นี่ๆ ใช้มือถือยี่ห้ออะไรกันอยู่เหรอ? บางคนบอกว่าต้อง iPhone สิ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คุณภาพดี ไม่มีค้าง ไม่มีหน่วง แต่บางคนก็บอกว่าต้อง Samsung สิ โหลดนั่นโหลดนี่ มีอิสระ เล่นอะไรได้เยอะกว่า แถมราคาเลือกได้ตั้งแต่พันยันหมื่น
แล้ว Huawei, Oppo หรือ Vivo ล่ะ?
ปรากฏว่าพอเป็น ‘แบรนด์จีน’ หลายคนก็ไม่อาจสลัดภาพลักษณ์เชิงลบบางอย่างในใจออกไปได้ ทั้งที่ 3 แบรนด์นี้ ก็ติดอันดับ Top 5 ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นรองจาก Samsung และ Apple เท่านั้น (จัดอันดับตาม Market Share โดย IDC) ยิ่งสำหรับ Huawei ที่ตอนนี้เป็นแบรนด์อันดับสามของโลก และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (เคยแซงหน้า Apple ได้ในบางไตรมาสด้วย) จน Richard Yu, CEO ของ Huawei’s Consumer Business Group ประกาศไว้ว่า “ภายในปี 2020 เราจะก้าวขึ้นไปเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของโลก”
อะไรคือทีเด็ด ที่ทำให้ Huawei ผงาดขึ้นมาจนจัดได้ว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับ Samsung และ Apple?
The MATTER ได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในอาณาจักร Huawei ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน (จริงๆ ก็คือสำนักงานใหญ่ แต่ใหญ่มากจนต้องเรียกว่าอาณาจักร) จากการได้เข้าไปชมสายการผลิต ห้องแล็บ R&D รวมถึง Exhibition Hall ที่ Huawei งัดเอานวัตกรรมมากมายขึ้นมาโชว์ พร้อมทั้งพูดคุยกับ คุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และ Mr. Felix Zhang รองประธานฝ่ายวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์ เราก็พบว่า นี่น่าจะเป็นทีเด็ดเคล็ดลับ (ซึ่งเปิดเผยได้) ที่ทำให้แบรนด์ ‘Made in China’ อย่าง Huawei สามารถยกระดับจนเทียบชั้นแบรนด์โลกได้
ใส่สมองให้สมาร์ทโฟน สร้าง Mobile AI รุ่นแรกของโลก
“เราเลือกที่จะลบอคติเกี่ยวกับความเป็นแบรนด์จีน ด้วยการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ แล้วก็ให้พวกเขาเป็นคนตัดสินเอง” Mr. Felix Zhang รองประธานฝ่ายวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์ พูดถึงภาพลักษณ์เกี่ยวกับแบรนด์ ก่อนจะอธิบายต่อเมื่อเราถามว่า แล้วอะไรคือประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่พูดถึง?
‘Mobile AI’ คือหนึ่งในคำตอบนั้น อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือการฝัง AI ไว้ในชิปเซ็ตของตัวมือถือเลย ทำให้มือถือเครื่องนั้นสามารถเรียนรู้ได้เอง โดยใช้ข้อมูลจาก Cloud AI เป็นการรวม Cloud AI กับ On-Device AI เข้าด้วยกัน ซึ่ง Mate 10 ของ Huawei นั้น เป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่มี AI ติดตั้งในชิปเซ็ต (Kirin 970) ข้อดีคือประมวลผลได้เร็วขึ้น และทำงานได้ฉลาดขึ้นด้วย Machine Learning ในระดับที่ว่าสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ และปรับระบบต่างๆ ให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนได้เลยนะ อย่างเช่นรู้ว่าช่วงนี้เรามักจะไม่ค่อยได้ใช้งาน มันก็จะเปิดโหมดประหยัดพลังงานโดยอัตโนมัติเมื่อถึงเวลานั้น หรือมีการแนะนำแอปพลิเคชั่นและบริการต่างๆ โดยอ้างอิงจากการใช้งานของเราเป็นหลัก
นอกจากนี้ Mr. Felix ก็ยังบอกว่า Mobile AI ช่วยให้ข้อมูลส่วนตัวของเราปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่มีการส่งผ่านระหว่างเครื่องกับ Cloud และพอทุกอย่างรวมไว้ในเครื่องหมดแล้ว ระบบปฏิบัติการก็ทำงานหนักน้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายและแบตเตอรี่ก็ดีขึ้นตามไปด้วย
ว่ากันตามตรง ทุกวันนี้ เทคโนโลยีก็พัฒนาทันกันได้ และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ก็พยายามลงแข่งในสนามของนวัตกรรมและ AI กันอย่างดุเดือด อะไรที่จะทำให้ Huawei ก้าวไปข้างหน้าแบรนด์คู่แข่งได้ Mr. Felix มองว่า “Huawei มี Infrastructure ที่ครบ เราเป็นผู้คิดค้น ออกแบบ และผลิตทั้ง Hardware และ Software ทำให้สามารถพัฒนาขยายต่อไปได้อีกหลายด้าน เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างเดียว เราเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมด้วย”
มากกว่าสมาร์ทโฟน จดสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมแล้วกว่า 62,000 ใบ
อย่างแรกเลยที่สะดุดตาเมื่อทีม Huawei พาเราเข้าสู่ Exhibition Hall คือตัวอักษรและตัวเลขมากมายบนผนังด้านหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับคำเฉลยว่า นั่นคือหมายเลขสิทธิบัตรที่บริษัทจดทะเบียนไปแล้วตอนนี้ รวมๆ แล้วก็ประมาณ 62,000 กว่าใบ!
นั่นเป็นรางวัลของความพยายามและการให้ความสำคัญกับ R&D ที่ Huawei ลงทุนไปถึง 45 พันล้านเหรียญในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดแล้วคือยอมใช้งบกว่า 10% ของรายได้ไปกับตรงนี้ เพื่อหวังจะเห็นการเติบโตจากสิ่งที่ค้นคว้าและคิดค้นขึ้นมาได้ ซึ่งในนิทรรศการที่ Huawei พาไปดูนี้ ก็ทำให้เห็นว่าเขาคิดไปไกลกว่าแค่สมาร์ทโฟนจริงๆ และนวัตกรรมบางส่วนที่จัดแสดงก็ถูกเอาไปใช้จริงแล้วในหลายเมืองหลายประเทศ ขณะที่บางส่วนเป็น protocol ที่กำลังปรับปรุงเพื่อใช้จริงอยู่
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น การพัฒนาต่อยอดชิปเซ็ตและเซ็นเซอร์ในอุปกรณ์ (Device) ให้ขยายสเกลใหญ่ไปจนสร้าง ‘nerve system’ ของ Smart City ทำให้ระบบทุกระบบในเมืองเชื่อมต่อเข้าหากัน คุยกัน และทำงานสอดคล้องกันได้
มีตั้งแต่สเกลเล็กอย่างการเปลี่ยนถังขยะธรรมดาให้เป็นถังขยะอัจฉริยะ ที่สามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บเมื่อขยะเต็มได้ (จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาทุกวัน หรือเต็มแล้วยังไม่มา) ไปจนถึงการใช้ระบบเซ็นเซอร์และกล้องวงจรปิดเพื่อบริหารจัดการเมืองผ่าน Road Command Center ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพอากาศได้แม่นยำขึ้น จัดการการจราจรได้เหมาะสมมากขึ้น สำรวจความหนาแน่นของประชากรหรือตรวจสอบมลพิษก็ยังได้ แถมยังส่องลึกลงไปถึงใต้ดิน เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่สำหรับการขุดเจาะและก่อสร้างได้ด้วย ปัจจุบัน ระบบ Road Command Center นี้ ใช้จริงแล้วในบางเมืองของ UK เคนย่า และซาอุดิอาระเบีย
Smart Government ก็เป็นอีกไอเดียที่น่าสนใจมาก (และอยากเชียร์ให้บ้านเราลองเอามาใช้บ้าง) โดย Huawei ได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Government-to-Business (G2B) clouds มาเพื่อรองรับธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ทำให้การติดต่อกันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลให้ด้วย คือคนอย่างเราๆ ก็ไม่ต้องกรอกเอกสารทุกครั้งที่ไปติดต่อราชการ แล้วภาครัฐเองก็สามารถดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตไปใช้ได้ ตรวจสอบได้ว่าเอกสารที่ยื่นแล้วไปอยู่ตรงไหน ขั้นตอนต่อไปเป็นยังไง แถมยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและปัญหาของประชากรในความรับผิดชอบของตัวเองได้ด้วย
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือหลายๆ โปรเจ็กต์ หลายๆ นวัตกรรมที่ Huawei พัฒนาขึ้นมา เขาไม่ได้ทำคนเดียว แต่เขาเปิดให้พาร์ทเนอร์หลายฝ่ายหลายเจ้าเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และผนังด้านหนึ่งของ Exhibition Hall ก็มีลิสต์พาร์ทเนอร์ยาวเหยียดแปะไว้ด้วย
Win Win Win ! สร้าง Open Ecosystem เพราะนวัตกรรมและองค์กรไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
“หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ Huawei คือ Openness ครับ เราเชื่อว่านวัตกรรมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง และการเปิดให้พาร์ทเนอร์เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ก็จะทำให้ผู้ใช้ของเราได้รับ User experience ที่ดีขึ้น” คุณชาญวิทย์ ประธานฝ่ายการตลาดบอกระหว่างพาเราเดินชมนิทรรศการ
ตัวอย่างของการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่ปังมากตอนเปิดตัวในเมืองไทย ก็คือการจับ Leica ทำกล้องสุดว้าวให้กับ Huawei P9 และขยายผลต่อไปถึงการตั้งศูนย์วิจัยร่วมกันในเยอรมนี หรือการจับมือกับ Porsche Design เพื่อพัฒนาหน้าตามือถือรุ่น Mate 9 และ Mate 10 ให้ออกมาเรียบหรูดูดี
ในเชิงเทคนิค Huawei ก็ได้จับมือกับ Microsoft เพื่อนำเทคโนโลยีทางด้าน Cloud, Database และอื่นๆ เข้ามาเสริมทัพของ Huawei Cloud สำหรับให้บริการ Public Cloud และยังเปิด open platform ให้ Microsoft ช่วยพัฒนา AI Translation ในมือถือให้ และล่าสุด Huawei ได้ออกมาประกาศความร่วมมือกับ Baidu ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI สร้างบริการด้าน Internet และสร้าง Ecosystem สำหรับนำเสนอ Content ร่วมกัน ด้วยการใช้ Huawei HiAI ร่วมกับ Baidu Brian ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและบริการทางด้าน AI ของทั้งคู่ด้วย
นอกจากการสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์นอกบริษัทแล้ว Huawei ยังสร้าง Open Ecosystem ภายในบริษัท ด้วยการให้ 99% ของหุ้นบริษัทนั้นเป็นของพนักงาน ซึ่ง Ren Zhengfei ประธานและผู้ก่อตั้ง Huawei มองว่านี่เป็นวิธีที่ทำให้พนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของมากกว่าลูกจ้าง และการสร้าง engagement นี้ยังทำให้บริษัทวางแผนในระยะยาวได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
พูดถึงระบบบริหาร Huawei ยังมีการหมุนเวียน CEO 3 คนให้สลับกันมาบริหารทุกๆ 6 เดือน ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และป้องกันความผิดพลาดซ้ำๆ ที่เกิดจากคนๆ เดียวได้ด้วย
ก็เป็นไปได้ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็น Huawei เป็นชื่อแรกที่ขึ้นมาในฐานะแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของโลกตามที่ Richard Yu ประกาศไว้ ด้วยวิธีคิดแบบ Global Company กลวิธีจัดการบริหาร และการลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมต่างๆ มังกรตัวนี้ก็อาจเรียกได้ว่าก้าวข้ามความเป็น ‘แบรนด์จีน’ ไปแล้ว