“มีรากฐานมั่นคงตลอดเวลา แต่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะลู่ไปตามทางที่ลมพัดเพื่อเอาตัวรอด”
นี่คือคำจำกัดความ ‘การทูตไทย’ ที่ อาร์เน คิสเลนโก (Arne Kislenko) นักประวัติศาสตร์จากแคนาดา เคยอธิบายเอาไว้ตามสำนวนไทย ที่เรียกกันจนติดปากว่า ‘การทูตไผ่ลู่ลม’ (bamboo diplomacy)
นักการทูตไทย เช่น เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เคยอธิบายถึงการทูตไผ่ลู่ลมไว้ในทำนองเดียวกัน โดยมีคำสำคัญ คือ ความยืดหยุ่น (flexibility) เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) ซึ่งก็คือ ความอยู่รอด (survival)
ระยะหลังมา การทูตไผ่ลู่ลมเริ่มถูกวิจารณ์มากขึ้นว่า ทำให้ไทยไม่สามารถรักษาหลักการระหว่างประเทศ หรือโน้มเอียงเข้าหามหาอำนาจ เช่น จีน มากเกินไป
เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
The MATTER พูดคุยกับ อ.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security & International Studies – ISIS Thailand) ผู้เขียนบทความทางวิชาการ อภิปรายถึงการต่างประเทศไทยของไทย โดยเฉพาะลักษณะของการทูตไผ่ลู่ลม มาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะล่าสุด เขาได้เขียนบทความ “Bamboo Stuck in the Chinese Wind”: The Continuing Significance of the China Factor in Thailand’s Foreign Policy Orientation ลงในวารสาร Contemporary Southeast Asia เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อธิบายถึงทั้งปัจจัยภายในและระหว่างประเทศ ที่ทำให้ไทยยังคงดูเหมือนว่าจะ ‘ติดอยู่กับลมจีน’ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม
ชวนอภิปรายถึงการทูตไทยไปพร้อมๆ กัน ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
การทูตไผ่ลู่ลม (bamboo diplomacy) คืออะไรกันแน่
หลายๆ ครั้ง ผมรู้สึกว่า คนในปัจจุบันตีความนโยบายไผ่ลู่ลมไปในทางลบมากกว่า แต่ผมจะมองเป็นจุดยืนกลางๆ (neutral posture) เป็นแนวทิศทางของนโยบาย ซึ่งมันสมเหตุสมผลสำหรับประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลางอย่างไทย มันก็จะเป็นนโยบายที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เหมือนเป็นไผ่ที่สามารถลู่ไป หรือเปลี่ยนจุดยืนให้เข้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศ หรือสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันภายนอกได้
มันก็ขึ้นอยู่กับว่าในบริบทนั้น มหาอำนาจไหนเป็นภัยหรือให้ผลประโยชน์ เราก็ควรลู่ไปหาผลประโยชน์ของเราตามหลักผลประโยชน์แห่งชาติ (national interests) ที่รัฐส่วนใหญ่ยึดถือ
ซึ่งสิ่งนี้มันช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ ในบริบทการแข่งขันหรือการที่มหาอำนาจภายนอกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ มันก็เป็นความพยายามที่จะรับแรงกดดันของมหาอำนาจที่มากดดันไทย หรือประเทศขนาดเล็กแบบนี้ อย่างในช่วงล่าอาณานิคม เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการทูตไผ่ลู่ลม ว่าเราพยายามจะใช้มหาอำนาจหนึ่งเพื่อคานอีกมหาอำนาจหนึ่งอย่างไรเพื่อรักษาความเป็นอิสระทางการเมืองในช่วงนั้น
แต่ปัญหาคือ มันทำให้คนในระยะหลังๆ ตีความว่า ไผ่ลู่ลมอาจจะขาดหลักการระหว่างประเทศที่ควรยึดถือปฏิบัติ แต่ผมมองว่า หลักการที่การทูตไผ่ลู่ลมเสนอ คือหลักการที่ดูผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ว่าอะไรที่จะตอบสนองผลประโยชน์ในขณะนั้น โดยมีคำสำคัญ 2 คำ ก็คือ ความยืดหยุ่น (flexibility) สามารถปรับเปลี่ยน (adjustability) นโยบายได้ค่อนข้างรวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไป ไม่ใช่ยึดหลักการจนทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติเสีย นี่คือการตีความที่ผมเข้าใจ ตั้งแต่ศึกษาที่ผ่านมา
คีย์ที่สองคือ การรักษาความอยู่รอด (survivability) ซึ่งเป็นผลประโยชน์แห่งชาติสูงสุด
ดังนั้น ผมจึงมองว่ามันเป็นกลยุทธ์บริหารความเสี่ยง (hedging) มากกว่า เพราะสามารถย้ายไปมาระหว่างการถ่วงดุล เข้าข้างมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง แต่ไม่สุดโต่ง ต้องสามารถปรับตามสถานการณ์ให้ได้ อันนั้นคือข้อดีของการทูตไผ่ลู่ลม
นโยบายแบบนี้มันยังสามารถทำให้เรามีความยืดหยุ่นได้ ไม่ถึงขนาดสูญเสียสมดุลในการวางความสัมพันธ์
ขอย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงการทูตไผ่ลู่ลม
ที่เกิดคอนเซ็ปต์การทูตไผ่ลู่ลม ผมว่ามันมาจากประวัติศาสตร์การทูตไทย
ในยุคล่าอาณานิคม – ช่วงที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษพยายามจะเข้ามาแสวงหาอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็ใช้ลักษณะไผ่ลู่ลม ก็คือ ถึงแม้ว่า อังกฤษจะเป็นภัยต่อความมั่นคงไทย การอยู่รอดของอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยสมัยใหม่ แต่ไทยเห็นว่าฝรั่งเศสอาจจะเป็นภัยมากกว่า ก็เลยจะค่อนข้างเอื้อต่อผลประโยชน์อังกฤษ เพื่อให้อังกฤษมีอิทธิพล และคานอำนาจกับฝรั่งเศสในไทยได้ ดังนั้น มันก็อาจจะทำให้ฝรั่งเศสยับยั้งชั่งใจที่จะกดดันไทย และเรียกร้องดินแดนเพิ่มเติมจนเกินไป
นี่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นำมาสู่คำว่า ไผ่ลู่ลม เราสามารถเอนไปทางอังกฤษได้ในบางบริบท แต่ก็ยังไม่ได้แตกหักกับฝรั่งเศสขนาดนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นภัยคุกคามของเราในช่วงนั้นก็ตาม
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 – เราก็เห็นรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปร่วมขบวน (bandwagoning) กับญี่ปุ่นในช่วงแรก แต่มันก็จะมีช่องว่าง เช่น ขบวนการเสรีไทย หรือแม้แต่ตัว จอมพล ป. ในช่วงหลังๆ ก็พยายามจะปรับเปลี่ยนนโยบาย พอรู้สึกว่าญี่ปุ่นจะเพลี้ยงพล้ำ และไทยคงจะเสียประโยชน์ ก็พยายามจะไม่โอนอ่อนผ่อนตามญี่ปุ่นขนาดนั้น ก็มีคนพยายามจะบอกว่า จริงๆ แล้ว จอมพล ป. ช่วงหลังๆ ก็อาจจะพยายามขัดผลประโยชน์ญี่ปุ่นพอสมควร
ในที่สุด เราก็หยิบใช้ช่องว่างเล็กๆ ที่เราทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่จะใช้เป็นเหตุผลว่า คนไทยไม่ได้สนับสนุนญี่ปุ่นขนาดนั้น ไม่ใช่เจตจำนงของคนไทยทั้งหมด เพื่อใช้เป็นเหตุผลให้ไม่ถูกปฏิบัติว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม แล้วก็เริ่มเข้าไปโอนอ่อนผ่อนตามประเทศที่ชนะสงคราม อย่างสหรัฐฯ แล้วก็ยอมหลายๆ อย่างต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม
ในช่วงสงครามเย็น – เราก็เห็นว่าสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ (international environment) เริ่มปรับตัว แม้ว่าเราจะเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็พยายามปรับด้วยเหมือนกัน เราเริ่มรู้แล้วว่า เราก็ต้องปรับความสัมพันธ์ (normalize) กับเวียดนามและประเทศอินโดจีนที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนด้วยในช่วงทศวรรษที่ 1970
การปรับตัวของเราที่เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน มันก็ได้ประโยชน์ ในแง่ว่า เราก็ต้องการอยู่ร่วมกันกับจีนโดยสันติ หลายประเทศช่วงนั้นก็เปิดความสัมพันธ์กับจีนกันแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1980 เราก็ใช้ประโยชน์จากจีน ในการเข้ามาคานอำนาจกับอิทธิพลเวียดนามในกัมพูชา และการแผ่อิทธิพลของเวียดนามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป
หลังสงครามเย็น – สภาพแวดล้อมมันผ่อนคลาย เราสามารถกระจายความสัมพันธ์กับหลายๆ อำนาจได้ ไม่เฉพาะสหรัฐฯ – จีน EU รัสเซียหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย เราก็สถาปนาความสัมพันธ์ เพื่อจะทำให้ความสัมพันธ์มันหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้ความยืดหยุ่นมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง (structural constraints) เหมือนสมัยสงครามเย็น
วลีที่ว่า “stuck in the Chinese wind” เมื่อการทูตไทยไปติดกับลมจีน หมายความว่า ประเทศไทยเริ่มจะไม่ลู่ลมแล้ว?
ใช่ ก็จะเห็นว่าการทูตแบบไผ่ลู่ลมเราปรับตัว บางครั้งเราโอนเอียงไปทางมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งก็จริง แต่ในที่สุด เราสามารถปรับกลับมา เปลี่ยนตามผลประโยชน์หรือสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มันเหมาะสมกับเรา
แต่ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งที่จริงมันก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงที่คุณทักษิณ ชินวัตร โดนรัฐประหารเมื่อปี 2006 ที่การทูตไทยถูกผลักไปผลักมา และทำให้ไม่แน่ใจว่าเราจะไปอยู่ข้างไหน ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่าง อันนี้มันคือ ‘swirling’ ก็คือหมุนไปหมุนมา โดนผลักไปผลักมา จนในที่สุด ที่ผมบอกว่า ‘stuck’ ก็คือ มันโดนผลักโดยจีน เสร็จแล้วมันก็ยังเอนไปทางจีนไปเรื่อยๆ
พอกระแสลมปรวนแปรมากขึ้นมัน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเองได้อย่างยืดหยุ่นเหมือนก่อน ตอนนี้มันเริ่มยิ่งขยับไปหาจีนมากยิ่งขึ้น และก็มีแนวโน้มว่า มันจะอยู่อย่างนั้นไประยะหนึ่งพอสมควร
การผงาดของจีน (the rise of China) เป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการต่างประเทศไทยอย่างไร และไทยได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้บ้าง
จริงๆ แล้วผลประโยชน์ของไทยที่มีกับจีน มาจากตั้งแต่ที่จีนผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยๆ ก็ปลายทศวรรษ 1990 บทบาทของจีนที่เริ่มเห็นชัดขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เลยทำให้ผู้กำหนดนโยบายไทยรู้สึกว่า จีนเป็นแหล่งที่มา (source) ของผลประโยชน์ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเราหลังสงครามเย็น
เพราะในช่วงแรกๆ มันมีเรื่องโลกภิวัตน์ ตอนปลายทศวรรษ 1990 ไทยก็ประสบปัญหาวิกฤต เศรษฐกิจ ดังนั้น จีนมีตลาดใหญ่ เราสามารถพึ่งพาได้ จีนเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้ไทยแสดงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในช่วงนั้น ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
ดังนั้น มันก็สมเหตุสมผลสำหรับรัฐบาลไทย ที่จะเห็นว่าจีนจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มาของเสถียรภาพของประเทศ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงต้นรัฐบาลคุณทักษิณเป็นต้นมา เราเริ่มมีความร่วมมือกับจีนมากขึ้น หลังจากนั้น จีนก็มีบทบาทมากขึ้น
คือมันเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (convergence of interests) ด้วย จีนก็อยากจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีนไว้ใจจีนมากขึ้น หลังสงครามเย็น การเข้าหาอาเซียน (ASEAN) ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ก็ช่วยทำให้ประเทศอาเซียนไว้ใจจีนมากขึ้น อาเซียนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญ
การที่เราไปพึ่งจีนมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้นในทางนโยบาย เป็นการกระจาย (diversify) การดำเนินความสัมพันธ์แบบหนึ่ง จากเดิมที่เคยพึ่งตะวันตก พึ่งตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้จีนมีตลาดใหญ่ขึ้น เราก็สามารถเข้าไปได้ ดังนั้น การผงาดของจีนมีมิติทางเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ
อาจารย์อธิบายว่า การมาของ คสช. ส่งผลอย่างมากต่อการเข้าหาจีน ทำไม คสช. ถึงมองว่าการเข้าหาจีนเป็นเรื่องสำคัญขนาดนั้น
จะว่าไป ไม่ใช่เฉพาะ คสช. ด้วยนะ มันเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้น มันค่อนข้างชัดเจนยิ่งขึ้น ที่อาจจะต่อกับข้างต้น ก็คือ จริงๆ แล้ว การที่ไทยหรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจได้ มันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ความชอบธรรมที่เกิดจากสร้างผลงาน (performance legitimacy) ทำให้ประชาชนหรือผู้เลือกตั้งเห็นว่า เลือกรัฐบาลนี้มีความสามารถ มีประสิทธิภาพ และก็จะกลับมาโหวตให้อีกครั้งหนึ่ง คุณทักษิณครั้งที่ 2 ก็ได้เสียงข้างมากถล่มทลาย อันนั้นก็เป็นผลอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ดังนั้น ความสามารถในการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละรัฐบาล ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณเป็นต้นมา อย่างน้อยๆ มันก็เป็นจุดที่ทำให้ไม่ว่าเราจะเป็นระบอบแบบไหน ก็ยังมองจีนว่าให้ประโยชน์ในด้านนี้ เพราะอย่าลืมว่า การเมืองไทยมีความผันผวนของกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) พอสมควร ดังนั้น มันทำให้ผลการเลือกตั้งในทางการเมืองไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรม (source of legitimacy) ของภาคการเมืองอย่างเด็ดขาด
พอมาถึงรัฐบาลต่างๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทั้งเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือรัฐบาลทหาร จุดเด่นของจีนที่มี คือ นอกจากมีความน่าดึงดูดทางเศรษฐกิจแล้ว ยังใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference principle) ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน จีนไม่เข้ามาแทรกแซง ไม่เข้ามาวิจารณ์อย่างออกหน้าออกตา ถ้าเกิดไม่ได้ไปกระทบผลประโยชน์ของจีน ซึ่งมันต่างจากมหาอำนาจตะวันตก จีนจะค่อนข้างรักษาความสัมพันธ์กับทุกระบอบที่มันเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ
ดังนั้น พอมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย รวมถึงการรัฐประหารในปี 2014 ด้วย มันก็จะเห็นได้ว่า จีนยังเป็นผู้สนับสนุนที่มั่นคง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นประชาธิปไตย ในแง่นั้น จีนก็ยังเป็นแหล่งที่มาของเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาล คสช. กรอบคิดที่มีต่อจีนยังเป็นกรอบคิดเดียวกันไหม
ในแง่แก่นหลักก็อาจจะคล้ายๆ กัน อาจจะต่างกันในแง่บริบทมากกว่า
ผมว่าแก่นหลักมันคือ การรักษาความสัมพันธ์กับจีนทำให้รัฐบาลแต่ละชุดบริหารงานเศรษฐกิจได้ดีขึ้น มันช่วยเอื้อพวกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย เพราะว่ามาตรการต่างๆ ที่เห็น รัฐบาลไทยก็ยังเน้นการส่งออก ภาคบริการที่เน้นการท่องเที่ยว ตั้งแต่รัฐบาลคุณทักษิณเป็นต้นมา การค้ากับจีนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เห็นชัดจากสถิติ เราพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทิ้งตลาดตะวันตก หรือตลาดอื่นๆ เรายังสามารถติดต่อได้หลายๆ ทาง
เพียงแต่ว่า พอรัฐบาล คสช. มา มันมีองค์ประกอบทางการเมืองเข้ามาเป็นแกนกลางด้วย ทำให้ผู้นำทหารมีทางเลือกน้อยทางนโยบาย เพราะโดนชาติตะวันตกกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย ที่ทำให้หลายๆ ประเทศลดระดับความร่วมมือลง
ดังนั้น มันมีองค์ประกอบทางการเมือง ทำให้การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีนในช่วงรัฐบาล คสช. มีมิติการเมืองเป็นฉากหลัง และอาจจะเป็นเรื่องหลักมากกว่าตัวคุณทักษิณ แต่มิติทางเศรษฐกิจยังมีคล้ายๆ กัน คือช่วยส่งเสริมความชอบธรรมทางการเมือง และการดำเนินนโยบายของทั้งระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ
บทบาทสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการบาลานซ์ของไทยอย่างไร
อย่าลืมว่าสหรัฐฯ ก็ยังเป็นหลักประกันความมั่นคงของหลายๆ ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทยด้วย ถ้าเกิดลองสำรวจทั่วๆ ไป เราก็จะเห็นว่าความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทางด้านความมั่นคงก็มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้ตัดขาดกัน แม้จะมีรัฐประหาร โอเคแหละ สหรัฐฯ ต้องทำตามรัฐบัญญัติที่บอกว่า รัฐบาลไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งมันปรากฏชัดทุกครั้งที่มีการรัฐประหารตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา
ดังนั้น ผู้นำรัฐประหารไทยที่ผ่านมาก็เข้าใจว่า สหรัฐฯ ต้องมีปฏิกิริยาแบบนี้ แล้วก็คิดว่า เป็นปฏิกิริยาปกติที่สหรัฐฯ ทำ ก็อาจจะวิจารณ์ เพื่อให้กลับสู่ครรลองประชาธิปไตย ผู้นำไทยก็ยังคาดหวังว่า สหรัฐฯ จะมีความยับยั้งชั่งใจ ความอดทน ให้ความเห็นใจหลังฉากบ้าง ไม่ออกนอกหน้า
เราก็จะไม่แปลกใจว่า ทำไมไทยยังถือว่าสหรัฐฯ เป็นหมุดหมายในการสร้างหลักประกันความมั่นคง เทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐฯ ก็เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ที่เราเข้าใจกัน ไทยก็หวังพึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ ก็เป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ที่สุดในการซื้อของเรา
ความร่วมมือมันมีมาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ดังนั้น มันถูกทำให้เป็นเรื่องกิจวัตรตามปกติ (routinize) ในแง่หนึ่งด้วยว่า ยังไงมันก็ไม่หายไป ถึงแม้ว่า จะมีคนวิจารณ์ว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับไทย หรือพันธมิตรทางการทหาร แม้จะลดลงแต่ไม่ถึงขนาดว่า ทั้งสองฝ่ายอยากจะละทิ้งพันธมิตรแบบนี้
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า หลังสงครามเย็น คู่พันธมิตรไทย-สหรัฐฯ อ่อนแอพอสมควรในแง่ของการมองเห็นภัยร่วมกัน (common threat perception)
ปัจจัยที่ยึดโยงไทยกับสหรัฐฯ เดิมมันคือภัยคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะภัยเวียดนาม และจีนในช่วงครึ่งสงครามเย็น แต่หลังสงครามเย็น มันไม่มีภัยอะไรที่เป็นภัยโดดเด่น เราจะเห็นว่า ภัยคุกคามที่สหรัฐฯ ค่อนข้างเน้น คือ ภัยความมั่นคงทางทะเล (maritime security) ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยและอิสรภาพในการเดินเรือ ปัญหาโจรสลัด และรวมไปถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ มันเลยทำให้ประเทศทางส่วนคาบสมุทรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา
ในขณะที่เราเป็นประเทศที่มีกรอบคิดวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ (strategic culture) แบบภาคพื้นทวีปเป็นหลัก ความสนใจของไทยในพื้นที่ทางทะเลค่อนข้างจำกัด นโยบายต่างประเทศของไทย ส่วนใหญ่จะเน้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป เราสนใจแม่โขง เราสนใจจีนที่อยู่ข้างบน
สอง เราไม่มีความขัดแย้งทางทะเลกับใครอย่างรุนแรงด้วย ความสนใจด้านความมั่นคงทางทะเลก็อาจจะด้อยกว่าประเทศอื่น เราสนใจเมียนมา อาชญากรรมข้ามชาติ (transnational crime) การค้ายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองจากเมียนมา จากลาว จากประเทศเพื่อนบ้าน มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าการจัดลำดับความสำคัญของเราก็ไม่ได้สอดคล้องกับสหรัฐฯ ทุกเรื่องไป
อาจารย์อธิบายว่า ไทยมองสหรัฐฯ เป็น ‘พันธมิตรที่ไว้วางใจไม่ได้’ หรือ ‘unreliable partner’ ที่มาของมันมาจากเรื่องราวข้างต้นด้วยไหม
จริงๆ แล้วถ้าเกิดจะบอกว่า ไทยเริ่มรู้สึกว่าเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจไม่ได้ ก็น่าจะตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 เป็นต้นมา ผู้กำหนดนโยบายไทยมีมุมมองเรื่องพันธมิตรว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการทหาร คือไทยคาดหวังให้สหรัฐฯ มีส่วนช่วยในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย มากไปกว่าแค่ความมั่นคงหรือการทหาร
ดังนั้น เวลาไทยประสบปัญหาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ไม่ได้ช่วยเหลือขนาดนั้น สหรัฐฯ ปล่อยให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ดำเนินการไป ผมใช้คำว่า ‘disillusion’ สำหรับผู้นำไทยที่มันเหมือนกับผิดหวังกับสหรัฐฯ ดังนั้น มันเลยเริ่มมีความระแวง ความรู้สึกว่า สหรัฐฯ ไม่ ‘reliable’ ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เหมือนเก่า
2 ปีถัดมา สหรัฐฯ ก็ไม่สนับสนุนคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ ในการเป็นผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ในที่สุดมันก็มีความขัดแย้งกัน ไทยรู้สึกว่า ในฐานะพันธมิตร ทำไมไม่สนับสนุนเรา ไหนบอกว่าจะสนับสนุนตอนแรก พอทำไปทำมา สหรัฐฯ ล็อบบี้ให้ชาติสมาชิกหลายๆ ชาติเลือก ไมค์ มัวร์ (Mike Moore) จากนิวซีแลนด์ ในที่สุดมันจบด้วยการแบ่งคนละครึ่ง หนึ่งเทอมมี 4 ปี ไปๆ มาๆ แบ่งคุณศุภชัยเป็น 3 ปี ไมค์ มัวร์ เป็น 3 ปี
ดังนั้นเลยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และจะว่าไปแล้ว ก็เป็นที่มาของความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ (anti-American sentiments) ในช่วงนั้นเป็นต้นมา เราจะเห็นบริบทแวดล้อมช่วงนั้น ชนชั้นนำไทยพยายามเสนอทางเลือกที่ไม่ต้องไปผูกกับเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) ที่สหรัฐฯ เป็นแกนกลาง เช่นการส่งเสริมความพอเพียง ซึ่งมันมีองค์ประกอบของการต่อต้านสหรัฐฯ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ อยู่ในนั้น ว่าเรามีศักยภาพพอที่จะพึ่งพาตัวเอง มากกว่าไปพึ่งตลาดโลก
คุณทักษิณที่ขึ้นมาในช่วงการเมืองแบบนั้น ก็ไปด้วยกันกับบริบทนี้ ช่วงที่คุณทักษิณขึ้นมา ผมจำได้ดี คุณทักษิณก็ใช้แคมเปญอย่างเช่น ต่อไปนี้เราจะปลดหนี้ IMF ให้เร็ว รีบใช้หนี้ IMF แล้วก็ประกาศอิสรภาพ มันเป็นบริบทที่ต่อเนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
หรือแม้แต่นโยบายต่างประเทศไทยในช่วงนั้น คุณทักษิณก็เริ่มเบี่ยงเบนออกจากสหรัฐฯ พยายามหาหุ้นส่วนในเอเชียมากขึ้น หุ้นส่วนที่สำคัญก็คือจีน เพราะคุณทักษิณรู้ว่าจีนมีความน่าดึงดูดทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เวลาจะเสนอนโยบายต่างประเทศที่จะทำให้ไทยโดดเด่นในเวทีโลก คุณทักษิณก็ไปขอความร่วมมือจากจีนให้การสนับสนุน
การริเริ่มใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ที่ผ่านมา เช่น กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) สะท้อนความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ไทยร่วมกับ IPEF แต่ปัญหาของ IPEF ก็คือ มันยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นการเปิดตลาดเหมือนข้อตกลงการค้าเสรี ดังนั้นความน่าดึงดูดของจึงค่อนข้างจำกัด แต่ที่ไทยยอมเข้าร่วม IPEF ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 มันเห็นได้ชัดว่า ไทยเริ่มอยากจะปรับนโยบายต่างประเทศใหม่ให้สมดุลมากขึ้น
มีคนวิจารณ์ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลายๆ คน รวมทั้งผม ว่าเราโอนเอียงไปหาจีนค่อนข้างมากในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลอีกครั้ง มันก็เป็นโอกาสที่เราจะทำให้ สหรัฐฯ เห็นว่า เราก็พยายามจะปรับสมดุลนโยบายต่างประเทศของเรา ดังนั้น ผมว่ามันเป็นปัจจัยทางการเมืองของเรามากกว่า ที่อยากจะแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้เข้าข้างจีนขนาดนั้น เพื่อที่จะไม่ทำให้ไทยเสียขบวนในช่วงที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจกำลังจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
แต่ในแง่สาระสำคัญ (substance) ผมก็ยังสงสัย เพราะมันมีความพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์พิเศษของพันธมิตรในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ๆ ในปี 2019 มีการเซ็นข้อตกลงทางด้านความมั่นคง 2-3 ฉบับที่มีความสำคัญ แต่ในแง่ผลงานรูปธรรมหลักๆ ใหญ่ๆ เราก็ยังไม่ค่อยเห็นมากขนาดนั้น มันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าที่จะโชว์ให้สหรัฐฯ เห็นว่า หลังจากนี้ เราพยายามจะปรับแล้วนะ แต่ผมประเมินให้เลยว่ายังปรับไม่สำเร็จ
มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน อาจารย์คิดว่า เศรษฐา ทวีสิน ยังมองจีนแบบเดิมด้วยหรือเปล่า
ใช่ ที่บอกว่า “stuck in the Chinese wind” ก็คล้ายๆ กัน จริงๆ มันเป็นความต่อเนื่องนั่นแหละ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์มา เริ่มมีชนักติดหลังว่า ถ้าเกิดทำอะไรต้องระแวงปักกิ่งว่าจะไม่พอใจไหม คุณเศรษฐาอาจจะไม่มีชนักแบบนั้น แต่ก็ยังมีความอ่อนไหว (sensitivity) หมายถึงว่า ทำอะไรต้องระวังตลอดเวลา เราก็จะเห็นได้ว่า คุณเศรษฐาก็ยังมีกรอบคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มองจีนแบบเดียวกันอยู่ เป็นความต่อเนื่องพอสมควร
ผมจำได้ว่า คุณเศรษฐาบอกในการหาเสียงว่า ผมจะผลักดันให้สินค้าไทยส่งออกไปจีนมากขึ้น มันก็เห็นได้ชัดว่า ผู้นำทางการเมืองของไทยก็ยังเห็นจีนเป็นที่พึ่งในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอยู่ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไปเสนอเรื่องแลนด์บริดจ์ ครั้งแรกก็ไปพูดที่จีน ไปให้ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ดู ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะไปที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly หรือ UNGA) แต่ก็พูดกับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ได้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้เป็นการคุยอย่างเป็นทางการ ก็พูดกันในที่ประชุมนิดหนึ่ง แล้วก็เซย์กู้ดบายไป
โอเคแหละ คุณเศรษฐาก็พยายามจะกระจายความสัมพันธ์ ไปสหรัฐฯ ไป UNGA ไปยุโรป เดินทางไปหลายประเทศมากที่ผ่านมาเราก็เห็น มีความพยายามจะหาตลาดมากขึ้นนอกจากจีน แต่ผมว่าในใจก็ยังเน้นจีนอยู่ เห็นได้จากเรื่องการท่องเที่ยวเราก็เห็นชัด การยกเลิกวีซ่า คนจีนเข้าเมือง มันก็เป็นสัญลักษณ์เหมือนกันว่า อยากจะเรียกนักท่องเที่ยวจีนกลับมา มันก็ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลก็เห็นว่าจีนก็ยังพึ่งพาได้
เรื่องของทุนจีน ที่คนวิจารณ์กันมากขึ้น เป็นผลจากการต่างประเทศของไทยด้วยไหม
ผมว่ามันก็มาจากหลายๆ อย่าง การต่างประเทศไทยก็เป็นบริบทใหญ่บริบทหนึ่ง ที่ทำให้ทุนจีน ตั้งแต่ระดับเล็กขึ้นมา มาทำที่ไทยมากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองมันดี คนก็รู้สึกว่า เมืองไทยมาถึงก็น่าจะปลอดภัยที่สุด บวกกับการบังคับใช้กฎหมายไทยก็ไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น กฎเกณฑ์อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เราก็เห็นอยู่ชัดเจน ทุนสีเทาทั้งหลายที่มาเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน มันก็หลบเลี่ยงมาตรการ การบังคับใช้กฎหมาย ก็ตั้งเยอะ มันสามารถทำได้
แล้วอย่าลืมว่า การที่ไทยเข้าไปหาเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มันทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของไทยผูกกับจีนมากขึ้น เราเห็นได้ชัดจากสถิติของการนำเข้าสินค้าจีนของไทย มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การส่งออกของเราลดลง หรือไม่สูงเท่าการนำเข้า มันเลยทำให้ไทยเสียดุลการค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะการปรับเปลี่ยนเครือข่ายการผลิต (network of production) ตอนหลังพอจีนผงาดขึ้น กลายมาเป็นโรงงานของโลก (world factory) ขึ้นมา ก็ต้องไปประกอบที่จีน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัจจุบัน ที่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ มันมีเรื่อง ‘decoupling’ เรื่อง ‘friendshoring’ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของธุรกิจจีนก็ย้ายมาไทย ถึงแม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มันก็เป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจจีนเหล่านั้นหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงนี้ได้
ดังนั้น การมาไทยอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงการส่งออกโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ซึ่งทำได้ยากขึ้น มีข้อระแวงสงสัย มีกฎระเบียบอะไรมากขึ้น จึงย้ายฐานผลิตมาที่ไทย นำส่วนประกอบจากจีนมาลง มาผลิตที่ไทย หรือขายในตลาดไทย ขายในตลาดอาเซียน ตลาดสหรัฐฯ หรือตลาดตะวันตก ถ้าเกิดสินค้าเหล่านี้ออกมาจากไทยก็อาจจะมีข้อจำกัดน้อยกว่า และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงที่ไทยมีกับต่างประเทศด้วย หรืออาเซียนมีกับต่างประเทศ กับประเทศหุ้นส่วนทางการค้า มันก็อาจจะง่ายกว่า
ก่อนหน้านี้ มีนักการเมือง เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ประกาศจะไม่ทำตามการทูตไผ่ลู่ลม อาจารย์มองว่าการพูดแบบนี้หมายความว่าอย่างไร
ผมถึงบอกว่า หลังๆ คนมักจะตีความการทูตไผ่ลู่ลมค่อนข้างลบ คุณพิธาบอกว่า เราไม่ควรจะเป็นไผ่ลู่ลมแบบนั้น ซึ่งก็จริง ผมก็เห็นด้วย ถ้าเกิดมองการทูตไผ่ลู่ลมเป็นภาพลบว่าขาดหลักการ ผมก็เห็นด้วยว่าเราควรจะมีหลักการ อย่างเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งมันให้ประโยชน์กับไทย ผมว่าคุณพิธาพูดถึงมิตินี้มากกว่า เพราะมันเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจน ที่ไทยละทิ้งไปในช่วง พล.อ.ประยุทธ์
ดังนั้น ที่คุณพิธาพูด ผมก็เห็นด้วยในแง่ว่า เราควรจะยึดหลักการมากขึ้น แต่ในการตีความของผม มันไม่ใช่ต้องละทิ้งการทูตไผ่ลู่ลม เพราะมันให้ประโยชน์ในแง่ที่ว่า ถ้าเกิดดูองค์ประกอบหลักของมัน ที่พูดตั้งแต่ตอนต้น คือความยืดหยุ่น เราควรจะยืดหยุ่นพอสมควร เพราะในการเมืองระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าหลักการจะสำคัญ แต่ถึงจุดหนึ่ง มันก็ต้องดูว่าหลัการมันสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติด้วย
แต่ก็เข้าใจคุณพิธาว่า เขาหมายถึงเรื่องทางด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความพยายามจะสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งถ้าเกิดใช้การทูตไผ่ลู่ลม มันยังเข้ากับคำอธิบายของคุณพิธาได้ว่า เราควรจะย้ายหรือปรับกลับมาในจุดที่เราสามารถรักษาความสัมพันธ์ อยู่ในจุดกลางๆ ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง นั่นคือการทูตไผ่ลู่ลมที่ต้องสามารถเด้งกลับมาได้ ผลประโยชน์ของไทยอยู่ทั้งสองข้าง ดังนั้นเราไม่ควรจะยึดข้างใดข้างหนึ่งอย่างตายตัว
ดังนั้น ถ้าเกิดจีนทำอะไรที่มันไม่ดีกับเรา ไม่ยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเรา ไม่สามารถคุยกันได้รู้เรื่อง กดดันเราเกินไป เราก็สามารถบอกจีนได้ว่าเราไม่ต้องการสิ่งนี้ ไม่จำเป็นต้องไปก้มหัวเกรงใจตลอด เราต้องเด้งกลับมาสู่จุดยืนที่มีผลประโยขน์เราเป็นที่ตั้งได้ สามารถกลับมาอยู่ตรงกลาง หรือสามารถเข้าหาสหรัฐฯ เพื่อเข้ามาคานอำนาจได้ เราต้องกล้าทำอย่างนั้น การทูตไผ่ลู่ลมคือการกล้าที่จะกลับมาสู่จุดตรงกลางที่มีผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก หลักการมันก็อยู่ในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินั้น มันขึ้นกับว่าเราให้คำนิยาม ผลประโยชน์แห่งชาติเราร่วมหลักการอะไรไว้บ้าง
ที่พูดกันมาทั้งหมด ประชาชนได้ประโยชน์หรือผลกระทบจากการต่างประเทศอย่างไรบ้าง
ถ้าเกิดดูกันอย่างละเอียด ดูผลกระทบของการต่างประเทศ มันก็ชัดพอสมควรว่า จริงๆ แล้ว การต่างประเทศไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น
เดิมเวลาเราคุยเรื่องนโยบายต่างประเทศ ก็จะบอกว่าคนทั่วไปไม่สนใจ มันจะมีทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศว่า ปกตินโยบายต่างประเทศจะสนใจเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ คนทั่วไปมักไม่ค่อยให้ความสำคัญขนาดนั้น ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเวลามีการหาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องการต่างประเทศก็ไม่เป็นประเด็นสำคัญขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสังคมมากกว่า
แต่ทีนี้ ถ้าเกิดมองนโยบายต่างประเทศในฐานะที่เป็นเบื้องหลังที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้นโยบายอื่นๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะเห็นความสำคัญ นักวิชาการและนักการเมืองควรจะอธิบายให้ประชาชนเห็นว่า นโยบายต่างประเทศมีผลกระทบ
อย่างเช่นสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เราก็จะเห็น พอการเมืองเปลี่ยน นโยบายต่างประเทศของเราเข้าข้างจีนมากขึ้น เราถูกสหรัฐฯ กดดัน การติดต่อกับสหรัฐฯ ก็ลดลง ความมั่นคงไทยที่ไปผูกกับจีนมากขึ้นในช่วงรัฐประหาร ผลประโยชน์ที่สังคมได้จากช่วงนั้นก็ลดลงด้วย เราก็เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น งบประมาณที่นำไปซื้ออาวุธจีน เช่น เรือดำน้ำ มันกระทบจริงๆ ไม่ได้กระทบปัจเจกบุคคล แต่มันกระทบงบประมาณที่รัฐบาลจะเอามาจัดสรรให้กับนโยบายอื่นๆ ต้องมากันงบประมาณให้กับเรือดำน้ำ ต้องผูกพันกันไปกี่ปี ในที่สุดมันเป็นปัญหาแก้มาจนถึงปัจจุบันว่าจะทำยังไง มันทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำเงินไปใช้อะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้มากไปกว่านั้น
ดังนั้น นโยบายต่างประเทศที่โอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มันก็กระทบเรา นอกจากเรื่องอาวุธ เราก็เห็นชัด การพึ่งพาการท่องเที่ยวกับจีนมากหรือแม้แต่ภาคการเกษตร ซึ่งเราเห็นว่าจีนมีความสำคัญ เราพึ่งพาตลาดจีนกันมาก มันทำให้ภาคการบริการของเรา การท่องเที่ยว ภาคการเกษตรของเราเปราะบางต่อการผันผวนของตลาดจขีน และนโยบายของจีนที่อาจจะมาทำให้การส่งออกของไทยลดลง หรือชะลอการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในไทย
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มันสร้างภาวะการพึ่งพาของเศรษฐกิจไทยไว้กับจีน หรือประเทศใดประเทศหนึ่งจนเกินไป ทำให้ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหาทางออกได้ยากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่รุนแรงขึ้นแบบนี้ การที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่มีอิสระ (autonomy) อย่างเต็มตัวได้ มันก็ทำให้ทางเลือกทางนโยบายของเรามันจำกัด เศรษฐกิจอาจจะไม่น่าดึงดูดกับนักลงทุนหลายๆ หลายประเทศเริ่มไม่เห็นว่ามาลงทุนในไทยแล้วมันจะมีความแน่นอนขนาดไหน ซึ่งในที่สุดก็กระทบการจ้างงาน การปรับรายได้และทักษะแรงงาน การปรับระบบเศรษฐกิจไทยให้ขยับไปสู่การใช้ทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการแหวงวงล้อมกับดักรายได้ปานกลางได้ที่สุด
ดังนั้น การต่างประเทศในที่สุด มันจะย้อนมากระทบเราอยู่ดี