อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ในยุคของประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐฯ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์! ที่มาพร้อมสโลแกนหาเสียงประจำใจ ‘Make America Great Again’ และ ‘America First’ จนสะท้อนออกมาเป็นนโยบายสุดโต่ง อย่างที่ไม่เคยเห็นมากก่อนในอเมริกายุคอื่นๆ
ตลอด 4 ปีนี้ ทรัมป์สร้างผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการจัดการผู้อพยพ ที่ทรัมป์คนจริง ได้ทำจริงตามสัญญาสมัยหาเสียง สร้างความปั่นป่วนไม่เพียงแค่กับสหรัฐฯ แต่ในระดับโลก ซึ่งหลายคนก็หวังว่า นโยบายเหล่านี้ จะจบลงแค่ในยุคของทรัมป์
ในโอกาสที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ และกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่พิธีสาบานตนของ ‘โจ ไบเดน’ จากพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ The MATTER ชวนมาย้อนดู 10 ผลงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่เรียกได้ว่าสร้างประวัติศาสตร์ และผลงานสะเทือนสหรัฐฯ และโลก
“โลกร้อนไม่มีจริง” นำประเทศออกจากข้อตกลง Paris Agreement
หนึ่งในผลงานของทรัมป์ ที่เขาเริ่มตั้งแต่ปีแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ในปี 2017 คือการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการถอนตัวนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทรัมป์หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง โดยเขาประกาศว่า ข้อตกลงนี้ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ เป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และจะรอเจรจาใหม่เมื่อมีข้อตกลงที่ดีกว่านี้
หลังจากการประกาศ เมื่อมีผลบังคับใช้สหรัฐฯ ก็ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการใน วันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 ทั้งยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหิน และอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศได้มากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวจากเกือบ 200 ประเทศผู้ลงนาม ที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงที่มีเป้าหมายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
แต่ถึงอย่างนั้น การถอนตัวนี้อาจจะเป็นไปอย่างชั่วคราวเท่านั้น เพราะโจ ไบเดน ปธน.คนใหม่ ก็ได้ประกาศไว้แต่ตอนหาเสียงแล้วว่า เขาจะนำประเทศกลับสู่ข้อตกลงนี้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าหลังรับตำแหน่ง เขาจะจัดการกับเรื่องนี้เป็นประเด็นแรกๆ
ซึ่งนอกจากการถอนตัวจากข้อตกลงนี้แล้ว ในยุคของทรัมป์ เขายังนำประเทศออกจากองค์การสหประชาชาติเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือยูเนสโก (UNESCO) ด้วย โดยมองว่าองค์กรต้องมีการปฏิรูปใหม่ และบุคคลในองค์กรนี้มี “อคติต่ออิสราเอล (anti-Israel bias)” รวมไปถึงการถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในช่วงที่องค์การนี้มีบทบาทสำคัญในการรับมือ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกด้วย
อันยองอปป้า ภารกิจเยือนเกาหลีเหนือ และพบคิม จองอึน
ขึ้นชื่อว่าทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทวีตข่าวสาร นโยบาย อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งรวมไปถึงการด่าทอ ทะเลาะกับผู้นำประเทศอื่นด้วย โดยคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ก็เป็นคนนึงที่ทรัมป์ตั้งฉายาอย่างมนุษย์หัวจรวดด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเข้าไปในแผ่นดินของประเทศเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง โดยเขาได้ข้ามไปยังเขต DMZ ที่เป็นพื้นที่ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยได้รับการต้อนรับจากคิม จองอึน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในปี 2019 เลยทีเดียว
ซึ่งคิมก็ได้บอกกับทรัมป์ว่า “ดีใจจริงๆ ที่ได้พบกันอีก” ส่วนผู้นำสหรัฐฯ ก็ตอบว่า “ไม่เคยนึกเลยว่าจะมาเจอคุณที่นี่” โดยคิมและทรัมป์เคยพบกันมาแล้ว รวมครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สาม โดยครั้งล่าสุดคือที่สิงคโปร์ และก่อนหน้านี้คือที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม
ช่างสวย ช่างงดงาม และยิ่งใหญ่ กับผลงานสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโก
ไม่ใช่แค่อนิเมะผ่าพิภพไททัน ที่มีการสร้างกำแพง กั้นเขตแดน ป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานจากภายนอกเข้ามา เพราะไอเดียนี้ ผู้นำประเทศสหรัฐฯ อย่างทรัมป์ ก็เอามาใช้จริงกับเขตแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ตั้งแต่ช่วงที่เขาหาเสียงด้วย โดยเขากล่าวว่า จะสร้างกำแพงที่ใหญ่ และสวยงาม บนเขตแดนที่มีความยาวกว่า 2,000 ไมล์ ทั้งยังสัญญาว่า เม็กซิโกจะต้องจ่ายเงินสำหรับการก่อสร้างนี้
เรียกได้ว่าความวุ่นวายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่การสร้างกำแพงเท่านั้น แต่หลังจากที่ทรัมป์รับตำแหน่ง เขาได้ลงนามคำสั่งบริหาร ให้รัฐบาลเริ่มก่อสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก โดยใช้เงินทุนของรัฐบาลกลางที่มีอยู่ แต่ก็การติดขัดในเรื่องงบประมาณ จนเกิดการชัตดาวน์รัฐบาลถึง 3 ครั้งในปี 2018 เมื่องบการสร้างกำแพงไม่ได้รับการอนุมัติ จนทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติ เพื่อนำงบประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปใช้สร้างกำแพง ที่หวังว่าจะป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และขนยาเสพติด ทำให้การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2019
โดยทรัมป์กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะสร้างกำแพงใหม่ 450–500 ไมล์ ภายในสิ้นปี 2020 และก่อนจะครบวาระประธานาธิบดี ในวันที่ 12 มกรา 2021 ทรัมป์ได้ไปเยือนกำแพงบริเวณรัฐเท็กซัสอีกครั้ง ซึ่งทำเนียบขาวกล่าวว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึง “ความสำเร็จของการสร้างกำแพงชายแดนกว่า 450 ไมล์ของทรัมป์ตามที่สัญญาไว้”
แต่ความฝันจะมีกำแพงยาวหลายพันไมล์ของทรัมป์ ก็อาจจะจบลงเท่านี้ เมื่อไบเดนได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เขาจะหยุดการก่อสร้างกำแพงนี้
‘ความอดทนเป็นศูนย์’ นโยบายพรากครอบครัวผู้อพยพ
ภาพเด็กร้องไห้ ถูกแยกไปศูนย์กักกัน จากนโยบายพรากครอบครัวผู้อพยพ กลายเป็นหนึ่งประเด็นที่ทำให้ทรัมป์ถูกวิพากวิจารณ์มากที่สุดระหว่างดำรงตำแหน่ง หลังในช่วงเดือนเมษายน 2018 มีการประกาศนโยบาย ‘Zero-Tolerance’ หรือ ความอดทนเป็นศูนย์ โดนมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการดำเนินคดีทางอาญา กับผู้ที่ถูกจับได้ว่าเข้าประเทศสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย
ซึ่งผลของนโยบายนี้ ทำให้ครอบครัวที่เดินทางมาพร้อมกัน พ่อและแม่มักถูกดำเนินคดีอาญา และถูกจับแยกออกจากลูก โดยมีรายงานว่า มีเด็กเกือบ 3,000 คนถูกแยกออกจากพ่อแม่ ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนเพื่อหยุดการแยกครอบครัว
นโยบายนี้ถูกประณามจากนานาชาติ รวมไปถึง เมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 เอง ก็ออกมากล่าวว่า เธอเกลียดที่ต้องเห็นลูกถูกแยกจากครอบครัว “หวังว่าพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในรัฐสภา จะสามารถร่วมมือกันในการปฏิรูปนโยบายคนเข้าเมืองให้ประสบความสำเร็จในที่สุด” ท่ามกลางนักสิทธิมนุษยชนมองว่า เป็นมาตรฐานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลต่อภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ มาก
แต่นโยบายนี้ ก็มีทีท่าว่าจะจบลงในยุคทรัมป์ เพราะไบเดนเอง ก็ได้ประกาศไว้แล้วว่า เขาสนใจ และจะแก้ไขปัญหานี้ โดยมีรายงานว่า ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เขาเตรียมจะเสนอกฎหมายปฏิรูปการรับผู้อพยพอย่างครอบคลุมต่อสภานิติบัญญัติ รวมทั้งสั่งการให้พาครอบครัวที่พรากจากกัน ให้กลับมาพบกันอีกครั้งด้วย
กีดกันพลเมือง กับการประกาศประชาชนจากประเทศมุสลิม
อีกหนึ่งผลงานที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความวุ่นวายไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ คือการออกคำสั่ง ห้ามไม่ให้ประชาชนจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศ อย่างอิรัก, ซีเรีย, ลิเบีย, อิหร่าน, โซมาเลีย, ซูดาน และเยเมน เข้าสหรัฐฯ เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 90 วัน โดยถูกขึ้นรายชื่อในกฎหมายการออกวีซ่าว่าเป็นประเทศที่ต้องพิจารณา ซึ่งทรัมป์อ้างว่า เพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายต่างชาติไม่ให้เข้าสหรัฐอเมริกา
การออกคำสั่งนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนกว่า 218 ล้านคนเข้าสหรัฐฯ แต่เจ้าหน้าที่การทูตและเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศจะได้รับการยกเว้น หลังจากมีการประท้วง และเรียกร้อง ภายหลังได้มีการแก้ไขบทบัญญัติบางประการ และนำอิรัก และซูดานออกจากลิสต์การแบน แต่ได้เพิ่มประเทศอย่าง ชาด เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา ซึ่งมีสองประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมด้วย
ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น แต่ช่วงต้นปี 2020 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยังได้ประกาศเพิ่มประเทศที่ถูกแบนอีก 6 ประเทศ อย่างเอริเทรีย, คีร์กีซสถาน, เมียนมาร์, ไนจีเรีย ซูดานและแทนซาเนียด้วย ทำให้มีประเทศที่ถูกแบน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิมทั้งหมด 13 ประเทศ
แต่ถึงอย่างนั้น นโยบายนี้ก็เป็นนโยบายหนึ่งที่ไบเดนประกาศว่าเขาจะแก้ไข และมีแนวโน้มจะอยู่ในเรื่องแรกๆ ที่เขาจะยกเลิกตั้งแต่วันแรกของการเข้ารับตำแหน่งด้วย
Obama Care แต่ทรัมป์ไม่แคร์! พยายามจะยกเลิกประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ผลงานชิ้นโบว์แดงในยุคของอดีต ปธน.บารัค โอบามา คือประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Obama care ที่มีเป้าหมายให้ชาวอเมริกันชนสามารถซื้อประกันสุขภาพ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในราคาไม่แพง แต่หนึ่งในความพยายามของทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งก็คือการยกเลิก Obama care โดยตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่ง ในสภาก็ไดมีการลงมติเพื่อแก้ร่างกฎหมายประกันสุขภาพ Obama care
โดยหลังจากความพยายามของทรัมป์ ไม่ว่าจะทั้งออกตัวอยากยกเลิก Obama care ไปถึงการรีบแต่งตั้งตุลาการศาลสูงสุดเป็นฝั่งตน ทำให้ในช่วงปลายปี 2020 ศาลสูงสหรัฐฯ เริ่มต้นการไต่สวนคดีที่ฝั่งรีพับลิกันยื่นฟ้อง เพื่อยกเลิกกฎหมายนี้ โดยแม้ว่าทรัมป์จะพ้นวาระแล้ว แต่คาดว่า ประเด็นนี้จะมีคำพิพากษา ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม 2021
ซึ่งฝั่งไบเดนเอง ก็ได้ประกาศเช่นกันว่า เขาปกป้อง Obama care ซึ่งเป็นโครงการที่ประกันสุขภาพของประชาชนเมื่อเขาดำรง และจะไม่ให้ใครมาพยายามทำลายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนด้วย
“You’re fired” ปลดและไล่เจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งมากมาย
“You’re fired” หรือคุณถูกไล่ออก ประโยคยอดฮิตประจำตัวทรัมป์ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ดำเนินรายการ ‘The Apprentice’ ได้กลายมาเป็นประโยคที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากทรัมป์กลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนนึงที่ไล่เจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งจำนวนมาก รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนที่ลาออกเอง ในระหว่างสมัยของทรัมป์ด้วย
โดยมีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่กว่า 20 คน ที่ถูกทรัมป์ไล่ออก ซึ่งรวมถึงกรณีจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทรัมป์ทวีตว่า “เขาไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป” , เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ ที่มักมีข่าวว่าทรัมป์ต้องการให้เขาลงจากตำแหน่ง และประกาศการลาออกของเขาผ่านทางทวิตเตอร์ ก่อนที่เซสชันส์จะยื่นจดหมายลาออกที่ระบุว่า ทำตามความต้องการของประธานาธิบดี ไปถึง เจมส์ โคมีย์ อดีตผอ.เอฟบีไอ ที่ระบุว่าถูกไล่ออกเพราะทรัมป์พยายามแทรกแซงการสอบสวนที่ว่ารัสเซียมีส่วนกับการเลือกตั้ง ปี 2016 ด้วย
นอกจากคนที่ถูกไล่ออกแล้ว เจ้าหน้าที่สมัยของทรัมป์ยังถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะมีคนลาออกจำนวนมากมากกว่า 40 คน ทั้งหลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภา สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี ก็มีเจ้าหน้าที่ลาออกเพิ่มอีกกว่า 12 คนด้วย
ความแค้นระหว่างประเทศ คำสั่งสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่าน
กลายเป็นหนึ่งประเด็น ที่หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดสงครามครั้งใหม่ไหม หลังจากที่ทรัมป์ ออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในกรุงแบกแดด และสังหารนายพลคาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง เสียชีวิตพร้อมนายทหาร 8 คน รวมถึงรองผู้บัญชาการกองกำลังระดมพลของอิรักด้วย ในช่วงต้นปี 2020
โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลถึงการสังหารนี้ว่า เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หลังโซเลมานี วางแผนโจมตีนักการทูตสหรัฐอเมริกาในอิรัก และอยู่เบื้องหลังการโจมตีสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางบ่อยครั้ง รวมถึงใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตชาวอเมริกัน และผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ ทำให้ผู้นำสูงสุด รวมถึงประชาชนอิหร่านที่หัวร้อน และโมโหกับการกระทำของทรัมป์มาก ถึงขั้นจะประกาศล้างแค้นด้วย
หลังจากเหตุการณ์นี้ไม่นาน อัยการของอิหร่านก็ได้ประกาศการออกหมายจับทรัมป์ ในข้อหาฆาตกรรมและก่อการร้าย โดยมีการขอร้องให้ตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพลช่วยจับกุมด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากอินเตอร์โพล ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ประเด็นความมั่นคง หรือสันติภาพระหว่างประเทศ ขณะที่สภาตุลาการสูงสุดของอิรัก ก็ได้ไต่สวน และตัดสินออกหมายจับทรัมป์ เช่นกันจากการฆาตกรรมรองผู้บัญชาการ แม้ว่าต่างจะมีความเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่ทรัมป์จะมาขึ้นศาลในอิรัก แต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์นี้ก็ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งของอิหร่าน และสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ก็ถือว่าได้สร้างสันติภาพในบางส่วนของตะวันออกกลางเช่นกัน จากการผลักดัน และอยู่เบื้องหลังให้เกิด การลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ ที่มีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง เลยด้วย รวมไปถึงสนธิสัญญาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต การ์ตา กับ ซาอุดิอาระเบีย และพันธมิตรอาหรับ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน และอียิปต์ ซึ่งทำให้มีการยุติการคว่ำบาตร และการตกลงเปิดพรมแดนทางบก, ทางทะเล และทางอากาศกับกาตาร์แล้ว หลังขัดแย้งกันในคราวนี้ถึง 3 ปี
ขึ้นภาษีมา ขึ้นภาษีกลับ! สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
แรงกันมา แรงกลับไป ซึ่งเรียกได้ว่าตลอด 4 ปีของทรัมป์ คู่แข่งคนสำคัญจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากจีน ที่ตั้งแต่ปี 2018 จากการที่ทรัมป์เริ่มกำหนดอัตราภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน รวมถึงมีการอ้างว่าจีนได้พยายามขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งระหว่างการทำสงครามการค้น ทั้งสองประเทศก็ได้โต้เถียงกันผ่านทวิตเตอร์ ผ่านโฆษก ไปถึงการตั้งกำแพงภาษี แบนและคว่ำบาตรบริษัท จนสะเทือนเศรษฐกิจไปทั่วโลก
โดยพบว่านอกจากการแข่งกันขี้นภาษีแล้ว สหรัฐฯ ยังส่งสินค้าบางประเภทไปจีนน้อยลง ขณะที่จีนเองก็ลงทุนในสหรัฐฯ น้อยลง และยังมีการตั้งบัญชีดำทางการค้าของสหรัฐฯ กับบริษัทสัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น Huawei และบริษัทจีนอื่นๆ อีกหลายสิบราย ที่ห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกิจด้วย ซึ่งด้านจีนเองก็สร้างบัญชีดำตอบโต้เช่นกัน
แม้ว่าวันที่ 15 มกราคม 2020 ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงระยะระหว่างกันได้ ทำให้ความขัดแย้งผ่อนคลายลง แต่ถึงอย่างนั้น ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ และเรียกได้ว่า สงครามอาจจะไม่จบลงแค่ยุคทรัมป์ ที่แม้จะเป็นไบเดนขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไป ก็อาจจะมีสงครามการค้าครั้งใหม่กับสหรัฐฯ ขึ้นได้ แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการโต้ตอบ รวมถึงอาจจะไม่ใช่สหรัฐฯ เดี่ยวๆ ที่ทะเลาะกับจีน เพราะมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะเน้นการหาพันธมิตรมาโต้ตอบด้วย
โทรศัพท์คุยกับประยุทธ์ และต้อนรับเยือนทำเนียบขาว
ใน 4 ปีของทรัมป์ จะขาดประเด็นนี้ไปไม่ได้เช่นกัน กับความสัมพันธ์ของทรัมป์ และผู้นำไทย ที่ตั้งแต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ในปี 2017 ก็มีข่าวว่า ทรัมป์ได้ต่อสายพูดคุยกับนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตั้งแต่สมัยที่ไม่ใช่นายกฯ จากการเลือกตั้ง) และพูดคุยกันประเด็นต่างๆ ทั้งความสัมพันธ์ทุกมิติ ทั้งในเรื่องความมั่นคงในคาบสมุทร การค้า การลงทุน ซึ่งทรัมป์ยังได้เชิญประยุทธ์มาเยือนทำเนียบขาว ของสหรัฐฯ ด้วย
และแน่นอนว่า ก็มีวันที่ประยุทธ์ตอบรับคำเชิญ ไปเยือนสหรัฐฯ จริง ในปลายปีนั้นเอง โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเป็นแขกของทำเนียบขาว และได้มีการพูดคุยกันถึง 30 นาที ถึงการขยายการลงทุนของธุรกิจ ความร่วมมือ รวมไปถึงประยุทธ์ได้ยืนยันกับทรัมป์ในตอนนั้นว่า จะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีหน้า หรือปี 2018 ด้วย (แต่ถึงอย่างนั้น การเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นอย่างที่ประยุทธ์กล่าว)
การต้อนรับประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำจากการทำรัฐประหาร ทำให้สหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ทรัมป์เน้นขายของ มุ่งเน้นประโยชน์ทางการค้า โดยไม่สนใจประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน ตามนโยบาย American First ของเขาด้วย ซึ่งไม่เพียงประยุทธ์ แต่สมัยของทรัมป์ยังมีการต้อนรับ และพบปะผู้นำเผด็จการเช่น อียิปต์ ตุรกี เวียดนาม และมาเลเซีย