เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ทั่วโลกต่างลุ้นว่าประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ จะเป็นใครกันระหว่าง กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน
ก่อนที่สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ The MATTER ขอชวนทุกคนไปดูจุดยืนของทั้งคู่ต่อประเด็นน่าจับตามองว่า แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นการคาดเดาว่าหลังจากนี้การเมืองสหรัฐฯ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
1) พรมแดนและคนอพยพ
แฮร์ริส
แฮร์ริสเสนอให้จัดการกับต้นเหตุของวิกฤตชายแดน โดยจะระดมทุนส่วนตัวหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อหยุดยั้งปัญหาดังกล่าว ในการหาเสียงที่ผ่านมา แฮร์ริสพยายามเน้นย้ำถึงประสบการณ์ของเธอในฐานะอัยการ ที่เคยดําเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอเข้าใจต้นตอปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานพอสมควร จนแฮร์ริสมีชื่อเล่นว่า ‘ซาร์ชายแดน (border czar)’
เมื่อปี 2021 โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดี เคยมอบหมายความรับผิดชอบให้เธอดูแลการย้ายถิ่นฐานตามแนวชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของไบเดน-แฮร์ริส ผู้อพยพที่ข้ามเข้าสู่สหรัฐฯ จากเม็กซิโกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายปี 2023 ประมาณ 250,000 คน
แฮร์ริสประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทเอกชนมีการให้คํามั่นสัญญาจะมอบเงิน 5.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อยับยั้งการเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายภายใต้คําแนะนําของเธอ
ทรัมป์
ทรัมป์ให้คํามั่นว่าจะ ‘ปิดพรมแดน’ โดยการก่อสร้างกําแพงให้เสร็จสิ้น และยังให้คํามั่นว่าจะเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรอง ซึ่งอาจเป็นการเนรเทศผู้คนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ทรัมป์ระบุว่าเขาจะฟื้นฟูโครงการ ‘อยู่ในเม็กซิโก (Remain in Mexico)’ ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่ต้องการย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ ต้องรอผลการได้รับอนุญาตเข้าประเทศในเม็กซิโก และจะยุติการเป็นพลเมืองตามสิทธิโดยกําเนิด สําหรับเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ แต่พ่อแม่ที่ไม่มีเอกสาร
ทรัมป์เคยกล่าวหาผู้อพยพชาวเฮติในเมืองสปริงฟิลด์ว่า ลักพาตัวและกินสัตว์เลี้ยง ระหว่างการดีเบตกับแฮร์ริส อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าชุมชนทําเช่นนั้น
2) นโยบายต่างประเทศกับสงคราม
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมทั้งสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมาหลายปี
แฮร์ริส
แฮร์ริสให้คํามั่นว่าจะสนับสนุนยูเครน และเรียกร้องให้ยุติสงครามในฉนวนกาซา พร้อมให้คํามั่นว่าหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายที่ชนะในการแข่งขันการเป็นมหาอำนาจของศตวรรษที่ 21
เธอเคยถูกถามว่าจะจัดการกับสงครามในตะวันออกกลางอย่างไร แฮร์ริสตอบว่า “อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง” แต่เธอมองว่าสงครามต้องจบลง ต้องมีข้อตกลงหยุดยิง และฮามาสต้องปล่อยตัวประกัน เพราะชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายมากเกินไป
ทรัมป์
เสนอนโยบายต่างประเทศที่แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว (isolationist foreign policy) เพราะต้องการให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ในโลก เช่น สงครามรัสเซียและยูเครน และทรัมป์สนับสนุนอิสราเอล แต่ยังไม่ค่อยให้ความเห็นถึงวิธีการยุติสงครามในกาซา
จวบจนปัจจุบัน ทรัมป์ยังไม่ได้ประกาศแผนเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024 แต่เขาระบุว่า สงครามจะไม่มีวันเริ่มต้นขึ้น เช่น สงครามในยูเครน ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี
3) เพิ่มหรือลดสิทธิการทำแท้ง?
เมื่อเดือน 2022 ศาลสูงสุดสหรัฐฯ วินิจฉัยว่า แต่ละรัฐสามารถออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้ง ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้ บางคนต้องหาทางเลือกอื่น เช่น เดินทางข้ามรัฐเพื่อไปใช้บริการ ดังนั้นแล้วประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการลงคะแนนเสียงเลยก็ว่าได้
แฮร์ริส
‘สิทธิการทําแท้ง’ เป็นประเด็นสำคัญที่แฮร์ริสใช้หาเสียง และสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ทั่วสหรัฐฯ
แฮร์ริสกล่าวว่า ผู้หญิงต้องการสิทธิในการทําแท้ง เนื่องจากมีผู้หญิงที่แท้งบุตร แต่กลับถูกปฏิเสธการดูแล เพราะแพทย์กลัวถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เธอจึงมุ่งมั่นที่จะลงนามในร่างกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิในการทําแท้งทั่วสหรัฐฯ
“ทุกคนไม่ว่าจะเพศใดก็ตามควรเข้าใจว่า หากเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองสามารถถูกริดลอนไปได้ เสรีภาพเรื่องอื่นๆ ก็อาจเผชิญชะตาเดียวกัน” แฮร์ริสกล่าว
ทรัมป์
ยังไม่เคยกล่าวสนับสนุนสิทธิการทําแท้งโดยตรง แต่เคยให้ความเห็นว่าเขาสนับสนุนการทำแท้ง ที่เกิดขึ้นจากการข่มขืน หรือการร่วมประเวณีระหว่างสายเลือดเดียวกัน รวมถึงย้ำว่าสิทธิการทำแท้งควรให้แต่ละรัฐเป็นผู้ตัดสินใจ
ทั้งนี้ ทรัมป์เคยระบุว่า เขาสนับสนุนการรักษาภาวะเจริญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นไม่มีวันที่เขาจะสนับสนุนการจํากัดการคุมกําเนิด
4) โลกร้อน โลกรวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แฮร์ริส
ในฐานะรองประธานาธิบดี เธอช่วยผลักดันการผ่านกฎหมายการลดเงินเฟ้อ ซึ่งได้จัดสรรเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ให้กับ ‘พลังงานหมุนเวียน’ และ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’
ระหว่างการอภิปรายในเดือนกันยายน แฮร์ริสยังเรียกร้องให้มีการลงทุนในแหล่งพลังงานหลากหลาย เพื่อลดการพึ่งพาน้ํามันจากต่างประเทศ
เมื่อปี 2020 แฮร์ริสเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชุมชนที่ยากจนและชนกลุ่มน้อย
ทรัมป์
ชะลอการใช้พลังงานสะอาด เน้นใช้พลังงานถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ชาวอเมริกันจ่ายไหว
ระหว่างการอภิปรายในเดือนกันยายน ทรัมป์อ้างว่า นโยบายของแฮร์ริสจะทำให้ไม่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลเหลืออยู่ และประเทศจะกลับไปใช้กังหันลม และทรัมป์เรียกตัวเองว่าเป็นแฟนคลับของพลังงานแสงอาทิตย์ แต่หลังจากนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์นั้นใช้ที่ดินมหาศาล
ทั้งนี้ ทรัมป์ย้ำว่าหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะออกจากข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีสอีกครั้ง ซึ่งขณะที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ยกเลิกการปกป้องสิ่งแวดล้อมหลายร้อยรายการ
5) ภาษีและสงครามการค้า
แฮร์ริส
วิพากษ์วิจารณ์แผนการกวาดล้างของทรัมป์ที่จะเรียกเก็บภาษีนําเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเรียกมันว่าภาษีระดับชาติสําหรับผู้คน เพราะจะทำให้แต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 1.3 แสนบาท)
เธอมองว่ามีแนวทางอื่นที่ดีกว่านี้ เช่นการเพิ่มภาษีนำเข้ากับสินค้านําเข้าของจีนบางชนิด อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า
ทรัมป์
เขาเสนอเพิ่มภาษีศุลกากร 10-20% สําหรับสินค้าจากต่างประเทศ โดยที่สินค้าจากจีนจะถูกเพิ่มภาษีมากกว่านี้ และยังสัญญาว่าจะดึงดูดบริษัทต่างๆ ให้อยู่ในสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้า โดยให้อัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่านี้
6) ภาวะเงินเฟ้อเอายังไงดี?
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นภายใต้การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดน เช่นเดียวกับในหลายประเทศตะวันตก ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาอุปทานหลังการระบาดของ COVID-19 และสงครามยูเครน
แฮร์ริส
แฮร์ริสเธอให้คำมั่นว่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและที่อยู่อาศัยสําหรับครอบครัวที่ทํางาน และจะช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านครั้งแรก
“ความสําคัญสูงสุดของประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารของเราคือ การลดราคาน้ํามันและค่าครองชีพลง” แฮร์ริสกล่าว
ที่ผ่านมาแฮร์ริสยังเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการให้ลดภาระหนี้นักเรียน หลายแสนคน และต้องการเพิ่มภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ลดภาษีสําหรับธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดเล็ก
ทรัมป์
ทรัมป์ให้คํามั่นว่าจะ “ยุติเงินเฟ้อและทําให้อเมริการาคาไม่แพงอีกครั้ง” ด้วยการขุดเจาะน้ํามันมากขึ้นจะทําให้ต้นทุนพลังงานลดลง
นอกจากนี้ เขาจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีปัจจุบันไม่สามารถทำได้ และทรัมป์ยังเน้นย้ำถึงการเนรเทศผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารว่า จะช่วยบรรเทาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
“ภาษีที่ลดลง เงินเดือนที่มากขึ้น และงานมากขึ้นสําหรับชาวอเมริกัน” จึงกลายเป็นสโลแกนหลักของทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ประเด็นข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องยิบย่อยอีกมากมาย เช่น ภาษีที่แฮร์ริส ต้องการเพิ่มภาษีสําหรับธุรกิจขนาดใหญ่และชาวอเมริกันที่ทําเงินได้ 400,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 13 ล้านบาท) ต่อปี ส่วนทรัมป์เสนอการลดภาษีจํานวนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการช่วยเหลือคนรวยมากกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นประกันสุขภาพที่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวอเมริกัน เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ ประชาชนต้องชำระเงินเอง ซึ่งทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างเสนอว่าจะพยายามลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ได้
พอเดากันได้ไหมว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป?
อ้างอิงจาก