“เรื่องเล่าที่ปราบดาได้ฟังในห้องของตึกร้างซับซ้อนพิสดารกว่าที่เขาจะสามารถจินตนาการเอง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคต, ความรุนแรงและความสูญเสียระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบกว่าปี ข้างหน้า, ไกลไปถึงความเป็นไปของสังคมไทยและโลกในปี ค.ศ. 2069, ยุคสมัยที่เทคโนโลยี ก้าวไกลถึงขั้นสร้าง ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ได้สำเร็จ”
นี่คือคำโปรยบนปกหลังของ ‘เบสเมนต์ มูน’ นวนิยายลำดับที่ 5 ของ ‘ปราบดา หยุ่น’ หลังเว้นจากการเขียนนวนิยายมากว่า 10 ปี The MATTER จึงชวน ‘ปราบดา’ มาสนทนาเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของเขา พร้อมสิ่งต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคตอีก 40-50 ปีจิตสำนึกประดิษฐ์ ระบอบเผด็จการ รวมถึงการก้าวไปสู่ช่วงเวลาที่เทคโนโลยีกำลังทำให้เราเกิดคำถามว่า “เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม?”
ช่วยเล่าเรื่องย่อของ ‘เบสเมนต์ มูน’ (แบบไม่สปอยล์) ให้ฟังหน่อย
โดยเปลือกนอกมันเป็นนิยายไซไฟแฟนตาซี เล่าถึงอนาคตในปี 2069 แต่ก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีอื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ซึ่งต่างจากปัญญาประดิษฐ์ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ จิตสำนึกประดิษฐ์สำหรับเราคือปัญญาประดิษฐ์ที่ตระหนักรู้ถึงตัวตน เหมือนที่มนุษย์มีก็คือคำว่า ‘consciousness’ พล็อตหลักๆ วนเวียนอยู่กับขบวนการใต้ดินที่ต้องการท้าทาย อยากจะล้มล้างระบอบเผด็จการ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในประเทศที่เป็นเผด็จการของโลกด้วย
อะไรคือแรงผลักดันให้เขียน ‘เบสเมนต์ มูน’ หลังจากที่ไม่ได้เขียนนวนิยายมานาน
แรงผลักดันมันมีอยู่ตลอดครับ จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเว้นช่วงนานขนาดนี้ ตอนที่เขียนเรื่องสุดท้ายอย่าง ‘นอนใต้ละอองหนาว’ เสร็จ ก็ตั้งใจจะเขียนนวนิยายต่อ แต่ว่าด้วยอยากทำหลายอย่างในชีวิต ก็เลยมีงานใหม่ มีโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เราสนใจ ทำให้ผลัดมาเรื่อยๆ ที่คิดจะเขียนตอนนั้นจะว่าตั้งใจให้เป็นรูปแบบนี้เลยก็ไม่ใช่ แต่เรื่องปัญญาประดิษฐ์ จิตสำนึกปะดิษฐ์ หรือแอนดรอยด์ มันอยู่ในใจอยู่แล้ว เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน เพียงแค่รูปแบบไม่เหมือนกัน
ทำไมถึงเลือกเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเป็นธีมในการเล่าเรื่อง
ส่วนหนึ่งเพราะเรามีความสนใจอยู่แล้ว เราสนใจเทคโนโลยีที่จุดประกายคำถาม อย่างปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสมอง เมื่อนักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะเลียนแบบวิธีคิดซึ่งเป็นฟังก์ชั่นสมองของคน ก็มีแนวคิด เกิดคำถามเชิงปรัชญาขึ้น ที่สะท้อนมิติต่างๆ ของมนุษย์ เราสนใจประเด็นนี้อยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ได้ยึดติดว่ามนุษย์หรือธรรมชาติเป็นอย่างไร พอมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือทางเทคโนโลยี ก็สร้างความตื่นเต้นให้เราเหมือนกันว่าพอมีแบบนี้แล้ว มนุษย์จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน หรือจะนำมาใช้ในชีวิตได้อย่างไรบ้าง เราไม่ได้มองมันเป็นสินค้าหรือเป็นวัตถุ แต่เรามองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต
จิตสำนึกประดิษฐ์ ความเป็นมนุษย์ และระบอบเผด็จการ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ความสนใจของเราเริ่มมาจากเรื่องทางจิตวิทยาและสมอง วิธีคิด วิธีรับรู้ วิธีตอบสนองของมนุษย์ ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องการ ‘ล้างสมอง’ ที่สนใจและค้นคว้า เราอาจคิดกันว่าการล้างสมองมีมานานมากพอๆ กับการมีคำว่าสมอง แต่จริงๆ แล้วมันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ในช่วงหลังสงครามเกาหลี หลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นก็เพิ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่นานเท่าไหร่ ซึ่งการล้างสมองก็เชื่อมโยงกับการพยายามควบคุมมวลชนของรัฐ เชื่อมโยงกับระบอบเผด็จการ ไม่ใช่ใช่แค่ประเด็นว่ากลุ่มคนที่พยายามปกครองคนด้วยอำนาจใช้วิธีอย่างไร แต่ย้อนไปอีกด้านหนึ่งด้วยว่าเหตุใดคนจำนวนมากถึงยอมรับความเป็นอยู่แบบนี้ ทำไมถึงน้อมรับ ทำไมถึงอยากได้
หาก ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ เกิดขึ้นจริง จะส่งผลอย่างไรต่อระบอบการปกครองของโลก
มันจะเปลี่ยนไปโดยปริยาย แต่เราอาจไม่รู้ตัว เหมือนกับทุกวันนี้ ที่สังคมเราเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยีเยอะมาก แต่เรายังไม่รู้ตัว เพราะเรายังอยู่กันในรูปแบบเก่าๆ การปกครองก็ยังเป็นแบบเดิม วิธีการทำงานก็ยังใช้ระบบเดิม อิงกับเทคโนโลยีเดิมๆ เรารู้สึกอย่างนั้นนะ แม้โซเชียลเน็ตเวิร์กจะสร้างวิถีชีวิตใหม่ให้กับคน แต่เราก็ยังเอาตัวออกจากรูปแบบเดิมไม่ได้ เลยเหมือนกับว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาวุ่นวาย ทำให้ชีวิตหนักกว่าเดิม ความจริงแล้วมันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เรายังไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร อย่างเรื่องการเมือง เราว่าวิธีคิดที่เป็นพรรคการเมือง เป็นอะไรต่างๆ ก็เก่าแล้วนะ ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไร เรายังติดอยู่กับการที่ตื่นมาต้องแต่งตัวแบบนี้ ใส่รองเท้าแบบนี้ อยู่ในยุคที่ค่อนข้างจะมีความย้อนแย้งหลายอย่าง
นักคิดบางคนอย่าง Yuval Noah Harari ที่เขียนเรื่อง Homodeus บอกว่าโลกเปลี่ยนจากยุคที่มนุษย์บูชาพระเจ้า มาเป็นยุคที่มนุษย์บูชามนุษย์ แล้วต่อไปก็จะเป็นมนุษย์บูชาเทคโนโลยี บูชาหุ่นยนต์ คิดว่าเป็นไปได้แค่ไหน
สำหรับเรามนุษย์ก็บูชามนุษย์มาตลอดแหละ (หัวเราะ) การบูชาพระเจ้าก็คือการบูชามนุษย์ มันคือจินตนาการของมนุษย์ ณ ตอนนั้นมนุษย์อาจจะไม่รู้ตัวว่านั่นคือสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เขาอาจจะเชื่อจริงๆ ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่เหนือไปกว่าเขา อยู่นอกเหนือไปจากธรรมชาติที่สามารถบังคับควบคุมคนและสัตว์ได้ จริงๆ แล้วมันก็เป็นภาพสะท้อนของคน ซึ่งเกิดมาจากการมีจิตสำนึกนั่นแหละ
แม้แต่ช่วงมนุษยนิยมเอง ก็ยังไม่เข้าใจอะไรเท่าไหร่ ยังมีคำถามอีกมากมาย แม้กระทั่งคำถามง่ายๆ ว่าอะไรทำให้รู้ว่าเรามีตัวตน ก็ยังมีข้อถกเถียงกันมากมาย ยังไม่มีข้อสรุป เรื่องทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็มีการค้นคว้าไปเรื่อยๆ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน มีอีกมากมายหลายอย่างที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยีใหม่มันก็เป็นอีกความลับ อีกปริศนานึงที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ เราถึงได้บูชามัน แต่ลึกๆ เราคิดว่ามันก็คือการบูชามนุษย์นั่นแหละ เมื่อใดที่มนุษย์เลิกบูชามนุษย์ ตอนนั้นจะมีปัญหา
เมื่อพูดถึงปัญญาประดิษฐ์หรือจิตสำนึกประดิษฐ์ สิ่งที่หลายคนกลัวคือมันอาจจะครองโลกในทางใดทางหนึ่ง ในจินตนาการของปราบดาเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นจริง มันจะเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่งไปเลย คือเรามักจะคิดว่า เราสร้างสิ่งที่เลียนแบบมนุษย์ พยายามที่จะถอดรหัสว่าสมองมนุษย์ทำงานอย่างไร เพื่อที่จะสร้างสมองเทียมขึ้นมา แต่ในที่สุดแล้ว เราคิดว่าอะไรก็ตามที่ไม่ใช่มนุษย์ มันก็ไม่ใช่มนุษย์ แม้ว่าจะพยายามเลียนแบบมนุษย์มากมายขนาดไหนก็ตาม สมองคนทำงานได้แบบที่ทำอยู่เพราะปัจจัยทางชีวภาพด้วย เรามีร่างกายแบบนี้ เพราะเราเป็นมนุษย์แบบนี้ สูดลมหายใจแบบนี้ กินแบบนี้ จึงมีความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ถ้ามีแค่สมอง เราคิดว่ามันไม่ใช่มนุษย์หรอก คงจะมีพัฒนาการไปสู่การเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งในนวนิยายของเรา เราจินตนาการไปว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นได้เพราะภาษา ไม่ใช่ภาษาแบบที่เราเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นภาษาทั้งหมดที่มีข้อมูลที่สามารถประมวลได้ ทุกภาษา ทุกโค้ดที่สามารถเรียนรู้ จึงเป็นจิตสำนึกที่ในแง่นึงก็มีความสามารถมากกว่าจิตสำนึกมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดในแบบของมันเอง เพราะไม่มีร่างกาย ไม่มีสัมผัสที่จะรับรู้อะไรต่างๆ ในแบบที่มนุษย์รับรู้
ช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นซีรีส์ต่างๆ ตั้งคำถามเกี่ยวกับ consciousnes ของมนุษย์มากขึ้น เช่น Her, Altered Carbon หรือในบางตอนของ Black Mirror คิดว่าแนวโน้มของสื่อบันเทิงแนวนี้เพิ่มขึ้นไหม
จริงๆ มันเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่มนุษย์ถามกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่ยุคเพลโต ยุคกรีกโบราณ ยุคอียิปต์ด้วยซ้ำ ซึ่งเราว่ามันก็มาจากความไม่เข้าใจตัวเองของมนุษย์นั่นแหละ การตั้งคำถามว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ความเป็นมนุษย์มีข้อจำกัดแค่ไหน มนุษย์สามารถล่วงรู้ถึงความจริงแท้ได้หรือเปล่า หรือสามารถรู้ทุกอย่างในจักรวาลได้ไหม ซึ่งมนุษย์คิดว่าตัวเองทำได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็จะมีปัญหาว่าที่เคยเข้าใจมันไม่ใช่ มันไม่จริง หลุมดำที่เคยคิดว่าเป็นแบบนี้แต่พอมีทฤษฎีใหม่ขึ้นมามันก็เป็นอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน คำถามพวกนี้มันน่าจะยังอยู่ต่อไปครับ
พอถามตัวเองแบบนี้เยอะๆ มันรู้สึกโหวงๆ ในใจไหม
ก็ไม่นะ ไม่เลย เรารู้สึกว่ามันสนุกเพราะไม่มีคำตอบที่แท้จริง สนุกเนื่องจากมันใช้ตรรกะ ใช้เหตุและผลที่ทำให้เราได้แนวคิดหรือทฤษฎีแปลกๆ ขึ้นมาได้ หรือการได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทางฟิสิกส์ ที่นักคิดเขาคิดกันมาแล้วมันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับความหลากหลายในการเป็นไปได้ของการมีชีวิต สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ถูกเลยสักข้อ แต่มันทำให้เราได้คิด จริงๆ เรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งในเรื่องด้วย ว่าความสามารถทางจินตนาการของมนุษย์ผ่านภาษามันล้ำลึกมาก สำหรับเรา ภาษาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำลึกกว่าปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังทำอยู่ด้วยซ้ำ เราไม่เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถมากกว่าความคิด หรือวิธีคิดของมนุษย์ผ่านภาษา
พอมีจิตสำนึกประดิษฐ์ขึ้นมาจริงๆ มันลดทอนความเป็นคุณค่าของมนุษย์ไหม
เราไม่เคยมีทัศนคติว่ามนุษย์มีคุณค่าอะไรมาก (หัวเราะ) เราคิดว่ามนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง
แต่บางคนจะบอกว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถมีความรัก ความรู้สึกต่างๆ ได้เท่าเทียมกับมนุษย์ แต่ถ้าวันหนึ่งทำได้ขึ้นมา เราต้องกลับมาถามไหมว่าตัวเองมีคุณค่าอะไร
เราคิดว่ามนุษย์ก็เข้าใจตัวเองผิดไปเยอะ หรือมีความไม่เข้าใจในตัวเองเยอะเหมือนกัน แม้แต่คำถามที่ว่าเรามีตัวตนได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองก็มีบางกลุ่ม บางคนบอกว่า ความรู้สึกพวกนี้เป็นแค่ภาพลวงตา เป็นความรู้สึกแบบหลอกตัวเองว่าเรามีตัวตน เป็นการผสมผสานของสัมผัสหลายๆ อย่าง ความทรงจำก็มีหลายแบบ มีทั้งความทรงจำที่อยู่ลึกๆ ความทรงจำแบบที่เราไม่รู้ตัวว่าเราจำได้ หรือแม้แต่พฤติกรรมของเราในแต่ละวัน พฤติกรรมที่เป็นอัตโนมัติ คือเราก็ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงทำ แต่เราก็ทำ
เพราะฉะนั้นคำว่าตระหนักรู้ถึงตัวเอง ก็รู้แค่บางส่วนเท่านั้น เราไม่ได้รู้ทั้งหมดว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงฟังก์ชั่นแบบนี้ ทำไมเราถึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่างแบบนั้น มันก็ท้าทายความเชื่อเรื่องเจตจำนงเสรีเหมือนกัน คือมนุษย์นิยมมีพื้นฐานจากความเชื่อในเจตจำนงเสรีว่าเราสามารถตัดสินใจเองได้ เป็นเสรีชนเพราะเราตัดสินใจแบบนี้ เราเชื่อในประชาธิปไตยเพราะเราเป็นคนที่มีตรรกะแบบนี้ หรือเราเป็นเผด็จการเพราะเรามีความเชื่ออนุรักษ์นิยมแบบนั้น ในความจริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง คนเราอาจจะไม่สามารถบังคับตัวเองให้เชื่อหรือเลือกอะไรได้ทั้งหมด แต่มันมีอย่างอื่นที่บังคับเราอยู่โดยไม่รู้ตัว
ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเราจะอยู่ไปทำไม
ก็อยู่ๆ ไป(หัวเราะ) หาอะไรทำไป
แล้วแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นความว่างโหวงเหรอ
มันว่างโหวงเพราะมนุษย์คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ไง คิดว่ามีค่า มีความหมายอะไรที่มากกว่าไปกว่ากบ เขียด ยุง แต่สำหรับเรามนุษย์ก็เป็นแค่สัตว์ที่เอาตัวรอด เหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป ต้องหาอะไรกิน ต้องพยายามอยู่ให้ถึงวันพรุ่งนี้ให้ได้ ต้องสืบพันธุ์ ซึ่งสำหรับเรา อะไรพวกนี้ไม่ได้ต่างอะไรจากสัตว์อื่น
เราเป็นคนที่ตื่นเต้นกับการได้ทำอะไรที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ เดี๋ยวนี้มันมีคนเริ่มพูดถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการออกแบบ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอันนี้เราตื่นเต้นมาก เราอยากออกแบบปกหนังสือแบบที่แค่คุยกับ AI ว่าต้องการหนังสือแบบไหน แล้วดูว่าปัญญาประดิษฐ์มันจะออกแบบปกหนังสือนั้นออกมาอย่างไร เราไม่ได้เชื่อมั่นว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์คือความดีงาม หรือการผ่านความคิดไตร่ตรองเป็นอะไรที่สุดยอดแล้ว เราคิดว่าความคิดของปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน
การที่คนกำลังจะย้ายไปอยู่ใน virtual reality นั้นเราควรรู้สึกอย่างไร
ตอนที่เราเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ก็ไม่คิดว่ามันเป็นดิสโทเปีย หรืออนาคตที่มืดมนสำหรับมนุษย์ เพราะถ้าถามว่าทุกวันนี้อยู่ในดิสโทเปียไหม เราก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่ถ้าคน เมื่อ 200 – 300 ปีที่แล้ว มองมา เขาอาจจะมองว่าโลกที่เราอยู่ตอนนี้มันดิสโทเปียมากๆ ก็ได้ ทุกคนซึมเศร้า มองดูอุปกรณ์ ไม่มีใครคุยกัน แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ มันก็ไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น หมายถึงว่าไม่ได้แย่ขนาดที่คิดว่านี่คือดิสโทเปีย นี่คือโลกที่น่าหดหู่เหลือเกิน มันก็ยังมีจังหวะเวลาที่เรามีความสุขอยู่ มีช่วงเวลาในแต่ละวันที่ดีๆ การที่เราอยู่หน้าคอมไม่ได้หมายความว่าเรานั่งอยู่ด้วยความซังกะตาย
ในขณะที่หุ่นยนต์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วคุณคิดว่ามนุษย์มีความเป็นหุ่นยนต์มากขึ้นไหม
เราคิดว่ามนุษย์เป็นหุ่นยนต์อยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้สึกว่าเป็นแบบนั้น แต่โดยฟังก์ชั่น ถ้าเรามองมุมไกลๆ สมมติว่าเรามองมด มองการทำงานของสัตว์ หรือแมลงเล็กๆ ทั่วไป เราก็คิดว่ามันแค่เดินตามกันไป แค่แบกเม็ดข้าวกลับรัง ถ้าเราไม่ใช่มนุษย์แล้วเรามองมา ก็อาจจะมองแบบนั้นกับมนุษย์ได้นะ มนุษย์มันก็แค่ขับรถไป ไม่เห็นจะคิดอะไร ทำอะไรเดิมๆ ทุกวัน ก็อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ คนเราก็เป็นฟังก์ชั่น เป็นกลไกเหมือนกัน อาจจะมีแปลกๆ นิดนึงที่อยู่ๆ มีมนุษย์สองสามคนนั่งยานอวกาศออกมานอกโลก มนุษย์อาจจะมีความพิเศษแบบนั้นที่นอกเหนือไปจากสัตว์อื่น แต่ในแง่ของความเป็นระบบ เป็นกลไก เป็นหุ่นยนต์ เราว่ามนุษย์ก็มีความเป็นแบบนั้นอยู่มาก
แล้วกลไกแบบนั้นมันถูกทำให้ชัดเจนขึ้นหรือเปล่า เช่นประเทศจีน มีการให้คะแนนพลเมือง หรือการนับยอดอะไรบางอย่างในเฟซบุ๊ก เหมือนเราพยายามลดทอนอะไรบางอย่างที่เป็นเชิงคุณภาพให้เป็นเชิงปริมาณมากขึ้น
เป็นไปได้ แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีทุกวันนี้ คือสำหรับคนทั่วๆ ไป มันมีความเข้าใจยากมากขึ้น ในยุคนึงเทคโนโลยีมันเป็นสิ่งที่ให้ความสะดวกสบายกับมนุษย์ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็สามารถเรียนรู้มันได้ หมายถึงคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่แค่คนที่สร้างมันได้เท่านั้นถึงจะเข้าใจ เราสามารถถอดชิ้นส่วน ถอดรหัสได้ว่ามันทำงานอย่างไร เช่นรถม้า ดูก็เห็นว่ามันทำยังไง ถ้าเราอยากจะสร้างมันขึ้นมาก็ได้ อย่างสร้างเครื่องพิมพ์ดีด มันก็ดูยากขึ้นมาหน่อยว่าฟังก์ชั่นมันทำอย่างไร ถึงจะทำงานแบบนี้ แต่เราก็สามารถถอดชิ้นส่วนและสร้างมันขึ้นมาเองได้
แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างที่มันเป็นซอฟต์แวร์ การเขียนโค้ด ระบบทุกอย่างที่เราใช้ทุกวันนี้มันก็ยากที่คนธรรมดาจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นมันจะมีกำแพงที่อาจพูดได้ว่าความเหลื่อมล้ำในความเข้าใจมันเยอะขึ้น เราไม่สามารถที่จะบังคับมันได้ เราไม่สามารถบังคับเครื่องมือได้ด้วยตัวเราเอง มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจ อย่างพวกโปรแกรมเมอร์เขาอาจจะเข้าใจว่าเขาสามารถถอดชิ้นส่วน แต่เขาก็เข้าใจน้อยลงเรื่อยๆ
นี่คือปัญหาของวิศวกร อย่างวิศวกรเฟซบุ๊กเขาไม่ได้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสร้าง รวมไปถึงที่น่ากลัวมากคือเมื่อเขาไม่เข้าใจแล้วปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างไปบนโลก ผลจะเป็นแบบไหนได้บ้าง
ซึ่งอันนั้นเป็นอันตรายในอนาคตที่ อีลอน มัสก์ หรือบิลเกสต์ พูดถึง มันน่าจะเป็นเรื่องแบบนั้น คือการที่มันตัดสินใจทำอะไรเองโดยที่เราไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะเหมือนในหนัง ลุกรวมตัวขึ้นมาเป็นกองทัพฆ่าคน คงไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของโปรแกรมอะไรบางอย่างที่มันต้องทำงานให้เรากลับทำอะไรบางอย่างที่สร้างความเสียหายให้กับสังคม ซึ่งมันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จริงๆ
ในแง่ของการพูด ที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น ทำให้ช่วง 4 ปีหลังมานี้ทำงานยากขึ้นไหม
โดยนิสัย เราก็ไม่ใช่คนที่ชอบระบายออกอะไรมา ต่อให้มีความคิดเห็นอะไรบางอย่าง เราก็ไม่ได้ชอบที่จะมาป่าวประกาศให้คนรู้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะเราก็ไม่ได้พูดอะไรมากอยู่แล้ว ถ้ามีคนถามเราจะบอก แต่ไม่ใช่คนที่ปะทะกับสถานการณ์มาแล้วระบายออก มาวิจารณ์ มาวิเคราะห์ มาประจาน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ายาก
แต่รู้สึกว่าการจะทำอะไรเต็มที่ในสังคมไทยยาก เต็มที่ในที่นี้หมายถึง แม้แต่งานสร้างสรรค์ที่เราอยากจะทำ ถ้าอยากพูดอะไรให้สุดตามความคิดก็ยาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่ทัศนคติหลายๆ อย่างในสังคมไทย แทบจะทุกเรื่องในชีวิตมันอยู่ในกรอบอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้นการที่เราเสนอแนวคิดอะไรที่มันต่างออกไป หรือแสดงความไม่ศรัทธาในสิ่งที่คนอื่นศรัทธามันก็ยาก เพราะเราจะถูกโจมตีด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่า เป็นความจงใจที่จะสร้างความไม่สงบสุขขึ้นในสังคม ซึ่งจริงๆ มันเป็นแค่การแสดงความเห็น หรือความต้องการที่จะเล่าเรื่องต่างๆ เท่านั้นเอง
ในหนังสือนี้ก็ยังมองภาพว่าในอนาคตปี 2069 เราก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบเดิม
เราลองคำนวณจำนวนปีดูแล้ว มันก็ไม่ได้ไกลมาก เราอาจจะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าดูแลรักษาสุขภาพตัวเองดีๆ แล้วในปริมาณปีเท่านี้ เราก็คิดว่ามันก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าสังคมไทยจะยังวนเวียนอยู่กับอำนาจนิยม ระบอบที่ถูกบังคับให้เป็น ไม่ใช่ว่าคนจะยินดีกับมันมากเท่าเดิมนะ แต่เหมือนเมืองไทยถูกอำนาจบีบ ในลักษณะแบบอำนาจมืด เป็นกลไกบังคับอยู่เยอะมากจนไม่น่าเชื่อ
ถ้าอีก 40 ปี เราก็ยังวนเวียนอยู่กับชีวิตแบบนี้แล้วความสนุกในชีวิตเราคืออะไร
คือสังคมไทยมันมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งข้อดีที่ว่านี้อาจจะชวนหดหู่เหมือนกันนะ สำหรับเรา อำนาจมืดในสังคมไทย อยู่ในมือของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยฉลาด เขาไม่ได้มีความคิดอะไรมาก นอกจากอยากจะรักษาอำนาจเอาไว้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญญาหน่อยก็สามารถสนุกได้กับการคิด การพยายามสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือว่ากับการสื่อสารผู้คน เราว่ามันก็ยังมีทางออกในแง่งาน สมมติว่าพูดถึงเฉพาะกลุ่ม งานเขียน งานออกแบบ งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ เราคิดว่ามันก็มีทางงออกเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แค่สื่อสารกับสังคมไทย ด้วยความที่โลกมันสื่อสารกันง่ายขึ้น ใครที่มีความสามารถที่เป็นสากลหน่อย ก็มีโอกาสที่จะได้ทำงานกับต่างชาติ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สังคมไทย
เราคิดว่าในแง่ปัจเจกบุคคลมันมีทางออกอยู่ แต่ในเชิงสังคมก็อาจต้องกระเสือกกระสนกันไป ยังต้องพยายามที่จะพ้นผ่านสถานการณ์หรือสภาวะแบบนี้กันไปให้ได้
With Assistance of Thanisara Ruangdej, Marisa Paleebat
Photos by Adidet Chaiwattanakul