ความขัดแย้งในสังคมไทยรอบน้ี ดำเนินมาถึงระดับที่ต่อให้เป็น ‘ความจริง’ ที่รับรู้กันทั่วไปในสังคมอย่างยากจะปฏิเสธ แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจ) อยากจะปฏิเสธขึ้นมา ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องสนสี่สนแปดต่อ ‘ความจริง’ ใดๆ อีกต่อไป
โดยเฉพาะเมื่อโรคระบาดขนาดหนักอย่าง COVID-19 ได้รุกคืบเข้ามา ‘เปิดโปง’ กลไกต่างๆ ในสังคมอย่างถึงกึ๋นถึงแก่น ตั้งแต่คลื่นการแพร่ระบาดครั้งแรกในสนามมวย (ที่ก็รู้อยู่ว่าอยู่ในการดูแลของใคร) ไล่มาจนถึงการเดินทางเข้ามาในเมืองไทยของแรงงานต่างชาติโดยช่องทาง ‘ธรรมชาติ’ (ที่แปลว่าลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย) และมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าการเข้ามากันเป็นจำนวนมากแบบนี้ เป็นไปได้หรือที่ต่างคนต่างเข้ามากันเอง ไม่ใช่ฝีมือของการทำเป็น ‘ขบวนการ’ หรอกหรือ และล่าสุด กับคลื่นการแพร่ระบาดที่มีที่พิสดารพันลึกจากสิ่งที่เรียกว่า ‘บ่อน’
ปฏิเสธได้ยากว่าคลื่นการระบาดท้ังสามคลื่นเกิดจากใคร แต่กระนั้น ผู้มีอำนาจก็อาศัยวิธีเดียวกันกับวลีเด็ดของปีที่แล้วอย่าง ‘มันคือแป้ง’ มาบอกเล่าเก้าสิบกับประชาชนทั่วไปว่าไม่มีบ่อน มีแต่สถานที่ลักลอบเล่นการพนัน (ที่ฟังดูเบากว่าบ่อนมาก) และเมื่อไปตรวจตรา ก็ไม่มีที่แห่งไหนเลยที่พบบ่อน ทุกที่ล้วนว่างเปล่า ถ้าไม่ใช่ห้องจัดเลี้ยงก็เป็นโกดัง
หลายคนปลงเสียแล้วว่า – เมื่อมันคือแป้งได้ บ่อนก็เป็นโกดังได้เช่นกัน ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อใน ‘ความจริง’ แบบนี้ และยังคงสนับสนุนคำอธิบาย ‘ความจริง’ ที่มาจากฝ่ายผู้มีอำนาจต่อไปไม่รู้คลอนคลาย
คำถามก็คือ – ทำไม?
ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘สมอง’ ของคน ความจริงก็เหมือนกับความทรงจำ (memory) และการรับรู้ (perception) นั่นคือมันเป็นสิ่งที่ ‘สร้าง’ ขึ้นมาในสมอง
สมองของเรานั้นทำงานหนักมากในการสร้าง ‘ความจริง’ ขึ้นมาให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่อง ‘เมกเซนส์’ สำหรับเรา
แต่ที่พึงระวังอย่างยิ่งก็คือ อะไรที่เราคิดว่ามันจริงนักจริงหนา
สำหรับเรานั้น เป็นไปได้อย่างยิ่งว่ามันจะเป็นแค่ความลวงหรือภาพลวงตา
ในกระบวนการทำงานของสมอง สมองของเราจะสร้างความจริงขึ้นมาจากข้อมูลที่ได้รับมา แต่ประเด็นก็คือ สมองของเราไม่ได้รับข้อมูลเข้ามาทั้งดุ้นแล้วก็ประมวลผลมันทั้งหมด แต่สมองของเราจะมีกระบวนการ ‘กรอง’ ข้อมูลเหล่านั้นด้วย ทำให้ข้อมูลทั้งร้อยที่เข้ามา หดตัวเหลืออยู่เพียงส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับจริตและต้นทุนของเรา จากนั้นกระบวนการกรองนี้ก็จะคอยสร้างโลกขึ้นมาตามท่ีเรารับรู้และอยากรับรู้
แม้ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยสมองจะมาจากข้อมูลที่กระจัดกระจาย ขาดวิ่น และมาจากที่ต่างๆ แต่เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้เรารู้สึกว่านั่นคือ ‘สำนึกรู้’ ที่เป็นหนึ่งเดียว คล้ายว่าเรื่องทั้งหมดปะติดปะต่อออกมาเป็นเรื่องเดียวกันได้ เมื่อเรื่องท้ังหมดมัน ‘เมกเซนส์’ ตัวกรองของเราก็จะยิ่งทำงานหนักขึ้น เพื่อกรองสิ่งที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยกับ ‘เรื่องเล่า’ ที่สมองสร้างขึ้นมา ยิ่งเรามีสมัครพรรคพวกที่คอยขยันส่งไลน์ส่งแช็ตมายืนยัน ‘ความจริง’ ที่สอดคล้องต้องกันกับสมองของเรามากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งคิดว่านั่นแหละคือความจริงที่แสนจะจริงมากเท่านั้น
ยิ่งถ้ามี ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ที่เราชิงชังรังเกียจมาคอยให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็จะยิ่งเป็นคล้ายแรงส่งที่ผนึกความจริงของเราให้แน่นหนาเข้า จนเกิดการรวมกลุ่มสร้างอัตลักษณ์ของคนที่คิดและเชื่อใน ‘ความจริง’ แบบเดียวกันขึ้นมา จนไม่มีวันมีความสามารถจะ ‘ฟัง’ ความจริงอื่นของคนอื่นๆ ได้
ในบางกรณี – บางคนก็เรียกผู้สมาทานความจริงของตนโดยไม่ฟังคนอื่นว่าพวกสลิ่ม, ไม่ว่าจะเป็นสลิ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
ที่จริงแล้ว สมองของเราไม่ได้ทำงานร่วมกันเป็นก้อนเดียว ถ้าพูดโดยใช้คำพูดของโจนาธาน ไฮต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ Happiness Hypothesis และ Righteous Minds ก็ต้องบอกว่าอย่างน้อยที่สุด สมองของเราแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนดึกดำบรรพ์ที่ทรงพลังมากเหลือเกิน ไฮต์เรียกว่าเป็น ‘ช้าง’ กับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนกระจิ๋วหลิวไม่ค่อยมีพลังเท่าไหร่ แต่ทำหน้าที่คอยควบคุมช้างอยู่ เขาเรียกว่า ‘ควาญช้าง’
ช้างก็คือสมองส่วนต่างๆ ที่มีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมองส่วนลิมบิก (Limbic System) ที่คอยควบคุมอารมณ์พื้นฐาน เช่นความหิว กลไกการสู้หรือหนี ในขณะที่ควาญช้างคือสมองที่ ‘ใหม่’ กว่านั้น ในหนังสือ Neuroscience and Critical Thinking ของอัลเบิร์ต รัทเธอร์ฟอร์ด (Albert Rutherford) บอกว่าสมองส่วนนี้ก็คือสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex)
หลายคนอาจคิดว่า ควาญช้างหรือนีโอคอร์เท็กซ์เป็นสมองส่วนมโนธรรมที่มีการทำงานสูงกว่าสมองส่วนช้าง จึงน่าจะมีหลักยึดของมันมากกว่า รู้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดีได้ดีกว่า แต่ที่จริงแล้ว สมองส่วนนี้มีส่วนอย่างมากในการ ‘สร้าง’ ความจริงขึ้นมา เพราะมันจะคอยควบคุมพฤติกรรม การวางแผน และการตัดสินใจในระดับที่แลดูมีสติปัญญามากกว่าสมองส่วนช้าง
แต่กระนั้น สมองส่วนควาญช้างหรือนีโอคอร์เท็กซ์ก็ไม่ได้รู้ดีรู้ชั่วไปเสียทั้งหมด ปัญหาก็คือ ควาญช้างนั้นมี ‘พลัง’ ไม่มากเท่าช้าง ดังนั้นถ้าสุดท้ายแล้วช้างตัดสินใจจะทำอะไร ควาญช้างก็อาจไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมช้าง แต่กลับทำหน้าที่คอย ‘หาเหตุผล’ มาสนับสนุนช้างก็ได้
อัลเบิร์ต รัทเธอร์ฟอร์ด ยกตัวอย่างว่า ถ้าหากว่าเราเกลียดญาติของเราคนหนึ่งเอามากๆ และคิดจะแกล้งญาติของเราโดยการเอาครีมทาเท้าไปใส่ในหลอดยาสีฟันแทน เพื่อให้ญาติของเราเอาครีมทาเท้าไปแปรงฟัน เราจะได้หัวเราะเยาะเขา
ในการทำเช่นนี้ สมองส่วนช้างของเราจะเป็นตัวการใหญ่
ที่จะสร้างแรงขับเคลื่อนต่อการกระทำนี้ขึ้นมา
หลายคนอาจคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ สมองส่วนควาญช้างหรือนีโอคอร์เท็กซ์ก็คงจะลุกขึ้นมาห้ามปรามละสิ น่าจะเหมือนกับในการ์ตูนที่มีเทวดาเกาะอยู่บนไหล่ขวา ซาตานเกาะอยู่บนไหล่ซ้าย แล้วกระซิบกระซาบบอกเราให้ทำหรือไม่ทำอะไร สมองส่วนควาญช้างคงกระซิบบอกเราว่า – นี่คือเรื่องผิดนะ จงอย่าทำ และถ้าเรายังขืนทำ เราก็จะต้องรู้สึกผิดแน่นอน
จริงอยู่ ถ้าควาญช้างชนะ และสามารถควบคุมไสช้างออกไปจากการแกล้งญาติได้ เราก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์จะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้เรารู้สึกดีอย่างโดปามีนออกมา แล้วเราก็จะปลื้มปริ่มยินดีมีความสุข คิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ได้ไปรังแกกลั่นแกล้งคนอื่น
แต่คำถามก็คือ – ก็แล้วถ้าช้างชนะล่ะ ควาญช้างจะทำอย่างไร
รัทเธอร์ฟอร์ดบอกว่า ในความเป็นจริง ถ้าสมองส่วนช้างหรือสมองดึกดำบรรพ์ชนะ แล้วเราเอาครีมทาเท้าไปใส่หลอดยาสีฟันขึ้นมาจริงๆ สุดท้ายแล้ว สมองส่วนควาญช้างของเราก็จะไม่กล่าวโทษตัวเราเองหรอก แต่มันจะสร้าง ‘กระบวนการคิด’ อีกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือการหาเหตุผลให้การกระทำของตัวเราเอง เช่น ควาญช้างจะบอกตัวเองว่า – ก็สมน้ำหน้าแล้วไง ญาติคนนี้นิสัยไม่ดี ชอบมาแกล้งเรา เพราะฉะนั้นถูกกระทำแบบนี้ก็สมควรแล้ว
นั่นแปลว่า สมองส่วนควาญช้างเองก็ไม่ได้มีหลักยึดอันเป็นสากลใดๆ แต่มันทำงานแปรผันไปตามข้อมูล ต้นทุน และกระบวนการ ‘กรอง’ ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อให้สอดรับกับการกระทำของช้าง
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าควาญช้างหรือช้างเป็นฝ่ายชนะ การแกล้งคนเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วควาญช้างก็จะสั่งให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้เรามีความสุขออกมาทั้งนั้น
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งค้นพบว่า
สมองของเราจะ ‘ตัดสินใจ’ เรื่องอะไรทำนองนี้
ก่อนหน้าที่เราจะ ‘รู้ตัว’ (คือคิดว่าเราตัดสินใจแบบมีสติ
หรือมี Conciousness) นานถึงราว 10 วินาทีเสียด้วยซ้ำ
เคยมีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า คนเล่นเกมที่เก่งๆ สมองสามารถสร้าง pathway ของกระแสประสาทไปสั่งมือให้กดเล่นเกมหลบหลีกศัตรูไปได้ก่อนที่ตัวเองจะรับรู้ถึงการมาของศัตรูเสียด้วยซ้ำ (เพราะการรับรู้นี้ต้องประมวลผล แต่สายตาและหูได้รับสัญญาณนี้แล้ว) มันจึงคล้ายกับว่ามือทำงานล่วงหน้าไปในอนาคต
ลำพังถ้าเป็นการเล่นเกมก็ไม่กระไรนัก หรือในบางสถานการณ์ เช่นการพบกับโจรผู้ร้ายแล้วสมองสั่งการให้ระแวดระวังไว้ก่อนโดยที่ตัวเรายังไม่ทันตระหนักก็อาจเป็นเรื่องดี แต่หากเป็นเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่ต้องการ ‘ความจริง’ ที่เป็น ‘ความจริงเชิงประจักษ์’ แต่เรากลับปล่อยให้สมองส่วนช้างของเราลุกขึ้นมาทำงาน โดยมีควาญช้างคอยให้เหตุผลสนับสนุน ต่างฝ่ายต่างก็จะมีแต่ ‘ความจริง’ ของตัวเองที่ปล่อยเข้ามาโจมตีกันไปเรื่อยๆ และไม่มีวันที่จะดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์คลุกฝุ่นเพื่อมองดู ‘ความจริงแท้’ ได้เลย
ยิ่งถ้าสมองนั้นเป็นสมองเละเหลวหลากสี ก็เป็นไปได้ว่าเจ้าของสมองแบบนี้จะมีความทรงจำที่เป็นต้นทุนการคิดแบบหนึ่ง และมีการรับรู้โลกแบบหนึ่ง ส่งผลให้พวกเขา ‘ยึดมั่น’ ใน ‘ความจริง’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพียงแบบเดียว และมีชีวิตอยู่กับสภาวะหูดับจนไม่อาจ ‘ฟัง’ ความจริงชุดอื่นได้
การสร้างความจริงแบบนี้มีลักษณะเป็นเกลียวหมุนแบบ spiral ที่จะค่อยๆ หมุนวนตกต่ำลงไปเรื่อยๆ และถือว่าเป็นสภาวะที่อันตรายต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมมาก
แต่ก็อย่างที่เห็น – ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเขม็งเกลียวมากขึ้นทุกทีราวกำลังเร่งให้ไปถึงจุดจบกระนั้น