เราเคยกล่าวถึงการหยิบยกเอาสิ่งของ เรื่องราว หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่ได้มาเกี่ยวพันกับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน, การขับถ่ายอุจจาระ, ปัสสาวะ, ห้องส้วม, เลือด, อวัยวะเพศ, หรือเพศสัมพันธ์, ไปจนถึงการก่ออาชญากรรม, หรือแม้แต่ความตาย
ตอนนี้เราก็ยังมีอีกกิจกรรมธรรมด๊าธรรมดาอีกอย่างที่ได้มาข้องแวะกับศิลปะ กิจกรรมที่ว่านั้นคือ ‘เกมการละเล่น’ (หรือจะเรียกว่า กีฬา ก็ได้) ที่มีชื่อเรียกว่า ‘เทเบิลเทนนิส’ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ปิงปอง’ นั่นเอง
แล้วเกมการละเล่นอย่าง ‘ปิงปอง’ ไปเกี่ยวข้องกับศิลปะได้ยังไง? ตอบให้ก็ได้ว่า เพราะการเล่นปิงปองที่จะพูดถึงนี้เขาไม่ได้เล่นกันแบบปกติธรรมดาในสนามปิงปองทั่วไป หากแต่เล่นกันในพื้นที่แสดงงานศิลปะอย่าง N22 ที่เป็นแหล่งรวมหอศิลป์หลากหลายแห่งอย่าง Gallery VER, Cartel Artspace, ARTIST+RUN, Tentacles และ Doxza art lab แล้วเขาก็ไม่ได้ตั้งโต๊ะเล่นกันก๋องๆ แก๋งๆ เอามันอย่างเดียว หากแต่จัดแข่งขันกันเป็นทัวร์นาเมนต์จริงๆ จังๆ มีสนามปิงปอง มีกรรมการเป็นกิจจะลักษณะ แถมยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันอีกด้วย
โดยการแข่งปิงปองที่ว่านี้ เกิดจากการริเริ่มของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับโลกสามคน อย่าง อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, ปรัชญา พิณทอง และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่ต่างก็มีความชื่นชอบในการตีปิงปองเหมือนๆ กัน และต้องการจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เป็นการรวมตัวกันของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ในโอกาสที่พวกเขากลับมาเมืองไทยนานทีปีหน หลังจากตระเวนแสดงงานในต่างประเทศมา พวกเขาจึงตกลงใจกันจัดกิจกรรมการแข่งปิงปองขึ้นมา และในเมื่อลงทุนจัดแล้ว ก็ย่อมต้องทำให้สมศักดิ์ศรี ด้วยการจัดเป็นทัวร์นาเมนต์แข่งตีปิงปองของคนในวงการศิลปะมันซะเลย
ทัวร์นาเมนต์แรก ประเดิมขึ้นในปี 2017 ในชื่อ ‘PING PONG WITH FRIENDS’ และจัดมาอย่างต่อเนื่องทั้งในปี 2018 ในชื่อ ‘PINGPONG OR DIE’ และล่าสุด ในปี 2019 ในชื่อ THE GREATEST GAME EVER PLAYED นั่นเอง
ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันนอกจากจะเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตาในวงการศิลปะ ทั้งศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักสะสมงานศิลปะ เจ้าของหอศิลป์ สื่อมวลชนสายศิลปะ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ทั้งไทยและเทศ รวมถึงผู้ที่สนใจแล้ว ตัวตั้งตัวตีของงานทั้งสามคนคือ อุดมศักดิ์ ปรัชญา และฤกษ์ฤทธิ์ เอง ก็เข้าร่วมในทัวร์นาเมนต์การแข่งขันตีปิงปองด้วยทุกครั้งไม่เคยขาด
แมรี่ ปานสง่า ภัณฑารักษ์อิสระผู้เป็นแม่งานในการจัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันปิงปองกล่าวถึงความเป็นมาของงานนี้ให้เราฟังว่า
“แรกเริ่มคือ พี่ตั๋ง (อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ), พี่ฤกษ์ฤทธิ์ กับ พี่โต๊ะ (ปรัชญา พิณทอง) สามคน เขาชอบเล่นกีฬา ชอบตีปิงปองกันอยู่แล้ว พวกเขาก็เลยคิดอยากจะจัดการแข่งขันตีปิงปองขึ้นมาก็น่าจะดี อีกอย่าง พี่ฤกษ์ฤทธิ์เองก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยบ่อยๆ พอพี่เขากลับมาก็เลยอยากให้มีกิจกรรมอะไรสักอย่างให้ทุกคนมาจอยกัน ก็เลยอยากให้ทุกคนมาจอยกันด้วยการเล่นปิงปอง”
พอทำปีแรกแล้วค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทุกคนมีความสุขสนุกสนาน เราก็เลยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง ปีที่สาม และคิดว่าจะจัดต่อไปอีกเรื่อยๆ ทุกปี เพราะมันไม่ได้มีอะไรมาก ทุกคนแค่อยากมาตีปิงปองกัน ซึ่งเป็นอะไรที่เราสามารถจัดได้ง่ายๆ อยู่แล้ว ปิงปองมันเป็นเกมที่ทำให้ทุกคนได้มาเจอกัน ทุกคนมีสิทธิ์แข่งด้วยกัน แล้วมันเป็นเกมที่แข่งกันง่าย ทุกคนเล่นได้ จบเร็ว อย่างปีแรกก็จะมีคนที่เล่นไม่เป็นเลยเยอะ ปีที่สองคนก็จะน้อยหน่อย พอมาปีนี้ คนที่เล่นไม่เป็นแทบจะไม่มีเลย ทุกคนดูโปรหมด ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าศิลปินหลายคนจะตีปิงปองเก่งมาก อีกอย่างเราว่ามันเป็นเรื่องดีที่ศิลปินรุ่นเด็กมีโอกาสได้เล่นปิงปองกับศิลปินรุ่นใหญ่ โดยไม่ต้องถือว่าใครเป็นใคร ทุกคนมาจอยด้วยกัน น่ารักดี”
นอกจากจะมีจุดเริ่มต้นเพื่อความสนุกสนานและเป็นการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยอันดีแล้ว ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันปิงปองยังมีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการทำการกุศลอีกด้วย
“มันเริ่มจากการที่พี่ตั๋งได้ยินมาว่า สถิติการการมอบทุนวิจัยของโรงพยาบาลเนี่ย การลงทุนเกี่ยวกับโรคมะเร็งมีน้อย เลยอยากสมทบทุนเพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก (คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง แล้วปิงปองก็เป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว และเป็นกิจกรรมที่ทุกคนมาทำร่วมกันได้ เราก็เลยจัดการแข่งขันปิงปองขึ้นมา ในงานเราก็ทำเสื้อยืดสกรีนเป็นรูป ‘สามเกลอหัวแข็ง’ (The Three Stooges) มอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้บริจาคแล้วแต่ศรัทธา
เรารู้สึกว่ากีฬาเป็นสิ่งที่สามารถรวบรวมคนเอาไว้ด้วยกันได้ มันเป็นสื่อที่สร้างความสนุกสนานโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เราแค่อยากรวมตัวกันทำอะไรสักอย่างร่วมกัน แต่ถ้าการรวมตัวกันนั้นส่งผลอะไรที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ได้บ้างมันก็เป็นสิ่งที่ดี” ปรัชญา พิณทอง หนึ่งในตัวตั้งตัวตีของกิจกรรมครั้งนี้กล่าว
นอกจากจะเป็นการแข่งขันเพื่อรวมตัวเหล่าเพื่อนสนิทมิตรสหายและคนในแวดวงศิลปะ รวมถึงเป็นการทำการกุศลกลายๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันปิงปองไก่กาธรรมดาก็คือไฮไลต์ของการแข่งขัน ที่ผู้ชนะจะได้รับผลงานตัวจริงเสียงจริงของศิลปินระดับโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ไปครอบครอง
ซึ่งรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในปีแรก นั้นเป็นลูกปิงปองบุบๆ ที่ฤกษ์ฤทธิ์และอุดมศักดิ์หยิบมาเซ็นชื่อมอบให้ (แต่อย่าเพิ่งปรามาสไป เพราะต่อให้เป็นแค่ลูกปิงปองบุบๆ แต่ถ้ามีลายเซ็นของศิลปินระดับโลกอยู่ มันก็อาจกลายเป็นผลงานศิลปะสูงค่าในอนาคตก็ได้นะ!) และเริ่มยกระดับถ้วยรางวัลเป็นผลงานเซรามิกส์ของฤกษ์ฤทธิ์ในปีต่อๆ มา
“คือก่อนหน้านี้เราเล่นปิงปองกับโต๊ะ (ปรัชญานะ ไม่ใช่โต๊ะปิงปอง) ก็คิดว่าถ้าเล่นหลายคนคงจะสนุกดี ก็เลยจัดเป็นการแข่งขันกันขึ้นมา ปีแรกหาถ้วยรางวัลไม่ทัน ไม่รู้จะเอาอะไรดี เห็นลูกปิงปองบุบๆ เราก็เลยเอาไปเซ็นชื่อมอบเป็นถ้วยรางวัลให้คนที่ชนะ ปีต่อๆ มาพี่ฤกษ์ฤทธิ์ก็เลยทำถ้วยรางวัลเพื่อกระตุ้นทุกคนให้มีเป้าหมาย ให้อยากชนะ ไม่ใช่ว่าเล่นเสร็จแล้วก็จบ แต่ให้กลับไปซ้อมกันมาเพื่อจะได้มาเล่นกันมันๆ ซึ่งเราก็แข่งกันซีเรียสเลยนะ” อุดมศักดิ์ ศิลปินผู้จุดประกายการเล่นปิงปองในพื้นที่ทางศิลปะกล่าว
ซึ่งอันที่จริงอุดมศักดิ์เองก็เป็นศิลปินผู้มักจะหยิบเอาวัตถุที่พบได้ในชีวิตประจำวัน (found object) มาทำงานศิลปะ แน่นอนว่าในจำนวนนั้นก็มีโต๊ะปิงปองรวมอยู่ด้วย
ส่วนงานศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์เองก็ไม่ได้เป็นแค่การทำผัดไทยแจกให้คนกินฟรีในหอศิลป์เท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้คน ในสถานที่และบรรยากาศที่ศิลปินเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้น งานของเขาจึงไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่เรื่องของอาหารเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสร้างสถานการณ์ที่นำพาผู้คนเข้ามาอยู่ร่วมกันต่างหาก ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยตั้งโต๊ะปิงปองให้คนมาเล่นกันในพื้นที่แสดงงานศิลปะด้วยเหมือนกัน (ซึ่งอันที่จริง ผลงานที่ว่านั้น ฤกษ์ฤทธิ์ทำขึ้นเพื่อแสดงคารวะแก่ศิลปินชาวสโลวัก ยุลิอุส โคลเลอร์ (Július Koller) ผู้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างกีฬาและศิลปะ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กลายเป็นสนามปิงปองให้ศิลปินตีปิงปองกับผู้ที่เข้ามาชมงานในปี 1970 นั่นเอง)
การลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะและชีวิตประจำวันของฤกษ์ฤทธิ์ มักจะถูกยกให้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดของ นิโกลาส์ บูริโยด์ (Nicolas Bourriaud) ภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส ที่เรียกว่า Relational Aesthetics (สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและผู้ชมงานศิลปะและปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น เวลา สถานการณ์ สถานที่ และประสบการณ์ แนวคิดนี้เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาสและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัว แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วฤกษ์ฤทธิ์ทำงานในลักษณะนี้ก่อนที่แนวคิดนี้จะถูกบัญญัติขึ้นด้วยซ้ำ
แล้วถ้าใครสงสัยว่าการแข่งขันปิงปองของเหล่าบรรดาศิลปินในพื้นที่แสดงงานศิลปะแบบนี้ ถือเป็นกิจกรรมทางศิลปะในทำนองเดียวกับ Relational Aesthetics ไหม? ฤกษ์ฤทธิ์เขาก็ชี้แจงแถลงไขให้เราฟังอย่างน่าสนใจว่า
“เราไม่คิดว่ามันเป็นศิลปะนะ เพราะแม้แต่กิจกรรมทางศิลปะ เราก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นศิลปะอะไรเลยด้วยซ้ำ เราก็ทำของเราไปธรรมดา เพราะว่าความคิดที่บอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นศิลปะนั้นทำให้สิ่งที่เราทำถูกจำกัดเกินไป ความจริงก็คือ เราเล่นปิงปองด้วยความสนุก เพราะว่าเราชอบปิงปอง เราไม่ได้ต้องการให้มันเป็นสิ่งอื่นนอกจากตัวของมันเอง จริงอยู่ ที่คนที่มาเล่นอาจจะเป็นศิลปินเยอะสักหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเล่นปิงปองนั้นจะต้องเป็นศิลปะ
ในความคิดของเรา Relational Aesthetics เป็นความคิดของตะวันตก ที่ต้องการสร้างรูปแบบ สร้างกรอบอะไรบางอย่างให้กับสิ่งต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยสนใจตรงนั้นเลย เพราะเราเป็นคนที่ไม่มีกรอบ ไม่เคยอยู่ในกรอบ และไม่ต้องการกรอบ เราไม่ต้องการจะสร้างประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นกรอบขึ้นมา เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมหรือวัฒนธรรมแบบนั้น เราต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่มีกรอบ ไม่มีขอบเขต เราไม่จำเป็นต้องสร้างขอบเขตของตัวเราเองด้วยการให้คนอื่นมาตีกรอบให้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เราก็จะไม่เป็นทาสของกรอบและขอบเขตที่คนอื่นสร้างให้กับเรา เมื่อนั้น คำบางคำ ความคิดบางอย่าง อย่างเช่นคำว่า “ศิลปะ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึง เรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันเหล่านี้ต่างหาก ที่เป็นอนาคตจริงๆ ของการสร้างสรรค์ นั่นก็คือการมีความคิดที่เปิดกว้าง และทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้”
กิจกรรมการแข่งขันปิงปองในพื้นที่ทางศิลปะ วางแผนจะจัดขึ้นทุกปี ในพื้นที่เวิ้งศิลปะ N22 ซอย นราธิวาสราชนครินทร์ 22 ใครสนใจจะเข้าร่วมแข่งขัน ก็สอบถามข่าวคราวกันได้ทางอีเมล pingpongordie.bkk@gmail.com ว่างๆ ก็ฝึกฝีมือเอาไว้แต่เนิ่นๆ เผลอๆ ปีหน้าอาจจะได้งานศิลปะของศิลปินระดับโลกติดมือกลับบ้านก็ได้ ใครจะไปรู้?
ขอบคุณภาพจาก แมรี่ ปานสง่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทสัมภาษณ์ศิลปิน อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, ปรัชญา พิณทอง, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และภัณฑารักษ์ แมรี่ ปานสง่า โดยผู้เขียน