หมึกยักษ์ (Octopuses) และหนวดอันพะรุงพะรังของมัน คืออัจฉริยะแห่งท้องทะเลที่ไม่มีใครเทียบติด มันเป็นสิ่งมีชีวิตสุดพิลึกที่ล้ำหน้ากว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังใดๆ และวิวัฒนาการอันยอดเยี่ยมก็ทำให้มันพกพาความฉลาดอันซับซ้อนมาจากบ้าน
‘นิวรอน’ หรือ เซลล์ระบบประสาทของหมึก อยู่ในหนวดทั้ง 8 เส้น ทำให้หนวดแต่ละเส้นสามารถตัดสินใจได้เอง โดยปราศจากการประมวลผลของสมอง การเคลื่อนไหวทั้งการแหวกว่ายและการสังหารเหยื่อจึงเป็นอิสระต่อกันอย่างสิ้นเชิง
ความน่าอัศจรรย์ของมันสมองหมึก ทำให้เราไม่สามารถเอาแนวคิดสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังไปตีความได้ มันมีทั้งความทรงจำระยะสั้นและความทรงจำระยะยาว ที่สำคัญมันยังสามารถจดจำใบหน้าคุณได้
ใช่แล้ว คุณคนเดียวเท่านั้น! อย่าทำให้มันโกรธล่ะ เพราะมันพร้อมจะแก้แค้นคุณให้สาหัส!
รอยดูดบนผิวกาย จากปลายหนวด
ครั้งล่าสุดพวกเราไปเยือนพิพิธภัณฑ์ทางทะเลกันเมื่อไหร่? หลายคนอาจชื่นชอบโลมาที่น่ารักดูสดชื่น ปลาฉลามตัวเขื่องอันเปรียบเสมือนราชสีห์แห่งท้องทะเล แต่คนจำนวนไม่น้อย (รวมทั้งผู้เขียน) กลับหลงใหลอัจฉริยะหาตัวจับยากตัวจริงเสียงจริง ที่ไม่ค่อยอยากอวดโฉมให้ใครเขาเห็น ไม่อยากตกเป็นเป้าสายตาใคร หลบนิ่งอย่างใคร่ครวญหลังก้อนหินอันกลมกลืน แม้หน้าตาจะไม่น่าเอ็นดูเหมือนดารารายอื่นๆ แต่เจ้าหมึกหนวด กลับพกพามนต์เสน่ห์ระดับน้องๆ สายลับมือพระกาฬ มันนิ่งงันและพร้อมสังหารได้ทุกเมื่อจากไหวพริบที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดเทียบเคียงได้
คุณต้องใจเย็นเสียหน่อยหากจะต่อกรกับมัน แม้คุณจะมีเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม ประสบการณ์ล่าสุดระหว่างผมกับหมึกยักษ์ (Octopus) คือจังหวะที่มันกำลังบีบรัดนิ้วมือด้วยพละกำลังของหนวด ปุ่มสุญญากาศนับร้อยดูดผิวหนังของผมจนเป็นจ้ำ หนวดหมึกเต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ประสาทที่ไวต่อสิ่งเร้า และมันรู้ว่าผมคงไม่ใช่เพื่อนที่ดี
หมึกยักษ์ หรือ หมึกสาย (Octopus) และญาติๆ ของมันอย่าง ‘หมึกกล้วย’ และ ‘หมึกกระดอง’ คือนิยามแห่งไหวพริบของท้องทะเล มันคือกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ชาญฉลาดเหนือการรับรู้ของพวกเรา มีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้บรรพบุรุษที่ใกล้ชิดที่สุดก็ยังมีอายุมากกว่า 2 เท่าของอาณาจักรไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นประจักษ์แล้วว่าคอนเซปต์ของวิวัฒนาการของหมึกนั้น แตกต่างจากสัตว์อื่นๆโดยสิ้นเชิง ทำให้ความฉลาดของมันใกล้เคียงกับ ‘สัมปชัญญะต่างดาว’ เป็นที่สุด
สมองแห่งท้องสมุทร
หมึกยักษ์ หมึกกล้วย และหมึกกระดอง จัดเป็นสัตว์น้ำในกลุ่มมอลลัสก์ ชั้น Cephalopoda ร่วมกับญาติของมันที่สูญพันธุ์ไปแล้วนานโขอย่าง ‘แอมโมไนต์’ (Ammonite) แต่หลักฐานทางฟอสซิลของเจ้าเหล่าหมึกนั้นมีการค้นพบน้อยมาก (จนถึงน้อยที่สุด) สาเหตุจากร่างกายของมันประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีส่วนแข็ง ยกเว้นเพียงจะงอยปาก ทำให้ซากของมันถูกเก็บรักษาผ่านกาลเวลาได้ไม่ดีนัก
ปัจจุบันมีการสำรวจว่า หมึกน่าจะมีอยู่ตามธรรมชาติ ณ ขณะนี้ 300 สปีชีส์ จาก 1,000 สปีชีส์ พวกมันเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 550-600 ล้านปีก่อน บางชนิดมีขนาดจิ๋วหลิวเท่านิ้วก้อย หรืออาจมีขนาดใหญ่ยักษ์ น้ำหนักรวมถึง 100 ปอนด์ โดยที่วัดจากปลายหนวดด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านซึ่งอาจยาวถึง 20 ฟุต ถ้าขนาดนี้ก็ต้องเรียกว่า ‘ยักษ์’ แล้ว
หลังจากผ่านเวลามาอย่างยาวนาน สัตว์น้ำในกลุ่ม Cephalopoda เริ่มมีวิวัฒนาการเข้าสู่ปัจจุบัน โดยการลดขนาดเปลือกแข็งหนาๆ ลง หรือไม่ก็ไม่มีเอาซะเลย เปิดโอกาสให้พวกมันมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ก้าวกระโดดกว่า สร้างโครงข่ายเซลล์ประสาทที่ซับซ้อน สมองใหญ่โตขึ้น แต่มันเจ๋งขนาดไหนหรือ? มีการพยายามหาคำตอบว่า มีเซลล์ประสาทหมึกอยู่ทั่วทั้งร่างกายราว 500 ล้านนิวรอน (มนุษย์มีมากกว่าที่ 1,000 ล้านนิวรอน) ปริมาณนิวรอนอันมหาศาลทำให้มันมีเซลล์ประสาทใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) หรือใกล้เคียงกับสุนัขเลยทีเดียว อยากลูบหัวไหมล่ะ?
แม้เรื่องขนาดของสมองจะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ‘จำเป็นหรือที่ขนาดจะกำหนดนิยามของระดับสติปัญญา’ ซึ่งในหลายกรณีมักใช้ไม่ได้ผล สมองของสัตว์แต่ละชนิดกลับมีกลไกการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์
‘เล็ก’ ก็ไม่ได้หมายความว่าโง่ แต่ ‘โต’ ก็ไม่ได้หมายความว่าฉลาด
สัตว์ปีกอย่างนกแก้วและอีกา มีปริมาตรสมองกระจิ๋วหลิว แต่พวกมันก็เป็นนักแก้ปัญหาตัวยงเช่นกัน ดังนั้นมาตรฐานการวัดความฉลาดเพียงแค่ค่าเดียวไม่สามารถสำรวจศักยภาพทางปัญญาของสัตว์ได้ทั้งหมด
คอนเซปต์ของความฉลาดจึงต้องนิยามให้แตกต่างตามธรรมชาติของสัตว์ที่มีความหลากหลาย คุณคงไม่คาดหวังให้หมึกทำหน้าที่แม่ค้าทอนตังค์ ไปซื้อเฉาก๊วย หรือทำโจทย์เลขเชาว์ปัญญาให้หลานที่บ้าน
แต่สมองของหมึกก็มีความน่าพิศวงอยู่ไม่น้อย มันต่างจากสมองของมนุษย์เราอย่างสิ้นเชิง หมึกยักษ์ไม่มีการบรรจุเซลล์ประสาทไว้ในก้อนสมอง แต่มันกลับกระจายนิวรอนไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว และนิวรอนส่วนใหญ่มักไปรวมตัวในหนวดของมันนั่นเอง
หนวดหมึกสัมผัสกับสภาพแวดล้อมต่างๆ หากมีการดูดเกิดขึ้น 10,000 นิวรอนที่ปลายหนวดจะส่งสัญญาณต่างๆ ไปทั่วร่างกายเพื่อบอกสถานะของสิ่งนั้นๆ ก่อให้เกิดเป็นความทรงจำระยะสั้น (Short Term memory) เพื่อให้มันจดจำได้ว่าสัมผัสอะไรไป เป็นภัย หรือเป็นมิตร
มีความพยายามทดสอบระดับสติปัญญาของหมึกในการทดสอบภายในห้องทดลอง แม้เราจะไม่ได้หาความชาญฉลาดแบบไอน์สไตน์ แต่หมึกก็สามารถแก้ปัญหาเขาวงกตได้ มันสามารถหาทางออกผ่านความกดดันทางสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ถาโถมใส่มัน เปิดขวดโหลที่ใส่อาหารไว้อยู่ภายใน หรือแม้กระทั่งหาทางออกจากขวดโหลเองโดยไม่มีใครคอยช่วยเหลือ แต่พวกมันเป็นสัตว์ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สักระยะ หนวดของมันจะต้องทำความคุ้นเคยจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ก่อน แต่ส่วนใหญ่หมึกมักแก้โจทย์ต่างๆ ได้เองเสมอ ในแบบฉบับของมัน
นักแหกคุกตัวยง ผู้เกลียดการถูกจองจำ
หากคุณเคยชมภาพยนตร์ขวัญใจเหล่าสัตว์ทะเลอย่าง Finding Dory (2016) คุณจะพบกับตัวละครหมึกเจ้าเล่ห์ที่พยายามหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อหนีจากอควาเรียมโดยไม่สนวิธีการ ในโลกแห่งความเป็นจริง หมึกมีทักษะเอาตัวรอดที่สูงและฉลาดเป็นกรดไม่ได้ลดหลั่นไปกว่ากัน
ในมหาวิทยาลัย Otago ภาควิชาสัตว์น้ำ หมึกยักษ์ของที่นั่นสร้างปัญหาอันน่าปวดหัวให้กับเหล่านักศึกษาทุกวัน โดยการ ‘พ่นน้ำ’ ใส่หลอดไฟจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร มันรู้วิธีการปิดไฟในแบบฉบับของมัน ในช่วงแรกๆ ไม่มีใครหาหลักฐานจับตัวผู้กระทำผิดได้ จนการเปลี่ยนหลอดไฟเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พวกเขาจึงตัดสินใจปล่อยมันลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติไป
หมึกยักษ์รู้จักการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ โดยเฉพาะในสถานะถูกกักขัง (Captivity) ถึงแม้หมึกจะดูนิ่งงันแต่มันไม่ใช่นักโทษที่สงบเสงี่ยมเจียมตัวเพื่อรับชะตากรรม
หมึกยักษ์สามารถจดจำหน้าตาสัณฐานของมนุษย์ได้ มันแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร แม้คุณจะใส่ชุดสีเดียวหรือแบบเดียวกันกับเพื่อนๆ แต่หมึกสามารถแยกออก มันจะจดจำคุณเป็นพิเศษ หากไปทำให้มันกวนอารมร์บ่จอย
ห้องแลบในมหาวิทยาลัย Otagon ที่เดิมในประเทศนิวซีแลนด์ หมึกในแท็งก์น้ำมีความบาดหมางกับเจ้าหน้าที่เทคนิคประจำแลปคนหนึ่งเป็นพิเศษ มันจะพ่นน้ำใส่เขาทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส โดยไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมมันถึงเกลียดเขาเป็นพิเศษ เพียงแค่เดินเฉียดแท็งก์เท่านั้น มันก็พ่นน้ำรดเสื้อผ้าเขาทันที
ในปี 2010 นักชีววิทยา Roland C. Anderson และทีมงานจาก Seattle Aquarium ได้ทำการทดลองกับหมึกยักษ์สายพันธุ์แปซิฟิก โดยให้ผู้ดูแล 2 คน ทำหน้าที่ บทใส และ บทโหด คล้ายกลยุทธ์ตำรวจ Good Cop & Bad Cop โดยคนหนึ่งจะดูแลปรนนิบัติเจ้าหมึกอย่างดีดุจญาติมิตร ส่วนอีกคนจะเอาไม้แยงกวนประสาทหมึกทุกครั้ง ผลปรากฏว่า หมึกยักษ์มีพฤติกรรมตอบสนองแตกต่างกันไปแต่ละคน ทั้งที่พวกเขาใส่ชุดสีเดียวกัน หรือนั้นหมายความว่า หมึกยักษ์สามารถแยกแยะว่าใครเป็นใครได้ แม้พวกเขาจะเป็นสัตว์ต่างสปีชีส์จากตัวมันก็ตาม
นักปรัชญา Stefan Linquist จากมหาวิทยาลัย Guelph ศึกษาพฤติกรรมหมึกมาร่วมแรมปี พวกเขาพบว่า ในแท็งค์อควาเรียมขนาดใหญ่ สัตว์จำพวกปลาส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตัวเองถูกจองจำในที่ผิดปรกติวิสัยของธรรมชาติ แต่ไม่ใช่สำหรับหมึก พวกมันรู้ซึ้งถึง สัญญาณการถูกจองจำ พวกมันจะออกสำรวจทุกตารางเซนติเมตรโดยใช้หนวดกวาดไปทั่ว ไปอุดรูช่องปล่อยน้ำ หรือหมุนวาวล์ต่างๆ หมึกสามารถรับรู้ได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นจับจ้องมันอยู่ มันจึงเลือกที่จะอยู่นิ่ง รอคอยให้พวกเขาเผลออยู่ในมุมอับลับสายตา มีรายงานบ่อยครั้งที่อควาเรียมหลายแห่งเกิดเหตุน้ำท่วมขัง หรืออะไรวุ่นๆ เสมอ โดยมีหมึกยักษ์เป็นผู้ก่อคดี
หมึกยังมีความสามารถอื่นๆ ที่มนุษย์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ครบถ้วน เพราะเราต่างมี Concept ของสมองและสติปัญญาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็พิสูจน์ไปบ้างแล้วว่า ธรรมชาติไม่ได้ผลักดันให้สัตว์รอบๆ ตัวคุณเป็นแค่ถุงน้ำโง่ๆ ที่ลอยไปลอยมากลางมหาสมุทร
พวกมันคือขุมทรัพย์แห่งสติปัญญา ที่บางครั้งมันอาจเข้าใจโลกรอบๆมัน ได้ดีมากกว่าเราเสียอีก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Octopuses Recignize Individual Humans
http://animalstudiesrepository.org/cgi/viewcontent.cgi?article=1059&context=acwp_asie
Octopus Genome holds clues to uncanny intelligence
http://www.nature.com/news/octopus-genome-holds-clues-to-uncanny-intelligence-1.18177
Scientific American : MIND January/February 2017