ความรู้สึกของการได้แต่งบ้านนั้นยากที่จะอธิบาย
ยังไม่ต้องพูดถึงการทุบหรือการต่อเติม หรือแม้แต่การซื้อ แต่ลองนึกถึงความรู้สึกของเราตอนที่วันดีคืนดีเราเลือกหันโต๊ะทำงานของเราไปอีกทางหลังจากมันตั้งอยู่ทางเดิมมานาน เปลี่ยนวิวที่เราเห็น วิธีที่แสงแดดตกกระทบโต๊ะไม้ตัวเดิมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา แม้แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยที่สุดในการแต่งบ้านสามารถส่งผลกระทบกับใจเราอย่างบอกไม่ถูก ความเปลี่ยนแปลงเช่นการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงจากไฟเพดานไปสู่โคมไฟตั้งพื้น การเติมม่านโปร่ง (Day Curtain) ที่ช่วยทำให้ชีวิตเวลากลางวันของเราเปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่การเติมพรมผืนเดียวที่เปลี่ยนความรู้สึกของทั้งห้อง
มากไปกว่านั้น การตัดสินใจซื้อของชิ้นใหญ่สักชิ้น เช่น โซฟามือสองสไตล์ที่เราตามหามานาน เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มที่ยาวไปกว่าการพุ่งพล่านของโดปามีนในการได้เสียเงินซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง แต่เป็นการเติมเต็มอย่างยาวนานจากหลายๆ ขั้นตอน การได้สัมผัสวัสดุ การได้เห็นสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงห้องของเรา ผ่านสี ผ่านกลิ่น ผ่านการมีอยู่ของมัน รวมถึงความรู้สึกมั่นคงที่มากกว่าแค่คำว่าโซฟา ราวกับว่ามีเวทมนตร์บางอย่างอยู่ในการแต่งบ้าน แต่มันคืออะไรกัน?
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยนั้นเป็นสิ่งน่าสนใจ มันตั้งอยู่บนหลากหลายปัจจัยที่ทั้งจับต้องได้และไม่ได้ การใช้สอย รูปลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และความรู้สึก ฯลฯ ความรู้สึกของเราที่อยู่ในบ้านวัยเด็กนั้นแตกต่างออกไปจากคอนโดที่เราเช่าอยู่เสมอ และไม่ใช่เพียงเพราะความรู้สึกหรือความทรงจำที่เราผูกเข้ากับพื้นที่นั้น แต่ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะของพื้นที่นั้นๆ เองด้วย
บทความวิชาการที่รวบรวมผลกระทบของการออกแบบภายในต่อมนุษย์คือ The Influence of interior design on house โดย อาเมียร์ คาสรา เอเทชามี (Amir kasra Ehteshami) สถาปนิกชาวอิหร่าน บทความดังกล่าวพาเราไปดูเกี่ยวกับวิธีที่หลากหลายปัจจัยในการออกแบบภายในที่จะส่งผลกระทบกับมนุษย์ และมุมมองของมนุษย์ต่อพื้นที่ ผ่านการรวบรวม ร้อยเรียงงานวิจัยและผลงานวิชาการอื่นๆ เข้ามาอยู่ในงานเขียนชิ้นเดียว
โดยผู้เขียนพาเราไปดูตั้งแต่พื้นฐานที่สุดที่การวางผังและพื้นที่ของบ้าน จิตวิทยาของสี การออกแบบแสง เฟอร์นิเจอร์ ไปจนวัสดุจากธรรมชาติ
- เรามักมองข้ามโครงร่างพื้นฐานของบ้าน เช่น กำแพง ผนัง หน้าต่าง ประตู ฯลฯ เนื่องจากเรามักมีมุมมองต่อมันว่าสิ่งเหล่านี้คือพื้นหลังเท่านั้น ตัวเอกคือเฟอร์นิเจอร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการใช้หน้าต่างและประตูนั้น มีประสิทธิภาพมากๆ ในการสร้างพื้นที่ที่เชื่อมโยงต่อกัน มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ กำหนดทิศทางของทุกสิ่งอื่นๆ ในบ้าน และพาให้เรารู้สึกเชื่อมโยงหรือตัดขาดจากสิ่งรอบๆ พื้นที่นั้นๆ ได้ตามการใช้งานของบ้าน
- ความมืดและสว่างของสีทำให้เรารู้สึกว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งกว้างขึ้นหรือแคบลง สีที่สว่างและไม่ฉูดฉาดทำให้ห้องดูกว้างขึ้น สีมืดและฉูดฉาดทำให้ห้องดูแคบลง เนื่องจากวิธีการที่สีทำงานกับแสงและวิธีการที่สมองของเราตีความมัน หากสีของห้องสว่างก็จะทำให้แสงสามารถกระจายไปทั่วห้อง และสมองของเราอ่านสีเหล่านั้น ว่ามันคือสีที่ผลักตัวเองออกจากผู้มอง ทำให้เพดานดูสูงขึ้น ตรงกันข้าม สีเข้มและมืดดูดแสง ก็เป็นสีที่ให้ความรู้สึกราวกับว่ากำลังเดินเข้าหาผู้มอง ห้องมืดจึงดูเล็กลง
- แสงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องได้รับการออกแบบด้วย ทั้งในเชิงการใช้สอยเพื่อให้เราสามารถมองสิ่งต่างๆ ในบ้านของเราได้อย่างชัดเจน หรือใช้เป็นการเน้นหรือซ่อนสิ่งต่างๆ
- การจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ในบ้านสามารถปรับแปลงพฤติกรรมและจิตวิทยาของของผู้ใช้พื้นที่นั้นๆ ได้ เช่น หากต้องการให้ห้องเป็นพื้นที่ศูนย์รวมของคน หรือเป็นพื้นที่แบ่งแยกคนออกจากกัน ต้องคิดตั้งแต่วิธีการจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ไปเลย และมากไปกว่านั้น วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละบ้านจะส่งผลกระทบต่อวิธีที่เราจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ และวิธีที่แขกต่างวัฒนธรรมมองการจัดพื้นที่ของเราด้วย
- วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้จริง อิฐ หรือหิน นอกจากจะให้ความรู้สึกที่ต่างกันแล้ว ยังสามารถสร้างความหมายแฝงได้ในแหล่งที่มาของมัน การใช้วัสดุที่มาจากท้องที่ที่บ้านตั้งอยู่ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้วัสดุที่นำเข้ามาจากที่ห่างไกล ก็สามารถสร้างความแปลกตาและแปลกแยกให้กับบ้านได้
ในบทความนี้พาเราไปดูปัจจัยและองค์ประกอบข้างต้นเพื่อบอกว่าการออกแบบพื้นที่ใดๆ นั้น เราไม่อาจออกแบบมันแยกส่วนจากกันได้ แต่ต้องมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องต่อกัน แต่เราสามารถไปกันต่อได้อีกขั้นหนึ่ง เพียงการลิสต์องค์ประกอบเหล่านี้ออกมา เราจะเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มองอะไรต่างๆ เพียงแค่สิ่งที่มันเป็น กำแพงสีขาวไม่ใช่กำแพงสีขาวเท่านั้น การหันหน้าของโซฟาและวิธีที่เราวางพรมสามารถสร้างโซนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เราสื่อสารธรรมเนียมของเราผ่านการออกแบบบ้านโดยไม่ต้องตะโกน วัสดุแต่ละอย่างให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป สัมผัสของการเดินบนไม้ปาร์เกต์และพื้นลามิเนตนั้น แม้เราจะสัมผัสมันด้วยฝ่าเท้า เรารู้สึกมันขึ้นไปถึงใจและสิ่งนี้มีความหมาย
คงปฏิเสธยากว่ามูฟเมนต์การออกแบบที่เป็นที่พูดถึง และทำตามอย่างแพร่หลายที่สุดในตอนนี้ คือสไตล์การออกแบบภายใน Mid-Century Modern สไตล์การออกแบบที่มักใช้เรียกการออกแบบใต้ลัทธิโมเดิร์นนิสม์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากทั้งการออกแบบเบาเฮาส์ และสถาปัตยกรรมสแกนดิเนเวียกับบราซิล โดยเป็นสไตล์ที่วางอยู่บนปรัชญา Form Follows Function หรือประโยชน์ใช้สอยต้องมาก่อนรูปแบบ
ด้วยปรัชญาดังกล่าวอยู่ที่ศูนย์กลาง สไตล์นี้จึงมีลักษณะเด่นที่ว่า ทุกสิ่งในบ้านจำเป็นต้องมีหน้าที่ใช้สอย และไม่ใช่มีอยู่เพื่อเป็นการประดับตกแต่ง มากไปกว่านั้น แปลว่านักออกแบบที่ยึดโยงกับสไตล์นี้อาจต้องคำนึงลงไปลึกกว่าหน้าตาของพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ แต่ต้องนึกไปถึงวิธีการทำให้สิ่งที่พวกเขาออกแบบนั้นอยู่คงทน ทั้งในแง่ของโครงสร้างที่แข็งแรง วัสดุที่จะอยู่ทนข้ามเวลาได้ และการออกแบบที่จะไม่เชยไปกับกาลเวลา นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เรามักพบเห็นผู้ที่ชื่นชอบและติดตามในสไตล์การออกแบบนี้ จะคอยเฟ้นหาเฟอร์นิเจอร์สไตล์ดังกล่าวแบบมือสองอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าจะอายุมากและราคาสูง แต่มันจะคุ้มค่าเพราะดีไซน์จำพวกนี้อยู่ทนเหนือกาลเวลาอย่างแน่นอน
อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจสงสัยว่า พูดถึง Mid-Century Modern ทำไม? คำตอบคือด้วยความนิยมของมันที่กลับมาพุ่งสูงในช่วงนี้เป็นพิเศษนั้นอาจแฝงอยู่ด้วยความหมาย เรารู้แล้วว่าการออกแบบที่อยู่อาศัยของเราสามารถสะท้อนตัวตนของเราได้ เช่นนั้นแล้ว ปรัชญาการออกแบบโมเดิร์นนิสม์ที่เน้นความคงทน ความไม่เก่า และที่สำคัญคือการไม่ติดร่างแหเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มันอาจจะกำลังบอกว่าเราจำนวนมากไม่ได้อยากเพียงตกแต่งที่อยู่อาศัย แต่เรากำลังต้องการที่จะมองบ้านเป็นสิ่งที่คงทนถาวร เป็นที่ที่เราอยู่อาศัย เริ่มตัดทอนวัตถุที่ที่ไม่จำเป็น เหลือไว้เพียงสิ่งที่ส่งเสริมการมีอยู่ของเราเท่านั้น
นั่นเองอาจเป็นสิ่งที่เติมเต็มหัวใจของเราเมื่อเราตกแต่งบ้าน การพบเจอพื้นที่ที่เราสบายใจพอจะบอกว่าเป็นที่ของเรา และพร้อมที่จะมองเข้าไปข้างในตัวเองเพื่อหาคำตอบว่าเราจะตกแต่งมันยังไงให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นเรามากไปกว่านี้ ซึ่งในขวบปีของการเติบโต เราต่างไขว่คว้าหาพื้นที่ของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งทางกายภาพ หรือทางจิตใจ และเช่นเดียวกับทุกอย่างในที่อยู่อาศัยของเรา
บางทีโซฟาก็ไม่ใช่แค่โซฟา แต่มันเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่บอกว่าเราเจอที่ที่เราเรียกว่าบ้านได้แล้ว
อ้างอิงจาก