ชีวิตเรายังมีจุดหมายอยู่ไหม ถ้าถูกถามคำถามนี้ ก็อึ้งๆ ไปเหมือนกันเนอะ แต่นักวิจัยบอกว่า การที่เรามีจุดหมายในชีวิตไม่ได้เป็นแค่เรื่องปรัชญานามธรรม แต่ยังส่งผลกับร่างกายและพฤติกรรมของเราในแง่บวกด้วย
‘เรามีชีวิตเพื่ออะไร’ นั่นสิ บางทีใช้ชีวิตให้รอดไปวันๆ ก็โอเคแล้ว เป้าหมายที่เรามีค่อยๆ ถูกลดทอนกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้น แต่ในโลกนี้ก็ยังมีคนที่สามารถรักษาเป้าหมายสำคัญในชีวิตไว้ได้อย่าง เราจะมีชีวิตเพื่อครอบครัว เพื่อสร้างสรรค์ผลงานดีๆ เพื่อเงิน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
ประเด็นเรื่องจุดหมายในชีวิตถือว่าเป็นสิ่งที่นักคิดโบราณเองทั้งหลายครุ่นคิดถึง ในโลกสมัยใหม่ Viktor Frankl ถือเป็นคนที่จุดประเด็นว่า ‘การมีจุดหมายในชีวิต’ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัยทางสุขภาพ เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตที่ดี Frankl เป็นจิตแพทย์ชาวยิวที่รอดชีวิตมาจากค่ายกักกันนาซี คุณหมอท่านนี้บอกว่าการที่เขายังรักษาเป้าหมายของชีวิตไว้เป็นตัวช่วยที่ทำให้เขารอดออกมาได้ ดังนั้นแกเลยเชื่อและเสนอว่าการมีเป้าหมายในชีวิตถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นแกนของการมีสุขภาพที่ดี การที่เรายังมีความต้องการอะไรบางอย่างอย่างแรงกล้า และยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราทำสิ่งดีๆ ต่อคนอื่นด้วย
หลังจากนั้นการมีเป้าหมายในชีวิตเลยกลายมาเป็นจุดสนใจในทางการแพทย์และการมีชีวิตที่ดี ในปี 1960 นักวิจัย Crumbaugh และ Maholick พยายามทำให้เจ้าจุดหมายชีวิตมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการสร้างชุดคำถาม 20 ข้อ ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในคำถาม 20 ข้อนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือเชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นอย่างสุ่มๆ หรือมีจุดมุ่งหมายบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ส่วนที่สองเชื่อว่าการกระทำของตัวเองมีผลกับโลกไหม ส่วนสุดท้ายคือถามว่าชีวิตส่วนตัวมีจุดหมายหรือเปล่า ซึ่งแบบสอบถามนี้ก็ถูกเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินในการศึกษาและในทางการแพทย์ต่างๆ ในชั้นหลัง
มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าคนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต มีความเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพแข็งแรง งานศึกษาในปี 2016 พบว่าคนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ค่อยมีจุดหมายมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า นักวิจัยบอกว่าผลสัมพัทธ์ระหว่างการใช้ชีวิตอย่างมีจุดหมายกับความแข็งแรงทางกายนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนในประเทศไหน หรือมีจุดมุ่งหมายในชีวิตว่าอะไร ซึ่งนักวิจัยและนักจิตวิทยาก็ให้คำอธิบายว่า ถ้าเราใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมาย เราก็มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตด้วยความระวัง ใช้ชีวิตอย่างถนอม ดูแลตัวเองและคนอื่นไปด้วย
ล่าสุดงานศึกษาในปี 2017 กลับมาให้ความสนใจกับการค่อยๆ แก่ตัวลง ผลพบว่าการที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีจุดหมายในชีวิตมีความเชื่อมโยงกับกายภาพ และทำให้แก่ตัวลงอย่างแข็งแรง ในงานศึกษาตีพิมพ์ใน JAMA Psychiatry บอกว่าผู้สูงอายุที่ยังมีเป้าหมาย มีแนวโน้มที่จะมีความแข็งแรงของอุ้งมือมากกว่า เดินเร็วกว่า ซึ่งสองสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความถดถอยทางร่างกายและนำไปสู่ความพิการ แปลง่ายๆ ว่าใจที่ยังมีเป้าหมาย ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่จะแก่ตัวลงอย่างแข็งแรง
นอกจากงานวิจัยข้างต้นยังมีงานศึกษาจำนวนมากที่เชื่อมโยงการใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมายว่ามีผลเชิงบวกกับร่างกาย ซึ่งจริงๆ ก็คงเป็นไปตามข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ถ้าเรามีจุดหมาย ไม่ได้ใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย ก็มีแนวโน้มที่เราจะดูแลร่างกายและจิตใจมากกว่า ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างการมีจุดหมายในชีวิตที่ดูเป็นเรื่องความคิดและทัศนคติ ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกายของเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก