“เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นเกษตรกร ก็จากการลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com นี่แหล่ะ” ฮ่า ฮ่า ฮ่า
ประโยคข้างต้นอาจเป็นโจ๊กขำๆ ที่หลายคนพูดอำกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มันกลายเป็น ‘ตลกร้าย’ สำหรับคนที่เดือดร้อนจริงๆ จากมาตรการของรัฐที่สั่งปิดกิจการจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จนเงินชดเชยเยียวยาเพียงเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือน ก็มีความหมายในการ ‘ต่อชีวิต’ ของพวกเขามากๆ
เห็นได้จากการที่คนกลุ่มหนึ่งไปประท้วงที่กระทรวงการคลัง บางคนร้องห่มร้องไห้ ที่ลงทะเบียนขอเงินดังกล่าวไม่ผ่าน
จากมาตรการที่ควรออกมาเพื่อเช็คน้ำตาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เหตุใดจึงสร้างความทุกข์ยากเพิ่มเติมให้กับผู้ที่เจ็บช้ำอยู่แล้วได้ ?
..บ้างว่าเกิดจากผู้เกี่ยวข้องวางกติกาไม่ชัดเจน จนมีคนมาลงทะเบียนกว่า 28 ล้านคน แต่ให้เงินได้เพียง 9 ล้านคน
..บ้างว่าเกิดจากข้อมูลที่ภาครัฐนำมาใช้คัดกรองไม่สมบูรณ์ จนหลายคนถูกผลักให้เป็นเจ้าของกิจการ นักศึกษา เกษตรกร ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้เป็น
..บ้างว่ารัฐบาลเจียดเงินมาช่วยเหลือประชาชนเพียงน้อยนิด ไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ไม่กี่วันก่อน อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 คน จึงออกมาเสนอมาตรการเยียวยาที่จะสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมกว่ามาตรการแจกเงิน 5,000 บาท
นั่นคือการแจกเงิน 3,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุเกินสิบแปดปีขึ้นไปทุกคน (เพื่อไม่ให้เสียเวลากับวิธีการคัดกรอง) ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งมีกลไกอื่นในการช่วยเหลืออยู่แล้ว และใครที่คิดว่าตัวเองไม่เดือดร้อนก็สามารถสละสิทธิ์ได้ คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้กว่า 37 ล้านคน ประมาณการณ์ว่าจะใช้งบประมาณราว 3.3 แสนล้านบาท
แต่แทนที่จะรับข้อเสนอที่น่าสนใจนี้เอาไปพิจารณา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กลับออกสวนทันควันว่า “ถ้าจะแจกเงินให้ทุกคน ก็ต้องกู้ยันตาย”
นั่นแปลว่า รัฐบาลยังยึดมั่นกับการแจกเงิน 5,000 บาท ผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ และต้องรอลุ้นให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ที่ทุกๆ คนเห็นแล้วว่ามีปัญหาต่อไป
แจกเงิน 5,000 บาท นโยบายที่คิดไม่จบมาแต่แรก
ชัดเจนว่า มาตรการแจกเงิน 5,000 บาท เป็นมาตรการที่ ‘คิดไม่จบ’ มีการปรับแก้รายละเอียดกันอยู่ตลอด กระทั่งนายกรัฐมนตรียังกล่าวตำหนิกระทรวงการคลังในที่ประชุม ครม. เรื่องการมีข้อมูลไม่ครบถ้วนและการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน
เริ่มแรกหากใครยังจำกันได้ อุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นคนโยนหินถามทาง ถึงมาตรการแจกเงิน (มีตัวเลขทั้ง 1,000 บาท และ 2,000 บาท) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาเพราะวิกฤต COVID-19 ในช่วงต้นเดือน มี.ค. อย่างไรก็ตาม เวลานั้น สถานการณ์โรคระบาดยังไม่รุนแรง หลายๆ คนเห็นว่าการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่จำเป็นและไม่น่าจะใช้ได้ผล – ข้อเสนอนี้จึงถูกพับไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ทวีความรุนแรงชึ้น เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจากสนามมวยของกองทัพบกและจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ กระทั่งที่ประชุม ครม. ในวันที่ 17 มี.ค. ประกาศใช้มาตรการ social distancing ปิดสถานที่สำคัญๆ และต่อมาในวันที่ 21 มี.ค. ผู้ว่าราชการ กทม. จะออกคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานประกอบการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก และผู้ว่าฯ หลายจังหวัดก็มีคำสั่งเช่นเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำ
รัฐบาลจึงได้มีมติ ครม. ในวันที่ 24 มี.ค. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นเฟสที่สอง (เฟสแรกคือลดค่าน้ำและค่าไฟ คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า และมาตรการช่วยผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าสมทบประกันสังคม เงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ) โดยมีมาตรการสำคัญ นอกจากยืดการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเป็นเดือน ส.ค. ให้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ก็คือการแจกเงินให้กับผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือน
แต่สิ่งที่สะท้อนการ ‘คิดไม่รอบคอบพอ’ ของการแจกเงิน 5,000 บาท มี 4 ประเด็นใหญ่ๆ
- การประเมินว่าจะมีผู้เข้าเกณฑ์การได้รับแจกเงินเพียง 3 ล้านราย แต่พอมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นสิบๆ ล้านคน จึงรีบมาขออนุมัติเงินเพิ่มเป็น 9 ล้านราย
- การให้ลงทะเบียนขอรับเงินผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งแง่หนึ่งก็สะดวกสำหรับคนบางกลุ่ม แต่อีกด้านหนึ่ง ก็กีดกันคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตออกไป
- การประกาศว่าจะใช้ AI คัดกรองคน ก่อนที่ความจริงจะปรากฎในเวลาต่อมาว่าเป็นเพียงการใช้หลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการกรองคน เช่น ถ้าที่บ้านเคยขอความช่วยเหลือในฐานะเกษตรกรไว้ก็คัดออกไปก่อน แม้คนๆ นั้นจะไม่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อนก็ตาม (‘เป็นเกษตรกร’) ถ้ามีชื่อในฐานข้อมูลสถาบันการศึกษาก็คัดออกไปก่อน แม้จะเป็นการลงทะเบียนเรียนไว้ในช่วงหางานทำ (‘เป็นนักศึกษา’) ทำให้มีคนตกหล่นจำนวนมาก จากฐานข้อมูลของรัฐเองที่ไม่สมบูรณ์
- การประกาศไว้แต่แรกว่าผู้ไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่ให้อุทธรณ์ (ไม่รวมถึงการขู่ด้วยว่า ใครลงทะเบียนทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) แต่เมื่อเกิดปัญหามากขึ้นๆ ในเวลาต่อมาจึงเปิดให้มีการอุทธรณ์ได้
กล่าวโดยสรุปก็คือ มาตรการแจกเงิน 5,000 บาท มีปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก จนหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า กว่าที่เงินจะถึงมือผู้เดือดร้อน จะต้องมีคน ‘ถูกทิ้ง’ ไว้ข้างหลัง สักกี่แสนกี่ล้านคน
และนี่ไม่ใช่การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (national selection) ตามทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน
แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการของภาครัฐเอง ที่มีปัญหาตั้งแต่วิธีคิดไปจนถึงวิธีปฏิบัติ
ยกเลิกคัดกรอง แจกด่วน แจกทุกคน
จากความวุ่นวายในการ ‘แจกเงิน 5,000 บาท’ ให้บางคน ที่เปลี่ยนเรื่องราวที่น่าจะเป็นสุขนาฏกรรมให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมในชั่วข้ามคืน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งติดตามสิ่งที่เกิดขึ้น จึงจับเข่าคุยกันว่า จะช่วยเสนอทางออกเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างไร
ก่อนจะออกมาเป็นแถลงการณ์ 18 อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มีข้อเสนอสำคัญ เพื่อแก้ปัญหามาตรการแจกเงิน 5,000 บาทที่กำลังมีปัญหา ไปเป็นการ ‘แจกเงิน 3,000 บาท’ แบบถ้วนหน้า ให้กับคนไทยในวัยแรงงานกว่า 37 ล้านคน โดยไม่ต้องผ่านนการคัดกรอง ด้วยเกณฑ์ที่ไม่รัดกุม และใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวกับ The MATTER ว่า เบื้องหลังข้อเสนอแจกเงิน 3,000 บาทถ้วนหน้า เกิดจากแรงจูงใจทั้งทางวิชาการและทางมนุษยธรรม
ผมเห็นข่าวคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงเงิน 5,000 บาท เราก็รู้สึกว่ารอแบบนี้ต่อไปไม่ได้แน่ๆ พวกเขาจะตายเอา
“เพราะคนที่ยากจนที่สุดในสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจเขาเปราะบางมาก คนพวกนี้ไม่มีเงินเก็บ มีรายได้วันต่อวัน แล้วรัฐไปปิดเขาเป็นเดือน เขาเดือนร้อนแน่ ที่สำคัญ เกณฑ์ที่รัฐใช้มันหลวมมาก จนคนที่จนที่สุด เปราะบางที่สุด มีแนวโน้มจะไปไม่ถึง นอกจากนี้ ข้อมูลที่รัฐมีไม่มีทางครบถ้วน เพราะแรงงานเรา 60% อยู่ใน informal sector ซึ่งรัฐไม่มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน”
สำหรับที่มาของตัวเงิน 3,000 บาท อ.อภิชาตอธิบายว่า เกิดจากตัวเลข ‘เส้นความยากจน’ (poverty line) เฉลี่ยระหว่างเขตเมือง-เขตชนบททั่วประเทศ ซึ่งอยู่ที่ราว 2,700 บาท/เดือน ทางเราเลยกะคร่าวๆ ว่าถ้างั้นให้ซัก 3,000 บาท/เดือน ก็น่าจะพอทำให้เขาอยู่ได้ และในอีกด้านหนึ่งก็คำนึงถึงงบประมาณของภาครัฐด้วย เพราะตามข้อเสนอของคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. จำนวนคนที่จะได้รับจะเพิ่มจาก 9 ล้านคน เป็นกว่า 37 ล้านคน
ส่วนที่รองนายกฯ สมคิดบอกว่าถ้าจะแจกเงินถ้วนหน้า “ต้องกู้ไปทั้งชาติ” อภิชาตบอกว่า เป็นการพูดที่ไม่ถูกต้อง อาจ mislead คนได้ เพราะข้อเสนอของเราใช้งบเพียง 3.3 แสนล้านบาท ราว 10% ของ พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งประเทศอื่นๆ ใช้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ และมากกว่างบที่ใช้แจกเงิน 5,000 บาทอยู่แค่เท่าตัว แต่เพิ่มจำนวนคนที่ได้รับเงินมากกว่าหลายเท่าตัว
“คือเราต้องการแค่ minimum standard ให้ทุกคนรอด จึงต้องแจกเงินให้เร็วและครอบคลุม เพราะคนมันรอการคัดกรองไม่ได้ ซึ่งวิธีนี้เร็วที่สุดแล้ว” อ.อภิชาตสรุป
แจกเงินไม่พอ ต้องช่วยคนตัวเล็กและ SME
หากดูข้อเสนอของ 18 อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. จะพบว่า นอกจากข้อเสนอแจกเงิน 5,000 บาท ก็ยังมีข้อเสนออื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 ด้วย เช่น ให้แจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพแก่กลุ่มคนที่เปราะบาง เช่น คนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน แรงงานต่างด้าวที่ตกสำรวจ ฯลฯ ราว 2 ล้านคน ประมาณว่าจะใช้งบ 7,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอ ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ คือให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ยุติการเก็บค่าเช่าชั่วคราว ให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษห้ามไล่-รื้อทุกประเภทในช่วงนี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ย และให้ระงับการฟ้องคดีล้มละลาย
ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ไม่เพียงมุ่งช่วยเหลือบุคคลทั่วไป ยังหวังอุ้มผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME ให้อยู่อยู่รอดได้จนจบวิกฤต
“อันนี้จะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะผู้ประกอบการไม่ว่าระดับไหน ถ้าล้มไปแล้วมันฟื้นยากมาก ภาวะวิกฤตมันทำธุรกิจไม่ได้ เราจึงต้อง hibernate (จำศีล) ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เขาจำศีลได้ทั้งคนไม่มีจะกินและธุรกิจที่กำลังจะล้มละลาย ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้จนวันที่มีวัคซีนออกมา ไม่เช่นนั้นพอวิกฤตคลี่คลาย มันจะลุกยากมาก แล้วเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวช้าลงไปอีก”
อ.อภิชาตยอมรับว่า ข้อเสนอทั้งหมดของคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
“In the long run we are all dead”
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ.รายนี้ ยกประโยคอมตะของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์มหภาคชื่อดัง มากระตุ้นภาครัฐให้คิดมาตรการต่างๆ มาช่วยทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโรคระบาดนี้อย่างเร่งด่วน
“กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกว่าวิกฤตครั้งนี้มันใหญ่ที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะเท่ากับ The Great Depression ด้วยซ้ำ หลังจากนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกจะต้องปรับ globalization จะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วยัง supply chain อีก”
ขณะที่ตัว อ.อภิชาต กับกลุ่มอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. เองก็เตรียมระดมสมอง และจะมีข้อเสนอถึงการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ทั้งเพื่อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ เพราะวิกฤตครั้งนี้มันชัดเจนว่าใครถูกกระแทกก่อน และเพื่อ ‘ลดความเปราะบาง’ ที่ไม่ใช่แค่สนามบินปิดแล้วทุกอย่างจะชะงักไปหมด
แต่ก่อนจะไปว่ากันถึงอนาคต ในตอนนี้ ทุกๆ คนควรจะรอดให้ได้เสียก่อน
[ หมายเหตุ : เดิมข้อเสนอแจกเงิน 5,000 บาท ในแถลงการณ์ที่คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. เผยแพร่ออกไป มีการระบุตัวเลขงบรวมที่ใช้ทั้งหมด 4.4 แสนล้านบาท ซึ่ง อ.อภิชาตบอกว่าเป็นการคิดผิด ไม่ได้ตัดจำนวนผู้ที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 33 อีกกว่า 10 ล้านคนออกไป ทำให้ยอดงบรวมเกินไปกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับในความผิดพลาดนั้น แต่ก็บอกว่า แต่ยิ่งจำนวนเงินที่ใช้ลดลง ความเป็นไปได้ก็ยิ่งมีมากขึ้น ]