วงการวิทยาศาสตร์ ไอที เป็นพื้นที่ของผู้ชาย เพราะ “ผู้ชายใช้เหตุผล ผู้หญิงใช้อารมณ์” เราได้ยินแบบนั้นอยู่บ่อยๆ ใช่ไหม อคติทางเพศที่บอกว่าเพศชายมักคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล ใช้สมองฝั่งตรรกะได้ดีกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงน่ะอ่อนไหว ละเอียดอ่อน ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ปัจจุบันปี 2024 แล้ว เราเชื่อจริงๆ ไหมว่าอะไรเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับเพศของคนคนนั้นจริงๆ?
ผู้หญิงได้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในนิวซีแลนด์ เมื่อปี 1893 จากการล่ารายชื่อร่วม 30,000 กว่ารายชื่อเพื่อให้ได้รับสิทธิเหมือนที่ผู้ชายได้รับ ที่อเมริกาจากการเรียกร้องกันมาอย่างยาวนานนับ 100 ปี ในที่สุดผู้หญิงก็รับโอกาสในการเลือกตั้งสำเร็จในปี 1920 ทั้งที่การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกใบนี้ แต่ทำไมผู้หญิงกลับเพิ่งมามีสิทธิมีเสียงจากการเรียกร้องให้ตนเองเมื่อไม่นานนี้
แม้แต่ในระบบการศึกษา แมรี่ เจน แพตเตอร์สัน (Mary Jane Patterson) ก็เป็นผู้หญิงในอเมริกาคนแรกที่ได้รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1862 นั่นหมายความว่าก่อนหน้านั้น ผู้หญิงต้องผ่านทั้งช่วงเวลาที่ไม่มีแม้แต่สิทธิเรียนหนังสือ หรือเรียนแล้วแต่ไม่ได้วุฒิการศึกษา
นั่นก็เพราะมายาคติที่เชื่อว่าเรื่องบางเรื่อง สงวนไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น เมื่อเราต่างเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ มีวันที่คิดทุกอย่างถี่ถ้วนเป็นเหตุเป็นผล และวันที่อ่อนแอจนอารมณ์มีผลกับใจเราทั้งนั้น ทำไมความคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือใช้อารมณ์ กลับถูกผูกขาดเอาไว้ที่เพศใดเพศหนึ่งกันนะ
และมายาคติเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในคูหาเลือกตั้งหรือในห้องเรียน มันลามไปถึงการทำงาน การวิจัย การค้นพบ นวัตกรรมต่างๆ ที่หลายครั้งมีผู้หญิงอยู่เบื้องหลัง แต่กลับไม่ได้รับเครดิต วันนี้ The MATTER เลยจะพาทุกคนมาส่องเบื้องหลังวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอะไรบ้างที่ค้นพบหรือพัฒนาโดยผู้หญิง
พัฒนาคอมไพเลอร์ และเจอการติดบั๊ก โดย Grace Hopper
แม้จะเริ่มต้นการทำงานในฐานะทหารเรือกองกำลังสำรอง แต่ด้วยดีกรีปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล เกรซ ฮอปเปอร์ (Grace Hopper) จึงเป็นกำลังสำคัญให้กับทีม Mark I ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เครื่องแรกของสหรัฐที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการทหาร และเธอยังคงมีบทบาทให้กับทีมเรื่อยมาจนถึง Mark II เพราะเธอค้นพบแมลงตัวจ้อยที่ติดอยู่ที่รีเลย์ของเครื่อง จนกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘debug’ ที่หมายถึงการแก้ไขสิ่งผิดพลาดในระบบคอมพิวเตอร์นั่นเอง
นอกจากค้นพบบั๊กแล้ว สิ่งที่เกรซค้นพบที่กลายมาเป็นคุณูปการต่อวงการคอมพิวเตอร์ คือ การพัฒนาคอมไพเลอร์ โปรแกรมที่แปลภาษาให้คอมพิวเตอร์เข้าใจอีกทอดหนึ่ง ในชื่อ A-0 System ที่กลายมาเป็นรากฐานของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และพัฒนาไปเป็นภาษา COBOL (Common Business-Oriented Language)
ค้นพบโครงสร้างรูปเกลียว DNA โดย Rosalind Franklin
เมื่อปี 1953 ชื่อของ เจมส์ วัตสัน (James Watson) และ ฟรานซิส คริก (Francis Crick) ถูกจดจำในฐานะผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ จากผลงานการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของ DNA แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะก้าวไปสู่การค้นพบอันยิ่งใหญ่นั้นได้ ทั้งคู่อาศัยองค์ความรู้จาก Photo 51 ภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ของ DNA ที่แสดงให้เห็นว่า DNA มีลักษณะเป็นเกลียวคู่ ซึ่งภาพถ่ายนั้นเป็นฝือมือของ โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)
เธอได้ทดลองเพิ่มและลดความชื้นระหว่างใช้กล้องเอ็กซเรย์ จึงได้รู้ว่า DNA มี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ โครงสร้างเป็นผลึก (crystalline DNA) และ โครงสร้างแบบเปียก (wet DNA) ซึ่งโครงสร้างแบบเปียกจะยืดขยายตัวออกมา จนเธอได้ภาพ DNA ที่ชัดเจนออกมา ต่อมาภาพนี้ตกไปอยู่ในมือของวัตสันและคริก และกลายมาเป็นข้อยืนยันที่ช่วยให้พวกเขามั่นใจว่า DNA จะมีลักษณะใด โดยที่โรซาลินด์เองไม่รู้มาก่อนว่ารูปของเธอถูกนำไปใช้ เพราะชื่อของเธอไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมค้นพบด้วยซ้ำ
ค้นพบและพัฒนาเส้นใย Kevla โดย Stephanie Kwolek
สเตฟานี คโวเล็ก (Stephanie Kwolek) นักเคมีของบริษัท DuPont รับผิดชอบด้านการวิจัยหาเส้นใยที่แข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบาสำหรับยาง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอค้นพบเส้นใยชนิดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเหล็ก ไม่ขาดง่ายเหมือนไนลอน ด้วยพันธะไฮโดรเจนระหว่างโมเลกุล จนได้เป็นเส้นใยสีเหลืองที่มีชื่อว่า Kevla เผยโฉมแรกต่อโลกในปี 1970 หลังจากนั้นมา Kevla ถูกพัฒนาเรื่อยๆ จนเป็นเส้นใยที่เหนียว ทนทาน และน้ำหนักเบา ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ Kevla ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะน้ำหนักเบาสำหรับตำรวจและทหาร หุ้มสายเคเบิ้ลใยแก้วใต้ทะเล ชุดป้องกันสำหรับนักกีฬาและนักวิทยาศาสตร์ เรือแคนู หรือแม้แต่เครื่องใช้ในครัวอย่างกระทะ
ในปี 1994 ชื่อของเธอได้อยู่ในหอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติ ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนที่ 4 จากทั้งหมด 113 คนในขณะนั้น และรับ Perkin Medal รางวัลด้านวงการเคมี ในปี 1997 ก่อนถูกเสนอชื่อเข้าสู่ National Women’s Hall of Fame ในปี 2003
พัฒนาต้นกำเนิดของ WiFi และ Bluetooth โดย Hedy Lamarr
โลกอาจจดจำเธอได้ในฐานะดาราฮอลลีวูด แต่ชีวิตในอีกด้านของเธอ กลับเต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องเทคโนโลยี เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr) และ จอร์จ แอนธีล (George Antheil) ได้ร่วมกันพัฒนา ‘Secret communications system’ โดยใช้วิธี Frequency hopping สลับความถี่สัญญาณวิทยุเพื่อหลบหลีกสัญญาณรบกวน สร้างรหัสที่ไม่สามารถถอดรหัส เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อความลับถูกดักจับได้ จนได้รับสิทธิบัตรในปี 1942 หลังจากนั้นเธอมอบเทคโนโลยีนี้ให้กับกองทัพสหรัฐนำทางตอร์ปิโดใต้น้ำโดยไม่ถูกตรวจจับ และเทคโนโลยีที่เธอคิดค้นนี้ กลายมาเป็นต้นแบบของการสื่อสารแบบไร้สาย ไม่ว่าจะเป็น Wifi Bluetooth หรือ GPS ที่เราใช้กันในทุกวันนี้
คิดค้นที่ปัดน้ำฝนรถยนต์ โดย Mary Anderson
ในวันที่หิมะตกหนัก จนคนขับต้องชะโงกหัวออกไปปัดหิมะที่บดบังทัศนวิสัยแบบอัตโนมือ แมรี่ แอนเดอร์สัน (Mary Anderson) กลับบ้านมาครุ่นคิดถึงวิธีที่จะช่วยให้การทำความสะอาดกระจกหน้ารถระหว่างเดินทางง่ายและปลอดภัยมากขึ้น เธอเริ่มร่างภาพในหัวออกมา หน้าตามันเป็นอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้นี่แหละ ก้านทำความสะอาดที่กวาดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ควบคุมโดยคนขับจากด้านในรถ
เธอก็ได้จดสิทธิบัตรในปี 1903 แต่น่าเศร้าที่ในปีนั้น รถยนต์ส่วนตัวยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่นัก เธอพยายามขายไอเดียนี้ให้กับบริษัทหลายแห่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด จนสิทธิบัตรของเธอสิ้นสุดลงในปี 1920 หลังจากนั้นไม่นาน Cadillac ก็เริ่มติดตั้งที่ปัดน้ำฝนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับรถยนต์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เหลือก็รับเอานวัตกรรมนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก