“รู้หรือเปล่ากูลูกใคร?”
น่าเศร้าที่ประโยครูปแบบดังกล่าวโผล่ขึ้นมาให้เราได้ยินบ่อยครั้งเกินกว่าที่ควรจะเป็น อาจจะจากเพื่อนในโรงเรียนขี้แกล้งพูดกลับใส่เราตอนจะฟ้องครู อาจจะเป็นใครบางคนพูดกับคู่กรณีในอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งที่ตัวเองผิดเต็มๆ หรือในกรณีที่โหดร้ายที่สุด คือเมื่อใครบางคนไม่จำเป็นต้องพูดคำนี้ด้วยซ้ำ แต่ด้วยสถานะทางอำนาจของพวกเขาหรือคนใกล้ชิด สามารถทำให้พวกเขาพ้นผิดจากการกระทำที่เป็นภัยต่อสวัสดิภาพของผู้อื่น บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิตยังไม่ต้องรับโทษอะไร
บ่อยครั้งเมื่อเรื่องแบบนี้ผ่านตาเราบ่อยๆ เข้า ความเชื่อถือของเราต่อกระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นในการทำตัวเป็นคนผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในสังคม เราจะสนใจความอยุติธรรมไปทำไมในเมื่อเรารู้ว่าเราเอาผิดใครไม่ได้? เราจะทำตามกฎหมายไปทำไม ในเมื่อคนทำผิดแต่รู้จักคนที่รอดทุกอย่างก็จบ? จะไม่ดีกว่าเหรอถ้าเราใช้เวลาชีวิตของเราไปกับการวิ่งหาคนที่จะช่วยเราแบบนั้นได้?
ชีวิตของพวกเราเต็มไปด้วยการลอยนวล มากเสียจนเราอาจเรียกว่าเรากำลังตกอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลพ้นผิด (Impunity Culture) ไปแล้วก็ได้
ความลอยนวลอยู่ใกล้ตัว และอยู่ในทุกระดับสังคม
เมื่อเราพูดถึงความลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ภาพที่เรานึกถึงมักคือลูกคนรวยหรือคนมีอำนาจ ใช้อำนาจของพวกเขาในการพาตัวเองหลีกหนีออกจากสถานการณ์ทางกฎหมาย ที่หากเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเรา ก็คงจะติดตารางหัวโตกันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะเข้าใจการลอยนวลและรากของมัน เราอาจจะต้องถอยออกมาสักก้าวเพื่อมองในภาพที่กว้างขึ้น เพราะว่าเรื่องการลอยนวลนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของความดีหรือชั่ว แต่คือเรื่องของอำนาจ และอำนาจนั้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
หากตัดทอนมันจนเหลือเพียงแก่น บ่อยครั้งการที่ใครสักคนจะลอยนวลจากความผิดของเขาได้ อาจคือเมื่อพวกเขามีอำนาจเหนือกว่าระบบที่ใช้ตัดสินพวกเขา เหนือคู่กรณีของพวกเขาในบางรูปแบบ เช่นนั้นแล้ว อำนาจและช่องว่าที่มันก่อขึ้นคือส่วนสำคัญของการลอยนวล เราสามารถปรับใช้มันกับหลากหลายบริบท เช่น
- ครูในโรงเรียนมองข้ามความผิดของนักเรียนคนหนึ่งได้เพราะเขาอาจจะจัดอยู่ในกลุ่มของนักเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ในกรณีนี้ สถานะทางสังคมของพวกเขาทำให้ผลการพิจากรณาความผิดของพวกเขาเบาลง
- มาตรฐานความงามอาดบิดเบือนภาพความผิดของคนได้ การกระทำบางอย่างที่ผิดอาจไม่ผิดหากเราหน้าตาดีตามที่มาตรฐานความงามกำหนดไว้
- ในบางพื้นที่ มีกฎเคร่งครัดว่าผู้ชายสามารถทำอะไรได้ และผู้หญิงทำอะไรได้ อำนาจที่เกิดขึ้นจากบทบาทางเพศตามขนบและมิติทางเพศก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการลอยนวลได้
ฐานะ สายเลือด หน้าตา เพศ ฯลฯ ทุกสิ่งที่นำมาซึ่งอำนาจและชนชั้น นำมาซึ่งการลอยนวลได้เสมอ และเมื่อพ่วงมันเข้ากับความเป็นอยู่ของเราในประเทศที่แทบจะบังคับให้เราวิ่งหาอำนาจเหล่านั้นตลอดชีวิตเพื่อจะมีชีวิตที่ดีได้ เราอาจจะเริ่มเห็นว่าทำไมเราจึงเห็นการเบ่งอำนาจนี้อยู่บ่อยๆ
ระบบอุปถัมภ์และการลอยนวลพ้นผิด
ลองนึกภาพว่าคนที่เรารักป่วยหนักและต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ในฝั่งหนึ่งคือโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่สามารถสู้ราคาได้ อีกฝั่งคือโรงพยาบาลรัฐที่ต้องต่อคิวอย่างยาวนาน หรือไม่ที่ที่มีเตียงทันทีก็อาจไม่ถูกใจเรา ในห้วงเวลาเช่นนั้นเราจะมีความคิดขึ้นมาในหัวบ้างหรือเปล่าว่า “คงจะดีเหมือนกันนะถ้าเรารู้จักใครที่จะทำให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้น”
ในชีวิตประจำวันของเรา เราแต่ละคนมักถูกบังคับให้วิ่งเข้าหาการมีอำนาจเช่นนั้นมาครอบครองสักวิธี เราอาจใช้เวลาจำนวนมากในชีวิตการทำงานหมดไปกับการสานคอนเนกชั่น เพื่อจะเข้าถึงคนใหญ่คนโตให้ได้ เราอาจเลือกทิ้งฝันของเราเพื่อเป็นข้าราชการ เพื่อเลเวลอัปตัวเองขึ้นไปเป็นอีกชนชั้น เพื่อการเข้าถึงสิทธิพิเศษที่มีเพียงชนชั้นนั้นๆ จะได้รับ ซึ่งความตลกร้ายคือบ่อยครั้งสิ่งเหล่านั้นควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้
อย่างนั้น ระบบอุปถัมภ์และการลอยนวลเกี่ยวข้องกันอย่างไร? คำตอบคือมันทั้งคู่เป็นต้นไม้สองต้นที่มีรากเดียวกัน “การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นจากความไร้ปฏิกิริยาของสถาบันหรือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน” เอกสารไกด์ไลน์ Eradicating impunity for serious human rights violations ที่องค์กรนานาชาติ Council of Europe เขียนเอาไว้ แม้นี่จะเป็นการพูดถึงการลอยนวลในอีกระดับ จะเห็นได้ว่าแก่นแท้ของมันคือสิ่งเดียวกันในทุกระดับอื่นๆ นั่นคือรากของความ “หยวนๆ กัน” นั่นเอง
การพึ่งพาระบบอุปถัมภ์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตตัวเอง กับการใช้อำนาจนั้นๆ เพื่อเบียดบังผู้อื่นนั้นคาบเกี่ยวกัน เราอาจเรียกได้ว่าเส้นแบ่งของมันอาจไม่มีเลยก็ได้ เพราะหากเราจะพูดอย่างแย่ที่สุด การไม่ต้องรับโทษอะไรจากความผิดทางกฎหมายของเราจะคืออะไร หากจะไม่ใช่การเพิ่มความสะดวกสบายชีวิตของเราในขั้นสูงที่สุด?
โลกใบนี้ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
จากทั้งหมด เราคงจะพอทึกทักกันได้แล้วว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการเป็นคนดีหรือไม่ดี หรือเป็นเพียงเรื่องของระดับบุคคล แต่การลอยนวลพ้นผิดนี้เป็นเรื่องระดับโครงสร้างและวัฒนธรรม
แล้วจะเป็นอย่างไรหากจะพูดว่า
เราอยู่ในโลกที่ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด?
เอกสารที่พอจะตอบเรื่องดังกล่าวได้คือ The state of impunity in the world ซึ่งจัดทำขึ้นโดย European Parliamentary Research Service (EPRS) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่รวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับการลอยนวลพ้นผิดในสเกลระดับโลกในหลากหลายแง่มุมเมื่อปี 2021 เช่น การที่ผู้นำบางประเทศสามารถก่ออาชญากรรมสงครามได้อย่างหน้าตาเฉย ปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเอไอที่นำไปสู่การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจับมือใครดมไม่ได้ ฯลฯ
งานวิจัยชิ้นนี้ถกเถียงจากข้อมูลที่ว่า สาเหตุหลักของการลอยนวลพ้นผิดในระดับโลกนี้เกิดขึ้นจากระบบทางการเมืองและเศรษฐกิจที่วางผลกำไรไว้เหนือผู้คน “นั่นคือคำอธิบายได้ว่าองค์กรณ์นานาชาติเช่น UN หรือ ICC จึงไร้พลังในการต่อสู้กับอาชญากรรมที่แพร่หลายนี้ มากไปกว่านั้น รัฐมักเป็นผู้เล่นที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไร้การลงโทษ ซึ่งนั่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรัฐเผด็จการ แต่ในรัฐประชาธิปไตยด้วย” ผู้วิจัยเขียน
ผู้วิจัยยังกล่าวอีกว่าผลกระทบการลอยนวลในระดับนี้ทำต่อสังคมโลก คือการที่มันบั่นทอนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เสริมสร้างลัทธอำนาจนิยม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศที่หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ
มองไปที่โลกเสร็จแล้วกลับมาที่ตัวเอง ในโลกที่องค์กรชื่อ United Nation ไร้พลังที่จะทำอะไร ในโลกที่ผู้กระทำความผิดต่อความเป็นมนุษย์ไม่ถูกลงโทษ เราและคนที่อื่นๆ จะมองโลกใบนี้แล้วพูดว่า “ทำชั่วย่อมได้ชั่ว” ได้เต็มปากแน่หรือ? หากโลกยังให้รางวัลกับการกระทำเช่นนั้นอยู่ร่ำไปผ่านระบอบทุนนิยมที่ไม่อาจหลีกหนีได้
นี่ไม่ใช่เรื่องของความดีความชั่ว ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเป็นลูกใคร แต่คือเรื่องของมุมมอง ก้าวแรกคือเราต้องเชื่อว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ และการไขว่คว้ามาซึ่งอำนาจในการกดขี่ไม่ใช่ทางออก แต่คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในเชิงระบบ
มันคือเรื่องของการผลักดันให้เกิดการตรวจสอบและความโปร่งใส และเป็นหน้าที่ของเราทุกคนในการกำจัดระบอบนี้ออกไปให้ถึงที่สุด
อ้างอิงจาก