“..เขาก็พูดกันอยู่แล้วว่า ‘มีแต่คนจนที่ติดคุก’ แค่พูดคำนี้ก็เป็นคำตอบ ไม่ต้องพูดอะไรมาก..”
คือบทสรุปคดีของวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา หลานของผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังดัง ขับรถซูเปอร์คาร์ชนตำรวจจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 จากปากของ วิชา มหาคุณ อดีตผู้พิพากษาและอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563
คดีของบอส อยู่วิทยา ถือเป็น ‘คดีซ้อนคดี’ ที่ช่วยประจานความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยในหลายระดับ
คดีแรก – การขับชนคนตาย ที่ผู้เกี่ยวข้องใช้สารพัดช่องโหว่ทางกฎหมายจนข้อกล่าวหาต่างๆ ทยอยหมดอายุความไปเรื่อยๆ เหลือเพียงข้อกล่าวหาเดียว ที่จะหมดอายุความในปี 2570 ที่สำคัญคือตัวบอสเองก็ไม่ได้อยู่ในประเทศ และไม่เคยต้องมาขึ้นศาลแม้แต่ครั้งเดียว
คดีสอง – กรณีเครือข่ายช่วยเหลือให้บอสรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซี่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาบทลงโทษ ทั้งในทางวินัยและทางอาญา โดยมีตัวละครที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ นักการเมือง พยาน ไปจนถึงคนทั่วๆ ไป
10 ปีผ่านไป นับแต่วันเกิดเหตุสลด และ 2 ปีผ่านไป หลังจากบอสเคย ‘เกือบหลุดคดี’ แต่กระแสความไม่พอใจของคนในสังคม ทำให้มีการหาพยานหลักฐานใหม่จนกลับมาตั้งข้อกล่าวหากับเขาได้สำเร็จ
มหากาพย์เรื่องนี้ ทำร้ายความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไร และถึงตอนนี้มีใครบ้างที่ช่วยกันฟื้นฟู และใครบ้างที่ยังวางเฉย
The MATTER ไปนั่งสนทนากับวิชา เป็นเวลา 2 ชั่วโมงที่คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งปัจจุบันเขารับตำแหน่งคณบดีอยู่
เพื่อหาบทเรียนและบทสรุปต่อเรื่องนี้
ก่อนจะพบว่า บทสนทนาของเราวนเวียนอยู่กับ keyword ซ้ำๆ ไม่กี่คำ “ระบบอุปภัมภ์” “การบังคับใช้กฎหมาย” “ความเชื่อมั่น” และ “กระบวนการยุติธรรม”
[ หมายเหตุ: สำหรับตัวละครสำคัญในคดีนี้ บางคนที่ชื่อปรากฎในข่าวอยู่แล้ว เราจะใช้ ‘ชื่อจริง’ แต่สำหรับคนที่กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบฯ หรือตัวนายกรัฐมนตรียังไม่กล้าเอ่ยชื่อจริง เนื่องจากกลัวปัญหาทางข้อกฎหมาย เราจะขอใช้ ‘ชื่อย่อ’ หรือคำแทนอื่นไปก่อน ]
ก่อนจะไปเป็นประธานสอบชุดนี้ติดตามคดีนี้ยังไงบ้าง
ก็ติดตามมาห่างๆ ไม่ได้เข้าไปดูว่าคดีนี้เขาขอความเป็นธรรมมากี่หนแล้ว เพิ่งจะมารู้ตอนไต่สวนละเอียดว่ามันเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะการตั้งรูปคดีว่า ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันกลับได้
เราก็ติดตามจากที่เขาแถลงข่าว คือพอเขาแถลงข่าว เราก็เก็บข้อมูลมา แล้วมารู้ความจริงว่า เห้ย ไอ้นี่มันผิดปกติ ก็ตอนที่คุณเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด (อสส.) กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องเมื่อปี 2563
หลังจากเรื่องนี้เป็นข่าวตั้งแต่ปี 2555 เคยรู้สึกเอ๊ะ อะไรบ้างไหม
ก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยจะคืบหน้า ทำไมมันถึงช้าจังเลย ทำไมถึงมีปัญหาค่อนข้างเยอะ จับเขามาแล้วก็ปล่อยตัว ปล่อยตัวแล้วทำไมไม่ส่งศาลซะที อะไรทำนองนั้น ตั้งแต่ที่สั่งฟ้องตอนแรก มันควรที่จะนัดเพื่อไปถึงศาลแล้ว ก็ผิดปกติ นักกฎหมายทั่วไปก็เห็นความผิดปกตินี้
พอนายกฯ ตั้งอาจารย์ไปเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ เจออะไรที่มันเซอร์ไพรส์มากกว่าที่ตามข่าวอยู่ข้างนอกบ้าง
ก็อย่างที่ว่า เรื่องการขอความเป็นธรรมตั้ง 14 ครั้ง 13 ครั้งแรกไม่สำเร็จ มาสำเร็จครั้งที่ 14 เป็นไปได้ยังไง แล้วกระบวนการที่เกี่ยวข้อง มีการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ
แปลกใจกับการเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวละครไหนที่สุด ที่เข้ามาช่วยล้มคดี
น่าจะเป็นคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ (กมธ.ตำรวจ) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา มันเป็นหน้าที่ของอัยการ ตำรวจ แต่ กมธ.เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับนิติบัญญัติ ไม่ใช่หน้าที่เข้าไปตรวจสอบหาความจริงโดยตรง ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าประหลาด ก็เลยต้องสอบเป็นพิเศษ เรียกมาหาความจริงว่า เข้าไปเกี่ยวยังไง
จริงๆ หน้าที่ของกรรมาธิการของสภาฯ ไม่ควรจะไปเกี่ยวข้องเลย
เกี่ยวได้ ในแง่การค้นหาเรื่องราว เพื่อหาบทเรียน แต่ไม่ใช่จะไปกลับความเห็น หรือมีผลกระทบต่อคดีที่ตำรวจหรืออัยการมีความเห็นไปแล้ว แต่เมื่อมองโครงสร้างของ กมธ.ชุดนี้ ก็มีทั้งศาล อัยการ ตำรวจ ทั้งที่ยังอยู่ในราชการและที่พ้นจากราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลพอสมควร
แต่เราก็จะเห็นได้ว่า ศาลไม่ได้เข้ามายุ่ง และทางอัยการก็เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านอดีต อสส. (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ซึ่งเป็นคนให้ความเห็นตอนขอความเป็นธรรมครั้งที่ 13 ท่านเป็น สนช. และก็เป็น อสส. อยู่ด้วย แต่ท่านไม่ยุ่งเลย เพราะได้สั่งการในหน้าที่ของท่านว่า ไม่สมควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ให้มันจบในอำนาจท่านเลย
ในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบฯ ไม่ได้แค่ฟังใครพูดว่ายังไง แต่เรียกเอกสารมาดูเลยว่า ความเห็นแต่ละฝ่ายว่ายังไง พยานหลักฐานเป็นยังไง แต่พอมาถึงครั้งที่ 14 ยังกลับมากลับคำสั่งคุณพงษ์นิวัฒน์เลย นี่คือเหตุผลที่ทำให้คุณเนตรถูกลงโทษทางวินัย แต่เรื่องทางอาญา อยู่ในมือของ ป.ป.ช.
เห็นใช้มีการคำทั้งในเอกสารสรุปผลการตรวจสอบและการแถลงข่าวว่า “สมยอมกันโดยไม่สุจริต” เพื่อยุติคดีนี้ ทำไมถึงเลือกใช้คำเช่นนี้
คือมันมองว่า คดีหนึ่งๆ ที่เป็นคดีใหญ่ แล้วก็เป็นคดีที่ช่วยเหลือกัน เราต้องมาดูเรื่องการสมคบคิด ที่เราเรียกว่าทฤษฎีสมคบคิด แต่ไม่ได้แปลว่า เราไปเจอว่าเขานั่งคุยกัน ไม่ใช่นะ ผมเคยเป็นทั้งอัยการ ศาล และ ป.ป.ช. เวลาที่เราจะค้นหาความจริง มันไม่ใช่แค่ค้นหาข้อเท็จจริง แต่ค้นหาว่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังคืออะไร เพราะเราจะไปตั้งประเด็นล่วงหน้าไม่ได้ ต้องดูพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า คุณ ส. แกก็เป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง และก็มาเป็นตัวละครที่อยู่ในข่ายของการใช้ความกดดัน คำถามคือแกไปทำไม (วันที่ 29 ก.พ.2559 ที่เปลี่ยนความเร็ว) เราก็ต้องมาหาความจริงว่า ทำไมแกไปอยู่ที่นั่นตอนนั้น
แต่มันอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุโดยบังเอิญหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะเราก็ไม่ได้รู้มาตั้งแต่ต้นว่าเขาวางแผนกันมาแบบนี้ มันต้องค่อยๆ สืบ ไต่สวนไป ก็เรียกคนนั้นคนนี้มา มันเหมือนต่อจิ๊กซอว์ กระทั่งมาได้ข้อมูลสำคัญที่ยืนยันว่าการประชุมเพื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์ของบอส เกิดขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.2556 ไม่ใช่วันที่ 26 ก.พ.2556 ตามที่มีการกล่าวอ้าง และใครบางคนไปร่วมประชุมในต่างประเทศอยู่
มีข่าวว่า ผลการสอบสวนทางวินัยกับตำรวจที่เข้าไปเกี่ยวข้องในคดีนี้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการตรวจสอบฯ เสร็จสิ้นแล้ว
ผมก็ได้ยินว่า มีการส่งไปให้ ผบ.ตร. คนปัจจุบันระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการฟันธงหรือใช้ดุลยพินิจลงมาว่าจะเอายังไงต่อ
[ The MATTER เคยขอข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องผลการสอบสวนทางวินัยนี้ แต่ได้รับการตอบกลับจากกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ]
คิดว่าคนที่ถูกลงโทษจะรวมถึง ‘นายตำรวจระดับสูง’ ที่มาร่วมวงประชุมเปลี่ยนความเร็วรถยนต์บอสหรือไม่
ตำรวจเขาเคยมาสอบผมครั้งหนึ่ง แต่ก็เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ เท่านั้นเอง เขาไม่ได้บอกว่า คนที่ถูกสอบเป็นใครยังไงบ้าง แต่ก็พอรู้ว่า หวยจะไปออกที่ไหน เพราะถ้าพูดกันตรงๆ คนที่ยศต่ำลำบากเสมอ
ซึ่งมันผิดกับการทำงานของ ป.ป.ช. ที่หากไม่เอาถึงคนที่มีอำนาจในการสั่งการสูงสุดก็จะถือว่าผิดวิสัย และเราก็เสนอไปแล้วว่าให้ตรวจสอบใครบ้าง ซึ่งท่านก็จริงจัง และเพิ่งมาขอให้ผมช่วยเป็นพยานเมื่อเร็วๆ นี้เอง ปลายเดือน ก.ค.2565
ป.ป.ช. เคยให้ข้อมูลกับสื่อว่า รวบรวมข้อเท็จจริงใกล้เสร็จสิ้นแล้ว
ผมคิดว่าคงอีกไม่นาน เพราะถ้ามาสอบผมเท่ากับว่าใกล้ปิดแล้ว เพราะมันอุดช่องโหว่ทั้งหมด เหมือนกับที่เวลาตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง ก็ต้องสืบพยานอื่นๆ ก่อน แล้วพนักงานสอบสวนจะเป็นคนสุดท้าย ซึ่งผมก็พอใจว่า จากปี 2563 มันไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย ถ้า ป.ป.ช. ไม่มาสอบผมสิ แสดงว่าเขาไม่เอาจริง แต่นี่เขามาขอข้อมูล ขอให้ผมให้ถ้อยคำ (วิชาอ่านเอกสารจาก ป.ป.ช. ให้ฟัง “.. เพื่อประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช. ..”) ไม่ใช่การทำสำนวนแบบขอไปที หรือขาดตกบกพร่อง เพราะถ้าทำไม่ดีจะเจอประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) แน่นอน มันเป็นแบบแผนอยู่แล้วของการทำงานของ ป.ป.ช.
บุคคลในเครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือกันตั้งแต่ต้นทางไม่ให้คุณบอสเข้าสู่ศาล เขาได้อะไรจากสิ่งนั้น
มันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง เขาอาจจะมีความผูกพันกันหรือเปล่า คณะกรรมการตรวจสอบฯ ไม่จำเป็นจะต้องล้วงลึกไปขนาดนั้น แต่ ป.ป.ช. อาจจะได้ข้อมูลมากขึ้น เพราะเขาจะต้องลงไปดูเส้นทางการเงินด้วย ต่างกับเราที่ไม่มีอำนาจตรงนั้น
แต่ในภาพรวม พฤติกรรมของใคร อะไร เขาก็พูดกันอยู่แล้วว่า ‘มีแต่คนจนที่ติดคุก’ แค่พูดคำนี้ก็เป็นคำตอบ ไม่ต้องพูดอะไรมาก
อย่างอดีตนายตำรวจบางคน เขาได้อะไร
ไม่แน่ใจ แต่อย่างที่ว่า แต่ละคนก็มีความผูกพัน แต่จะอะไรยังไงแบบไหน เราก็ไม่อาจจะรู้ได้ ก็ได้แต่คาดเดาไป แต่พูดไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นหมิ่นประมาท แต่เอาเป็นว่าบุคคลทั้งหลาย ถ้าไม่อยู่ในหลักการ-อุดมการณ์ที่ชัดเจน เรื่องผลประโยชน์ก็เข้ามา ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน
คนในคดีบางคนก็รู้จักกันส่วนตัว ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับการทำงานต้องแยกจากกัน เพราะถ้าเราเอาไปพัวพันกัน มันก็จะยุ่งเหยิงหมด บ้านเมืองเราถึงได้เป็นปัญหาแบบทุกวันนี้
แต่บางคนอาจจะไม่ได้แยก เอาเรื่องความสัมพันธ์ไปปะปนกับหน้าที่
คือวัฒนธรรมของเราเป็น ‘วัฒนธรรมอุปถัมภ์’ ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบฝรั่งอารยะประเทศที่เข้มงวด เวลาผมสอนเรื่องจริยธรรมให้กับข้าราชการทั้งหลาย ก็จะให้ยึดจริยธรรมของฝรั่ง ก็มีคนถามว่าทำไมเราต้องเอามาเรียน ผมก็ตอบว่าเพราะเราไม่สามารถจะอยู่ได้เป็นประเทศเดียวเดี่ยวโดดในโลกนี้ได้ตามใจชอบ เราต้องล้ำหน้าหรืออย่างน้อยๆ ก็เท่าทันเขา
มันเหมือนการเทียบมาตรฐาน จำได้ไหมว่าสมัย ร.5 ถึงต้องเปลี่ยนกฎหมาpและกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเหมือนตะวันตก เพราะไม่เช่นนั้นซีกโลกตะวันตกมันจะไม่เชื่อเราเลย จะเหยียดหยามเรา จะดูถูกเรา เห็นไหมที่เขาทำกับอินเดียหรือกับพม่า ก็เพราะความไม่เชื่อถือไง เขาจะมองว่าเป็นชาติป่าเถื่อน ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่แน่นอน ผลประโยชน์ทับซ้อนเต็มไปหมด มีระบบอุปถัมภ์วิ่งเต้นได้อะไรได้
และเห็นไหมว่า กว่าเราจะสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ ก็ต้องรอถึงสมัย อ.ปรีดี (พนมยงค์) ไปเจรจา มันเป็นงานที่ยากที่สุด คือการทำให้ฝรั่งเชื่อถือ ต้องใช้เวลานานมาก และต้องสร้างคนที่มีพื้นฐานจิตใจที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
คดีนี้เหมือนกัน ถ้าเราทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถเอาคนที่ทำผิดมาลงโทษได้ หรือจัดการกับความเป็นจริงที่ปรากฎ เขาก็จะดูถูกเราในเวลาโลก รู้ไหมว่าหลังจากผมแถลงข่าวผลการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ไปตอนปลายปี 2563 ก็มีฝรั่งอีเมลมาหาผมว่า “ขอบคุณมากที่ท่านยังรักษาความเป็นธรรมไว้ให้แก่โลกนี้ได้” ส่งมาจากหลายๆ ประเทศในยุโรป เขาติดตามเราไง แล้วเขาก็รู้ว่า ณ ตอนนั้น บอสอยู่ใน (ชื่อประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป)
ตอนนี้ยังอยู่ที่เดิมไหม
ไม่รู้เหมือนกัน
จนถึงตอนนี้ ยังเชื่อไหมว่า คุณบอสจะถูกพาตัวกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ในที่สุด
ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่เราทำอย่างดีที่สุดแล้ว และเราก็ไม่ได้กังวลด้วยว่า อะไรจะเป็นไปยังไง มันเป็นกระบวนการที่เราคิดว่าเรา ‘ทำดีที่สุดในโอกาสที่จะเปิดช่องให้’ อย่างน้อยๆ คนในโลกนี้ เมื่อมีโอกาสในการทำสิ่งที่ดีงามให้กับประเทศ ผมคิดว่าเราควรจะภูมิใจ ส่วนผลของมันจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดถึงข้อนั้น
ผมพูดอยู่ตลอดว่า องค์กรอื่นๆ อาจจะไม่อะไรเท่าไร โอเค อย่างอัยการดำเนินการกับคุณเนตร แม้จะใช้เวลานานสักหน่อย ต้องผ่านประธานกรรมการอัยการ (ก.อ.) ถึง 2 คน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ปรากฎ ไม่มีใครสงสัยว่า ทำไมไปเล่นงานอดีตรอง อสส. เพราะเขาพูดมาตลอดว่า คุณเนตรไม่มีผลประโยชน์อะไร แต่เขาทำเพราะอะไร ก็สุดแล้วแต่ อันนั้นเราไม่เกี่ยวข้อง แต่อย่างน้อยๆ มันแสดงให้เห็นว่า องค์กรเขาตื่นตัว
และมันอาจจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า ทุกเรื่องเขามีการจับตามอง เห็นไหมล่ะว่า ไม่นานมานี้ ทางอัยการก็รีบแถลงข่าวว่า ข้อหาเสพยาเสพติด (โคเคน) ของคุณบอสหมดอายุความไปแล้ว เพราะกฎหมายยาเสพติดใหม่ โทษของโคเคนมันน้อยลง ทำให้อายุความมันสั้นลง แต่ก็ยังเหลือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายอยู่ เขาก็ยืนยันอยู่อย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เขาทิ้งเรื่องเอาไว้แล้ว แล้วปล่อยเลยตามเลย ยังมีคนจับตาดูอยู่ เช่น สื่อมวลชน หรือใครก็ดี ก็ยังติดตาม
ฝั่งอัยการดูตื่นตัว แล้วฝั่งตำรวจล่ะ มีความเปลี่ยนแปลงไหม
ก็ไม่รู้ล่ะ แต่ผมก็ขอพูดฝากๆ ไปว่า เวลาจะทำอะไร อยากให้ดูผลสุดท้ายด้วย ผมถึงได้ยินดีที่ทาง ป.ป.ช. ไม่ยอมทิ้งคดีนี้ เพราะถ้าเขาชี้มูล แล้วคุณมาชี้อีกอย่างที่แตกต่างไปจากมาตรฐานของ ป.ป.ช. คุณก็ต้องรับผิดชอบไป เท่ากับว่า ป.ป.ช. จะไปตรวจสอบเขาอีกที
ต่อให้คุณไม่ลงโทษกันเอง ป.ป.ช. ก็จะกำหนดมาตรฐานให้สังคมมาเปรียบเทียบกัน
ใช่ ดังนั้น การที่เราได้ตั้งความหวังไว้กับองค์กรที่อย่างน้อยๆ เป็น ‘องค์กรอิสระ’ ก็ยังสบายใจอยู่อย่างว่า เวลาทำงาน เขาไม่ควรจะใช้ระบบอุปถัมภ์ ถ้าพูดกันตรงๆ แต่องค์กรอื่น เขาอยู่ในอำนาจที่ยังต้องใช้ระบบอุปถัมภ์ เราจึงไปพึ่งพาสิ่งเหล่านั้นไม่ได้
แต่ตอนหลังเครดิตของ ป.ป.ช. ก็ถูกตั้งคำถามเยอะ
มันเป็นธรรมดา เพราะเข้ามาในยุคที่สับสนวุ่นวาย และทำงานไม่เป็นอิสระเหมือนสมัยที่ผมยังอยู่ ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่า ..เหนื่อยอ่ะ คนที่ทำงานอยู่ในนั้นก็ต้องเหนื่อย ก็คงพยายามทำอะไรเท่าที่ทำได้ ผมก็ต้องให้กำลังใจอยู่
ยังให้กำลังใจ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันอยู่
อย่างน้อยก็ทำให้คนไว้วางใจองค์กรอิสระ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกทำลายหมด
ไม่เช่นนั้น ตำรวจก็จะตรวจสอบกันเอง
ก็ย้อนยุคไป
อย่างคดีบอส ถ้าไม่มี ป.ป.ช. หากใช้การสอบสวนแบบดั้งเดิม แล้วจะมีอะไรที่จะตอบโจทย์ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมควรจะเป็นธรรม ไม่ควรจะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อได้
ใช้คำนี้เลยเหรอครับ “กระบวนการยุติธรรมที่ซื้อได้”
มันเป็นคำขององค์กร Transparency International (TI – องค์กรนานาชาติที่ผลักดันเรื่องความโปร่งใสและต่อต้านการทุจริต มีผลงานเด่น เช่น เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส หรือ CPI ในทุกๆ ปี)
ตั้งแต่เป็นอัยการ ศาลมาจนถึง ป.ป.ช. เคยเจอขบวนการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมขนาดนี้ไหม
มี คดีใหญ่ๆ ก็จะมีขบวนการพวกนี้ แต่เราอาจจะไม่ได้เห็นภาพใหญ่เหมือนเคสนี้ เช่น คดีจัดซื้อรถเรือดับเพลิงของ กทม. ที่เห็นชัดเจนว่า ทำไมถึงไปซื้อ ทำไมซื้อตอนที่ผู้ว่าฯ กทม.กำลังจะพ้นตำแหน่ง แถมยังมีการเซ็นหนังสือกันในวันหยุดด้วย หรือคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน อย่างเนี้ยชัดๆ เลย ร่วมมือกันระหว่างฝ่ายการเมืองลงมาถึงคนออกโฉนดที่ดิน มันครอบงำหมด อะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตเชิงนโยบาย มันคาบเกี่ยวกันหมด
ซึ่งทั้ง 2 คดีที่ยกมา ผู้ต้องหาก็หนีคดีเหมือนเลย
ก็เข้ากับที่ TI พูดไว้ คือการบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง ถึงจะปิดจุดอ่อนทั้งหมดได้ การบังคับใช้กฎหมาย หรือ law enforcement เป็นปัญหาสำคัญของเมืองไทย อันหลังนี่เขาไม่ได้พูด แต่ผมเติมให้
ถ้าพยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ trust (ความเชื่อมั่น) จะเกิดขึ้นทันที เหมือนอย่างในอินโดนีเซีย มีความพยายามดำเนินคดีกับรัฐมนตรี กับผู้ว่าการธนาคารกลาง พวกตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย แล้วที่อินโดฯ ถึงขนาดมีห้องขังอยู่ที่ ป.ป.ช. เพื่อเป็นตัวอย่าง (วิชาเสริมว่า ของไทย จริงๆ ก็อนุญาตให้มีห้องขังไว้ที่ ป.ป.ช.แล้วแต่ยังไม่ได้ทำ)
คดีของบอส คณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดที่อาจารย์เป็นประธาน สรุปผลไว้ตั้งแต่ปี 2563 มันมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน
ก็ยังแก้ไขไม่ได้มาก เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนจะต้องเห็นชอบด้วย แต่ประชาชนก็ยังเห็นว่า ถ้ามีใครมาช่วยเขาด้วย เขาก็ยังพอใจ
อีกเรื่อง เราจะสร้างระบบที่มันเข้มแข็ง มันพูดแต่ปากไม่ได้ มันจะต้องลงมือทำ และต้องจากข้างบนลงมา แบบที่เขาพูดกันว่า หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก ฝรั่งบอกว่า ต้อง tone at the top คือนโยบายต้องลงมาชัดเจนเลย ซึ่งของเราก็พยายามแก้ตามที่ TI แนะนำ คือไม่ให้คดีนั้นๆ มันเป็นคดีที่ขาดอายุความ
ถ้าหนีไม่นับ
ใช่ เหมือนอย่างกรณีคุณสุนทร วิลาวัลย์ อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี (บิดาของกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ) ต้องมามอบตัวคดีรุกป่าสงวนเขาใหญ่ เพราะถ้าหนี อายุความมันหยุดทันทีสำหรับคดีทุจริต
แต่เราก็เสนอไปในคดีบอสว่า อยากให้ขยายเรื่องนี้ไปรวมถึงคดีอาญาทั่วๆ ไปด้วย เพราะมันเป็นนิสัยของคนไทยทั่วๆ ไปอยู่แล้วที่มักจะหนีไว้ก่อน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย
หรือที่เสนอให้แก้ไขระเบียบของทั้งอัยการและตำรวจ
เรื่องการขอความเป็นธรรมของอัยการ แก้ไขไปแล้ว เจ้าตัวต้องมาเอง และมีกำหนดว่าขอได้กี่ครั้ง
แสดงว่าทางอัยการค่อนข้าง active
อัยการถือว่าใช้ได้เลย เขาตั้งใจ นี่ผมก็ได้รับเชิญจากอัยการให้ไปร่วมประชุม เพราะเขารอไม่ไหวกับร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาที่จะให้อัยการมามีส่วนร่วม เขาตั้งธงเลยว่า เขาจะเอาออกเป็นระเบียบของตัวเองว่า ให้อัยการเข้าไปรวบรวมข้อมูลตั้งแต่แรก ในฐานะพนักงานสอบสวนร่วมด้วย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลย เขากำลังจะรุกไปข้างหน้า เขาไม่รอแล้ว
ถ้าให้อัยการไปช่วยดูสำเนาแต่แรก ถ้าเห็นอะไรผิดปกติก็จะบอกกับทางตำรวจได้ว่า อะไรมีพิรุธ อะไรที่ยังไม่ครบ ซึ่งจะทำให้มันชัดขึ้น แทนที่จะรอนั่งอ่านสำนวนอย่างเดียว
ความเปลี่ยนแปลงช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กระบวนการยุติธรรมบ้างไหม หรือได้เปลี่ยนอะไรไปบ้าง
อย่างน้อยได้ให้ข้อคิดกับคนที่ใช้อำนาจ ที่ผมเตือนไว้ และคณะกรรมการตรวจสอบฯ ก็เห็นด้วยว่า เราควรจะต้องวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน คือเรื่องของการมอบอำนาจ คือมันเป็นการวัฒนธรรมของไทยเลยคือมอบอำนาจแล้วมักจะมอบขาด ไม่รับคืนเลย มอบแล้วก็ไม่สนใจเลย ผู้รับมอบอำนาจก็ไม่รายงานเลยว่าไปทำอะไรบ้าง ซึ่งมันไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ก็กำหนดว่าคนที่มอบอำนาจจะต้องติดตาม แม้แต่ระดับรัฐบาลเหมือนกัน เวลา รมว.มอบอำนาจให้ รมช.ไปแล้ว ไม่ใช่การมอบอำนาจขาดเลย จะไปทำอะไรตามใจชอบก็ได้ ไม่ใช่ เพราะถ้ามีอะไรเสียหาย ก็เข้า 157 เหมือนกัน
เราต้องการจะสร้างบรรทัดฐานแบบนี้ สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินทุกตำแหน่ง เหมือนกับอย่างคุณเนตร เขาสั่งอะไรไปแล้วต้องรายการให้ อสส. ทราบโดยทันที เพราะมันไม่ใช่อำนาจของตัวเองโดยแท้ แล้วตัวผู้มออบอำนาจ ถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็ต้องขอเปลี่ยนว่า คุณทำอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ก็ต้องไม่เกรงใจกัน
เรื่องนี้อัยการได้แก้ไขหรือยัง
อันนี้ยังไม่มี แต่ผมเห็นว่าเราสามารถเอาระบบธรรมาภิบาลมาใช้ได้ หรือการติดตามกำกับดูแล ซึ่งควรจะใส่ไว้ใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาที่กำลังมีการผลักดันกันต่อไป
อีกเรื่องคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร อันนี้ก็มีความสำคัญ คือต้องมีการแถลงแบบ ป.ป.ช. เป็นระยะๆ ว่าคดีนี้ไปถึงไหนแล้ว โดยไม่ต้องมาซักไซ้ไล่เรียง ที่อังกฤษยิ่งกว่านั้นอีก มีกฎหมายกำหนดว่าต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในสำนวน อัยการต้องส่งไปให้ศาลดูว่าที่สอบสวนมาแล้วเป็นยังไง แม้แต่คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งให้ศาลดูด้วย คือเขาละเอียดมาก จะเห็นว่าฝรั่งเวลาทำงานอะไร จะเป็นงานที่ละเอียดรอบคอบ คือให้ประชาชนได้รับทราบ ฝ่ายจำเลยหรือผู้เสียหายก็ขอดูได้ ถ้าเกี่ยวข้อง
สื่อมวลชนขอดูด้วยได้ไหมครับ
อื้อ
แล้วระบบของเขาก็ใช้การไต่สวน เหมือนเวลา ป.ป.ช. ส่งสำนวนไปที่ศาล ก็ต้องส่งสำนวนทั้งหมด เพราะเขาเขียนไว้ว่า ศาลต้องถือสำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก ฉะนั้น มันจะมีชั้นที่สำคัญมากที่ต่างประเทศที่เราก็เอามาใช้ในคดีทุจริต คือมีวันที่ตรวจสำนวน วันนั้นสำคัญมาก เพราะจำเลยก็ไปดูได้ว่า มีการส่งอะไรไปในสำนวนบ้าง แล้วมันกระทบถึงตัวเขายังไง จะได้เตรียมสู้คดีได้ เขาเรียกว่า free trial คือชั้นก่อนการพิจารณาคดี มีข้อมูลอะไรในสำนวนเปิดให้ดูได้หมดเลย แฟร์ๆ นะ ไม่มีกั๊กไว้ ไม่เหมือนของตำรวจ กว่าคุณจะดูสำนวนได้ ยุ่งยากมาก
คิดว่า ทำไมคุณบอสไม่เลือกมาสู้คดีในศาลตั้งแต่แรก ทั้งที่เจ้าตัวเองก็ไปจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิต รวมถึงไปร่วมงานศพตลอด จนบางคนบอกว่า พฤติกรรมที่เสมือนสำนึกผิดเช่นนี้ หากสู้คดี ถึงติดคุกก็ไม่น่าจะนาน
ไม่ทราบเหมือนกันนะ แต่มีคนให้ความเห็นมาว่า ตัวบอสเองอาจจะไม่ต้องการที่จะตกเป็นจำเลยในชั้นศาลเป็นอันขาด เขารู้สึกว่า รับไม่ได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องทัศนคติ
ขึ้นศาลแม้แต่วันเดียวก็ไม่เอา
ใช่
ทั้งที่ถ้าว่าไปตามขั้นตอนก็น่าจะจบไปนานแล้ว
ความจริง ตรงไปตรงมา คดีก็น่าจะจบไปแล้ว พอใช้วิธีนี้ มันก็เลยยืดเยื้อ และเป็นสถานการณ์ที่ยุ่งยากมาก
หมายเหตุ: คดีที่เกี่ยวเนื่องกับบอส อยู่วิทยา ที่ต้องติดตามกันต่อไป
- คดีหลักของบอส ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความถึงวันที่ 3 ก.ย.2570 (ณ ปีนั้นเขาจะมีอายุ 45 ปี) แต่มีข้อจำกัดคือต้องนำตัวบอสมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันทั้งทางอัยการและตำรวจยังไม่สามารถหาที่พำนักของบอสในต่างประเทศเพื่อประสานขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้
- คดีไต่สวนเอาผิดทางอาญากับเครือข่ายช่วยเหลือบอสให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่ง ป.ป.ช. กำลังเดินหน้าไต่สวนอยู่ มีจำนวนผู้ถูกกล่าวหารวม 15 คน ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ นักการเมืองและบุคคลทั่วไป โดยจะครบกำหนดที่ต้องมีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมาปลายปี 2570
- คดีสอบสวนเอาผิดทางวินัยกับตำรวจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือบอสให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ 551/2563 และคำสั่ง สตช. ที่ 289/2564 ซึ่งมี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน The MATTER เคยทำหนังสือถามความคืบหน้าไปแล้ว กองวินัย สตช. ตอบกลับมาว่า ยังไม่แล้วเสร็จ
Photo by Krit Pornpichitpai