อีกเพียงไม่กี่วันเราจะเริ่มต้นปีใหม่ เป็นอีกครั้งแล้วหรือเปล่าที่เราจะมองไปข้างหน้าเพื่อสร้าง New Year’s Resolutions?
จะลดน้ำหนักให้เหลือ 40 กิโลกรัม จะอ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อยเดือนละเล่ม จะจำกัดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียให้เหลือวันละกี่ชั่วโมง ฯลฯ ผลออกมาเป็นยังไงบ้าง? เชื่อว่ามีคนจำนวนหนึ่งทำปณิธานปีใหม่สำเร็จสักข้อสองข้อ แต่สำหรับคนที่ไม่สำเร็จมันล่ะ? จากสถิติแล้วราวๆ 88% ของคนที่ตั้งปณิธานปีใหม่ทำมันไม่สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 19% เท่านั้นที่ทำมันได้เกินเดือนมกราคม
แต่ทำไมมันเป็นอย่างนั้น? ทั้งๆ ที่เราเองก็มีความชัดเจนในเป้าหมาย พร้อมความพยายามที่แรงกล้าในการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตตัวเองทำไมเราถึงไม่อาจไปต่อกับมันได้เกินเดือนเดียว? หรือว่าโมเดลการตั้งปณิธานปีใหม่นี้จะไม่เวิร์คสำหรับเรา? ลองไปดูเหตุผลที่มันไม่สำเร็จ และทางเลือกอื่นๆ ในการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของเราในรูปแบบการตั้ง Theme of the year กัน
ปัญหาของ New year’s resolutions
เมื่อเรามองลิสต์ของปณิธานปีใหม่ที่เราตั้งเอาไว้เขินๆ แล้วลองดูว่ามีอันไหนที่เราทำได้หรือไม่ได้ สิ่งแรกที่เราจะคิดก่อนเลยคือ ‘ปีหน้าเอาใหม่ แค่ต้องพยายามมากกว่านี้’ หรือไม่ก็ ‘แย่จัง ทำไมฉันล้มเหลวอีกแล้ว เพราะพยายามไม่พอรึเปล่า?’ ความพยายามเป็นสิ่งแรกที่เราจะคิดถึงเมื่อเป้าหมายส่วนตัวของเราไม่เป็นไปดั่งหวัง เพราะว่ามันจะมีอะไรให้โทษอีกล่ะจริงไหม? ธรรมชาติของปณิธานปีใหม่มันคือการตั้งเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน แค่เราต้องพาตัวเองไปให้ถึงเป้านั้นๆ ให้ได้ จริงรึเปล่า?
อาจจะไม่ทั้งหมด ความพยายามเป็นเพียงส่วนเดียวในสมการเท่านั้น ไม่ใช่ตัวร้าย
การลองคำนึงถึงธรรมชาติของปณิธานปีใหม่ให้เหลือเพียงลักษณะพื้นฐานของมัน มันชัดเจน มันไม่ยืดหยุ่น และมันพูดถึงปลายทาง ทุกอย่างที่ไม่ไปด้วยกันกับการวางแผนระยะยาว เพราะในขณะที่เราสามารถเขียนความต้องการและวาดเส้นทางสู่ความสำเร็จของเราไว้บนกระดาษได้ มีกี่ครั้งกันที่เราวางแผนชัดเจนลงบนหน้ากระดาษแล้วไม่ต้องปรับแปลงอะไรเลยเมื่อเราเริ่มทำมันจริงๆ? มีใครเคยคิดว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเวิร์คบ้าง?
ความชัดเจนในเป้าหมายและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องดีในแง่การที่ได้ไตร่ตรองเส้นทางเดินของเรา กระทั่งดีในแง่การวางแผนระยะสั้น แต่การวางแผนระยะยาวด้วยความคับแคบนั้นแทบจะเรียกได้ว่าถูกสาปให้ล้มเหลวมาตั้งแต่วางแผนแล้วได้เลย แล้วอะไรจะเรียกว่าเป็นการวางแผนระยะยาวของเราได้มากเท่าการตั้งเป้าหมายของเราตอนต้นปี ที่เรารู้สึกต้องไปให้ถึงให้ได้เมื่อจบปี?
และความรู้สึกตัวเองล้มเหลวนั้นไม่ใช่อะไรที่เราจะสะบัดทิ้งได้ทันที และมันสร้างอุปสรรคต่อการไปข้างหน้าของเราได้มากกว่าที่คิด เพราะนอกจากมันจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว จากการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับผลของการล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายโดยนีล โจนส์ (Neil Jones) นักวิจัยแผนกจิตเวช มหาวิทยาลัยการแพทย์พิตต์สเบิร์ก เล่าว่าความล้มเหลวอาจทำให้เกิดการ Ruminate หรือการตรึกตรองซ้ำไปซ้ำมาในแง่ลบเกี่ยวกับความล้มเหลวในอดีตได้
พูดรวมๆ คือการตั้งปณิธานปีใหม่นั้น ถ้าหากสำเร็จก็สำเร็จ แต่หากล้มเหลวมันมีโอกาสที่จะพาเราไปสู่การย่ำอยู่กับอดีตได้สูงมากๆ และเราไม่ต้องการอย่างนั้นจากกิจกรรมที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นของเราจริงไหม?
Theme of the year คืออะไร?
อย่างนั้นแล้วทางออกของการวางแพลนชีวิตเราในแต่ละปีจะเป็นอะไรได้? จริงๆ แล้วสำหรับแต่ละคนคงมีคำตอบที่ต่างกันออกไป แต่หนึ่งในสิ่งที่เราทำได้คือการกำหนด Theme of the year หรือธีมประจำปี โดยธีมประจำปีคือการกำหนดแผนหลวมๆ ในการชีวิตในรอบปีที่กว้างขวางและยืดหยุ่นด้วยจุดประสงค์เพื่อการทดลองใช้ชีวิตในแบบที่ไม่เคยใช้ หรือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
อธิบายแบบนี้อาจไม่เห็นภาพ ฉะนั้นหากจะให้ยกตัวอย่างการตั้งธีมประจำปีเช่น ปีแห่งสุขภาพ ปีแห่งการอ่าน ปีแห่งการความสงบ มองผ่านๆ อาจดูแปลกๆ เพราะมันดูไม่ชัดเจนและลอยมากๆ ในฐานะการวางแผน แต่ความไม่ชัดเจนนั่นเองคือจุดประสงค์ของมัน และการสร้างธีมไม่ใช่การวางแผน ความไม่ชัดเจนและความยืดหยุ่นเปิดโอกาสให้เราได้ตีความว่า ธีมของเราหมายความว่าอะไรในช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตในปีนั้นๆ ความไม่ล้มเหลวจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ปีแห่งสุขภาพอาจจะแปลว่าเรากินอาหารดีขึ้น เลิกสูบบุหรี่ได้ ออกกำลังกายมากขึ้น หรือปีแห่งการอ่านอาจจะแปลว่าเราฟังออดิโอ้บุ๊คหรืออ่านบทความเยอะขึ้น
อาจฟังดูเป็นการปลอบใจตัวเอง แต่ถ้ามันนำไปสู่ชีวิตที่ตัวเราเองชอบมากกว่าเราในปีที่แล้วแม้แต่นิดเดียว โดยไม่ต้องเสี่ยงคิดว่าจะล้มเหลว มันก็น่าจะเรียกว่าเป็นความสำเร็จหรือเปล่า?
โดยการสร้างธีมที่ได้ประโยชน์นั้นต้องอาศัยการมองเข้าไปข้างในตัวเราและการกระทำของเราที่ผ่านมา อะไรที่เราถนัดที่จะทำ อะไรที่ทำให้เรามีความสุข อะไรที่เป็นคอมฟอร์ตโซนของเรา เราพอใจให้มันเป็นคอมฟอร์ตโซนของเราขนาดไหน มีอะไรไหมที่เราอยากทำแต่ไม่ได้มันมากพอ มีอะไรที่เราทำมันบ่อยเกินไปแต่ไม่เคยชอบมันหรือเปล่า ฯลฯ คำถามเหล่านี้และอีกมากมายสามารถวาดภาพอดีตและปัจจุบันของเราให้ชัดเจน และเมื่อมันชัดแล้วเราจึงมองไปยังอนาคตได้
อย่าพยายามบังคับในสิ่งที่บังคับไม่ได้
แม้ปลายทางของปณิธานปีใหม่และธีมประจำปีจะเป็นอย่างเดียวกันนั่นคือการนำพาเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต หน้าที่และการทำงานของมันแตกต่างกัน โดยในขณะที่ ปณิธานปีใหม่ทำหน้าที่เป็นข้อบังคับกลายๆ ธีมแห่งปีทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดปี ว่าเมื่อต้นปีเราอยากทำอะไรให้ไม่เหมือนเดิมบ้าง เรียกง่ายๆ ว่าธีมไม่ใช่การกำหนดเส้นทางเดินของเรา แต่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่คอยสะกิดว่านอกจากทิศทางที่เราเดินไปทุกๆ วันนั้นมีทางแยกที่เราไม่เคยเห็นอยู่ด้วย และมันโอเคที่จะเลือกเดินหรือไม่เดินไปทางนั้น
สมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมได้อย่างกะทันหัน แต่เราจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะเมื่อเราพร้อม การตั้งความต้องการเป็นข้อๆ เพื่อบังคับตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในทันทีนั้นอาจไม่ใช่ทางที่ได้ผลที่สุด แต่การสร้างธีมสามารถเปิดช่องทางการครุ่นคิดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับฝีก้าวของเราที่เราเดิน เราชอบที่ที่เราอยู่หรือเปล่า? ทางที่เราเดินตรงกับสิ่งที่เราตั้งใจขนาดไหน? ถ้าไม่ตรงเราชอบมันมากกว่าเดิมหรือเปล่า? และการค่อยๆ ไตร่ตรองถึงวิธีการคิดและการเดินของเรานำไปสู่การเตรียมพร้อม และการเตรียมพร้อมสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้
เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านปีที่แผนของคนทั้งโลกพังลงไม่เป็นท่า เราเหมือนได้รับบทเรียนเกี่ยวกับการวางและไม่วางแผน การปล่อยวาง การเลือกตัวเองเหนือทุกอย่าง เราเหมือนได้รับบทเรียนสำคัญว่าการไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของเราในบางห้วงเวลาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพยายามหรือไม่พยายามของเรา แต่เป็นปัจจัยนับล้านที่เราไม่สามารถคาดเดา หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะคนคนเดียว
เช่นนั้นการเติบโตที่ช้าๆ แต่สม่ำเสมอ ที่เปิดช่องทางให้เราคิดถึงก้าวเดินของเราไปเรื่อยๆ อาจจะเหมาะดีกับบรรยากาศของโลกก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก