ไม่ว่างานไหนๆ ก็ต้องมีมาสคอต สัญลักษณ์ประจำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสนุก งานแข่งขันกีฬา งานนิทรรศการจัดแสดงต่างๆ ที่เราอาจคิดว่าหน้าที่ของพวกมันคือแค่การเป็นหุ่น ให้ผู้คนได้ถ่ายรูปคู่ ให้เด็กๆ ได้มาเล่น พูดคุยกับหุ่นเหล่านี้ในงาน
แต่มาสคอตของภาครัฐ มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ภายใต้หุ่นตุ๊กตาที่ดูมีใบหน้ารื่นเริง ยิ้มแย้ม บางตัวเป็นถึงสัญลักษณ์ของการปฎิรูป การปรองดอง หรือแม้กระทั่งเป็นหน้าตาของประเทศชาติ
The MATTER จึงอยากพาทุกคนไปรู้จัก 12 มาสคอตของภาครัฐ ที่เป็นตัวแทนของหน่วยงาน กับภารกิจ หน้าที่ยิ่งใหญ่ และการออกงานที่พวกมันได้รับ ว่าสร้างความประทับใจให้แก่ชนชาวไทย ไปถึงต่างชาติกันแค่ไหน
น้องพลัง – กระทรวงพลังงาน
‘น้องพลัง’ มาสคอตฝักข้าวโพดจากกระทรวงพลังงาน เป็นมาสคอตที่ไปโลดแล่น โกอินเตอร์ถึงต่างประเทศมาแล้ว ในการเป็นตัวแทน ทำหน้าที่ในต่างแดน เชิญชวนให้แขก มาเยี่ยมชมอาคารศาลาไทย ในงาน ASTANA EXPO 2017 ที่ประเทศคาซัคสถาน ทั้งกระทรวงพลังงานยังยกให้น้องเป็นสัญลักษณ์นำโชคด้วย
มาสคอต ‘พลัง’ มาจากข้าวโพดที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและเป็นที่คุ้นเคยกับคนทั่วโลก ส่วนหัวของน้อง เป็นรูปใบผลิ แสดงถึงพลังงานจากพืชที่สร้างใหม่เสมอ และส่วนตัวตกแต่งเน้นเรืองแสง คือพลังงานไฟฟ้าจากข้าวโพด และรูปร่างกลมเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกอยากเข้ามากอด และเอ็นดู น้องพลังยิ่งขึ้น
แต่หลังจากที่น้องพลังเปิดตัวมา น้องก็ต้องพบกับกระแสดราม่าไม่แพ้ดารา หรือนักร้อง จากการที่ ฮิโระ โยชิมูระ นายกเทศมนตรีเมืองโอซาก้า ทวิตข้อความว่า น้องพลังไปคล้ายกับตัวการ์ตูน ผลไม้สาลี่ ชื่อดังของญี่ปุ่น ที่ชื่อ Funassyi (ฟุนัชชี่) จนโฆษกกระทรวงพลังงานต้องออกมาแก้ข่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเป็นการไปลอกไอเดียมา แต่น้องพลังมาจากฝักข้าวโพดจริง พืชหลักของไทยจริงๆ เพื่อให้ต่างชาติเข้าใจนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนต่างหาก ซึ่งภายหลังโยชิมูระเอง ก็ถูกชาวเน็ตญี่ปุ่น ต่อว่าเช่นกันที่มาปรักปรำน้องพลังของเรา
เหมียวมั่น – สำนักงานนโยบายแผนและพลังงาน
เหมียวมั่น เป็นแมวอย่างเดียวไม่พอ ต้องมั่นด้วย มาสคอตแมว ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ในโครงการรวมพลังหารสองประหยัดชัวร์
เหมียวมั่นมากับทรงผมหน้าม้า และการแสดงออกท่วงท่า สื่อด้วยความมั่นใจว่าถ้าหากประชาชนช่วยกันปิดไฟฟ้าที่ไม่ใช้ ปรับอุณภูมิเครื่องปรับอากาศมาที่ 25 องศา ปลดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนอุปกรณ์มาเป็นรุ่นประหยัดไฟฟ้า ก็จะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้แน่นอน!!!
น้องเหมียวมั่นออกงานกับ สนพ. มาแล้วหลายครั้ง และนอกจากเป็นมาสคอตแล้ว ยังมีเหมียวมั่น กับเจ้าทูเพื่อนซี้ในเวอร์ชั่นการ์ตูน ที่เป็นนางเอก MV เพลง ‘ภารกิจพิชิตค่าไฟ’ แถมยังเคยสติ๊กเกอร์ไลน์เป็นของตัวเองมาแล้วด้วย
ช้างไชโย – กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พูดถึงสัญลักษณ์ของสัตว์ประจำประเทศไทย ยังไงก็ต้องนึกถึงช้าง
‘ช้างไชโย’ เองก็เป็นมาสคอตประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้รับมอบมาจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม
ช้างไชโย ไม่ใช่เพียงตุ๊กตาหุ่นช้าง หรือมาสคอตธรรมดา เพราะยังเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปด้านการกีฬา สานต่อโดยดำเนินการตามนโยบาย Sports for All 4.0 ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช้างไชโยตัวนี้ มีลักษณะ หมวก สีเสื้อ และชื่อที่เหมือนกับ ‘ช้างไชโย’ มาสคอตของเอเชี่ยนเกม เมื่อปีพ.ศ. 2541 แตกต่างกันแต่เพียงเสื้อที่ช้างไชโยของเอเชียนเกมส์จะเป็นรูปสัญลักษณ์ของการแข่งขันในปีนั้น แต่ช้างไชโยตัวใหม่นี้ จะเป็นคำว่าคำว่า ‘คนไทย ไชโย’
น้องถัง 4 สี่ และพี่หยดน้ำ – กรุงเทพมหานคร
คนเราถูกสร้างมาให้มีคู่ฉันใด มาสคอตบางตัวก็ถูกสร้างมาให้ทำงานเป็นคู่ฉันนั้น ‘น้องถัง 4 สี’ และ ‘พี่หยดน้ำ’ มาสคอต 2 ตัว ที่เปิดตัวพร้อมกัน มาเป็นสัญลักษณ์ของโครงการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน ของกรุงเทพมหานคร
น้องถัง 4 สี เป็นถังขยะสี่เหลี่ยม ที่แต่ละด้านจะมีสีต่างกัน 4 สี คือสีของการแยกทิ้งขยะตามถัง รณรงค์ให้คนไทยทิ้งขยะตามประเภท ขยะทั่วไป, ขยะรีไซเคิล, ขยะเศษอาหาร และขยะอันตราย ซึ่งน้องถัง 4 สี่ ก็ได้เดินสาย ทำหน้าที่รณรงค์กับ กทม. และโครงการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน มาทั่วพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อย่างไม่ย่อท้อมาแล้ว
ส่วนพี่หยดน้ำ แม้จะเปิดตัวพร้อมๆ กับน้องถัง 4 สี แต่ภาพจากกิจกรรม การรณรงค์ และเดินสายของกทม. ในเพจเฟซบุ๊กของชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bangkok Green Community) เรากลับไม่พบภาพการทำงานของพี่หยดน้ำ เห็นแต่ภาพของน้องถัง 4 สีเท่านั้น คาดการณ์ว่าอาจเป็นปัญหาของการดังแล้วออกงานเดี่ยว หรือความนิยมที่ได้รับอย่างไม่เท่าเทียมกันในสังคมมาสคอตก็เป็นได้
หนูแดง – สภากาชาด
‘หนูแดง’ ในที่นี้ ไม่ใช่หนูน้อยหมวกแดง แต่คือหนูหยดเลือดสีแดง มาสคอตของสภากาชาดไทย ที่ได้รับมาจากบมจ. ไทยประกันชีวิต เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
มาสคอตหนูแดงของสภากาชาดมี 2 ตัว ตัวหนึ่งมีการติดโบว์สีเหลืองบนหัว แต่อีกตัวไม่มีโบว์ ทั้งสองตัวจะถึงป้ายคนละอันที่ว่า ‘หนูชื่อหนูแดงค่ะ’ และอีกป้าย ‘เชิญชวนมาร่วมบริจาคโลหิตกับพวกเรานะคะ’
พี่ทหาร & พี่ตำรวจ – เหล่าทัพ
ในยุคที่เหล่าทหารขึ้นมาบริหารประเทศชาติบ้านเมือง เราคงจะไม่พูดถึงมาสคอตเหล่าทหารหาญได้อย่างไร มาสคอตทหารมีหลากหลายตัว และรูปแบบ ส่วนมากจะเน้นใส่ชุดทหารลายพราง หรือชุดทหารของเหล่าทัพนั้นๆ แยกกันไป
แต่มาสคอต 4 ตัวนี้ เป็นมาสคอตเซ็ทของ 4 เหล่าทัพ ทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ และตำรวจ ที่ออกงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหล่าทัพ เช่น งานรักชาติเฟสติเวิล ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ หรือช่วยในกิจกรรมขายดอกป๊อปปี้ของเหล่าทหารผ่านศึก เป็นต้น
หนุมาน – กรรมการการเลือกตั้ง
ไม่ได้เข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้งกันมานาน พอเมื่อปีที่แล้ว ได้จัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งที สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้เปิดตัว ‘หนุมาน’ มาสคอตที่รับหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์ประชามติ
สำนักงาน กกต. ใช้มาสคอตรูปหนุมาน เพื่อสื่อความหมายว่า ในปี 2559 ตรงกับปีนักษัตร “ปีวอก” หรือ “ลิง” เปรียบเสมือนเทพหนุมานที่มีนิสัยชอบอาสา ซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดีต่อบ้านเมืองช่วยพระรามปราบปรามทศกัณฐ์ และเมื่อได้รับภารกิจ ก็ทำอย่างตั้งใจเต็มที่ เสียสละตนเองเพื่อความสงบของบ้านเมือง จึงถือว่าปีลิง จะเป็นปีที่คนไทยร่วมใจออกเสียงประชามติให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไป
หลังจากที่หนุมานได้รับมอบภารกิจแล้ว ได้ออกเดินสายรณรงค์อย่างตั้งใจ กับประชาชนทั่วประเทศไทย ในจังหวัดสมุทรปราการ พิจิตร จันทบุรี และอีกหลายพื้นที่ จนมีช่างแกะสลักเทียนพรรษา จังหวัดนครราชสีมา แกะสลักเทียนหุ่นรูปหนุมานเพื่อช่วยเจ้ามาสคอตรณรงค์อีกแรงด้วย เรียกได้ว่าหนุมานรับบทบาทบากบั่นสมกับความหมายที่กกต. ตั้งให้จริงๆ
น้องเกี่ยวก้อย – กระทรวงกลาโหม
มาถึงน้องคนสุดท้าย ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย กับ ‘น้องเกี่ยวก้อย’ ของกระทรวงกลาโหม ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดไปเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่ชื่อเสียงแรงแซงโค้งมาสคอตตัวอื่นๆ ด้วยการรับบทบาทเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดอง
หลังเปิดตัว ต่างก็มีเสียงประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ว่าน้องเกี่ยวก้อยหน้าดำๆ ด่างๆ บ้าง หน้าตาไม่น่าปรองดองด้วยบ้าง อยากรู้งบประมาณของมาสคอตตัวนี้บ้าง แต่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ก็ยืนยันว่า ที่น้องหน้าคล้ำ เพราะมุ่งมั่น และทำงานในการปรองดอง และเป็นมาสคอตที่สื่อความหมายหัวจรดเท้าจากสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าเสื้อสีขาว ที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ เน้นปรองดอง ลายหัวใจบนเสื้อ ที่หมายถึงคนไทยร่วมกันเป็นหัวใจเดียวกัน ผ้าพันคอมีสัญลักษณ์ของการจับมือกัน และหมวกลายธงชาติ เน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และเป็นมาสคอตที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมากด้วย
แม้จะมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ น้องเกี่ยวก้อย หน้าตาเหมือนกับมาสคอตทหารหญิงที่ถูกใช้เมื่อ 3 ปีก่อน ต่างกันแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่ จนคาดว่าอาจเป็นที่มาของใบหน้ามอมแมมของน้อง ที่เกิดจากการถูกเก็บไว้นาน จนฝุ่นเกาะก็เป็นได้
อ้างอิง
http://www.energynewscenter.com/
http://www.energynewscenter.com/
https://www.facebook.com/
http://bangkok-green2014.blogspot.com/
Illustration by. Namsai Supavong