ปกติเวลาพิมพ์งานคุณเลือกใช้ฟอนต์อะไร? หรือในเอกสารที่เป็นทางการ คุณคิดว่าฟอนต์ไหนเหมาะสมที่จะใช้ในนั้น?
หลายคนอาจพอรู้ว่าจริงๆ แล้ว ประเทศเรามี ‘ฟอนต์แห่งชาติ’ อยู่ ซึ่งเป็นชุดแบบอักษร 13 แบบ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เคยมีการประกาศให้ฝ่ายบริหารของประเทศใช้ชุดแบบอักษรดังกล่าวในเอกสารราชการ เมื่อปี 2553 และนำชุดแบบตัวอักษรดังกล่าวมาใช้เป็น Google Font เมื่อปี 2559
ล่าสุด เมื่อปีที่ผ่านมา (2561) ด้วยความที่ Google Fonts ต้องการให้ ‘13 ฟอนต์แห่งชาติ’ ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน และเหมาะสมต่อการใช้งานได้จริง ‘คัดสรร ดีมาก’ จึงเข้ามารับหน้าที่ในการปรับปรุงแบบตัวอักษรให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตอบรับกับการใช้งานและแสดงผลบนหน้าจอในอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไป โดยโจทย์สำคัญของการปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้ คือระหว่างที่พยายามปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการแสดงผลของยุคสมัยบนหน้าจอประเภทต่างๆ ก็ต้องพยายามรักษา ‘คาแรกเตอร์’ ดั้งเดิมของแบบตัวอักษรไว้เท่าที่ทำได้ด้วย
และนี่คือ 13 ฟอนต์แห่งชาติซึ่งปรับปรุงโดย ‘คัดสรร ดีมาก’ ที่เปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้กันได้ฟรีๆ ลองกดเข้าไปดูกันได้ที่ fonts.google.com/?subset=thai
1. สารบรรณ (Sarabun)
แบบตัวอักษรที่ได้รับความนิยมสูงสุดนี้ แตกต่างจากชุดเดิมคือมีการปรับสัดส่วนแบบตัวอักษรให้กว้างขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่สีขาวภายในตัวอักษรมากขึ้นสำหรับการขยายน้ำหนักที่หนาเป็นพิเศษ มีการจัดการส่วนหัว (loop terminal) และส่วนพับ (delta) ของตัวอักษร อย่างตัว ข ฑ จ ให้ยังอ่านออกได้ง่ายเมื่อมีการขยายน้ำหนัก
2. กอฮอ (KoHo)
จากแบบตัวอักษรเดิมมีหัวที่มีรูปทรงเป็นวงรีคล้ายเมล็ดองุ่น และมีการหมุนคอของหัวในองศาที่ไม่เท่ากัน ก็กำหนดองศาของการหันหัวให้เป็นไปอย่างมีระบบ ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักของตัวอักษร และมีความเป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น
3. จาม (Charm)
จากแบบตัวอักษรเดิมที่มีการไขว้กันไปมาระหว่างบรรทัดทำให้ช่องว่างระหว่างบรรทัดดูน้อยเกินไป การปรับปรุงครั้งนี้จึงมีการจัดการพื้นที่ระหว่างบรรทัด (leading) กับความสูงของสระและวรรณยุกต์ต่างๆ แต่โจทย์สำคัญสำหรับแบบตัวอักษรชุดนี้คือยังคงต้องรักษาลายมือเขียนแบบโบราณที่สะท้อนความเป็นยุคสมัยแบบเก่าไว้ได้อย่างครบถ้วน
4. เคทูดี (K2D)
บุคลิกพิเศษของแบบอักษรนี้คือ ‘ink trap’ หรือส่วนพับของตัวอักษรที่เดิมนั้นมีมากเกินกว่าที่จำเป็น ในการพัฒนาใหม่ นอกจากจะปรับปรุง ink trap ใหม่ให้เหมาะสมพอดีแล้ว ยังจะทำระบบน้ำหนักใหม่รวม 8 น้ำหนักด้วย
5. ครับ (Krub)
เดิมทีปัญหาของแบบอักษรนี้คือ การเป็นแบบตัวอักษรหัวกลมที่ปิดไม่สนิท (disconnected loop design) ทำให้การแสดงผลบนหลายๆ โปรแกรมมีปัญหา พื้นที่สีขาวไม่พอต่อการแสดงหน้าตาที่ถูกต้อง ในการปรับปรุงจึงมีการกำหนดค่าการแสดงผลใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแสดงผลบนในโปรแกรมที่หลากหลายได้
6. นิรมิตร (Niramit)
โครงสร้างแบบตัวอักษรเดิมเป็นลักษณะแบบตัวอักษรไทยประเพณีนิยม คล้ายการคัดลายมือแบบอาลักษณ์ที่เขียนแบบไม่ยกมือ การปรับปรุงในครั้งนี้จึงได้ทำการแยกเส้นที่ต่อเนื่องออกจากกัน เกิดเป็นรายละเอียดบนพื้นผิวตัวอักษรคล้ายการแตกกิ่ง เน้นเจตนาเดิมที่มีให้ชัดเจนมากขึ้น
7. มะลิ (Mali)
แบบตัวอักษรคล้ายลายมือเด็กประถมนี้ ได้รับการแก้ไขรายละเอียดให้เพิ่มความเป็นตัวพิมพ์มากขึ้น ด้วยการเพิ่มขนาดหัวตัวอักษรและปรับลักษณะของหัวตัวอักษรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จัดการเส้นและจุดกำกับการแสดงผลต่างๆ ให้เกิดความสม่ำเสมอมากขึ้น ขยายปลายเส้นที่กระดกแบบปัดออกให้มีความยาวเพื่อให้เหมือนการเขียนจริงๆ มากยิ่งขึ้นด้วย
8. คชสาร (Kodchasan)
เดิมจากแบบอักษรที่มีเค้าโครงจากลายมือ ได้มีการจัดการเส้นให้มีความหนาของเส้นเท่ากัน (monoline) และลดความหนาของเส้น ส่งผลให้มีรูปทรงของแบบที่คมมากขึ้น
9. ฟ้ากว้าง (Fah-Kwang)
แบบอักษรนี้มีจุดเด่นคือความกว้างต่างไปจากโครงสร้างอักษรไทยในอุดมคติ ในการปรับปรุง มีการปรับสัดส่วนหัวของตัวอักษรให้สมส่วน ปรับค่า contrast ให้คงที่ในทุกน้ำหนัก เพื่อเพิ่มความเป็นทางการ รวมถึงมีการจัดระบบช่องไฟใหม่ โดยหวังว่าจะสามารถถูกหยิบมาใช้งานจริงได้บ่อยยิ่งขึ้น
10. จามรมาน (Charmonman)
จากแบบตัวอักษรที่มีกลิ่นอายการเขียนตัวลายมือที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือมีการเดินเส้นมีช่วงความหนา-บางสูง และมีปลายสะบัด (swatch) การปรับเปลี่ยนแบบครั้งนี้ จึงโฟกัสที่การปรับตัวไทยและละตินให้มีความเข้ากันมากกว่าเดิม
11. จักรเพชร (Chakra-Petch)
เดิมทีโครงสร้างของแบบตัวอักษรนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแบบตัวอักษรร่วมสมัย และถูกออกแบบด้วยระบบ 45 ดีกรี ซึ่งค่อนข้างอิงกับระบบอย่างตรงไปตรงมา การปรับปรุงจึงมุ่งไปที่การใช้งานมากกว่าระบบ โดยการลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ผลลัพธ์ที่ได้คือแบบตัวอักษรไทยหัวกลมที่ทันสมัย สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งชื่อเรื่อง เนื้อหา ทำให้เป็นที่ถูกจดจำและสามารถใช้งานได้จริงในการแสดงผลในปัจจุบัน
12. ใบจามจุรี (Bai-Jamjuree)
มีการปรับหัวของแบบตัวอักษรทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพิ่มเส้นตรงบริเวณส่วนโค้งเพื่อความเข้ากันของแบบมากขึ้น โดยผู้ออกแบบได้นำหลังคาของตัวอักษรมีปากมาเป็นเงื่อนไขในการออกแบบส่วนโค้งของตัวอักษรอื่นๆ เพื่อให้ใช้งานได้จริงมากกว่าการเป็นแบบตัวอักษรเพื่อความสวยงาม
13. ศรีศักดิ์ (Srisakdi)
แบบตัวอักษรนี้เป็นลายมืออาลักษณ์มาจากยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีจุดเด่นคือตัวเอียงและมีปลายสะบัด ให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือ การปรับปรุงใหม่จึงต้องเก็บรักษาเอกลักษณ์ไว้อย่างครบถ้วน แต่ปรับปรุงให้ปลายสะบัดสั้นลงในระยะที่เหมาะสมเพื่อให้ดูร่วมสมัยมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ขยายส่วนสูงของแบบตัวอักษร เพื่อเพิ่มความชัดเจนด้วยการคำนึงถึงพื้นที่สีขาวในระบบช่องไฟเพื่อให้สามารถอ่านได้ง่ายยิ่งขึ้น
14. ธสฤษดิ์ (Thasadith)
แถมท้ายด้วย ‘ธสฤษดิ์’ ซึ่งเป็นแบบถูกเขียนขึ้นมาใหม่ โดยตั้งข้อสงสัยต่อการเขียนแบบตั้งตรงของฟอนต์ ‘ศรีศักดิ์’ ทีมออกแบบได้ทบทวนเรื่ององศาการเอียงของศรีศักดิ์และทดลองทำเป็นตัวตั้งตรง
ราวกับว่าหากแบบที่เคยเป็นตัวเอียงมาก่อนเมื่อเปลี่ยนวิธีเขียนเป็นตั้วตั้งตรงในสมัยปัจจุบันจะเป็นเช่นไร นับเป็นการต่อยอดจากโครงสร้างแบบตัวอักษรของศรีศักดิ์ภายใต้บริบทปัจจุบัน