19 กันยายน 2549 รถถังเคลื่อนตัว ตรึงกำลังตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ ทักษิณ ชินวัตร
“ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” แถลงการณ์ คปค. ระบุ
“ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
จากวันนั้น – เป็นเวลา 18 ปีที่คณะทหารนำ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากอำนาจการบริหารประเทศ ด้วยวิธีการ ‘รัฐประหาร’ ที่หลายต่อหลายคนในขณะนั้นไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว
จนถึงวันนี้ – วันที่ชื่อของทักษิณกลับมาปรากฏอยู่บนหน้าข่าวการเมืองอย่างต่อเนื่อง
The MATTER ชวนทบทวนความทรงจำทางการเมืองไปพร้อมๆ กับ ประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) ที่ได้สัมผัสพัฒนาการทางการเมืองไทย ที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นตัวแปรสำคัญ นับตั้งแต่ที่เขาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย เป็นสื่อมวลชนใต้ร่มไอทีวี (iTV) และเอ็นบีที (NBT) มาจนถึงการเป็นผู้บริหารช่องวอยซ์ทีวี
การรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะนั้น คุณประทีปทำอะไรอยู่
ผมทำไอทีวี (iTV) ตอนนั้นก็เป็นบรรณาธิการข่าวประจำวัน ควบกับบรรณาธิการข่าวสังคม แต่วันรัฐประหาร ผมออกเวร ไม่ได้อยู่เวร ทางหัวหน้างาน เขาก็โทรมาตาม บอกว่า มันเกิดเหตุขึ้น
ช่วงนั้นเอาจริงๆ เราก็พอเห็นบรรยากาศ เพราะบรรยากาศทางการเมืองช่วงนั้นมันมีกลิ่น แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะเกิด ซึ่งมันก็เหลือเชื่อ
หลังจากที่ทางออฟฟิศเขาเรียกนักข่าวเข้าไป ก็ทำงานกันนั่นแหละ ปกติก็มีคนอยู่เวรอยู่แล้ว พอเข้าไปก็จะเจอสภาพทหารเข้ามาประจำการตามสถานีโทรทัศน์ อันนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นประเพณี เขาก็จะไปทุกสถานี ไปควบคุม แต่สื่อเอกชน หนังสือพิมพ์ ไม่มีนะ หลักๆ โดยปกติต้องไปคุมสถานีโทรทัศน์นี่แหละ เป็นหลักเลย หลังการรัฐปะหราร
19 กันยายน 2549 เห็นอะไรบ้าง จากมุมมองของสื่อมวลชน
วันนั้น นอกจากเห็นภาพที่เซอร์ไพรส์ คือมีการรัฐประหารแล้ว ที่ผมรู้สึกเซอร์ไพรส์ และเซอร์ไพรส์แบบผิดหวังนะ คือการเห็นคนจำนวนหนึ่งเอาดอกไม้ไปให้ทหาร เหมือนไปเแสดงความยินดี ที่ทหารออกมาทำรัฐประหาร
ในขณะเดียวกัน มันก็มีความเห็นของนักวิชาการ รวมทั้งชนชั้นนำ – ใช้คำว่าชนชั้นนำก็ได้นะ ไม่ต้องเอ่ยชื่อ – หลายคนตอนนั้นก็มีปฏิกิริยาที่ตอบรับ เหมือนกับว่าสนับสนุน หรือบางคนออกตัวว่าไม่สนับสนุน แต่การให้สัมภาษณ์ คำพูดอะไรทั้งหลาย คงเห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้
ซึ่งเอาจริงๆ ความเห็นผม ในฐานะเราเป็นสื่อ เรื่องรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลย ในระบอบประชาธิปไตย มันไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาแล้วในโลกนี้ที่เขายึดหลักการประชาธิปไตย แล้วยอมรับ รัฐประหาร ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า ถ้ารัฐประหารทำให้ประเทศชาติเจริญ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองได้จริง ประเทศอื่นเขาก็ทำกันหมดแล้ว แต่นี่เราก็จะเห็น มันจะมีเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศเอง ที่ใช้วิธีการนี้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ใน Top 10 ของประเทศที่เกิดรัฐประหารบ่อยที่สุดในโลก ถ้าเราดูตามสถิติที่ว่า
ขณะนั้นมีเงื่อนไขอะไร ทำไมตอนแรกถึงคิดว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยาก
เพราะรัฐประหารครั้งสุดท้ายก่อนปี 2549 คือรัฐประหารปี 2534 หลังรัฐประหารครั้งนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไม่รับบทบาททหาร บทบาททหารทางการเมืองตกต่ำลงไปเยอะในปี 2535 เพราะเกิดการใช้ความรุนแรงปราบประชาชน ชนชั้นกลางออกมาต้าน
ช่วงนั้น ผมก็เป็นนักข่าวอยู่แล้วนะ ก็ไปทำข่าวนี้ด้วยแหละ เรายังจำได้ว่า หลังจากจบเหตุการณ์ ทหารหลายคน เวลาจะเดินทางไปเข้ากรมกอง สมมติว่าเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะทั้งหลาย หรือกระทั่งขับรถไปเองช่วงนั้น ก็ยังจะหลีกเลี่ยงที่จะใส่เครื่องแบบ เพราะว่าภาพพจน์ของทหารในสายตาประชาชนช่วงนั้น ถูกแอนตี้มาก อารมณ์ที่อยากจะให้ทหารออกจากการเมืองช่วงนั้นพุ่งสูง ไม่ยอมรับเรื่องทหารมายุ่งเกี่ยวการเมือง มาทำรัฐประหาร
มันก็เลยทำให้ อารมณ์ของสังคม รวมทั้งตัวผมเอง บางทียังเคลิ้มเลยนะว่า นั่นน่าจะเป็นรัฐประหาร ครั้งสุดท้ายในเมืองไทยแล้ว
ยิ่งประกอบช่วงหลัง เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ช่วยทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง และมันก็นำมาสู่การได้รัฐบาลไทยรักไทย ที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ รัฐบาลชุดนี้ยิ่งมีความเข้มแข็งทั้งจากกลไกของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้ รวมทั้งจากคะแนนเสียงที่เขาได้รับ ทำให้เขามีฉันทามติสูงในการที่จะขับเคลื่อนนโยบาย บวกกับนโยบายที่เขาทำ พูดแล้วทำได้จริง หลายเรื่องทำได้จริง
ดังนั้น ช่วงนั้น ยิ่งทำให้คนเชื่อว่า รัฐประหารแทบจะไม่น่าเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย
แต่แล้วมันนำมาสู่โอกาสในการรัฐประหารได้อย่างไร
ความเห็นผมนะ มันเป็นเพราะว่า ความเข้มแข็งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่ว่า และความเข้มแข็งของคุณทักษิณ ทำประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ก็จริง แต่มันไปสั่นคลอนเสถียรภาพของชนชั้นนำ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางสังคม เสถียรภาพทางชนชั้น
ตรงนี้ บางที ผมว่า ชนชั้นนำเขาคิดมากไปว่า ความเข้มแข็งเหล่านี้มันมาสั่นคลอน กระทบกับสถานะที่เขาดำรงอยู่ มันก็เลยเกิดความไม่ไว้วางใจกับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้
เดิม อำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการมันก็ควรเป็นของประชาชนนั่นแหละ แต่ผมคิดว่า ความเชื่อของชนชั้นนำไทย เขาคิดว่า อำนาจสูงสุดตามระบอบประชาธิปไตยเป็นของ ประชาชนเฉพาะวันเวลาที่คุณเลือกตั้ง ที่เขาเรียก ‘ประชาธิปไตย 4 วินาที’ แต่หลังจากนั้น การจัดการอะไรหลายอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมชี้นำของกลุ่มชนชั้นนำ
ทีนี้ พอเรื่องตรงนี้มากระทบกับเขา มันถึงนำไปสู่สิ่งที่ผมอยากจะใช้คำว่าทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดด้วยซ้ำไปนะ คือมันไม่ได้เกิดแบบไม่วางแผน ผมคิดว่า จะทำรัฐประหารใหญ่ขนาดนี้ มันต้องมีการสมรู้ร่วมคิดนั่นแหละ มีการวางแผน และถ้าเราไปดู ย้อนดูประวัติศาสตร์ ก็จะมีคนออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า มันมีการหารืออะไรกันยังไงบ้าง
อะไรคือมรดกจากการรัฐประหาร 2549
ผมคิดว่ามันมีอยู่ 3 เรื่องสำคัญ ที่เป็นมรดกตกค้างจากรัฐประหาร 2549
ประการที่หนึ่ง ‘ตุลาการภิวัตน์’
ตอนช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่ มันก็มีหลายเหตุการณ์ แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งก็คือ ตอนที่คุณทักษิณตัดสินใจยุบสภาฯ หลังจากถูกกดดันด้วยม็อบ ด้วยบรรยากาศทั้งหลาย พอถึงวันเลือกตั้งใหม่ 2 เมษายน 2549 ก็ปรากฏว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกสั่งให้เป็นโมฆะอีก มีข้อกล่าวหาหนึ่งซึ่งทุกคนก็ยังขำอยู่ หันคูหาเลือกตั้งออก หรือหันก้นออก ทำให้ไม่โปร่งใส
อันนี้ก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัตน์ คือศาลลงมายุ่งเกี่ยวกับการจัดการทางการเมือง และเราก็จะเห็นว่า ตั้งแต่ครั้งนั้นก็จะมีมาเรื่อยๆ ใช้การยุบพรรคบ้าง อันนี้เราก็เห็นมาเป็นสเต็ป ตัดสิทธินักการเมือง
มรดกนี้ก็เลยกลายเป็น 2 ไม้ตาย เมื่อชนชั้นนำคิดจะจัดการกับรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นที่ประสงค์ของชนชั้นนำ ไม้ตายเดิมก็คือการทำรัฐประหาร อย่างที่สอง เขาเพิ่งคิดค้นสูตรสำเร็จ ก็คือใช้ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งก็ได้ผลมาเรื่อยๆ อย่างที่เราเห็น
ประการที่สอง ในแง่ของมรดกรัฐประหาร ทำให้บทบาทของทหารยังดำรงอยู่กับการเมืองไทยสูง
ทหารคิดว่าเขาเป็นเหมือนฮีโร่ทางการเมือง เมื่อเกิดวิกฤตทั้งหลาย ทหารจะต้องเป็นคนที่มีบทบาทออกมาจัดการ ซึ่งก็คือใช้กลไกรัฐประหารอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้น ทหารยังมีความคิดเรื่องนี้อยู่ และบทบาททหารก็สูงขึ้น ทหารยังคงเป็นตัวละครสำคัญในทางการเมือง ทหารยังไม่ปลอดจากการเมือง
ประการที่สาม คือ การอ้างคำว่า ‘จริยธรรม’
ปี 2549 เป็นครั้งแรกที่ในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารระบุชัดเจนว่า เหตุผลในการรัฐประหาร ส่วนหนึ่งคือ ผู้นำขณะนั้นไม่มีจริยธรรม
และมันก็สืบเนื่องมาจนถึงกรณีล่าสุด การเมืองไทยทุกวันนี้ที่เป็นประเด็นกันอยู่ คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ตกเพราะทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ประเด็นจริยธรรมทั้งหลายก็ถูกนำมาเล่นงาน เพราะมันอยู่ในกฎหมาย อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คำว่า ‘จริยธรรม’ ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือที่เอามาใช้เล่นงานกันทางการเมืองผ่านศาล
ซึ่งเอาจริงๆ ความเห็นผม เรื่องจริยธรรมไม่ควรจะมาใช้ในการตัดสินเพื่อลงโทษหรือตัดสิทธิใคร นักการเมืองมาจากประชาชน ต้องใช้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าผิดกฎหมายเรื่องอื่นๆ เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ก็ว่ากันไป
เมื่อสักครู่ คุณบอกว่ารู้สึกเซอร์ไพรส์แบบผิดหวังกับการรัฐประหาร 2549 หากเทียบกับการรัฐประหาร 2557 ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร
ปี 2557 ไม่เหนือความคาดหมายมาก ปี 2549 เหนือความคาดหมายมากเพราะมันทิ้งช่วงมานาน และอย่างที่บอกว่า ระบบรัฐสภาเข้มแข็งแล้ว แต่ปี 2557 มันมีความพยายามจุดประเด็นกันมาเรื่อยๆ
ตั้งแต่ปี 2549 ก็คือจุดเริ่มต้นของการที่จะทำลายล้าง ‘ระบอบทักษิณ’ และ ‘ผีทักษิณ’ นี่แหละ มันก็เลยมีมาเป็นระยะ
คำว่า ‘ผีทักษิณ’ เป็นภัยคุกคามเดิมของชนชั้นนำ แต่ในสายตาของประชาชน คุณทักษิณไม่ใช่ผี คุณทักษิณเป็นเทพเจ้านะ โดยเฉพาะชนชั้นล่าง คนรากหญ้า จะพูดว่าเป็นเทพเจ้าก็ไม่เกินเลย ในความเห็นผมนะ เพราะคุณทักษิณก็ทำนโยบายหลายเรื่องซึ่งมันฟื้นฟูชีวิต ให้ประโยชน์กับชีวิตเขา ให้เขาลืมตาอ้าปากได้ มีโอกาส
แต่พอเป็นอย่างนี้ คุณทักษิณยังชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ ความพยายามในการกำจัดคุณทักษิณและผีทักษิณ เอาตรงๆ มันก็ยังไม่สำเร็จ และมันก็เลยนำมาสู่รัฐประหารปี 2557 อีกรอบ
ตอนแรก พอเกิดรัฐประหารปี 2549 ทุกคนเขาวิจารณ์กันเยอะ เพราะคุณทักษิณก็ยังกลับมาชนะ ด้วยพรรคพลังประชาชน คนในกลุ่มชนชั้นนำที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เขาก็พูดว่ารัฐประหาร 2549 มันเป็น ‘รัฐประหารเสียของ’ เพราะว่าในที่สุด คุณก็กำจัดทักษิณไม่สำเร็จ ทักษิณก็ยังกลับมาชนะอีกเมื่อคุณเปิดให้เลือกตั้ง มันเลยถูกคิดคำนวณ สร้างทฤษฎีสมคบคิด และวางแผนการกันมาเรื่อยๆ จนนำมาสู่การรัฐประหารปี 2557
ฉะนั้น ถามว่าเซอร์ไพรส์ไหม ไม่ค่อยเซอร์ไพรส์ แต่ถามว่ายังผิดหวังไหม ก็ผิดหวัง เพราะผมเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องรัฐประหารอยู่แล้ว เราไม่เชื่อว่า รัฐประหารคือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองสำหรับระบอบ ประชาธิปไตย แต่ไม่เซอร์ไพรส์มาก เพราะว่ามันมีสัญญาณมาเป็นระยะ
การรัฐประหาร 2549 มีเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่คนอาจจะหลงลืมไปแล้วว่าเกี่ยวข้องกัน คือกรณีของคุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ กรณีนี้มีความหมายอย่างไรในขณะนั้น
อันนี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญ เหตุการณ์ของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แต่ผมอยากพูดรวมๆ เลย คือปี 2549 เป็นรัฐประหารที่เริ่มมีประชาชนที่กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหวแบบเปิดเผย ว่าเขาไม่เห็นด้วย เขาต่อต้านการรัฐประหาร
ที่ผ่านมา ก็ย้อนไปดู รัฐประหารปี 2534 หรือไปไกลกว่านั้นกระแสต้านจากประชาชนทั่วๆ ไป จะไม่ค่อยมี เพราะประชาชนยังไม่รู้สึกขนาดนั้น เราเห็นรัฐประหาร ก็ปล่อยให้ทำๆ กันไป ยังไม่ค่อยมีมวลชนออกมาประกาศตัวต่อต้าน
แต่กรณีของลุงนวมทองเป็นกรณีที่ทุกคนจดจำ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน เพราะว่าลุงนวมทองถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก
รอบแรก ลุงนวมทองแค่ขับรถแท็กซี่ไปชนรถถัง แต่ตอนนั้นยังไม่เสียชีวิต ประเด็นอยู่ตรงที่พอเกิดเหตุการณ์ขับแท็กซี่ชนรถถัง พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะรัฐประหาร คปค. พูดในเชิงหมิ่นว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” คำพูดนี้กลายเป็นคำพูดที่เป็นตราบาปของนายพันคนนี้เลยนะ ทำให้ลุงนวมทองต้องการพิสูจน์ให้เห็นไงว่า คำพูดของนายพันคนนี้ไม่จริง ยังมีคนที่เชื่อในเรื่องอุดมการณ์ ที่พร้อมจะพลีชีพ
พูดถึงคุณทักษิณเอง เข้าใจว่าคุณประทีปทำงานที่เกี่ยวข้องกันมามากพอสมควร
กับคุณทักษิณ เริ่มจากทำพรรคไทยรักไทย เดิมผมก็เป็นสื่อ จบสื่อสารมวลชน ก็ทำอาชีพนักข่าวมาตลอด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ออกจากอาชีพนักข่าว และกลายมาเป็นทำงานการเมืองช่วงนั้น เพราะหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธุรกิจสื่อก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ องค์กรสื่อที่ผมทำล้มละลาย ปิดกิจการ เราก็ต้องหางานใหม่
ก็เผอิญมีพี่ที่รู้จักที่ทำงานกับคุณทักษิณ เขาก็พูดเรื่องคุณทักษิณ จะตั้งพรรคใหม่ชื่อ ‘ไทยรักไทย’ ก็เลยชวนเราเข้ามาทำงานกองโฆษก บทบาทก็จะคล้ายๆ PR ขององค์กรภาคเอกชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวข้อง และจะพูดว่าเป็นลูกจ้างคุณทักษิณก็ได้ วันที่ผมมาทำก็คือวันจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ 14 กรกฎาคม 2541
แต่เดิม สมัยตอนผมทำข่าว ทำข่าวเศรษฐกิจธุรกิจเป็นหลัก ตอนแรกๆ เราก็รู้จักคุณทักษิณในบทบาทของนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ตอนนั้นเขาดังมากนะ คุณทักษิณกำลังเป็นนักธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง กลุ่มนักคิดนักเขียนชื่นชมกัน เรียกเป็น ‘อัศวินคลื่นลูกที่สาม’ เพราะแกทำธุรกิจที่มันกำลังก้าวไปกับเทคโนโลยี ส่วนตัวเราก็ชื่นชมอยู่แล้ว ด้วยจังหวะทั้งเราหางานใหม่ด้วย ดังนั้น เราก็ไม่ลังเล เราก็ยินดีที่จะไปร่วมงาน
ทีนี้พอทำจนชนะเลือกตั้ง ก็เป็นรัฐบาล พอเป็นรัฐบาล ผมก็ออกจากสถานะเป็นพนักงานพรรค ก็ไปทำงานกับ หมอเลี้ยบ—สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตอนนั้นแกดูโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราก็ไปช่วยงานเรื่องนี้แหละ ไปอยู่กับหมอเลี้ยบเกือบ 2 ปี ก็ตัดสินใจกลับเข้าวงการ เพราะคิดว่าตัวเองพอแล้วกับการทำงานการเมืองมาสักเกือบ 5 ปี เราก็เลยเข้ามาทำไอทีวี
ซึ่งก็ยังอยู่ในอาณาจักรของคุณทักษิณ ทำไอทีวีได้สัก 2-3 ปี ก็เกิดรัฐประหารปี 2549 ทำให้ไอทีวีจอดำ เพราะมีการยึดคืนสัมปทาน ออกจากไอทีวี ไปทำเอ็นบีที (NBT) ก็ยังหนีไม่พ้นจากแวดวงคุณทักษิณอีกนะ คือคุณทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็จริง แต่ตอนที่ไปเอ็นบีที คนที่ผลักดันให้เราเข้าไป ก็เป็นนักการเมืองในสังกัดของคุณทักษิณนั่นแหละ
จนสุดท้าย คุณทักษิณตัดสินใจตั้งวอยซ์ทีวี (Voice TV) อันนี้ก็ยิ่งมาเต็มตัวเลย พอคุณทักษิณทำวอยซ์ทีวี เราก็ได้รับการติดต่อให้เข้ามาช่วยทำตั้งแต่แรกเหมือนกัน
ชีวิตเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาที่วอยซ์ ด้วยหน้าที่-ประสบการณ์เรามากขึ้น เราก็กลายเป็นผู้บริหารช่อง ดังนั้น โอกาสในการรับนโยบายโดยตรง หรือมีโอกาสประชุมกับคุณทักษิณ คือช่วงนี้แหละ ตอนวอยซ์ก็เป็นช่วงที่มีโอกาสได้รับฟังความเห็น หรือร่วมประชุมบ้าง แต่ก็ไม่บ่อย เพราะช่วงนั้นคุณทักษิณเขาอยู่ต่างประเทศไง เขาไม่ได้อยู่เมืองไทย
เรียกได้ว่าครึ่งค่อนชีวิตการทำงานมีความเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ – จากระยะเวลานี้ พอจะเห็นวิธีการทำงาน หรือวิสัยทัศน์ของคุณทักษิณอย่างไรบ้าง ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์การเมืองปัจจุบันได้
ถ้าในทางการเมือง ผมคิดว่า คุณทักษิณเป็นคนเชื่อเรื่อง ‘เศรษฐกิจนำการเมือง’ เชื่อเรื่องปากท้อง เพราะคุณทักษิณเขาทำสำเร็จมาแล้วไง สร้างประชาธิปไตยกินได้ เชื่อเรื่องการทำเศรษฐกิจให้แข็งแรง และจะนำไปสู่การกระจายโอกาส กระจายความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน และทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง
แต่ผมจะบอกว่า จริงๆ ตอนที่ไทยรักไทยและคุณทักษิณทำในตอนแรก มันเป็นแนวคิดการปฏิรูปการเมืองด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ใช้คำนี้เวลาคิดคำเพื่อให้เป็นคำขวัญ (motto) และสร้างความเชื่อมั่น เรียกความเชื่อมั่นจากคน
คุณทักษิณใช้คำว่า ‘คิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน’ หรือ ‘พรรคไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน’ จริงๆ ความหมายมันคล้ายๆ กัน มันก็เหมือนการปฏิรูปนั่นแหละ และพอเราลงไปดูในแง่ของแนวคิดนโยบายที่เขาทำ มันก็คือการปฏิรูปจริงๆ แต่เขาไม่ได้พูดตรงๆ เท่านั้นเอง การทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ของประเทศ อันนี้เเป็นตัวอย่างชัดเจนมากว่า จริงๆ พรรคไทยรักไทย และคุณทักษิณเดิม คือคนที่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปมาก่อนด้วยซ้ำไป
พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ตอนนี้มีภาพจำว่าเป็นพรรคนักปฏิรูป เอาจริงๆ คุณทักษิณและไทยรักไทย เคยมีภาพเรื่องพวกนี้มาก่อน เพียงแต่ว่าตอนนี้ เขาเปลี่ยนไปอีกแบบเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
อีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณทักษิณเอา ‘เป้าหมาย’ เป็นหลัก หมายถึงว่า เวลตั้งเป้าหมายไว้แล้ว การจะไปถึงเป้าหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องเดินตรง มันมีวิธีการอะไรที่ไปได้ถึงเป้าหมายได้ คุณทักษิณเขาพร้อมที่จะทำ ดังนั้น เป็นนักการเมืองหรือนักธุรกิจที่วางว่าเป้าหมายคือสิ่งสำคัญ คุณทำยังไงก็ได้ ให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้กติกาและกฎหมายอยู่นะ แต่จะซิกแซกยังไงก็ได้ อย่าให้ผิดกติกาและกฎหมาย
ผมคิดว่า อันนี้เป็นวิธีคิดของคุณทักษิณ ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ตั้งแต่สมัยไทยรักไทยจนถึงทุกวันนี้ ที่เปลี่ยนคือในเชิงของจุดยืนทางการเมือง ภาพของไทยรักไทยและคุณทักษิณสมัยแรก มันคือภาพของพรรคเสรีนิยม จนถึงการเลือกตั้งปี 2566 ที่ประชาชนต้องการความชัดเจนในเรื่องจุดยืนทางการเมือง ไม่ใช่แค่ความชัดเจนในนโยบาย ภาพของเพื่อไทยและคุณทักษิณตอนนั้นยังมีภาพแบบเสรีนิยมอยู่
แต่พอผลเลือกตั้งออกมา กลายเป็นว่า ความคาดหวังที่ประชาชนต้องการให้รวมอยู่ในฝ่ายเสรีนิยมด้วยกัน มันล้มเหลว พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคซึ่นมีภาพความเป็นอนุรักษนิยมจารีตชัดมาก พรรคอย่างรวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชาชาติ ดังนั้น พอข้ามไปอย่างนี้ คนที่เคยมีภาพจำและชื่นชมกับความเป็นเสรีนิยมเดิม เขาถึงผิดหวัง
เทียบกับรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากใช้วาทะของฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คือการนำ ‘ระบอบทักษิณ’ ออกจากการเมือง แต่ ณ วันนี้ โจทย์ของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
โจทย์เปลี่ยนใหม่ เหมือนที่ฝ่ายเขา คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่เป็นคนใช้คำนี้ เขาบอกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็คือ กปปส. เดิมด้วย ที่เข้ามาร่วมกับทางฝั่งนี้ เขาไม่ได้ลืมที่เขาเคยต่อสู้กับระบอบทักษิณมา แต่มันจำเป็นต้องเลือก เพราะมันเป็นการต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่ (หัวเราะ) อันนี้ผมจำได้เลย เขาใช้คำนี้ ‘ภัยคุกคามใหม่’
เลยกลายเป็นว่า ที่คุณสู้กันมาทั้งหมด ฝ่ายที่ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2549 จนมาถึงล่าสุด คุณผนึกรวมกัน กลายเป็นพวกเดียวกันไปเลย เพราะคุณบอกว่า ประเทศกำลังมีภัยคุกคามใหม่
และภัยคุกคามใหม่นั้น มองว่ามันร้ายแรงกว่าผีทักษิณและระบอบทักษิณ คุณก็เลยจำเป็นต้องจับมือกันในกลุ่มที่เคยรบรากันมา เพื่อสู้กับผีตัวใหม่ ที่คุณมองว่ามันร้ายแรงกว่า
ในขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นกระแสต่อต้านทักษิณกลับมาอยู่บ้าง ทำอย่างไรเราถึงจะไม่กลับไปจุดที่จะมี รัฐประหารอีกในอนาคต
มันยากนะ คนที่จะรัฐประหารได้ ต้องมีอาวุธในมือ ก็คือทหาร ทหารเขายังมีความเชื่อ เหมือนที่พูดตอนต้น ว่าเขาคือทางออก เมื่อบ้านเมืองถึงจุดวิกฤต ทหารคือคนที่จะมาแก้ไขปัญหา ทางตัน ให้กับประเทศ ความคิดนี้ยังดำรงอยู่ ไม่ใช่เฉพาะทหาร ชนชั้นนำ ทั้งชนชั้นนำทางสังคมภาคธุรกิจ กระทั่งถึงชนชั้นนำในคราบนักวิชาการ บางคนก็ยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่ว่า รัฐประหารยังเป็นเหมือนทางออกสุดท้ายสำหรับกรณีที่เกิดวิกฤตทางการเมืองไทย
ดังนั้น ถ้าชนชั้นนำมองเห็นว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตามไปสั่นคลอน หรือจะทำให้สถานภาพอะไรบางอย่างของเขาเปลี่ยนแปลง แย่ลง มันก็จะยังมีความคิดนี้วนเวียนเข้ามา
ที่บอกว่ามันแก้ยาก มันต้องแก้มายด์เซ็ตของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะทหาร ต้องเชื่อว่า ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ให้คุณทำรัฐประหาร ไม่มีเงื่อนไขหรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นในการทำรัฐประหาร ถ้าคุณยังเชื่อในเรื่องของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะในระบบของมัน มีทางออกเสมอ มันมีกลไกทางออก ไม่มีข้ออ้างใดๆ เลยว่าถึงทางตัน มันเป็นแค่ข้ออ้างที่เขาต้องการจะทำเท่านั้นเอง
แต่ผมก็คิดว่า ความคิดแบบนี้น้อยลงพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น ในรอบหน้า สมมติถ้าเกิดมีสถานการณ์ที่นำไปสู่การทำรัฐประหารอีก มันอาจจะจบไม่เหมือนเดิมก็ได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างทางการเมือง และความคิด มายด์เซ็ตของคน ผมคิดว่า เขาตื่นรู้ขึ้นมาเยอะแล้ว
อันนี้เป็นความหวังว่า ในที่สุด ก็ไม่อยากให้เกิด แต่ถ้าเกิดแล้ว ก็คาดหวังว่าจะไม่จบแบบเดิม