“เราทำงานหนัก ไม่อยากได้แค่เงิน แต่อยากได้โอกาส”
“ช่วงที่ทำโปรเจกต์นอนแค่วันละชั่วโมง ทำงานเที่ยงคืนจนถึงเที่ยงคืนอีกวัน จนรู้สึกเหมือนมีใครมากดกระบอกตา แต่ก็ฝืนทำต่อไปจนได้ยินเสียง ‘ปุ’ ในหัว แล้วไม่รู้สึกตัวเลย ชาไปหมด หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตด้วยความกลัวตาย แต่งานไม่เสร็จก็เหมือนกับตายอยู่ดี เพราะวงการนี้การแข่งขันสูง แต่ก็เริ่มถามตัวเองแล้วว่า “คุ้มไหมกับที่กำลังทำอยู่?”
กราฟิกหนุ่มวัย 22 ปีบอกเล่าประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเขา แม้ดูภายนอกจะเป็นคนร่าเริงและงานราบรื่นดี แต่ความวิตกกังวลถึงสุขภาพยังคงหลอกหลอน โชคดีที่การฉุกคิดและตั้งคำถามกับตัวเองไม่ทำให้กราฟิกหนุ่มของเรามีชะตากรรมเดียวกับ ‘ยุ่น’ ฟรีแลนซ์ผู้ยอมบูชายันต์สุขภาพเพื่อรักษาสถานภาพทางอาชีพที่มีความแข่งขันสูง การที่คุณหายไปจากแวดวงอาชีพ อาจเหมือนกับขุดหลุมฝังตัวเอง แต่หากเทียบกับโหมทำงานหนักโดยไม่หาสมดุล ก็ไม่ต่างจากการหยิบแคตตาล็อก ‘สุริยาหีบศพ’ มาเปิดเลือกให้ตัวเองอยู่ดี
“เธอเด็กเกินไปที่จะป่วย!”
ความเชื่อนี้อาจจะไม่จริงเสียแล้ว เพราะวัยรุ่นทั่วโลกกำลังป่วยหนักมากขึ้นจนเป็นสัญญาณอันตราย ที่สำคัญพวกเรากำลังเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง (Chronic illness) ในเพียงแค่ช่วงอายุสั้นๆ ยิ่งเมื่อถูกป้อนเข้าตลาดแรงงาน กลุ่มหนุ่มสาววัยเริ่มทำงาน (First Jobbers) มีอัตราป่วยเป็นโรคเรื้อรังถึง 44% ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ ความดันโลหิต โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง แย่ไปกว่านั้นวัยรุ่นที่เจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้มักมีปัญหาทางอารมณ์และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมที่พวกเขาเคยคุ้นเคย
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาวิทยาการทางแพทย์ก้าวหน้า ทำให้เด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีโอกาสรอดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกามีเด็กอายุไม่ถึง 18 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 500,000 คนทุกๆ ปี
หนุ่มสาวของพวกเรากำลังป่วย! มีปัจจัยอะไรบ้างที่คอยบั่นทอนสุขภาพไปเรื่อยทั้งทางตรงและทางอ้อม
อาจถึงเวลาที่คุณจะต้องตอบตัวเองบ้างแล้วนะ
1. ก็งานติดพัน ก็มันตื่นเต้น
ไม่แปลกที่หนุ่มสาวรักการทำงานชิ้นแรกๆ อย่างถวายชีวิต การถูกยอมรับในสายงานเป็นแรงจูงใจอันหอมหวาน จนบางครั้งก็เหมือน ‘ภาวะเสพติด’ (Addiction) เพราะสมองของพวกเขากำลังจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาสนใจที่สุด
ทำไมวัยรุ่นถึงกล้าได้กล้าเสียนัก? ประสาทวิทยาพบว่าสมองส่วน Ventral striatum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองระบบลิมบิก มีหน้าที่ให้รางวัลต่อสิ่งเร้าที่เผชิญอยู่ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนยั่วยวนใจ สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นให้วัยรุ่นกล้าได้กล้าเสียเรื่อยๆ เหมือนภาวะเสพติด
สมองส่วนลิมบิกให้รางวัลแก่ความพยายามและความเสี่ยง มันกระตุ้นให้วัยรุ่นลองต่ออีกนิด ทำต่ออีกหน่อย
นักจิตวิทยา BJ Casey ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาวัยรุ่นท่านหนึ่งกล่าวว่า “การห้ามปรามวัยรุ่นอย่างเด็ดขาด ค่อนข้างฝืนความเป็นธรรมชาติของช่วงวัย สิ่งสำคัญที่เราควรเสริมคือการช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้ว่า อารมณ์ ความปรารถนา และการกระทำของพวกเขานำไปสู่อะไรในท้ายสุด พวกเขาตอบสนองอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งมันก็นำมาซึ่งหายนะ”
2. จะเลี้ยงดูพ่อแม่ยังไงหนอเรา?
หากคุณกำลังต้องดูแล พ่อแม่ หรือ ญาติๆ ที่แก่ตัวลงไปทุกวัน ในขณะที่คุณต้องเร่งทำงานในช่วงที่ไฟลุกโชนที่สุดของชีวิต คุณไม่ใช่คนเดียวหรอกที่กำลังดิ้นรนอยู่อย่างเดียวดาย เพราะมีคน Gen Y ทั่วโลกถึง 1 ใน 5 ที่ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุภายใต้ความกดดัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างอายุของประชากร โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็น ‘ประชากรวัยพึ่งพิง’ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้คนในเขตเมืองของไทย มีลักษณะคล้ายกับประเทศจีนนั่นคือ 1 คน ต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และทวด และในอนาคตสังคมไทยจะมี ‘ครัวเรือน 5 วัย’ เพิ่มมากขึ้น
หากคุณเป็นลูกสาวคนโตพ่วงตำแหน่งพี่ใหญ่ของบ้าน มักถูกสังคมและครอบครัวคาดหวังให้เป็นเสาหลักในการดูแลผู้สูงอายุ ‘คนแรกๆ’ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งหากเป็นคนโสด ไม่มีลูก ไม่มีสามี ก็เหมือนจะไม่มีใครปราณีหน้าที่นี้เลย
เมื่อคุณโสด ใครๆ ก็ดูจะยกหน้าที่ดูแลบ้านและเสาหลักของครอบครัวให้ดื้อๆ (ถ้าเต็มใจก็ถือว่าโชคดีไป) โดยปัจจุบันมีสัดส่วนสตรีที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนตัวคนเดียวถึงร้อยละ 34.7 ต้องรับผิดชอบหารายได้หลัก ดูแลความเรียบร้อยในบ้านโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือดูแลสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่สูงอายุในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ออกไปทำงาน
Prof.Steven H. Zarit ผู้บุกเบิกแวดวง ‘ชราภาพวิทยา’ (Gerontology) เป็นคนแรกๆ ที่ศึกษาผลกระทบทางจิตใจของคนที่รับหน้าที่คนดูแลผู้สูงอายุ พวกเขามักถูกสังคมคาดหวังว่า ‘การดูแลผู้สูงอายุที่เรารักอย่างใกล้ชิดเปรียบดั่งพร’ (Blessing)
แต่ภาระของความคิดเหล่านี้มักตกไปยังคนเพียงคนเดียวในบ้าน ซึ่งความกดดันทางจิตใจมันมากกว่าภารกิจในแต่ละวัน โดยก่อนหน้านี้เรามองข้ามไปเสมอๆ ท้ายสุดภาระ ความเครียด และความไม่มั่นใจต่ออนาคตมักตกไปที่หนุ่มสาวผู้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว
3. วัยรุ่นเคลื่อนไหวน้อย พอๆ กับ คนอายุ 60!
วิกฤตขาดการเคลื่อนไหว กำลังบั่นทอนพัฒนาการคนในยุคนี้ และบั่นทอนต่อไปเมื่อเข้าสู่ระบบแรงงาน
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ว่า เด็กอายุ 5 ถึง 17 ปี ควรมีกิจกรรมเคลื่อนไหว 60 นาทีเป็นอย่างต่ำต่อวัน แต่ในความเป็นจริงพบว่า มีเด็กชายถึง 50% และเด็กหญิง 75% ที่เคลื่อนไหวไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว ก็นับว่า WHO ล้มเหลวอยู่พอสมควร
การเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่ต้องใช้แรง จำเป็นต่อพัฒนาการของร่างกายในทุกมิติ แต่เด็กๆ ที่เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และสื่อบันเทิงที่เข้าถึงง่ายไม่ต้องลุกไปไหน ทำให้เด็กๆ อยู่ติดที่มากขึ้น งานวิจัยล่าสุดในวารสาร Preventive Medicine ที่เน้นด้านการป้องกันโรค พบสัดส่วนที่น่าตกใจว่า เด็กๆ เคลื่อนไหวน้อยลงมาก และมีการเผาพลาญพลังงานที่ไม่สมดุล นำไปสู่โรคอ้วนในเด็ก ที่จะเปิดประตูความเสี่ยงอื่นๆ เมื่อเติบโตขึ้น
วัยรุ่นที่มีอายุ 19 ปี มีกิจกรรมทางร่างกายน้อยลงจนเกือบเท่าผู้สูงวัยอายุ 60 ปี พบคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไปซึ่งมี 55 ล้านคน ไม่ออกกำลังกายมากถึง 39 ล้านคน
4. เศร้าแล้วไม่นอน แต่ไม่นอนก็เพราะเศร้า
ความโศกเศร้าเป็นประสบการณ์พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ มันรบกวนทุกผัสสะที่คุณมีต่อโลก รสอาหารในปากเปลี่ยนไป ผิวสัมผัสต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่น่าปรารถนา แม้ยามหลับตาภาพในหัวยังเตลิดเข้าป่าเข้าดง ทักษะการนอนหลับเป็นปัญหาแบบงูกินหาง ความเชื่อมโยงระหว่าง ความเศร้ากับอาการนอนไม่หลับมันซ้อนกันจนยุ่งเหยิงไปหมด หลายคนมีปัญหาการนอนหลับเรื้อรังจนสะสมเป็นอาการซึมเศร้า แต่หลายคนมีอาการซึมเศร้ามาก่อนจนรบกวนการนอนหลับ แต่แน่นอนทั้ง 2 กรณีมันเชื่อมโยงกันและส่งอิทธิพลไปมาอยู่
โรคนอนไม่หลับ หรือหลับยาก (Insomnia) พบเห็นได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีหลักฐานว่าคนที่มีอาการ Insomnia เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอาการซึมเศร้าเรื้อรังถึง 10 เท่า มีปัญหาหัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดพลาด ไมเกรน และเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว เพราะความเศร้าและการไม่นอนเป็นมือสังหารที่เก่งกาจพอๆ กัน
สิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ต้องการนอน (แม้แต่ต้นไม้ก็ด้วย) พวกเรามีนาฬิกาชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาราว 100 ล้านปีที่รับอิทธิพลจาก ‘ความสว่างและความมืดจากดวงอาทิตย์’ ที่เรียกว่า Circadian Rhythm โดยเซลล์ประสาทจะทำหน้าที่รับแสงมาสังเคราะห์และกำหนดว่าคุณควรนอนเวลาไหน เซลล์ที่ว่านี้พบได้ในสมอง Superchiasmatic Nucleus หากสมองส่วนนี้ได้รับการกระทบกระเทือน ถูกทำลาย หรือจากรูปแบบพฤติกรรมที่เราฝืนอยู่บ่อยครั้ง จังหวะนาฬิกาของร่างกายจะสับสนในการตอบสนองต่อเวลา
5. กังวลอนาคตอันคลุมเครือ
แน่นอนเราทุกคนล้วนวิตกต่ออนาคตที่คาดเดาไม่ได้ แต่วัยรุ่นที่ประสบปัญญาสุขภาพเรื้อรังกลับยิ่งทวีความกังวลมากกว่า พวกเขาล้วนมีประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้งจากการทำงาน แต่แม้เพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้พวกเขา ‘สูญเสียศรัทธา’ ในร่างกายของตัวเอง อาการแบบนี้จะเกิดขึ้นมาอีกเมื่อไหร่? จะแย่ลงกว่าเดิมไหม? เราจะไม่สามารถทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้ต่อไปอีกหรือเปล่า?
คำถามเหล่านี้ทำให้วัยรุ่นกังวลต่ออนาคตอันคลุมเครือ และไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียว น้อยคนที่กล้าบอกสถานการณ์นี้กับครอบครัวหรือคนในที่ทำงาน อาการเหล่านี้แท้จริงแล้วสามารถสังเกตได้จากคนที่อยู่รอบๆ ข้างหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ส่วนใหญ่มองว่าคนเหล่านี้กำลัง ‘สร้างปัญหา’ มากกว่าจะคิดว่าเขากำลัง ‘ประสบปัญหา’ และต้องการความช่วยเหลือ
หนุ่มสาวยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความฝันและอยากทำให้มันเป็นความจริงในสมรภูมิการทำงาน อาจต้องฉุกคิดสักนิดก่อนแลกสุขภาพอันเป็นของล้ำค่าชิ้นเดียวที่พวกเขามีไปกับการโหมงานโดยไม่มีทางหวนคืนมา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Re-evaluating the effect of age on physical activity over the lifespan
Risk-taking and the adolescent brain: who is at risk?