“ศาสนาช่วยปลดปล่อยเราจากทุกข์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ศาสนาก็เป็นโซ่ตรวน”
คำปราศรัยของ ‘วาริช หนูช่วย’ ในการชุมนุมม็อบตุ้งติ้งของกลุ่มเสรีเทยพลัสบนถนนสีลม เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 อาจเป็นถ้อยคำธรรมดา หาก ‘ศาสนา’ ในประโยคที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงศาสนาอิสลาม ส่วนคำว่า ‘โซ่ตรวน’ หมายถึง ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมมุสลิม – ที่สำคัญ ตัววาริชเองก็เป็นมุสลิมคนหนึ่ง
แม้วาริชจะเกิดในครอบครัวมุสลิม แต่พ่อของเขาเป็นชาวพุทธมาก่อนจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่แปลกที่เขาจะเข้าใจโลกทัศน์และมุมมองทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เขาเกิดที่ จ.นครศรีธรรมราช ก่อนจะย้ายไปเรียนหนังสือที่ จ.ยะลา ก่อนจะต้องย้ายออกนอกพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
เขาได้เรียนใน ‘โรงเรียนปอเนาะ’ ตามมาตรฐานที่เด็กมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้จะได้รับ ช่วงเวลานั้นเอง ที่วาริชได้ค้นพบกับความไหลลื่นทางเพศ ท่ามกลางสังคมภายใต้ปอเนาะ สังคมที่ชาย-หญิงถูกแยกออกจากกันด้วยข้อปฏิบัติทางศาสนา
ปอเนาะที่เขาเติบโตมามีแต่ ‘เด็กผู้ชาย’ ที่กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์การเรียนรู้ด้านเพศวิถี
ความไหลลื่นทางเพศมิใช่เรื่องอื่นไกล และไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ในสังคมมุสลิมไทย แต่พื้นที่ของการพูดคุยในประเด็นความหลากหลายทางเพศของสังคมมุสลิมในไทยกลับไม่ถูกพูดถึงมากนัก
The MATTER ได้นัดพบเพื่อพูดคุยกับวาริช ผู้เชื่อในความหลากหลายทางเพศ บ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ที่อยากให้ประเด็นความหลากหลายทางเพศนั้น ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในสังคมมุสลิมไทย
อยากให้เริ่มจากการเล่าประสบการณ์ หรือปัญหาที่ LGBTQ ในสังคมมุสลิมพบเจอให้ฟังหน่อย
ถ้าพูดถึงประสบการณ์โดยรวม เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวโรงเรียนหรือสังคมมุสลิมเอง จริงๆ มันมีความลื่นไหลซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึงกัน ตัวอย่างเช่น ตอนเรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะ ที่ในโรงเรียนมีเด็กผู้ชายวัยมัธยมหรือวัยเจริญพันธุ์ได้มาอยู่ร่วมกัน
ในอิสลามบอกว่าคุณห้ามร่วมประเวณีกับคนที่ไม่ใช่คู่ครองของคุณภายใต้สถาบันการแต่งงาน การร่วมเพศกับคนในเพศเดียวกันจึงเป็นความผิดบาป ทีนี้ เมื่อเด็กผู้ชายในวัยกำลังเรียนรู้ย่อมต้องผ่านช่วงเวลาดังกล่าว มันก็เลยเกิดภาพเหล่านั้นในโรงเรียนปอเนาะที่เป็นพื้นที่เทาๆ ที่คนไม่อยากพูดถึงกัน อย่างที่เรามาพูดกันในวันนี้ มันก็มีความสุ่มเสี่ยงที่คนอีกจำนวนมากอาจวิจารณ์ว่า ทำไมถึงเอาเรื่องที่ไม่ดีเหล่านี้มาพูดในที่สาธารณะ
แต่ถ้าจะพูดไป อาจจะฟังดูแย่หน่อยว่า หลายคนที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศถูก bully ในโรงเรียนจากการที่เขาเป็นแต๋ว โดยส่วนมาก ถ้าพูดถึงความหลากหลายแล้ว ในสังคมมุสลิมมักมีมุมมองต่อคนคนนั้นว่า พวกเขาจะต้องมีลักษณะท่าทางที่ ‘ออกสาว’ นี่คือภาพหลักของ LGBTQ ในสังคมมุสลิมเลย มันเลยทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกที่อ่อนแอกว่า เป็นคนไม่เท่ากัน เลยถูก bully เพื่อความสะใจต่อหน้า แต่ลับหลังกลับไปสะกิดเพื่อขอมีกิจกรรมทางเพศบางอย่างด้วย ซึ่งมันก็มีภาพอะไรอย่างนี้อยู่ในสังคมของเด็กปอเนาะ
แล้วทำไมการเลือกเพศสภาพ ที่ไม่ใช่ ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ถึงเป็นเรื่องบาปในอิสลาม
ต้องเข้าใจว่า บทบัญญัติของอิสลามมันอิงตามกับคัมภีร์กุรอาน เพราะฉะนั้น บทบัญญัติทั้งหมดมันก็จะถูกตีความผ่านผู้รู้ว่า “พระเจ้าทรงสร้างชายกับหญิงขึ้นมาเป็นคู่กัน” มันมีแค่นี้ ถ้านอกเหนือจากนี้จะถือว่าเป็นความผิด ซึ่งมันก็มีการตีความว่า ผู้ชายที่เลียนแบบเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงที่เลียนแบบเป็นผู้ชาย ก็ถือว่าทำผิดไปจากข้อกำหนดที่พระเจ้ากำหนดไว้ มันจึงไม่แปลกที่มุสลิมส่วนใหญ่มองว่า ความผิดดังกล่าวเป็นฉันทามติร่วมกัน
ทีนี้ ถามว่าถ้ามุสลิมอยากจะเป็นอย่างอื่น นอกไปจาก ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ ได้ไหม มันต้องกลับมาทบทวนกันอีกทีว่า เราจะให้เขาเลือกการมีความหลากหลายทางเพศในแง่ไหน คือในแง่ศาสนาอาจจะไม่ได้ แต่ถ้าเขาขอในแง่ของความเป็นมนุษย์ได้ไหม
ในมุมนี้ของอิสลามมันยังไม่มีคนตอบว่า ถ้าเขาเกิดมาเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเขาอยากดำรงซึ่งความเป็นมุสลิมที่ละหมาดด้วยได้ไหม
มันก็มีผู้รู้ทางศาสนาหลายคนที่ยอมรับและพยายามบอกว่า เพศสภาพบางลักษณะนั้นเป็นที่ยอมรับได้ เช่น คนที่เกิดมาเป็น ‘กะเทย’ ซึ่งก็มีบันทึกไว้ในกุรอาน โดยความหมายของกะเทยที่บันทึกในกุรอานของอิสลาม คือคนที่เกิดมามีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิงในคนเดียวกัน แต่พอเป็นเรื่องของความรู้สึกว่าคนคนหนึ่งอยากเป็น queer ได้ไหม อยากเป็นกะเทยได้ไหม อยากเป็นทอมได้ไหม มันกลับไม่มีพื้นที่เหล่านั้นให้พวกเขาได้เลือกในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น หรือให้เขาได้มีพื้นที่ที่จะได้พูดคุยกัน
ทำไมพื้นที่ให้เลือกเกี่ยวกับเพศถึงมีไม่มากนัก นอกเหนือจากบทบัญญัติในศาสนา
เอาจริงๆ คือ มันเป็นการเหมารวมด้วยแหละ มันเหมือนเป็นภาพจำไปแล้วว่า คนที่เบี่ยงเบนจะต้อง ‘ออกสาว’ ขอบเขตในการรับรู้ถึงความหลากหลายทางเพศจึงมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้สังคมถูกกำหนดไปในทางนั้น คนที่ออกสาวเลยต้องดิ้นรนไปกับระบบที่มีชุดความคิดแบบนี้ ด้วยความลำบากในการที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่คนที่ดูแมน แต่มีรสนิยมที่ชอบผู้ชายด้วยกัน อาจอยู่และสามารถรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายกว่าในบริบทของพื้นที่ทางศาสนา
อย่างกรณีของเลสเบี้ยน กฎข้อหนึ่งของอิสลามว่าไว้ว่า การจะผิดประเวณีจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการสอดใส่จากอวัยวะเพศชายเข้าไปในร่างกายของคนอีกคนหนึ่งเท่านั้น คำถามก็คือ แล้วเลสเบี้ยนล่ะ เลสเบี้ยนไม่ได้มีอวัยวะเพศที่จะสอดใส่ได้อย่างผู้ชาย
พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่สีเทา ซึ่งกลุ่มคนที่มีรสนิยมในลักษณะดังกล่าวอาจจะตอบกับตัวเองว่า ก็เขาไม่ได้ทำผิดอะไร แล้วอย่างนี้อิสลามจะยอมรับได้ไหม
หรือแม้กระทั่งไม่ใช่เรื่องเพศสัมพันธ์ ร่วมประเวณีกัน เอาแค่จีบกัน อย่างผู้ชายกับผู้ชายจีบกันได้ไหม
ใช่ คือเวลาเราบอกว่าเราอยากให้มีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มุสลิมก็มักจะพูดกันว่าไม่ได้ เพราะมันจะผิดซินา (ความผิดบาปทางประเวณี) เราเลยลองมาทบทวนว่า จริงๆ แล้ว การไม่ยอมรับความรักในเพศเดียวกันนั้น มันจะนำไปสู่ซินาในอนาคต ก็อาจจะใช่ แต่ถ้ามองในเรื่องโทษแล้ว มันอาจจะเป็นคนละส่วนกันกับการผิดประเวณี ซึ่งมันไม่ได้ครอบคลุมแค่คนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่มันครอบคลุมถึงหญิงชายที่ไม่ได้แต่งงานกัน
ทั้ง 2 ประเด็น จึงเป็นคนละประเด็นที่มุสลิมมักจับเอามาชนกัน และเหมารวมว่า ด้วยเหตุผลนี้แหละ จึงไม่ควรมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปเลยดีกว่า เพื่อที่จะได้จัดการได้ง่าย ซึ่งมันก็เป็นการมองภาพรวมที่ใหญ่เกินไป ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละประเด็นกัน
ระดับการกดทับ ไม่ให้แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ ใน กทม. กับพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคใต้ โดนเฉพาะสามจังหวัดชายแดนใต้ แตกต่างกันไหม
ถ้าพูดในแง่บทบัญญัติทางศาสนาอาจจะไม่ได้ต่างอะไรกัน แต่บริบทของพื้นที่เนี่ย แตกต่างกันแน่ๆ อย่างถ้าเกิดเป็นเด็ก กทม. คุณได้เกิดมาในพื้นที่ที่มีความหลากหลายอยู่แล้ว พื้นที่ของความหลากหลายใน กทม. มันชัดเจนกว่า และมันอาจจะง่ายกว่าสำหรับบางคน
ใน กทม. คุณอาจจะออกมาเดินห้าง ไปโรงเรียน มันก็คือพื้นที่ใหม่ๆ แล้ว แต่อย่างบริบทในสามจังหวัดชายแดนใต้เนี่ย มันแตกต่างกันแน่นอน นอกจากบริบททางศาสนาแล้ว มันคืออัตลักษณ์ในพื้นที่ เช่น ความตุ้งติ้งมันถูกนิยามว่าเป็นการทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ระดับการกดทับมันจึงอาจจะไม่เท่ากับในตัวเมือง ซึ่งพอเป็นคน กทม. เขาก็อาจจะพูดว่าเรื่องรสนิยมทางเพศมันเป็นเรื่องของฉัน
พอมันมีอัตลักษณ์และภาพลักษณ์ทางศาสนาเข้ามาผูกโยง มันจึงทำให้เกิดแรงกดทับต่อความหลากหลายทางเพศสูง จะพูดว่าสังคมใจแคบก็อาจจะไม่เชิง แต่พอสังคมไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง การเห็นคนที่แตกต่างออกไปจาก ‘ขาว’ กับ ‘ดำ’ ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ จึงดูเป็นเรื่องผิดบาปไปหมด มันจึงเหมือนเป็นการผลักไสพวกเขาว่า ฉันไม่สนใจพวกเธอ พวกเธอเป็นคนบาป ทั้งๆ ที่มันอาจจะประนีประนอมกันได้หรือเปล่า
คนเหล่านั้นได้รับผลกระทบหรือผลลัพธ์อะไรบ้าง
มองในเชิงของครอบครัว ถ้าเขาอยู่ในครอบครัวที่เปิดกว้าง อย่างน้อยๆ พวกเขาจะปลอดภัย อัตลักษณ์ตัวตนของเขาถูกยอมรับในครอบครัว แต่ในกรณีอื่นๆ แล้ว อย่างที่ร้ายแรงที่สุด ก็อาจจะถูก bully ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกครอบครัวกดดัน บางคนอาจมีอาการซึมเศร้า อาจต้องหนีออกมาจากพื้นที่ที่ตนเคยอาศัยอยู่ ตัดขาดจากครอบครัว
แล้วถ้าเกิดเป็นคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกดทับ แต่เขากลับไม่สามารถที่จะมีโอกาสที่จะย้ายพื้นที่ของตัวเองล่ะ เขาจึงต้องอยู่ในสังคมที่มองเขาว่า นอกจากเขาจะไม่มีตัวตนแล้ว สิ่งที่เขาเป็นยังเป็นความผิดบาป ทั้งๆ ที่เขาก็แค่รู้สึกว่า เขาอยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น
มีคำพูดในมุสลิมว่า เรื่องทุกอย่างอยู่ที่ ‘ตัวเขา’ กับ ‘พระผู้เป็นเจ้า’ เรื่องเพศวิถีก็คือเรื่อง ‘ตัวเขา’ กับ ‘พระผู้เป็นเจ้า’ ด้วยไหม
การตัดสินและการพิพากษาความดีความชั่วเป็นหน้าที่ของพระเจ้า การที่มนุษย์ในฐานะที่เราเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาเนี่ย เราไม่มีหน้าที่จะไปตัดสินใครตรงนั้น ทีนี้ เราจะทำอย่างไรกับความหลากหลาย
เราเลยอยากชวนทุกคนมาถกเถียงกันว่า ในเมื่อการตัดสินความดีความชั่ว ใครจะได้ไปนรกหรือสวรรค์ เป็นหน้าที่ของพระเจ้า งั้นเราในฐานะมนุษย์ เรายอมรับอีกฝ่ายในฐานะมนุษย์ได้ไหม ยอมรับในฐานะที่เขาก็เป็นคนที่ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมาเหมือนกันได้ไหม การยอมรับในข้อนี้ได้ จึงอาจทำให้การพูดคุยในประเด็นเรื่องเพศวิถีมันทำได้ง่ายขึ้น
อย่างน้อยๆ มันจะผ่อนคลายลง ศาสนาจะสามารถเปิดพื้นที่ให้แก่ความหลากหลายเหล่านี้ ที่จะทำให้พวกเขาได้มีมุมๆ หนึ่งในศาสนาที่พวกเขาจะได้อาศัยอยู่ เขาอาจจะพูดว่าวันนี้เขาเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศนะ แต่เขาอยากละหมาดเหมือนกับคนอื่นๆ เขาอยากมีสิทธิในการไปละหมวดโดยปลอดจากสายตาเหยียดหยามว่า “ละหมาดไป พระเจ้าก็ไม่รับหรอก” ซึ่งมันเป็นตัวอย่างของการที่คุณกำลังเดาใจพระเจ้าหรือเปล่า คุณเป็นใครถึงไปเดาใจพระเจ้าว่าพระองค์จะทรงรับหรือไม่รับละหมาดคนเหล่านี้
ถ้าแย้งในเชิงหลักการว่าการละหมาดต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสะอาด การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสกปรกเป็นเรื่องผิดไปจากข้อบัญญัติจึงเข้าใจได้ เพราะมันมีข้อบังคับอยู่แล้ว แต่การไปพูดว่าคนที่ตุ้งติ้ง “ละหมาดไปก็เท่านั้นแหละ” จะเป็นการผลักพวกเขาออกไปจากศาสนา ทั้งๆ ที่มัสยิดก็เป็นพื้นที่ของความหลากหลายได้ อย่างน้อยก็ควรให้เขาได้มีตัวตนที่จะปฏิบัติศาสนกิจ
ทั้งๆ ที่สังคมไทยไม่ได้เป็นประเทศมุสลิมเคร่งเหมือนหลายประเทศ แต่ทำไมพื้นที่เหล่านี้ถึงยังไม่เกิดในไทย
ถ้าตามความเข้าใจเลย มันเกิดจากการตีกรอบว่าสิ่งถูก-ผิดมีแบบเดียว ซึ่งมันสำคัญมาก คนที่เป็นผู้รู้ทางศาสนากลับไม่ได้เปิดให้มีการโต้แย้งในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่เรายังไม่ถึงจุดๆ นั้นก็เพราะผลพวงจากการที่เราไม่คุยกันเลย ทั้งที่ เรารู้ว่ามันมีคนเหล่านี้อยู่ มันจึงไม่นำไปสู่อะไร ข้อถกเถียงมันจบลงที่แค่ว่า ‘มันผิด’ สุดท้าย พอคนออกมาพูดเรื่องนี้ คนก็จะคิดแค่ว่าพูดไปทำไม พูดไปก็เสียเวลา ทั้งๆ ที่เราอยากจะขยายประเด็นเหล่านี้ออกไป
แล้วทำไมวาริชถึงเลือกที่จะออกมาพูดเรื่องนี้ ทั้งที่น่าจะคาดเดาได้ว่าจะเจอกับแรงเสียดทานเยอะมาก
ตอนแรกที่ได้รับการติดต่อมา (ให้ขึ้นเวทีม็อบตุ้งติ้งฯ) เราก็มานั่งทบทวนอยู่ชั่วโมงหนึ่ง จนได้ข้อสรุปว่า โอเค
เราอยากจะผลักดันวาระนี้ให้สังคมมุสลิม หรือสังคมมุสลิมไทยได้ก้าวทันโลก มันก็คงจะดี เพราะในทุกวันนี้ พอเราไปคุยกับคนจากศาสนาอื่น เขาก็มักคิดว่า ‘ทำไมมุสลิมถึงคับแคบจังเลย’ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการตีความของอิสลามมันไม่ได้คับแคบขนาดนั้น แค่มันถูกให้ภาพแทนออกมาที่ดูคับแคบเหลือเกิน ชนิดว่ามันต้องมีแบบเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่มันก็มีการตีความหลายแบบ
ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยในสังคมและประวัติศาสตร์มุสลิม มันมีคู่มาอยู่กับอิสลามตั้งแต่แรกแล้ว แต่คนในสังคมกลับไปโทษสิ่งเหล่านี้ว่ามันเป็นผลพวงจากตะวันตก หรือจากสื่อ
มันมีคนที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ในสังคมมุสลิมจริงๆ กลับพบว่า ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศมีอยู่คู่กันกับอิสลามมานาน มีบางคนให้ข้อสรุปไปจนกระทั่งว่า ศาสดามูฮัมหมัดเองก็ยังมีความประนีประนอม มีความเมตตาต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วทำไมข้อเท็จจริงพวกนี้กลับไม่ถูกนำมาพูดถึง เพราะฉะนั้น วันที่เราขึ้นไปพูดบนเวที มันคือการผลักดันให้วาระนี้เป็นสาธารณะมากขึ้น มันทำให้คนเห็นอีกมุมหนึ่งของความหลากหลายว่า มันมีคนที่ถูกกดทับอยู่ในชายชอบของชายขอบสุดๆ เราเลยได้ข้อสรุปที่จะไปตอบกับพระเจ้าว่า สิ่งที่เราทำนั้น เรามีความตั้งใจที่ดี ส่วนพระเจ้าจะว่าอย่างไรนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของพระเจ้า
ผลตอบรับหลังจากวันที่ขึ้นไปพูดเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ ไม่ค่อยได้เข้าไปดูว่าใครว่าอะไรยังไงบ้าง แต่ว่าก็ค่อนข้างดี มีเพื่อนๆ ที่ดูไลฟ์ทักมาว่า สิ่งที่เราทำไปมันก็เป็นการกระทำที่กล้าหาญอยู่พอสมควร ส่วนผลตอบรับด้านลบก็ยอมรับได้ ถ้าจะมีใครมาถกเถียงในประเด็นนี้ ซึ่งถ้ามีการถกเถียง มีการตั้งกระทู้ ตั้งวงสนทนาขึ้นมาจริงๆ เราถือว่าการขึ้นเวทีในวันนั้นมันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย มันทำให้มีการพูดคุยเกิดขึ้นจริง แต่ก็ขอให้เป็นการพูดคุยที่เปิดกว้าง
เราไม่สามารถอยู่กันโดยที่ไม่เอาตัวเองไปผูกโยงกับทิศทางของโลกได้อีกต่อไป มุสลิมก็ควรกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราจะอยู่กันแค่ในกลุ่มก้อนของตัวเอง แล้วบอกว่าฉันไม่ฟังกระแสโลกอื่นๆ มันอาจจะไม่พอแล้วหรือเปล่า เราควรจะปรับความเชื่อให้ทันสมัย แต่ความทันสมัยในที่นี่ไม่ได้แปลว่าต้องไปแก้บทบัญญัติ แต่หมายถึงการไปศึกษาและตีความบทบัญญัติขึ้นมาในอีกหลายๆ มุมมากขึ้น แทนการตีความอยู่แบบเดียวและส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
เคยดูรายการตอบปัญหาทางศาสนา ที่มีคนปรึกษาเรื่องการมีลูกหลานเป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว แล้วมีคำแนะนำให้ผู้ปกครองขอดุอาอ์ (ขอพร) ต่อพระเจ้าเยอะๆ มองเรื่องนี้อย่างไร
มันมีสิ่งหนึ่งที่มุสลิมชอบยกมาว่า การเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเนี่ย เป็นบททดสอบจากพระเจ้าที่พระองค์ส่งมา เพราะฉะนั้น ถ้าคุณก้าวผ่านบททดสอบนี้ได้ คุณก็จะได้รับผลตอบแทนในโลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นการได้ไปสวรรค์อะไรก็ตามแต่ ซึ่งถ้าไปถามในรายการมุสลิมต่างๆ คำตอบก็จะออกมาประมาณนี้
แต่ทีนี้ ถ้าเรากลับมามองอีกมุมหนึ่ง คนที่ถูกบอกว่าการเป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว คือบททดสอบ แล้วต้องเข้มแข้งนะ เพื่อที่คุณจะได้ผ่านบททดสอบได้ คำถามคือแล้วฉันจะเข้มแข็งได้อย่างไร ในเมื่อความพยายามที่จะเข้มแข็งนี้แหละ ที่จะทำให้ฉันต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวไปตลอดชีวิต อันนี้เป็นสิ่งที่มุสลิมเองก็ไม่มีคำตอบว่า สิ่งที่เธออยากให้ฉันเข้มแข็งเนี่ย เธออยากให้ฉันเข้มแข็งอย่างไร ฉันต้องกดความตุ้งติ้งเอาไว้อยู่ภายในลึกๆ หรือว่าฉันไม่สามารถที่จะตุ้งติ้งและปฏิบัติตามหลักการของอิสลามได้ คือมันไม่มีคำตอบ
การผลักภาระของการทดสอบจากพระเจ้าให้คนคนเดียวมันเป็นอะไรที่หนักเกินไปสำหรับเขา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของ ‘ตัวเขา’ กับ ‘พระเจ้า’ ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะทำได้แค่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จะยอมรับมนุษย์อีกคนหนึ่ง ก็แค่นั้น
มีความเคยบอกว่า เรื่อง LGBTQ ในสังคมมุสลิม กับเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ระดับของความละเอียดอ่อนมันใกล้เคียงกันมาก ในมุมของวาริช เรื่องนี้จริงไหม
ใช่ มันละเอียดพอๆ กันเลย เพราะในแง่ของการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ คุณอาจโดนกฎหมายมาตรา 112 การล่าแม่มด ก็เหมือนกัน การที่คุณพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันมีความเสี่ยงมาก
มีหลายคนที่เป็นห่วงเราเมื่อรู้ว่าเราจะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมันอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร สังคมมุสลิมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดตั้งแต่แรก แล้วมันไม่ได้ผิดในเชิงกฎหมายของมนุษย์ แต่มันเป็นความผิดที่จะถูกพิพากษาว่า เขาคนนั้นทำผิดหลักการทางศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้า พื้นที่ของความรุนแรงในสองเรื่องนี้จึงอาจจะพอเทียบเคียงกันได้เลย
สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักจุฬาราชมนตรี ออกมาจัดกิจกรรมสวมเสื้อสีเหลืองปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มองเรื่องนี้อย่างไร
เรารู้สึกผิดหวังต่อการเคลื่อนไหวล่าสุดของสำนักจุฬาราชมนตรีมาก สถาบันอย่างสำนักจุฬาราชมนตรีมันควรเป็นอิสระออกจากกลไกทางการเมือง เพราะอย่างน้อยๆ ถ้ามันอยู่นอกการเมือง องค์กรของมุสลิมก็จะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นที่จะโต้แย้งในบางประเด็นได้
แต่ถ้าองค์กรไปทำหน้าที่หนึ่งในลักษณะ ‘ลิ่วล้อ’ ของกระแสทางการเมือง อนาคตในการที่เราจะมีปากมีเสียงในการทัดทานประเด็นอื่นๆ มันอาจจะทำได้น้อยลงไป หรืออาจจะทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ คุณก็จะถูกฝ่ายอำนาจที่คุณไปเกาะกุมอยู่ คอยสั่งว่าอย่าแตกแถวนะ ถ้าแตกแถวก็จะไม่มีการอุปถัมภ์ต่อไป เพราะฉะนั้น ตอนนี้ มันคือสิ่งที่ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้แล้ว เพราะคุณยอมที่จะอยู่ภายใต้ระบบ กลไก ลิ่วล้อ หรือเกมทางการเมืองเหล่านี้ไปแล้ว
ส่วนในมุมมองอื่นๆ ต่อการเคลื่อนไหวของสำนักจุฬาราชมนตรีเนี่ย มันก็คือความพยายามของชนชั้นนำมุสลิม ที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ปลอดภัยต่อสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้ ก็เลยจำเป็นจะต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง เพื่อประกาศว่าตนเองยังคงอยู่ในแถว ทั้งๆ ที่ถ้าคุณมองในอีกแง่ว่า หากคุณไม่ไปเป็นลิ่วล้อให้เขาเนี่ย คุณอาจจะมีอำนาจมากพอจะไปคานอำนาจกับรัฐได้ และคุณจะมีเสรีภาพในการทำศาสนกิจในประเทศนี้ได้ดีกว่า เพราะไม่ว่าจะมีรัฐบาลไหนเข้ามา คุณก็จะสามารถพูดวิจารณ์รัฐบาลได้ถ้าทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนาของมุสลิม
มันก็มีหลายๆ คนที่มองว่าสถาบันทางศาสนาอย่างสำนักจุฬาราชมนตรีเนี่ย ก็ควรจะถูกปฏิรูปด้วย อย่างภาพที่เราเห็นๆ กันอยู่ เราไม่ได้ปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจ เพราะที่ผ่านมามันก็เป็นแบบนั้น การเติบโตและความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ทางการเมืองมันก็เกี่ยวเนื่องกันมาอยู่แล้ว แต่พอมันมาถึงยุคที่ความเป็นรัฐมันซับซ้อนขนาดนี้เนี่ย สิ่งที่องค์กรควรทำ คือการวางตัวเป็นกลาง ส่วนคุณจะไปอุปถัมภ์กันในเชิงของมิตรไมตรีอย่างไร ขอให้ทำในนามของส่วนบุคคลดีกว่า
ตอนนี้มีดีเบตเรื่องพระสงฆ์ออกมาทำกิจกรรมการเมืองได้ไหม แล้วในศาสนาอิสลาม นักบวชสามารถทำกิจกรรมการเมืองได้แค่ไหน
มันมีโต๊ะครูที่ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองมานานแล้ว อย่างในยุคของหะยีสุหลงที่เป็นผู้นำทางศาสนา เปิดโรงเรียนสอนศาสนา และพยายามพัฒนาภายใต้นโยบายการสร้างรัฐชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เข้ามากีดกันไม่ให้มุสลิมได้แต่งตัวอย่างที่พวกเขาเป็น หรือกีดกันอัตลักษณ์ของมุสลิมในพื้นที่
การเคลื่อนไหวแบบหะยีสุหลงน่าสนใจมาก เพราะมันคือการคานอำนาจระหว่างคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยกับอำนาจจากส่วนกลาง มันคือการทำงานในรูปแบบของการเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ชัดเจน หรือการที่ผู้นำทางศาสนาจะมีแนวคิดในทางการเมืองไปในอีกทางหนึ่งก็ทำได้เลย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ไม่ใช่การเอาองค์กรทางศาสนาไปประกาศชัดเจนว่าอยู่ข้างไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรทั้งหมดดูแย่ และทำให้คนที่เขาสังกัดอยู่ในองค์กร แต่มีความเห็นต่าง รู้สึกกระอักกระอ่วน หรือเกิดความรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อยากให้ทิ้งท้าย เรื่อง LGBTQ ในสังคมมุสลิม มีโอกาสจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ไหม
ในฐานะมนุษย์เนี่ย เราจะยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้หรือเปล่า สิ่งที่เขาควรจะได้รับ คือ การมองพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เห็นเขาเป็นบ่าวของพระเจ้าคนหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ คุณจะรักเขาในฐานะมนุษย์ได้หรือเปล่า ถ้าคุณรักเขาในฐานะมนุษย์ได้ มันก็โอเคแล้ว อย่าลืมว่า พระเจ้ามีความหมายอีกนัยหนึ่งก็คือ ‘ความเมตตา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มุสลิมท่องกันมาโดยตลอด ในตัวคัมภีร์เองก็มีการพูดถึงความเมตตากรุณาของพระเจ้าอยู่หลายโองการ
คำถามก็คือ มุสลิมเราจะเมตตาได้หรือเปล่า ทั้งๆ ที่พระเจ้าก็ทรงมีความเมตตา เราน่าจะเมตตากันได้ เพราะเราเชื่อลึกๆ ว่า เราเมตตากันได้นะ เราไม่จำเป็นจะต้องไปไล่เขาออกจากศาสนา ไล่เขาออกจากบ้าน ต้องทุบตีเขา ต้องปาหินใส่เขาให้ตาย ไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้ มันประนีประนอมกันได้หรือเปล่า ส่วนเรื่องเขาไปทำผิดกฎอะไร อย่างการผิดประเวณี ขอให้เป็นเรื่องในมุ้งได้ไหม มันไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะต้องไปเค้นถามว่า ‘พวกแกทำผิดหรือเปล่า’ อันนี้มันเกินไป คุณกำลังเข้าไปอยู่ในมุ้งของเขา เรื่องใต้หลังคาของใครก็ของเขา แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องที่เขาจะตกลงกันกับพระเจ้าเอง
ถ้าเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ได้ เราก็น่าจะได้คุยกันในประเด็นต่อๆ ไปได้อีก ตราบใดที่เราไม่มีการพูดคุยกันจริงๆ มันก็ยากที่จะก่อให้เกิดการยอมรับกัน