ทันทีที่สิ้นสุดการประกาศ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (special military operation) โดยประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หรือเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา เสียงระเบิดก็ดังสนั่นรอบกรุงคีฟ เมืองหลวงของยูเครน ขณะที่รถถังรัสเซียเริ่มเคลื่อนทัพข้ามพรมแดนเข้ามาในยูเครน รัสเซีย ‘บุก’ ยูเครนแล้วจริงๆ
ทำเอาโลกโกลาหล ตามมาด้วยการทำลายล้างและความสูญเสียมากมาย
หากดูเฉพาะตัวเลข ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 8,000 ราย (เท่าที่พอระบุตัวตนได้) บาดเจ็บอีกมากกว่า 13,000 ราย ยังไม่นับประชาชนเกือบ 18 ล้านคน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอีกราว 14 ล้านคน ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยของตัวเอง
ผ่านมาแล้วครบ 1 ปี แต่สงครามก็จะยังดำเนินต่อไป – เพราะเป้าหมายที่ยูเครนและอีกหลายๆ ประเทศในประชาคมระหว่างประเทศมีร่วมกัน ก็คือการชนะสงคราม “ในขณะที่คุณโจมตีเรา สิ่งที่คุณต้องเผชิญก็คือใบหน้าของเรา ไม่ใช่แผ่นหลัง” ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) แห่งยูเครน ประกาศกร้าว ในวันที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา
The MATTER ชวนย้อนดู 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้ภาวะสงคราม ผ่านสายตาของ ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns พร้อมชวนจับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
จาก ‘ไม่กี่วัน’ กลายเป็น 1 ปี
เมื่อรัสเซียประกาศ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 พร้อมส่งทหาร 200,000 นายเข้ามาในยูเครน เป้าหมายของประธานาธิบดีปูตินก็คือการยึดกรุงคีฟ ภายใต้ภารกิจที่รัสเซียอ้างว่า ต้องทำให้ยูเครนปลอดทหาร (demilitarization) และการทำให้ยูเครนไม่เป็นนาซี (denazification) และหนึ่งในปลายทางคือการล้มรัฐบาลยูเครน (ประธานาธิบดีเซเลนสกีเคยบอกว่า “ฝ่ายศัตรูกำหนดให้ผมเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ครอบครัวของผมคือเป้าหมายอันดับ 2”)
ทั้งหมดนี้ ปูตินเคยคาดการณ์ว่าจะทำได้ในเวลาไม่กี่วัน วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐฯ เคยออกมาเปิดเผยหลังจากรัสเซียบุกยูเครนไม่นานว่า แผนของปูตินก็คือ “การยึดกรุงคีฟภายใน 2 วันของปฏิบัติการ” ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐาน 4 อย่าง ว่า ยูเครนอ่อนแอ ยุโรปจะไม่ตอบโต้ เศรษฐกิจรัสเซียจะรับมือกับการคว่ำบาตรได้ และกองทัพรัสเซียก็ทันสมัยและมีประสิทธิภาพพอ
แต่ผ่านมาแล้วครบ 1 ปี ปฏิบัติการของกองทัพรัสเซียในดินแดนยูเครนก็ยังดำเนินต่อไป และโลกก็ได้เห็นแล้วว่า การคาดการณ์และแผนการของปูตินนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
“ปฏิบัติการพิเศษของรัสเซีย หรือการที่รัสเซียบุกยูเครน มันไม่ได้สิ้นสุดและจบเร็วอย่างที่ปูตินคาดการณ์ไว้” ณัฐนันท์ คุณมาศ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ The MATTER โดยให้เหตุผลว่า “รัสเซียประเมินคู่ต่อสู้ต่ำ ยูเครนได้ความช่วยเหลือทางอาวุธจากพันธมิตรตะวันตก และการสู้สุดใจไม่ยอมจำนนของประชาชนชาวยูเครน”
ต่อมาภายหลัง เรารับรู้ได้ว่า รัสเซีย “ไม่สามารถที่จะคืบเอาดินแดนเพิ่มได้ เมื่อเทียบกับในช่วงแรกๆ ตอนต้น ยูเครนใช้ยุทธวิธีแบบ ‘สงครามแบบจู่โจมเร็ว’ เป็น ‘lightning counteroffensive operation’ ซึ่งทำให้ได้ดินแดนทางใต้มาบางส่วน และยูเครนก็เริ่มโจมตีการส่งกำลังบำรุงของรัสเซีย”
โดยที่การสู้สุดใจของฝ่ายยูเครนก็ส่งผลให้รัสเซียเริ่มล้มเลิกแผนการยึดกรุงคีฟตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา และหันมาเน้นควบคุมพื้นที่ในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออก และพื้นที่ทางตอนใต้ เหนือไครเมีย แทน ขณะที่ปฏิบัติการโจมตีโต้กลับ (counteroffensive) ของยูเครน ซึ่งเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2022 ก็สะท้อนให้เห็นว่าประสบความสำเร็จ จากการที่รัสเซียต้องรีบจัดประชามติ และประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน คือ ลูฮันสก์, โดเนตสก์, เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย ภายในสิ้นเดือนเดียวกัน
การสู้รบที่ลากยาวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2022 และจนครบ 1 ปีในวันนี้นั้น ณัฐนันท์บอกว่า นี่คือการที่รัสเซียตกอยู่ในสภาวะ ‘สงครามพร่ากำลัง’ (war of attrition) ซึ่งหมายถึงสงครามที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลายาวนาน จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดกำลังสู้รบลงไป
และถ้าถามว่าสงครามครั้งนี้จะมีระยะเวลายาวนานเท่าไร ณัฐนันท์วิเคราะห์ว่า จะใช้เวลาทั้งหมด “ถึง 2 ปีแน่ๆ” เหตุผลคือ ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายค่อนข้างสูง วัตถุประสงค์ของรัสเซียคือต้องการจะยึดดินแดนแคว้นต่างๆ ในยูเครน ขณะที่ยูเครนก็ต้องการไครเมีย ซึ่งถูกรัสเซียทำประชามติและผนวกดินแดนไปเมื่อปี 2014 คืนกลับมา
สู้รบในยูเครน 1 ปี กระทบทั้งโลก – กระทั่งไทย
สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน “มันค่อนข้างรุนแรง คนไทยก็ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้” ณัฐนันท์กล่าว “มันเป็นผลกระทบในระดับโลก (global impacts)”
ปัญหาหนึ่งซึ่งมีสงครามในยูเครนเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบ และเกี่ยวข้องกับปากท้องของคนทั่วโลกโดยตรง ก็คือปัญหาเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (food security) เพราะเมื่อเกิดสงคราม ก็ย่อมกระทบกับการส่งออกอาหารของทั้งรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหาร เช่น ธัญพืช คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก
เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพิ่งเผยแพร่ดัชนีราคาอาหาร (FAO Food Price Index หรือ FFPI) พบว่า ราคาอาหารทั่วโลกในปี 2022 ที่ผ่านมา สูงขึ้นถึง 14.3% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากสงครามในยูเครน ซึ่งไปทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยสูงขึ้น เรื่องนี้ณัฐนันท์ชี้ว่า กระทบกับคนในแอฟริกามากที่สุด ขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เคยเปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมาว่า มีคนถึง 50 ล้านคนจาก 45 ประเทศ กำลังจะต้องตกอยู่ในสภาวะหิวโหย (famine)
“เราไม่เคยเจอวิกฤตอาหารโลกมาหลายทศวรรษแล้ว ตั้งแต่ 1970” ณัฐนันท์กล่าว
หรือถ้าหากจะให้ใกล้ตัวจริงๆ สงครามในยูเครนก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ผลคือค่าใช้จ่ายครัวเรือนของไทยก็เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้คนไทยอาจจะไม่รู้ตัวก็ตาม
ข้อมูล ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เพิ่งนำมารายงาน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของคนไทยในเดือนธันวาคม 2022 มีอยู่ที่ 18,136 บาท ขณะที่ในเดือนมกราคมของปีนั้น อยู่ที่ 17,321 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นทั้งปี 815 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับคนที่มีรายได้น้อย หรือแม้แต่ปานกลางก็ตาม
แต่ถ้าย้อนมองในภาพรวมระดับโลก สิ่งที่รัสเซียทำกับยูเครนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง และเป็นการทำลายระเบียบระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา หรือที่เรียกว่า rules-based international order ด้วยการละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) ซึ่งเป็นเสาหลักในการรับประกันสันติภาพโลก
นั่นหมายความว่า ในอนาคต ประเทศอย่างจีน ก็สามารถนำเอารัสเซียให้เป็น ‘แบบอย่าง’ ในการรุกรานไต้หวันได้เช่นกัน
ณัฐนันท์กล่าวว่า “ตัวหลักที่ต้องประกันสันติภาพของโลก 5 คน คนนั้นเป็นคนบุกเอง ก็คือ หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council) มันทำลายรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา”
จุดยืนของไทย ที่ ‘สอบตก’ ในเรื่องยูเครน
ในฐานะหนึ่งในสมาชิกสหประชาชาติ ไทยเองก็เอ่ยปากว่ายึดมั่นในหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ แถลงในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 (Eleventh Emergency Special Session) ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ในวันครบรอบ 1 ปี รัสเซียบุกยูเครนว่า “ไทยยืนยันในการยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดแจ้ง”
แต่ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้คำพูดที่ว่ายึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ ไทยก็แสดงท่าทีบนเวทีโลกอยู่หลายครั้ง ที่อาจมีบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สอดคล้องกับกระแสโลก เช่น
- ไทยงดออกเสียง ในมติขับรัสเซียพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2022
- ไทยงดออกเสียง ในมติประณามกรณีรัสเซียผนวกดินแดน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2022
- ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย และพบปะกับ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2022 (โดยไม่มีคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย แต่สำนักข่าว TASS ของรัสเซีย นำไปรายงาน)
สำหรับเรื่องท่าทีต่างๆ ของไทยเหล่านี้ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns’ ให้ความเห็นกับ The MATTER ว่า “นโยบายต่างประเทศของไทยในเรื่องของสงครามยูเครน น่าจะเรียกว่าสอบตก”
รัศม์อธิบายว่า “การรุกรานครั้งนี้มันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง ซึ่งเราควรจะต้องมีท่าทีที่คัดค้านเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วย อันนี้เป็นเรื่องหลักการว่าเราไม่สามารถยอมรับได้ว่า อยู่ดีๆ อีกประเทศหนึ่งจะลุกขึ้นมาใช้กําลังรุกราน เพื่อเปลี่ยนพรมแดนหรือยึดอีกประเทศหนึ่ง เพราะถ้าเรายอมรับ สิ่งนี้ก็เท่ากับว่าเราก็เปิดช่องให้ใครๆ ก็มารุกรานเราได้”
เขายังวิเคราะห์ถึงกรณีที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยว่า น่าจะไปเพื่อเชิญให้ประธานาธิบดีปูตินมาร่วมการประชุม APEC ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา แต่เมื่อไปแล้ว “ก็เท่ากับไปตกหลุมการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย” เพราะทำให้รัสเซียนำไปโฆษณาว่าไทยเห็นอกเห็นใจรัสเซีย และสุดท้าย เขาบอกว่า “ผลที่ตามมาก็คือ เราไม่ได้อะไรเลย เพราะประธานาธิบดีก็ไม่ได้มาเมืองไทย” มันจึงเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิด
“พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้มันเสียไปพอสมควรนะ ผมเชื่อว่าทางยูเครนเขาก็เห็นในสิ่งที่เราทำ แล้วเขาก็คงจํา มันไม่ใช่ว่าเขาไม่จํานะ” รัศม์กล่าว ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสหลายอย่าง นอกจากเสียศักดิ์ศรี ก็อาจจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต เขายกตัวอย่างกรณีที่สงครามสิ้นสุดลงและต้องมีการบูรณะประเทศ “ตอนนั้นก็ต้องมีการก่อสร้าง มีการสั่งซื้อสินค้าอะไรมากมายมหาศาล ซึ่งมันก็เป็นไปได้ว่าถ้าเราทําตัวเองอย่างนี้ เขาก็คงไม่อยากจะให้เราไปมีส่วนร่วมอยู่ตรงนั้น”
สิ่งที่ไทยพอจะทำได้ต่อไปในอนาคต ก็คือกลับมาแสดงออกถึงจุดยืนอย่างชัดเจนอีกครั้ง “เราจะต้องแสดงตนว่า เรายึดมั่นในกติกา กฎหมายระหว่างประเทศ และยืนอยู่เคียงข้างส่วนใหญ่ของโลก อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องยึดมั่นอยู่แล้ว” เขาสรุป
“ถ้าเราไม่ทําตรงนี้ มันก็มีแต่จะทําให้ประเทศเราเสียหายมากขึ้น”
ก้าวต่อไปของสงคราม มีอะไรที่ต้องจับตามอง?
เข้าสู่ปีที่ 2 ของสงคราม พลวัตที่เปลี่ยนไปนำมาสู่พัฒนาการในหลากหลายประเด็นที่น่าจับตามอง The MATTER ขอสรุปไว้บางส่วน อาทิ
1. การบุกโจมตีครั้งใหม่ของรัสเซีย
การโจมตีครั้งใหม่ในยูเครนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เย็นส์ สโตลเต็นเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการ NATO ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “เราไม่เห็นสัญญาณว่าประธานาธิบดีปูตินกำลังเตรียมพร้อมเพื่อไปสู่สันติภาพ สิ่งที่เราเห็นคือ ประธานาธิบดีปูตินกับรัสเซียยังคงต้องการควบคุมยูเครน”
แม้การคาดการณ์ต่างๆ เรื่องการโจมตีของรัสเซียอาจจะยังขัดแย้งกันเองและไม่มีความแน่ชัดมากนัก แต่ก็มีเหตุผลให้จับตามองการสู้รบที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ คาเตรีนา สเตพาเนนโก (Kateryna Stepanenko) นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) ในสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัสเซียอาจจะต้องการโจมตีก่อนฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะเคลื่อนพลได้ยากลำบาก และรัสเซียอาจจะยังต้องการ ‘ชัยชนะ’ ในเชิงสัญลักษณ์ ในวาระครบรอบ 1 ปี การรุกรานยูเครนนี้
2. ข้อตกลงส่งออกธัญพืชผ่านเส้นทางทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) จะหมดอายุในเดือนมีนาคมนี้
ข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งมีสหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลางในการเจรจา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเปิดช่องให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชจากท่าเรือ 3 แห่งได้ กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 18 มีนาคมที่จะถึงนี้ นั่นหมายความว่า โลกอาจจะต้องเชิญกับวิกฤตอาหารอีกครั้ง เนื่องจากยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายสำคัญของโลก โดยทางยูเครนก็ตั้งเป้าว่าจะเจรจาขยายข้อตกลงนี้ออกไปอีก 1 ปี
3. จีนเสนอตัวเป็นคนกลางเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน
จีนเสนอตัวเป็นคนกลางเจรจาสันติภาพ ในเอกสารแถลงจุดยืน 12 ข้อ ว่าด้วยวิกฤตยูเครน โดยระบุว่า ทุกฝ่ายในวิกฤตนี้ควรเจรจากัน ซึ่งเป็นทางออกเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ โดยจีนจะเล่น ‘บทบาทที่สร้างสรรค์’ ในควาพยายามเจรจาเพื่อสันติภาพครั้งนี้ อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามว่าจีนจะเป็นตัวกลางที่เป็นกลางได้จริงๆ หรือ หลังจากที่ประกาศว่า จีนกับรัสเซียนั้น มี ‘มิตรภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด’ ต่อกัน
ทั้งหมดนี้ คือ 1 ปีแห่งสงครามในยูเครน – สงครามอันเลวร้ายครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 21 และเป็นสงครามที่ว่ากันว่าจะดำเนินต่อไปอีกอย่างยาวนาน แน่นอนว่า เราในฐานะพลเมืองโลก ก็จำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด เพราะในเมื่อความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป ความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้ง และดังที่หลายต่อหลายคนกล่าว “แม้ยูเครนจะอยู่ห่างจากไทย แต่ผลกระทบก็เกิดขึ้นกับทั้งโลก”