า เหนือผืนน้ำ Long Island ขณะที่เธอมองออกไปนอกหน้าต่างชั้นเรียน เธอมั่นใจในความทรงจำนั้นเสมอมา เพราะเธอจำเหตุการณ์วันนั้นได้อย่างชัดเจน จนเธอพบความจริงในภายหลังว่า ห้องเรียนของเธอไม่ได้หันไปในทิศที่เธอจะมองเห็นผืนน้ำนอกหน้าต่าง และตึก World Trade Center ที่อยู่ห่างออกไป 40 ไมล์ มีทิศทางลมที่อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนของเธอเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่เราจำได้อย่างชัดเจน อาจเป็นภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็น ได้ยิน รายละเอียดต่างๆ อาจไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เอลิซาเบธ เอ. เฟลป์ส (Elizabeth A. Phelps) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยากล่าวว่า รายละเอียดในความทรงจำของเรากว่าครึ่งเปลี่ยนไปภายใน 1 ปี แม้เราจะเชื่อว่าเราจำมันได้ทั้งหมดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือเหตุการณ์สะเทือนใจ เหตุการณ์ที่จำฝังใจ ล้วนมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ทั้งนั้น
ฟังดูพอเข้าใจได้ เมื่อวันเวลาผ่านไป เราอาจลืมรายละเอียดเล็กน้อยไปบ้างก็ไม่แปลก เพราะเรามีความทรงจำใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันนี่นา แต่เดี๋ยวนะ แล้วทำไมสมองของเราถึงไม่เลือกลืมรายละเอียดเหล่านั้นไปเลย แต่กลับเลือกที่จะสร้างความทรงจำผิดๆ ขึ้นมาแทนล่ะ?
สมองเป็นนักปล่อยข่าวปลอม
ลองนึกภาพให้สมองของเราเป็นแหล่งรวมข้อมูลทั้งหลายที่เรารับมาจากภายนอก เป็นเหมือนสำนักข่าวแห่งหนึ่งที่คอยรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดย emotional brain คัดแยกว่าสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริง สิ่งนี้ยังต้องพิจารณากันต่อ จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลที่น่าสงสัย ส่งต่อไปยัง thinking brain เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีตรรกะ พิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล และพิจารณาว่าควรรายงานข้อมูลเมื่อไหร่ อย่างไร
แต่ emotional brain เจ้ากรรมดันเล่นตุกติก ปฏิเสธที่จะส่งข้อมูลให้ thinking brain แล้วเลือกที่จะกักตุนข้อมูลทั้งหมดไว้ ประมวลผลด้วยตนเองตามประสบการณ์ทางอารมณ์ในอดีต แทนที่จะเป็นตรรกะอย่างที่ thinking brain ทำ และไม่ได้ตรวจสอบว่าแหล่งที่มาของข้อมูลน่าเชื่อถือหรือไม่ด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า emotional brain สามารถปล่อยข่าวปลอมให้กับเรา ด้วยความทรงจำผิดๆ นั่นเอง
เพราะคนเราไม่สามารถจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ (หมายถึงทุกอย่างจริงๆ) เราจึงใช้ข้อมูลที่มีอย่างความทรงจำอื่นๆ ข้อเท็จจริง มาช่วยเติมช่องว่างที่หายไป หรืออาจจะเป็นอคติหรือความเชื่อที่เราอยากให้เป็นจริงจนเกิดเป็นความทรงจำลวง ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนั่นเอง ความทรงจำที่ถูกบิดเบือน จึงมักเป็นความทรงจำต่อเหตุการณ์มากกว่าความทรงจำเล็กๆ อย่าง ข้อเท็จจริง คำศัพท์ ชื่อสถานที่ เพราะในหนึ่งเหตุการณ์มีรายละเอียดมากมายเกิดขึ้นพร้อมกันและอยู่ตรงนั้น เราจึงจำใจความสำคัญของเหตุการณ์ได้จากความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น จนลืมที่จะจดจำรายละเอียด
ในสมองของเรา ไม่ได้แบ่งงานให้ส่วนใดส่วนหนึ่งทำหน้าที่กักเก็บความทรงจำโดยเฉพาะ หรือทำหน้าที่อยู่เพียงส่วนเดียว แต่เป็นการประกอบกันของสมองหลายส่วน ที่ทำหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป สมมติว่าเกิดเหตุการณ์รถชนต่อหน้าเรา ส่วนที่ได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นส่วนที่กักเก็บความจำชัดแจ้ง จะช่วยเราจดจำรายละเอียดของรถ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) เป็นส่วนที่ตอบสนองกับความรู้สึก เราจะจำได้ว่าเรากลัว ประหม่า ร้อนรนแค่ไหน เป็นต้น
ความทรงจำต่อเหตุการณ์จึงเป็นการเอาความจำจากหลายๆ ส่วนในสมองมาประกอบต่อกัน จึงสามารถเกิดความผิดพลาดได้ ในขณะที่เรารำลึกถึงอดีต สมองส่วนที่ทำหน้าที่จินตนาการก็เริ่มร่ายมนต์ให้เกิดภาพของอนาคตไปด้วย นอกจากการจำรายละเอียดที่ไม่สมบูรณ์ แล้วถูกเติมเต็มจากความจำลวงแล้ว จึงอาจเกิดภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างภาพในอนาคตของจินตนาการเข้ามาเสริมด้วย เราเลยไม่อาจเชื่อความทรงจำของเราได้ทั้งหมดนั่นเอง
ใครๆ ก็จำพลาดกันได้ ด้วย Mandela Effect
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เสียชีวิตลงในปี 1980 หลายคนเชื่อแบบนั้น เชื่อโดยไม่คิดด้วยซ้ำว่านั่นจะเป็นเรื่องพลาด จนพบว่าจริงๆ แล้วเขาเสียชีวิตในปี 2013 ต่างหากล่ะ และไม่ใช่แค่กับเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่คนทั่วโลกมีความทรงจำผิดๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อต่างๆ อย่าง Looney Tunes, Froot Loops, Sex and the City ไปจนถึง MV เพลง Oops!… I Did It Again ของบริตนีย์ สเปียส์ (Britney Spears) ที่หลายคนจำว่าเธอใส่ไมโครโฟนกับชุดสีแดงรัดรูป ไม่ว่าจะแต่งตัวแฟนซีในงานฮัลโลวีนหรือตุ๊กตาบาร์บี้ ต่างมีไมโครโฟนคู่ใจที่ทุกคนจำได้ทั้งนั้น แต่ที่เดียวที่ไม่มีไมโครโฟน คือใน MV ของจริง
เหตุการณ์ที่ความทรงจำแกงหม้อใหญ่ไซซ์โรงทาน เรียกว่า Mandela Effect ที่ต้องชื่อนี้เพราะมาจากความทรงจำเกี่ยวกับการตายของแมนเดลาที่ผิดเพี้ยนไปไกลของฟิโอนา บรูม (Fiona Broome) เธอจำ (เอาเอง) ว่าแมนเดลาเนี่ย เสียชีวิตในคุก เมื่อปี 1980 พอรู้ความจริงแล้วว่าสิ่งที่เธอจำได้อย่างมั่นใจนั้นมันผิดเต็มประตู เธอจึงเอาเรื่องนี้ไปพูดคุยกับคนรอบข้าง และพบว่าคนอื่นก็มีความทรงจำผิดๆ ในเรื่องอื่นเช่นเดียวกัน เธอจึงสร้างเว็บไซต์อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เธอเจอและเรียกสิ่งนี้ว่า Mandela Effect ในปี 2009
แต่ไม่ต้องกังวลไปว่า สิ่งนี้หมายความว่าความทรงจำเราเข้าขั้นแย่ หรือเรากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือเปล่า สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก และยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สมองของเราต้องรับความทรงจำใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวินาทีข้างหน้าไปอีกแสนนาน ไม่แปลกอะไรที่ความทรงจำเก่าๆ ของเราจะถูกทับถมไปตามกาลเวลา
อ้างอิงจาก