‘ชุมชน’ ที่คุณคุ้นเคยมาตั้งแต่อดีต กำลังค่อยๆ สูญหายไปจากความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่แยแสอดีต บ่อยครั้งเราหลงลืมประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต มองไม่เห็นคุณค่าของย่านชุมชนอันทรงคุณค่าเมื่อมองด้วยสายตาที่เรียบเฉย หากเราสามารถดึงเอกลักษณ์ชุมชนมาใช้อย่างพอเหมาะ ย่านที่กำลังถูกหลงลืมอาจกลับกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสุดฮอตที่ต้องเช็กอินให้ได้ในแอพฯ สุดฮิต และเป็นจุดเรียนรู้วิถีชุมชนที่หากเมื่อสูญสลายไปแล้ว ก็ยากจะเรียกร้องให้กลับคืน
จากกรณี ‘ป้อมมหากาฬ’ ที่เรื้อรังมานานกว่า 25 ปี เพื่อเปลี่ยนชุมชนริมป้อมเป็นสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองกรุงโดยคำสั่งของ กทม. ทั้งๆ ที่นักวิชาการและคนในชุมชนคัดค้านไม่เห็นด้วย จนต้องผนึกกำลังต่อสู้และกลายเป็นข่าวดังระยะหนึ่ง เนื่องจากชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นอีกตัวอย่างชุมชนที่ ‘ถูกกลืนหาย’
แม้จะมีการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมมากขึ้น แต่ไทยยังคงขาดกฎหมายและความชัดเจนในการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับการสูญสลายหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของมรดกทางสถาปัตยกรรมในชุมชนดั้งเดิม นำมาซึ่งการสูญเสียคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกรากเหง้าและพัฒนาการของท้องถิ่น ตลอดจนคุณค่าทางเศรษฐกิจในฐานะแหล่งทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก
“คุณรู้ไหมครับ ประเทศไทยกำลังสูญเสียชุมชนอันทรงคุณค่า ปีละ 3–4 แห่ง ในขณะที่ญี่ปุ่น มีแต่จะเพิ่มขึ้น 3–4 แห่ง แซงประเทศอื่นๆ ไปหมด เพราะเขาใช้วิธีที่เรียกว่า DENKEN”
“แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราอาจถึงขั้นหนักหายไปอย่างน่าตกใจ 7-8 แห่งต่อปีเลยทีเดียว”
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร กล่าว
DENKEN คืออะไร? ทำไมญี่ปุ่นถึงคิดสิ่งเหล่านี้ได้? หรือถึงเวลาที่เราควรเรียนรู้จากประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว ญี่ปุ่นเปลี่ยนย่านชุมชนทรงคุณค่าเป็นแหล่งพัฒนาการท่องเที่ยว แหล่งการเรียนรู้ เรียกเงินตราจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยไม่เสียอัตลักษณ์ดั้งเดิม
และนักวิชาการทั้งไทยและญี่ปุ่นเชื่อว่า “เราทำได้ ถ้าทำความเข้าใจมันจริงๆ”
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร ภาควิชาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในอาจารย์และนักวิชาการที่คลุกคลีกับสถาปัตยกรรมของประเทศญี่ปุ่นนานหลายสิบปี กระทั่งลงมือสังเคราะห์กระบวนความคิดอันแยบคายของชาวญี่ปุ่นด้วยงานวิจัย การประยุกต์ใช้แนวคิด DENKEN สู่การอนุรักษ์กลุ่มอาคาร สถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้างทรงคุณค่าภายในชุมชนดั้งเดิมของประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีน่าศึกษาต่อปรากฏการณ์การอนุรักษ์ที่ความเจริญของเมืองกำลังกลืนย่านอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่พวกเขามีกระบวนการจัดการแบบพิเศษ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังมีอัตราย่านทรงคุณค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศญี่ปุ่นกลับมีแต่จะ ‘เพิ่มขึ้น’ ในเขตอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
แต่ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราอาจขอปูข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า ความสำเร็จของชาวญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พวกเขาเกือบสูญเสียชุมชนอันทรงคุณค่าไปกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นของกระบวนการอนุรักษ์ที่เกิดจากการตื่นตัวในการรักษาอาคารบ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่กำลังถูกทำลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การอนุรักษ์ในช่วงแรกนั้นยังเป็นการอนุรักษ์ในลักษณะการบูรณะและเน้นรักษา ‘เฉพาะอาคารแบบหลังเดียว’ ทำแค่เป็นหลังๆ ไป หรือสถานที่สำคัญเพียงที่แห่งเดียว
กระทั่งแนวคิดค่อยๆ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนเป็นรูปธรรมในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ด้วยการผลักดันให้ท้องถิ่นออกระเบียบเฉพาะควบคู่ไปกับการพัฒนากฎหมายด้านการอนุรักษ์ที่กว้างออกไป ‘ครอบคลุม’ บริเวณและสภาพแวดล้อมจนประกาศเป็น ‘เขตพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์กลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิม’ หรือ Dentou-teki-KenzoubutsugunHozon-Chiku (伝統的建造物群保存地区) ในภาษาอังกฤษคือ District for Preservation of Group of traditional buildings สามารถเรียกย่อๆ ได้ว่า ‘Denken Chiku’ (伝建地区)
หรือย่อให้ติดปากอีกทีว่า DENKEN
ซึ่งแนวคิดครอบคลุมกลุ่มอาคารทางสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดสุนทรียภาพของพื้นที่นั้นๆ แนวคิดหลักจึงแตกต่างจากเดิมที่เน้นอาคารหลังเดียว แต่ให้ความสำคัญกับ ‘พลังของการรวมเป็นกลุ่มอาคาร’ ที่สามารถก่อให้เกิดผลด้านการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
The MATTER : อาจารย์ได้ยินคำว่า DENKEN ครั้งแรกเมื่อไหร่ และทำไมถึงสนใจวิธีคิดของชาวญี่ปุ่นชุดนี้
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : คำว่า DENKEN ผมได้ยินครั้งแรกจากเลกเชอร์อาจารย์ที่ญี่ปุ่น ขณะที่ผมเรียนอยู่ปี 3 เขาพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ชุมชน อนุรักษ์สถาปัตยกรรม ผมก็เริ่มสงสัยแล้วว่า มันหมายถึงอะไร ชื่อจริงๆ ค่อนข้างยาว แต่เขาย่อให้เหลือแค่ DENKEN ซึ่งเป็นระบบพิเศษของญี่ปุ่นที่มีการอนุรักษ์แบบไม่เหมือนใครเลย จีนไม่มี ไต้หวันไม่มี ยุโรปไม่มี อเมริกาไม่มี แนวคิดนี้มีเฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก เพราะชาวญี่ปุ่นชอบทำอะไรเป็นของตัวเองอยู่แล้ว จะด้วยความชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมมีโอกาสลงพื้นที่ที่ถูกประกาศว่าเป็น DENKEN เกือบ 20 กว่าแห่งจากทั้งหมด 100 กว่าแห่งทั่วญี่ปุ่น จนคิดว่าเราต้องศึกษามันอย่างจริงๆ จังๆ
The MATTER : หลักคิด DENKEN ดูจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย ญี่ปุ่นมีจัดระเบียบชุมชนเหล่านี้อย่างไร
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : ระบบ DENKEN มี 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ ขั้นตอนแรกนักวิจัยกับคนในชุมชนจะร่วมกันสำรวจพื้นที่ เพื่อเช็กว่าชุมชนตัวเองมีศักยภาพเหมาะสมที่จะขึ้นไปในระดับได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางหรือไม่ เงินที่รัฐช่วยหรือสนับสนุนนี้ แค่เพียงพอในการสำรวจ ยังไม่มีเงินช่วยเจ้าของซ่อมบ้านหรือเพียงพอให้เทศบาลท้องถิ่นเอาเงินไปปรับภูมิทัศน์รอบๆ ชุมชน หากขั้นแรกผ่าน รัฐบาลกลางจะลงทะเบียนชุมชนเขาว่า เป็น DENKEN จะเริ่มมีเงินสนับสนุนมาจากส่วนกลาง และจะมีคำว่า ‘ทรงคุณค่า’ ติดมาด้วย
การสนับสนุนยุคแรกๆ จะคล้ายกับเมืองไทยเลย คือสนับสนุนเพียงแค่อาคารเป็นหลัง ๆ เป็นพื้นที่เขตโบราณสถาน หรือเป็นศิลปวัตถุ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นดิ้นรนกับตัวเองมาก จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 เศรษฐกิจพุ่งขึ้นสูงอย่างรุนแรง การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม การพัฒนาความเป็นเมือง การพัฒนาการสัญจร (เรียกตามลำดับคือ Industrialization, Urbanization และ Motorization) เขาพุ่งแรงจนหยุดไม่อยู่ อะไรที่จะต้องตัดถนนผ่านก็ต้องทำเดี๋ยวนั้น ตัดทางรถไฟใหม่ ทำผังเมืองใหม่ จากเดิมที่เป็นบ้านเรือนที่มีลักษณะคดเคี้ยวไปมา ก็ต้องดัดให้มันตรง เป็นลักษณะ Grid system เพื่อทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปวางได้ง่ายขึ้น
แต่ในมุมของนักวิชาการเริ่มคุยกันแล้วว่า ความบูมของเศรษฐกิจกำลังกลืนหลายชุมชน เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่ควรส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน สิ่งเหล่านี้หายไปจากสารบบหมดเลย นักวิชาการเขาย้ำว่า ไอ้ที่ยังเหลืออยู่ถ้าปล่อยเรื่อยๆ คงจะหายไปแน่ๆ ทำอย่างไรที่ทำให้เราเก็บกลุ่มสถาปัตยกรรมเหล่านี้เอาไว้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้
นี่เองจึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนและตรากฎหมายประเภทมรดกวัฒนธรรมแบบ DENKEN
The MATTER : มีแหล่งท่องเที่ยวญี่ปุ่นยอดฮิตที่มีลักษณะของ DENKEN อย่างชัดเจนแหล่งไหนบ้าง
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : แหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่คนไทยนิยมเที่ยวญี่ปุ่นมากๆคือ ชิราคาวาโกะ (Shirakawa-go) เนี่ยแหละเป็น DENKEN ที่ดีมากๆ ลักษณะเป็นหมู่บ้านชาวนาบนทิวเขา มองออกไปมีทั้งนาและหุบเขาสวยงาม คนญี่ปุ่นหวงมาก เพราะเป็นมรดกโลกด้วย แต่คนไทยก็รู้จักดีมากๆ ปีนึงมีนักท่องเที่ยวราว 2–3 ล้านคน ซึ่งสถานที่นี้อยู่ในตัวชนบท
แต่ถ้าถามหาตัวอย่าง DENKEN ในเขตเมือง คือ กิออน (Gion) ย่านท่องเที่ยวยามราตรีของเมืองเกียวโต เป็นสถานบันเทิงสมัยก่อน มีสาวเกอิชาเดินสวยงาม มีคนมากินเหล้าหรือเลี้ยงรับรองแขก ซึ่งความจริงเขาได้เอาระบบ DENKEN เข้าไปช่วยทำให้ยังคงสภาพนั้นอยู่ได้ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ นี่คือพลังของ DENKEN
The MATTER : เป็นไปได้ไหมที่เราจะเอาวิธีคิดแบบ DENKEN มาจัดการกับชุมชนของเราบ้าง
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : ระบบ DENKEN คล้ายกับกฎหมายโบราณสถานของประเทศไทย ซึ่งในกฎหมายโบราณสถานจะเข้าไปขึ้นทะเบียนอาคารเป็นหลังๆ ถ้าถูกขึ้นทะเบียนแล้ว เจ้าของจะดัดแปลงทำอะไรค่อนข้างยาก ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็ต้องซ่อมแซมให้ดีขึ้นเหมือนในอดีตทั้งข้างในข้างนอก ลักษณะเช่นนี้สามารถขึ้นทะเบียนและรับเงินช่วยได้ (แต่ทุกอย่างต้องเหมือนเดิมหมด) เรียกว่าเป็นการควบคุม
แต่ที่ต่างจากของไทยคือ DENKEN ของญี่ปุ่นมองการอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่ ‘หลังเดียว’ เขาเชื่อในพลังของความเป็นกลุ่มก้อน อย่างถนนที่เคยเป็นถนนคดเคี้ยวเมื่อ 300–400 ปีก่อน ไม่ควรนำมาทำแปลงเมืองใหม่ หรือตัดเป็นเส้นตรง เขาต้องการจะเก็บทั้งเขตเอาไว้เลย
เทศบาลจะต้องได้รับเสียงส่วนมากจากชาวบ้าน ให้คนที่อยู่ในกรอบเส้นต้องยกมือเอาด้วยมากกว่า 50% เพื่อที่จะนำเสนอไปที่กรมศิลปากรญี่ปุ่นประทับตรา ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วย ถือว่าเสนอไม่ผ่าน ขณะนี้มีชุมชนที่ผ่านมาทั้งหมด 117 แห่ง แต่ความจริงต้องมีทั้งหมด 118 แห่ง มีอยู่แห่งเดียวที่ไม่ผ่านคือชุมชนหนึ่งในฮิโรชิมะ ซึ่งไม่ผ่านเรื่องประชาคม นี่คือตัวอย่างของญี่ปุ่นที่เน้นเรื่องประชาคมมากๆ
อาคารที่เข้ามาอยู่ในเขตนี้จะได้รับทั้งการควบคุมและการสนับสนุน จะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องคุยกับกรรมการหมู่บ้านก่อน เปลี่ยนได้เฉพาะภายในเพื่อให้กลายเป็นการอยู่อาศัยแบบใหม่ แต่เปลือกภายนอกถ้าจะซ่อม จะต้องคุยกับนักวิชาการเพื่อรักษาเปลือกภายนอกให้เหมือนเดิมมากที่สุด ยิ่งย้อนกลับไปไกลเท่าไรยิ่งดี แต่เขาให้เงินช่วยในส่วนนี้ บางรายได้เงินสนับสนุนสูงถึง 100% หรือบางหลังที่ไม่ใช่อาคารสำคัญมาก ก็จะลดมาเหลือเงินสนับสนุน 50% เป็นต้น
DENKEN คือการเก็บกลุ่มก้อนของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าให้รักษาอัตลักษณ์เดิมมากที่สุด
The MATTER : อาจารย์คิดว่าชุมชนในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น DENKEN ในแบบญี่ปุ่นบ้างหรือไม่
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : ปัจจัยร่วมใกล้เคียงระหว่างไทยและญี่ปุ่น เรามีฐานทรัพยากรของหมู่บ้านทั้งในเขตชนบทและในเขตเมืองที่ทรงคุณค่า ไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่ากัน นักวิชาการไทยลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี 1960–1970 เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เดิมทีกรมศิลปากรขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ตอนนี้ขึ้นกับกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว เรามีกรมศิลปากรที่เป็นหน่วยงานสำคัญที่ดูแลในส่วนนี้ เรามีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเข้ามาดูแลเกี่ยวกับเรื่องของเมืองเก่า เรามีกระทรวงท่องเที่ยวที่พร้อมเอาทรัพยากรที่เป็นมรดกวัฒนธรรมไปใช้อย่างมีคุณค่า เมืองไทยมีกระทรวงที่พร้อมหลายกระทรวงทีเดียว
ขณะที่ญี่ปุ่นมีกระทรวงเดียวคือ ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ที่มีกรมศิลปากรของญี่ปุ่นดูแลอยู่ แต่กฎหมายบ้านเราไม่ชัดเจนเหมือนญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘กฎหมายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม’ ในหมวดของ DENKEN ไทยมีเพียงแค่ พรบ. โบราณสถาน ครอบคลุมแค่อาคารเป็นหลังๆ กรมศิลปากรพยายามจะขยับตัวมาก เหมือนจะถีบตัวเองขึ้นไปได้แต่ก็ยังไม่พร้อม เพราะกฎหมายไม่ได้รองรับ
ในช่วงปี 2540 อาจารย์จากภาควิชาผังเมืองของคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มลงพื้นที่เลือกชุมชน ‘ตลาดริมน้ำอัมพวา’ ขึ้นมาเป็นชุมชนตัวอย่างในการอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีฐานกฎหมายรองรับ เพื่อบอกว่าการเก็บอาคารที่เป็นกลุ่มก้อนที่สร้างบรรยากาศเก่าๆ สามารถเพิ่มมูลค่า
เรามีทั้งเมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำพูน เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าน่าน ซึ่งในเมืองเก่านั้นมีกระจุกของกลุ่มอาคารที่ทรงคุณค่าอยู่ พร้อมจะขึ้นมาเป็น DENKEN แต่ต้องลงไปสำรวจชัดเจนว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ที่ลำปางมี ‘กาดกองต้า’ ถนนคนเดินเมืองลำปาง ผมเคยพาเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรของญี่ปุ่นไปลงพื้นที่ดู เขาบอกว่าถ้าพร้อมเมื่อไหร่ ใส่ DENKEN เข้าไปเลย พร้อมที่จะเป็น DENKEN ได้ตลอดเวลาผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น
The MATTER : สิ่งที่น่ากังวลคือชุมชนทรงคุณค่าของเรากำลังจะหายไป และหายไปในอัตรารุนแรง
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : ในกรณีประเทศไทยน่าหนักใจ ชุมชนทรงคุณค่าเหล่านี้ค่อยๆ หายไป ใกล้สุดคือฝั่งธนบุรี แถวคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย เดิมทีเป็นชุมชนริมน้ำที่สวยงามมาก หายไปกว่า 50% สิ่งที่น่าเสียดายที่ผมบอกไปว่าชุมชนเราจะลดไปปีละ 3–4 แห่ง เอาเข้าจริงเราอาจจะลดฮวบถึงปีละ 7–8 ก็เป็นไปได้ ถ้าเกิดไม่มีอะไรมารองรับตอนนี้
สิ่งที่เราพยายามขับเคลื่อนอยู่คือ เราพารมศิลปากรฝั่งญี่ปุ่นมาคุยกับกรมรมศิลปากรฝั่งไทย เป็น Stakeholder ต่างๆ มาพบกันให้มากที่สุด ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเจรจากันว่าจะลงนาม MOU เบื้องต้นหรือไม่ เพื่อขับเคลื่อนให้แนวคิด DENKEN ของญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทยอย่างเป็นทางการ
สุดท้ายกำลังพยายามผลักดันในเกิดกฎหมายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่แข็งแรงและครอบคลุมมากกว่าพระราชบัญญัติโบราณสถานปัจจุบันของไทยที่มีการอนุรักษ์เป็นหลังๆ
ในกลุ่มนักวิชาการจะผลักดันให้สังคมมองมรดกวัฒนธรรมเป็นมากกว่า ‘ของที่ต้องเก็บ’ แต่เป็นทรัพยากร (resource) ที่ใช้สอยได้ ใช้เป็นแหล่งศึกษา แหล่งท่องเที่ยว บูรณาการให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
The MATTER : แผนต่อไปคงต้องฝ่าฟันอีกมาก อาจารย์มีวิธีเติม passion อย่างไรกับความหลงใหลในสถาปัตยกรรม
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร : ผมจะหาโอกาสพานิสิตในรายวิชาอนุรักษ์ลงไปดูสถานที่จริงๆ หลายครั้งลงไปคลุกคลีทำ workshop กับนักศึกษาประเทศญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนความคิดและอยู่ในบรรยากาศของพื้นที่จริง พวกเขาจะซึมซับสิ่งนี้เข้าไปเรื่อยๆ ต่อไปเขาจะไม่ดูอาคารเป็นหลังๆ แต่จะเห็นว่าอาคารแต่ละหลัง ถนนแต่ละเส้น ต้นไม้แต่ละต้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ต้องมองเป็นภาพรวม ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม เรามีความรู้สึกว่า มันเป็นภาระหนึ่งที่ต้องตอบโจทย์สังคม แล้วบังเอิญผมมีดาบอยู่ในมือ ผมไปยื่นให้ใครไม่ได้ ผมต้องเอาดาบนี้ฟันลงไปให้เกิดการเปลี่ยน สร้างความโดดเด่นให้แก่พื้นที่
ดังนั้นการได้เห็นสิ่งเก่าๆ ที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น ‘มีชีวิต’ ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นการเติมเต็มความสุขได้ในระดับหนึ่ง
ขอขอบคุณ
ผศ.ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร
ภาควิชาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)